18 พ.ค.2563 นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ปีนี้ธนาคารมีแผนออกสลากออมสิน หุ้นกู้ และระดมเงินฝากรวมกันไม่ต่ำกว่า 3.5-3.8 แสนล้านบาท เพื่อนำมาใช้ปล่อยกู้ดูแลประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากไวรัสโควิด-19ตามนโยบายรัฐบาล โดยแบ่งเป็นการระดมผ่านบัญชีเงินฝาก 6-7 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นสุทธิจากปีก่อน 3% การออกสลากออมสินตลอดทั้งปี 2.7-3 แสนล้านบาท และการออกหุ้นกู้ของออมสินอีกมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ ระหว่างเดือน พ.ค.-ก.ค. 2563 ธนาคารคาดว่าจะมีการปล่อยสินเชื่อเข้าระบบเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท ทั้งจากโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) ที่ออมสินปล่อยกู้ให้ธนาคารพาณิชย์ และนอนแบงก์ เพื่อไปปล่อยกู้ช่วยเหลือเอสเอ็มอี 1.5 แสนล้านบาท และสินเชื่อฉุกเฉินสำหรับช่วยอาชีพอิสระ และผู้มีรายได้ประจำที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19คนละ 10,000-50,000 บาท วงเงินรวม 40,000 ล้านบาท และที่เหลืออีก 10,000 ล้านบาทสำหรับปล่อยกู้ให้ลูกค้าทั่วไป
“แม้จะมีการปล่อยกู้ออกไปมากแต่ธนาคารยืนยันว่า ยังมีสภาพคล่องเพียงพอ ไม่ได้ขาดแต่อย่างใด และพร้อมสำหรับช่วยเหลือธุรกิจและประชาชนที่กำลังเดือดร้อนได้แน่นอน โดยปัจจุบันออมสินมีสภาพคล่องส่วนเกินประมาณ 3 แสนล้านบาท มากกว่ายอดสินเชื่อที่จะปล่อยกู้ในช่วง 2-3 เดือนนี้ ซึ่งจะใช้ 2 แสนล้านบาท ทำให้เมื่อปล่อยกู้ไปแล้วก็ยังเหลือสภาพคล่องเกิน 1 แสนล้านบาทอยู่ดี อย่างไรก็ตามหลักการบริหารของธนาคาร ก็ต้องเตรียมหาเงินฝากมาทดแทนเพื่อรองรับการปล่อยกู้ในอนาคตด้วย” นายชาติชาย กล่าว
นายชาติชาย กล่าวว่า ในปีนี้ธนาคารมีแผนออกสลากออมสินประมาณ 2.7-3 แสนล้านบาท เพื่อทดแทนสลากออมสินเดิมที่จะครบอายุประมาณ 2 แสนล้านบาท และส่วนที่เหลือเป็นสลากขายใหม่ 70,000-100,000 ล้านบาท ส่วนการออกหุ้นกู้ จะมีการออกอีก 1 หมื่นล้านบาท หลังจากปีที่แล้วธนาคารได้ขออนุญาตออกหุ้นกู้กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ไว้ 50,000 ล้านบาท แต่เพิ่งออกไปได้ 30,000กว่าล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะออกได้ทั้งหมดในปีนี้ สำหรับบัญชีเงินฝาก ธนาคารได้มีการให้ดอกเบี้ยสูงอยู่แล้ว ทั้งบัญชีเผื่อเรียก เผื่อเรียกพิเศษ รวมถึงบัญชีเงินฝากประจำจึงเชื่อว่าจะดึงดูลูกค้าได้ดี
รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง ระบุว่า ความคืบหน้าเกี่ยวกับมาตรการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ภายใต้กรอบวงเงินรวม 50,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน ปีที่ 1 – ปีที่ 3 คงที่ 2.50% ต่อปี ให้กู้เพื่อซื้อที่ดินพร้อมอาคารหรือห้องชุดจากผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ทั่วประเทศที่มีราคาซื้อขายไม่เกิน 3 ล้านบาท นั้น หลังเปิดให้ประชาชนติดต่อยื่นคำขอกู้ตั้งแต่วันที่ 24 ต.ค. 2562 ล่าสุดวันที่ 12 พ.ค. 2563 มีผู้ยื่นกู้แล้วจำนวน 24,925 บัญชี วงเงินขอกู้ 47,773 ล้านบาท และธนาคารได้อนุมัติสินเชื่อแล้วจำนวน 23,010 บัญชี วงเงินอนุมัติ 42,950 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงการคลังคาดว่า แม้ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ด้วยอัตราดอกเบี้ยของมาตรการที่เฉลี่ย 3 ปีแรกต่ำที่สุดในตลาดเพียง 2.50% ต่อปี จะทำให้ยอดอนุมัติสินเชื่อได้เต็มกรอบวงเงินของโครงการจำนวน 50,000 ล้านบาทได้ภายในไตรมาส 3 ของปีนี้ ซึ่งเร็วกว่าระยะเวลาของมาตรการที่กำหนดให้ยื่นกู้และทำนิติกรรมภายในวันที่24 ธ.ค. 2563
“มาตรการดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการทำให้ผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง คนวัยทำงานหรือกำลังเริ่มต้นสร้างครอบครัว และกลุ่มผู้สูงอายุ มีบ้านเป็นของตัวเองตามนโยบายรัฐบาล จึงกำหนดอัตราดอกเบี้ย 3 ปีแรกเพียง 2.50% ต่อปี ผ่อนชำระเริ่มต้น 3,300 บาทต่อวงเงินกู้ 1 ล้านบาทในช่วง 3 ปีแรก เทียบกับเงินงวดผ่อนชำระของอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อปกติในช่วง 3 ปีแรกผู้กู้จะประหยัดเงินงวดได้ถึง 68,400 บาท และยังได้สิทธิ์ลดค่าใช้จ่ายในการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอนกรรมสิทธิ์และค่าธรรมเนียมการจดจำนองเหลือประเภทละ 0.01 % อีกด้วย” รายงานข่าว ระบุ
ทั้งนี้ แม้ภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วงต้นปีเริ่มมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากปัญหาโควิด-19 และการชะลอตัวของเศรฐกิจโลกแต่ในช่วงไตรมาส 1/2563 ธอส. สามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ 52,515 ล้านบาท 32,472 บัญชี เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 19.24% แบ่งเป็นสินเชื่อวงเงินกู้ไม่เกิน 2 ล้านบาท จำนวน 21,456 ราย เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2562 ธนาคารมียอดสินเชื่อคงค้างรวมทั้งสิ้น 1,232,145 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.89%
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |