สุริยะใส : เราไม่ลืม 'รพ.สต.' อีกหนึ่งนักรบเสื้อกาวน์ ในสงครามโควิด


เพิ่มเพื่อน    

18 พ.ค.63 - นายสุริยะใส กตะศิลา คณบดี วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก โดยมีเนื้อหาดังนี้

เราไม่ลืม...รพ.สต.อีกหนึ่งนักรบเสื้อกาวน์ ในสงครามโควิด (Covid War)


ในความสำเร็จของการรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 สังคมไทยพุ่งเป้าชัยชนะไปที่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่เรียกกันว่า “นักรบเสื้อกาวน์” ตั้งแต่ระดับสายงานบริหารไปกระทั่งบุคลากรระดับพื้นที่ ชุมชนโดยเฉพาะบทบาทของ อสม.หรือ อาสาสมัครสาธารณสุขที่มีกว่า 1,040,000 คนทั้งประเทศ

และไม่ใช่แค่คนไทยเท่านั้นที่ ปรบมือชื่นชมกับผลงานของทีมแพทย์สาธารณสุขไทย แม้แต่องค์การอนามัยโลก หรือ WHO กระทั่งเอ่ยปากชมกระทั่งชี้ชวนนานาชาติให้เห็นถึงพลังของ อสม.เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จของประเทศไทยและความมีประสิทธิภาพของระบบสาธารณสุขของคนไทย

แต่กลุ่มและหน่วยงานที่อาจจะถูกมองข้ามไป หรือกล่าวถึงกันไม่มากเท่าใดนัก คือ บทบาทของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือ รพ.สต. ที่คนทั่วไปรู้จักกันก่อนหน้านี้คือ “สถานีอนามัยประจำตำบล” หรือในอดีตคือ “สุขศาลา” นั่นเอง

ในปัจจุบันเรามี รพ.สต ทั่วประเทศ จำนวน 9,776 แห่ง มีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน มากกว่า 40,000 คน

ในข่วงโควิดระบาด รพ.สต.ต้องคอยคิดวิเคราะห์สถานการณ์ วางแผนดำเนินการ ออกปฏิบัติการร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ สอบสวนโรค สัมผัสผู้ป่วยยืนยัน คอยควบคุมการระบาดของโรค ค้นหา คัดกรอง ต้องดูแลผู้กักกัน เฝ้าสังเกตอาการเริ่มป่วย เยี่ยมตามบ้าน และเป็นพี่เลี้ยงมอบหมายภารกิจ ให้ อสม.ดำเนินการเฝ้าระวัง เคาะประตูบ้าน และยังต้องทำงานเชื่อมโยงระหว่าง อสม. หมู่บ้าน กับ สาธารณสุขอำเภอ สื่อสารเชื่อมโยงประสานงานกับส่วนกลางในภาพรวมตลอดเวลา เรียกได้ว่าบทบาทหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ รพ.สต.มีความเสี่ยงไม่น้อยกว่าหน่วยงานอื่นๆ เลยทีเดียว

ผมเองมีประสบการณ์โดยตรงเมื่อ เกือบ 40 ปี ก่อน คุณป้าของผมเป็นเจ้าหน้าที่ประจำสุขศาลา แทบจะนอนที่ทำงานโชคดีบ้านอยู่ติดกับสุขศาลา และก็มีเพียงเจ้าหน้าที่อีกคนที่คอยประจำการ ชาวบ้านทั้งชีวิตอาจไม่เคยเห็นหน้าแพทย์ พยาบาล สำหรับป้าของผมเป็นทุกอย่างของพวกเขา จนเรียกกันว่า “หมอประครอง” ป้าต้องทำหน้าที่ 24 ชั่วโมงก็ว่าได้ และไม่ใช่คนในหมู่บ้านเท่านั้นแต่รวมถึงอีกหลายหมู่บ้านในละแวกตำบลนั้น ดึกดื่นป้าแทบไม่ได้นอนต้องคอยคนมาเคาะประตูบ้าน ไฟฟ้าไม่มี มีแต่ไฟฉาย อย่าพูดถึงเครื่องไม้เครื่องมือทางการแพทย์ ผมจำไม่ผิดมีไม่กี่อย่าง ตู้ยา ยาแดง ยาเหลือง ยาแก้ปวด สายวัดความดัน ผ้าปิดแผล ที่ชั่งน้ำหนัก ที่วัดไข้ ใครที่อาการหนักต้องส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลเดินทางลำบากและไกลเหมือนกัน

ในวัยเด็กตอนนั้นผมก็แอบ ฝันอยู่ว่าถ้า “สุขศาลา”ของป้า มีแพทย์ พยาบาล คงช่วยชีวิตชาวบ้านได้มากกว่านี้ พอผมโตขึ้นก็มีการเปลี่ยนชื่อ จากสุขศาลาเป็น “สถานีอนามัยประจำตำบล” ซึ่งแน่นอนว่า ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนชื่อแต่มีการจัดระบบกันใหม่มี จนท.เครื่องไม้เครื่องมือเพิ่มขึ้นดูแลคนป่วยได้กว้างขึ้น ครั้นต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล” ก็ดีขึ้นมาเป็นลำดับ มีสถานะน้องๆ โรงพยาบาล วันนี้ผมก็ยังฝันต่อสักวัน รพ.สต.จะเป็นโรงพยาบาลเต็มรูป มีหมอ มีแพทย์ เครื่องไม้เครื่องมือพร้อมเหมือนโรงพยาบาลระดับอำเภอ มันคงไม่ใช่แค่ฝันกระมัง

เพราะช่วงการทำสงครามโควิดรอบนี้หนึ่งในกำลังพลของนักรบเสื้อกาวน์ที่เรามองข้ามไม่ได้คือบรรดาเจ้าหน้าที่ รพ.สต. 40,000 กว่าคนทั้งประเทศนี่หละครับ

เราต้องสนับสนุนและให้กำลังใจด้วยและมากกว่านั้นนโยบายของรัฐบาลและยุทธศาสตร์ของกระทรวงสาธารณสุขปละสุขภาพคนไทยจะต้องมีแผนพัฒนาทั้งกำลังคน และกำลังประมาณให้ รพ.สต.มากขึ้นด้วย

เราปฏิเสธไม่ได้ว่าสงครามโควิดรอบนี้มันอ่อนกำลังลง และใกล้พ่ายแพ้ เพราะความเข้มแข็ง ของชุมชน หมู่บ้าน วิกฤติโควิดบ่งชี้ว่าชุมชนยังไม่ล่มสลาย สำคัญคือเราจะสร้างความเข้มแข็งยั่งยืนได้อย่างไร คำตอบไม่ใช่ทุกย่างอยู่ในเมือง

ฐานรากชุมชนที่เรารู้จักอาจมีแค่ บ้าน วัด โรงเรียน (บวร) เท่านั้น แต่ในยุค New Normal ต้องเพิ่มบทบาทและความสำคัญของ รพ.สต. เข้าไปด้วยนะครับ...


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"