แล้งหนักกระทบ 2 อ่างแหล่งน้ำดิบผลิตประปาเมืองบุรีรัมย์อยู่ในขั้นวิกฤติ "บิ๊กป้อม" กำชับแก้ภัยแล้งรองรับ "นิว นอร์มอล" สั่งบูรณาการขับเคลื่อนแผนจัดสรรน้ำครอบคลุมทั้งระบบ เน้นน้ำประปาต้องมีคุณภาพ ปชช.-เอกชนมีส่วนร่วม กรมอุตุฯ เตือนพายุไซโคลน "อำพัน" กระทบภาคใต้มีฝนตกหนัก
เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศฉบับที่ 1 เรื่อง "พายุไซโคลน “อำพัน” บริเวณอ่าวเบงกอล (มีผลกระทบถึงวันที่ 21 พฤษภาคม 2563)" ระบุว่า เมื่อเวลา 10.00 น. พายุไซโคลน “อำพัน” บริเวณอ่าวเบงกอลตอนกลาง มีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 13.0 องศาเหนือ ลองจิจูด 86.6 องศาตะวันออก กำลังเคลื่อนตัวทางทิศเหนือด้วยความเร็วประมาณ 10 กม./ชม. ความเร็วสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 195 กม./ชม. พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวเข้าสู่อ่าวเบงกอลตอนบนและประเทศบังกลาเทศ ส่งผลให้มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทยและอ่าวไทย มีกำลังแรง
ลักษณะเช่นนี้ทำให้ในช่วงวันที่ 18-21 พฤษภาคม 2563 บริเวณประเทศไทยมีฝนตกหนักบางพื้นที่ โดยเฉพาะทางด้านตะวันตกของประเทศ ส่วนคลื่นลมในทะเลอันดามันมีกำลังค่อนข้างแรง โดยตั้งแต่จังหวัดภูเก็ตขึ้นมาทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร เว้นแต่บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองจะมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการเดินเรือเข้าใกล้พายุ และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในช่วงเวลานี้
สำหรับประชาชนบริเวณภาคเหนือ ภาคใต้ฝั่งตะวันตก และภาคใต้ตอนบน ระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนักและฝนที่ตกสะสมไว้ด้วย
ขณะเดียวกัน กรมอุตุนิยมวิทยาได้แจ้งว่า ปีนี้ประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการตามเกณฑ์ทางอุตุนิยมวิทยาตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2563 และจะสิ้นสุดในช่วงกลางเดือนตุลาคม 2563 ปริมาณฝนโดยรวมทั้งประเทศปีนี้จะน้อยกว่าค่าปกติประมาณร้อยละ 5 แต่ปริมาณของฝนจะมากกว่าปีที่แล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสถานการณ์ภัยแล้งที่จังหวัดบุรีรัมย์ยังไม่คลี่คลาย ถึงแม้ช่วงนี้จะมีฝนตกลงมาบ้าง แต่ก็ยังไม่ทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเพิ่มขึ้นมากนัก โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก และอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด อ.เมืองบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบที่ใช้ผลิตประปาของการประปาส่วนภูมิภาคสาขาบุรีรัมย์ ให้บริการประชาชนในเขต อ.เมืองบุรีรัมย์ และ อ.ห้วยราช กว่า 34,000 ครัวเรือน มีปริมาณลดต่ำลง ซึ่งถือว่าอยู่ในขั้นวิกฤติ จึงเกรงจะไม่มีน้ำดิบเพียงพอในการผลิตประปาบริการประชาชน
ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่า ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก เหลือน้ำกักเก็บเพียงกว่า 39,000 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือเฉลี่ย 0.15 เปอร์เซ็นต์ จากปริมาณความจุอ่างทั้งหมดกว่า 26 ล้านลบ.ม. ส่วนอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด เหลือน้ำกักเก็บเพียงกว่า 6,000 ลบ.ม. หรือเฉลี่ย 0.02 เปอร์เซ็นต์ จากปริมาณความจุอ่างทั้งหมดกว่า 30.852 ล้าน ลบ.ม.
