สาวก้าวไกล จี้เปิดเรียน 1 มิ.ย. ชู 12 มาตรการเสริมความปลอดภัยสู้โควิด


เพิ่มเพื่อน    

18 พ.ค.63 - นางสาว สุทธวรรณ สุบรรณ ณ อยุธยา โฆษกพรรคก้าวไกลและคณะทำงานด้านการศึกษาพรรคก้าวไกล กล่าวว่าวันนี้เป็นวันแรกในการเรียนออนไลน์ ซึ่งจากการติดตามพบว่าhttps://www.dltv.ac.th/ ล่มไม่สามารถเข้าได้ตั้งแต่ช่วงเช้า ซึ่งแนวทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ว่า แนวทางที่ออกมาดูเหมือนมุ่งเน้นไปที่การเรียนแบบออนไลน์และทางไกลมากกว่าการเตรียมความพร้อมเพื่อให้มีการเรียนการสอนในโรงเรียนอย่างปลอดภัย ซึ่งตนขอเห็นแย้งและเสนอว่า แนวทางที่ควรเป็นคือการเปิดเทอมให้ได้เร็วที่สุดโดยเตรียมความพร้อมให้เด็กสามารถกลับมาเรียนในโรงเรียนได้ เรื่องนี้ถือเป็นหน้าที่ของรัฐบาลโดยตรง ต้องมีมาตรการเชิงรุกที่ช่วยให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตใกล้เคียงภาวะปกติได้โดยเร็ว  สำหรับโรงเรียน หากมีการคิดอย่างจริงจังตั้งแต่ช่วงปิดเทอมที่ผ่านมา สร้างสิ่งแวดล้อม กำหนดกติกาสร้างวินัย สร้างระบบการสอบสวนโรคที่ดี คิดให้ครบทั้งระบบเติมคนและงบประมาณลงไปอย่างเหมาะสม เชื่อว่าการเปิดเรียนอยู่ในวิสัยที่ทำได้ ในทางกลับกันหากเกิด Super-spreader ขึ้น ก็แสดงว่ารัฐยังทำได้ไม่ดีพอ 

“ทางเลือกแรกของโรงเรียน คือการมุ่งทำทุกวิถีทาง ไม่ว่าจัดห้องเรียนให้มีระยะห่างเหมาะสม จัดคาบเรียนใหม่ ปรับรูปแบบของกิจกรรมการเรียนรู้ การกำหนดกติกาในโรงเรียน กำหนดมาตรการคัดกรอง และออกมาตรการต่างๆ เพื่อทำให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้ได้มากที่สุด การเรียนออนไลน์ ควรเป็นทางเลือกสำหรับเด็กที่พ่อแม่มีความคล่องตัวสามารถสอนลูกเองได้ และประสงค์ที่จะให้ลูกเรียนที่บ้าน เพราะข้อเท็จจริงจากการลงพื้นที่ เราพบเห็นพ่อแม่จำนวนมากที่มีข้อจำกัด แม้ว่าจะรับรองความปลอดภัยไม่ได้ 100% แต่ถ้าเห็นว่าโรงเรียนเตรียมความพร้อมและวางมาตรการอย่างเต็มความสามารถแล้ว พ่อแม่ก็สามารถอุ่นใจได้และจะช่วยลดภาระให้กับพวกเขา ซึ่งเวลานี้ส่วนใหญ่ยังต้องคิดในแง่เศรษฐกิจหรือการทำมาหากินเพื่อปากท้องควบคู่กันไปด้วย”

โฆษกพรรคก้าวไกล ยังกล่าวต่อไปว่า การไม่ให้เด็กไปโรงเรียนไม่ใช่การแก้ปัญหา แต่เป็นการผลักปัญหาออกจากความรับผิดชอบของโรงเรียนและภาครัฐ เพราะเมื่อต้องอยู่ที่บ้านก็ไม่มีอะไรการันตีได้เช่นกันว่า เด็กๆจะไม่ออกไปรวมกลุ่มกันเองในช่วงที่พ่อแม่ออกไปทำงาน เช่นเดียวกับกลุ่มเด็กเล็กๆที่ก็วิ่งเล่นปะปนกันอยู่แล้ว ยิ่งในพื้นที่แออัดเป็นเรื่องที่เลี่ยงได้ยาก หากมีการสัมผัสเชื้อไวรัสโคโรนาก็สามารถแพร่กระจายได้ ความแตกต่างจึงมีเพียงแค่ หากเด็กติดเชื้อนอกโรงเรียน โรงเรียนก็ไม่ต้องรับผิดชอบอะไร เช่นเดียวกับรัฐที่มีแต่คำสั่งแต่ไม่ได้คิดถึงผลกระทบที่จะตามมาหรือคิดถึงผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่ควรเป็น 

ทั้งนี้ สุทธวรรณ ย้ำว่า ไม่ได้ต่อต้านหรือบอกว่าไม่ควรเรียนแบบออนไลน์ แต่การเรียนออนไลน์ควรเป็นแค่ทางเลือกหรือทางออกสำรองในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น หากพิจารณาจากสถานการณ์ปัจจุบัน พบว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่มีระดับต่ำมาก มีการติดเชื้อในระดับหลักหน่วยต่อเนื่องกันมากว่าครึ่งเดือนและมีการติดเชื้อเป็น 0 ในบางวัน จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ที่ยังต้องพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลลดต่ำลงเรื่อยๆและมีอัตราการรักษาหายสูง ดังนั้น การเปิดเรียนในโรงเรียนจึงไม่ใช่เรื่องที่ทำไม่ได้และจะสามารถช่วยอุดช่องว่างความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยได้อีกระดับด้วย  

“โรงเรียน คือพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กจำนวนมาก ประเทศไทยยังมีเด็กที่อยู่ในกลุ่มยากจนพิเศษที่เสี่ยงที่จะหลุดจากระบบการศึกษาประมาณ 711,536 คน มากกว่า 200,000 คน เป็นเด็กที่อยู่ในครัวเรือนที่ยากจนที่สุด อาหารมื้อหลักของเด็กเหล่านี้ก็คือ อาหารกลางวันที่โรงเรียน จึงยิ่งเสี่ยงมากที่เด็กกลุ่มนี้จะขาดแคลนอาหารหากไม่ได้ไปโรงเรียน ปัจจุบันประเมินกันว่าประเทศไทยมีนักเรียนยากจนพิเศษ ที่อยู่ในภาวะทุพโภชนาการมากกว่า 20,000 คน หากปิดการเรียนการสอนที่โรงเรียน ก็อาจจะทำให้เด็กที่อยู่ในภาวะทุพโภชนาการเพิ่มมากขึ้น”

สุทธวรรณ ยังกล่าวถึงอีกปัญหาหนึ่งของการศึกษาว่า ปัจจุบันมีเด็กไทยอย่างน้อย 3 ล้านคน อยู่ในสภาวะครอบครัวแหว่งกลาง คือ ไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ โดยต้องอยู่กับปู่ย่าตายาย เนื่องจากพ่อแม่ต้องไปทำงานต่างถิ่น (ภาคอีสาน 40% ภาคเหนือ 30%) สำหรับในสังคมเมือง มีหลายครอบครัวที่ทั้งพ่อและแม่ต้องทำงานเพื่อหารายได้สองทาง ไม่อาจจะที่จะสอนลูกที่บ้านได้ จากบริบทที่กล่าวมา ภายใต้สังคมที่เหลื่อมล้ำสูง โรงเรียนจึงเป็นสถานที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก ทำให้พ่อแม่ได้ออกไปประกอบสัมมาอาชีพได้ และบริบทเหล่านี้ตอกย้ำว่าพวกเขาไม่สามารถเรียนออนไลน์ได้ ส่วนการเรียนทางไกลก็เป็นการเรียนรู้ทางเดียว ไม่อาจบอกได้ว่านั่นจะทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่ดี

สำหรับทางออกและข้อเสนอ สุทธวรรณ ชี้ว่า ควรเปิดโรงเรียนเป็นทางเลือกหลัก และเชื่อว่าในวันที่ 1 มิ.ย. จะสามารถเปิดเรียนได้ หากตั้งใจจริงและทำตามมาตรการ 12 ข้อ ของพรรคก้าวไกล ดังนี้

1) มาตรการคัดกรองเด็กก่อนเข้าโรงเรียน เช่น การตรวจวัดอุณหภูมิ การมีจุดล้างมือหน้าโรงเรียน

2) การงดกิจกรรมเข้าแถวหน้าเสาธง หรือกิจกรรมการนำเอาเด็กมารวมกลุ่มกัน เช่น วิชาลูกเสือ เป็นต้น

3) มีการจัดเวรทำความสะอาด เครื่องเล่นในสนามเด็กเล่น โต๊ะเรียน พื้นที่ที่มือสัมผัสบ่อยๆ เช่น ราวบันได ราวระเบียง ลูกบิดประตู ขอบประตู ขอบหน้าต่าง ฯลฯ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้ออย่างน้อย 2 ครั้งต่อวัน

4) การจัดโต๊ะเรียนให้อยู่ห่างกัน หากยังมีระยะห่างกันไม่มากพอ ก็อาจจะทำอุปกรณ์ฉากกั้นระหว่างโต๊ะเรียน ซึ่งฉากกั้นนี้ นอกจากจะเพื่อความปลอดภัยแล้ว ยังเป็นสัญลักษณ์ที่คอยเตือนใจให้นักเรียนเว้นระยะห่างกัน ได้ดีอีกด้วย

5) กำหนดกติกาต่างๆ ให้กับนักเรียนทราบ เช่น การใส่หน้ากากอนามัยในโรงเรียน การเล่นกับเพื่อนในช่วงพักกลางวัน การรณรงค์การเว้นระยะห่างระหว่างกันภายในโรงเรียน การกำหนดจุดยืนเข้าคิวที่มีการมาร์คจุดให้ยืนห่างๆ กัน ภายในโรงเรียน การไม่ใช้อุปกรณ์ร่วมกัน การรับประทานอาหารโดยใช้ช้อนกลาง ฯลฯ ซึ่งถ้ามองในเชิงบวก ถือว่าเป็นโอกาสดีที่จะทำให้เด็กได้เรียนรู้ สร้างนิสัยใหม่ เพื่อสุขอนามัยที่ดี และจะดีมากยิ่งขึ้น ถ้าเด็กได้นำเอาความรู้นี้ไปเผยแพร่ให้กับคนในครอบครัว และประยุกต์ใช้ที่บ้าน

6. ปรับรูปแบบการเรียนการสอน และกิจกรรมการเรียนรู้ในวิชาต่างๆ ให้มีการรักษาระยะห่างระหว่างกัน งดการนำเด็กมารวมกลุ่ม

7. จัดคาบเรียน เพื่อลดการเวียนสอนของครู เพื่อป้องกันไม่ให้ครูมีการเวียนพบปะกับเด็กจำนวนหลายห้อง เพื่อลดความเสี่ยง

8. การจัดทำจุดอ่างล้างมือบริเวณหน้าห้องเรียน ที่มีจำนวนจุดที่มากเพียงพอในระดับหนึ่ง และวางกติกาให้นักเรียนทยอยกันออกมาล้างมือด้วยสบู่ ก่อนเริ่มเรียนคาบต่อไปทุกครั้ง เพื่อให้การล้างมือเป็นนิสัยใหม่ของเด็ก

9. มีมาตรการในการตรวจคัดกรองครูด้วยเช่นกัน มีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เป็นระยะๆ ขอความร่วมมือจากครูไม่ให้ไปในที่มีมวลชนหนาแน่น หากพบว่าครูป่วย ให้ตรวจวินิจฉัยทันที และให้กลับมาสอนเมื่อหายดีแล้วเท่านั้น

10. หากพบว่าเด็กคนใดป่วย ควรให้เด็กคนนั้นพักรักษาตัวจนกว่าจะหาย และให้ครูประสานกับผู้ปกครองเพื่อติดตามอาการ และสนับสนุนให้มีการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด หากพบว่ามีอาการต้องสงสัย และจะอนุญาตให้กลับมาเรียนได้ก็ต่อเมื่อหายดี

11. ทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง ว่าพยายามให้เด็กเว้นระยะห่างจากปู่ย่าตายาย หรือผู้สูงอายุภายในบ้าน และงดที่จะใช้อุปกรณ์ต่างๆ ร่วมกัน

12. เด็กทุกคน จะต้องมีรายงานกลับมาส่งครูทุกวัน (เด็กเล็กให้พ่อแม่ผู้ปกครองเป็นผู้กรอก) เหมือนกับสมุดจดการบ้าน เพื่อรายงานว่าที่บ้านมีผู้ป่วยหรือไม่ หรือมีบุคคลภายนอกมาพักอาศัยรวมกันหรือไม่ หากพบว่าที่บ้านของนักเรียนมีผู้ป่วย ให้ครูประสานแจ้ง อสม. ในเบื้องต้นไว้ก่อน


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"