จากผลกระทบสถานการณ์ภัยแล้งดังกล่าว นายธัชกร หัตถาธยากูล ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ พร้อมด้วยนายสัญญ์ธวัชช์ ริ้วเหลือง หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดบุรีรัมย์, นายเทิดพงศ์ ไทยอุดม ผู้อำนวยการโครงการชลประทานบุรีรัมย์, นายบรรจง เทพเกษตรกุล ผู้จัดการการประปาส่วนภูมิภาคสาขาบุรีรัมย์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้ประชุมหารือติดตามความก้าวหน้าและเร่งรัดการแก้ไขปัญหาภัยแล้งเมืองบุรีรัมย์ เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำดิบที่ใช้ผลิตประปาหล่อเลี้ยงตัวเมือง และเขตเศรษฐกิจสำคัญ เนื่องจากปัจจุบันอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก และอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด แหล่งน้ำดิบที่ใช้ผลิตประปามีปริมาณลดต่ำลง จึงต้องเร่งหาน้ำดิบสำรองให้เพียงพอต่อการผลิตประปา
ผู้ว่าฯ บุรีรัมย์กล่าวว่า ทุกภาคส่วนได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับปัญหาเรื่องน้ำ และพยายามทำทุกวิธีทาง เพื่อให้มีน้ำดิบเพียงพอในการผลิตประปาบริการประชาชน ไม่ให้ได้รับความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำ อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้อยากขอความร่วมมือประชาชนได้ช่วยกันใช้น้ำอย่างประหยัด ไม่เปิดน้ำทิ้งไว้ เพื่อให้มีน้ำประปาอุปโภคบริโภคได้นานยิ่งขึ้น จนกว่าปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทั้ง 2 แห่งจะเป็นปกติ หรือภาวะฝนทิ้งช่วงจะสิ้นสุดลง ซึ่งขณะนี้ก็ย่างเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว
ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 2/2563 ภายหลังการประชุม พล.ต.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผู้ช่วยโฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมรับทราบรายงานผลการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฤดูแล้ง ปี 2562/63 ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยยังมีพื้นที่ประสบภัยแล้งอีก จำนวน 29 จังหวัด 162 อำเภอ โดยมีการประเมินน้ำต้นทุน และคาดการณ์พื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำใช้การ ณ วันที่ 1 พ.ย.62 รวมทุกแหล่งน้ำ 29,357 ล้าน ลบ.ม. มีแผนจัดสรรน้ำ 25,741 ล้าน ลบ.ม.
สำหรับโครงการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำฤดูแล้งปี 2562/63 ตามมติ ครม. เมื่อ7 ม.ค.63 ในพื้นที่ 44 จังหวัด จำนวน 2,041 โครงการ ได้รับอนุมัติงบประมาณแล้ว 1,626 โครงการ ดำเนินการแล้ว 715 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 50.21
พล.ต.พัชร์ชศักดิ์กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังได้เห็นชอบหลักการวางแผนการจัดสรรน้ำและการเพาะปลูกฤดูฝน ปี 2563 และกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแผนดังกล่าวไปวางแผนปรับการใช้น้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน ที่มีอยู่อย่างจำกัด รวมถึงเห็นชอบหลักการ 8 มาตรการในการบริหารจัดการน้ำเพื่อรองรับฤดูฝน ปี2563
"พล.อ.ประวิตรได้กำชับคณะอนุกรรมการฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องบูรณาการทำงานร่วมกัน เร่งติดตามขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างจริงจัง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความเสี่ยงขาดแคลนน้ำและเน้นแก้ไขคุณภาพน้ำประปา ให้บังเกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างเร่งด่วน การแก้ภัยแล้งจะต้องมีเป้าหมายครอบคลุมทั้งน้ำอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อการเกษตร และภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งเพื่อการรักษาระบบนิเวศ โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับสูงสุด รองรับภาวนิวนอร์มอล ควบคู่การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ตามนโยบายของรัฐบาลในการช่วยเหลือ ประชาชนและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง" ผู้ช่วยโฆษกประจำรองนายกฯ ระบุ
พล.ต.พัชร์ชศักดิ์กล่าวด้วยว่า พล.อ.ประวิตรยังได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบ จะต้องสร้างความตระหนักรู้ ให้แก่พี่น้องประชาชนและทุกภาคส่วนได้มีความเข้าใจ พร้อมสนับสนุนการดำเนินงานของภาครัฐ ทั้งการใช้น้ำอย่างประหยัดและรู้คุณค่าเพื่อให้การแก้ปัญหาภัยแล้ง ซึ่งมีแนวโน้มจะทวีเพิ่มมากขึ้น มีความราบรื่นและเกิดความยั่งยืนตลอดไป.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |