ชวนกรีดทหารเลวก็มี ชี้'บิ๊กตู่'อย่าเหมารวมหมดเพื่อแม้วไม่ให้ราคา'สมคิด'


เพิ่มเพื่อน    

 

  ครบรอบ 72 ปี ปชป.คึกคัก “มาร์ค” ลั่นเป็นพรรคเสรีนิยมไม่ใช่อนุรักษ์ บลัฟกลับแนวทางแตกต่าง คสช.ที่รวบอำนาจและเพื่อไทยที่เน้นประชานิยม  “ชวน” กรีด “บิ๊กตู่” ทหารเลวก็มีเหมือนกัน อย่าเหมารวมว่านักการเมืองเลว "เพื่อแม้ว" เย้ย "สมคิด" ตั้งพรรคแค่เฉพาะกิจ ยากประสบผลสำเร็จ ชี้ 4 ปีทำประเทศติดหล่ม เลิกคิดประยุทธ์จะกลับมาเป็นนายกฯ อีก ขออย่าใช้อำนาจเอาเปรียบพรรคอื่น "ไก่อู" เผยพรรคการเมืองนัดถกก่อน มิ.ย.นี้

     ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เช้าวันที่ 6 เมษายน พรรค ปชป.ได้จัดพิธีทำบุญเนื่องในโอกาสครบรอบ 72 ปีการก่อตั้งพรรค เป็นการทำพิธีทางศาสนา ทั้งอิสลาม พราหมณ์ และพุทธ โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค, นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค, นายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรค พร้อมด้วยแกนนำพรรค สมาชิกพรรค ร่วมทำพิธี 
    โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างชื่นมื่น มีตัวแทนพรรคการเมืองต่างๆ นำกระเช้าดอกไม้มาร่วมอวยพรอย่างคึกคัก อาทิ พรรคชาติพัฒนา นำโดย นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล หัวหน้าพรรค, นายสรอรรถ กลิ่นประทุม ประธานที่ปรึกษาพรรค, นายศุภชัย ใจสมุทร รองเลขาธิการพรรคพรรคภูมิใจไทย และพรรคชาติไทยพัฒนา นำโดยนายธีระ วงศ์สมุทร หัวหน้าพรรค, นายนิกร จำนง ที่ปรึกษาพรรค, นายวราวุธ ศิลปอาชา ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีแกนนำกปปส.ที่กลับมายืนยันตัวตนการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์แล้วเข้าร่วมเช่นกัน อาทิ นายถาวร เสนเนียม นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์, นายอิสสระ สมชัย, นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ขณะที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรค ปชป. และแกนนำกลุ่ม กปปส. ไม่ได้มาร่วมงานด้วย
    ในช่วงทำพิธีศาสนาอิสลาม นายอภิสิทธิ์ได้กล่าวว่า เมื่อพิจารณาอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ตั้งแต่ปี 2489 ตนก็แปลกใจว่าสิ่งที่ผู้ก่อตั้งพรรคประกาศไว้ยังทันสมัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องประชาธิปไตย เศรษฐกิจ ที่ต้องเปิดให้เอกชนเข้ามาดำเนินการ แต่รัฐก็เข้าไปแทรกแซงเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และเรื่องการกระจายอำนาจที่สำคัญอยู่ในขณะนี้ ยิ่งทำให้มั่นใจว่าพรรคประชาธิปัตย์จะเดินไปอย่างมั่นคง และเมื่อดูบรรยากาศการเมืองตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ ทำให้มั่นใจขึ้นที่สมาชิกมายืนยันตัวตนจำนวนมาก ซึ่งอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์เป็นสิ่งที่พรรคอื่นไม่มี และยังมองไม่เห็นว่าจะมีพรรคไหนที่จะมีอุดมการณ์มั่นคง มั่นใจว่าพรรคประชาธิปัตย์จะอยู่คู่กับการเมืองไทย
    “แม้สถานการณ์ในขณะนี้จะไม่ปกติ แต่เราต้องยอมรับว่ามาถึงจุดนี้เพราะสังคมไม่ไว้ใจ ไม่เชื่อมั่นในการเมือง ดังนั้นพรรคประชาธิปัตย์ต้องเป็นผู้นำทำให้คนกลับมาศรัทธาประชาธิปไตย ยืนยันว่าผู้บริหารของพรรคทุกคนจะทำทุกอย่างให้เป็นที่พึ่งหวังของประชาชน การเลือกตั้งจะมีหรือไม่ในปีหน้า แต่เรายืนยันว่าจะต้องมาอยู่ร่วมกันที่นี่ เพราะมีจิตใจในการที่จะร่วมกันเดินไปข้างหน้า” นายอภิสิทธิ์กล่าว 
    ขณะที่นายชวนกล่าวตอนหนึ่งว่า วันนี้บ้านเมืองต้องเดินไปข้างหน้า พวกเราก็รู้ว่าที่เกิดวิกฤติการเมืองเกิดจากธุรกิจการเมืองที่ซื้อได้ แต่เราก็ต้องยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และยึดมั่นในระบบรัฐสภา ตนเป็นนักการเมือง ตั้งแต่ปี 2512 เลือกตั้งผ่านมาแล้ว 15 สมัย ตนรักประชาธิปไตย จึงตัดสินใจเลือกที่จะมาเล่นการเมือง ดังนั้นชีวิตนักการเมืองของตนจะไม่ยอมให้ใครมาดูถูก และที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี บอกว่านักการเมืองเลว ไม่ดี  
กรีดทหารเลวก็มี
    "ผมก็ยอมรับว่านักการเมืองก็มีเลว แต่ทหารเลวก็มีเหมือนกัน และบอกกลับไปว่าท่านอย่าเหมารวม ซึ่งท่านก็บอกว่าไม่ได้เหมา แต่เวลาท่านพูดก็ไม่เคยยกเว้น และยอมรับว่านักการเมืองที่ดีก็มี จึงเป็นที่มาการพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่เปลี่ยนไปแล้วว่านักการเมืองก็มีดีเหมือนกัน ดังนั้นอย่าไปเหมารวม และพวกเราก็ต้องอย่าให้ใครมาดูถูก เพราะทุกอาชีพมีทั้งคนดีและคนไม่ดี" นายชวนกล่าว     
    ภายหลังนายอภิสิทธิ์ให้สัมภาษณ์ว่า ความท้าทายของพรรคคือความสามารถในการสืบสานอุดมการณ์ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของโลก มั่นใจว่าแนวคิดและอุดมการณ์ที่ยึดมั่นจะแก้ปัญหาและเป็นทางหลัก ไม่ใช่เป็นแค่ทางเลือก โดยพรรค ปชป.ยุคใหม่จะสร้างสังคมไทย พรรค ปชป.เป็นพรรคเสรีนิยมประชาธิปไตย ไม่ใช่อนุรักษ์ โดยคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาร่วมงานก็จะผสมผสานกับคนที่ทำงานการเมืองอยู่ก่อน คนรุ่นใหม่ไม่ใช่เรื่องของอายุน้อย แต่เป็นเรื่องความคิดใหม่ที่ในพรรคตกผลึกว่าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง 
    "โดยจะมีแนวทางของพรรค จะแตกต่างจากการบริหารของ คสช. ที่บริหารแบบรวบอำนาจไว้ที่ราชการ และพรรคก็จะแตกต่างจากพรรคเพื่อไทยในอดีต ที่เน้นเรื่องประชานิยม ที่คิดว่าเมื่อได้รับเลือกตั้งแล้วจะใช้อำนาจอย่างไรก็ได้ แต่ประชาธิปัตย์จะให้ประชาชนตรวจสอบและมีส่วนร่วม โดยจะเดินหน้าไปสู่ระบบสวัสดิการ และสิทธิของประชาชนที่จะมีหลักประกันในเรื่องรายได้พื้นฐาน"
    นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า อยากให้ คสช.ทบทวนคำสั่งที่ 53/2560 หลังจากที่ผู้ตรวจการแผ่นดินชี้ว่าเป็นการละเมิดสิทธิประชาชนและขัดรัฐธรรมนูญ การที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ระบุว่าจะแก้ในเรื่องสาขาพรรค เป็นแค่เรื่องทางเทคนิคที่เกิดจากการขัดกันของคำสั่งดังกล่าว หากยึดธรรมาภิบาลจริง เมื่อพบว่าคำสั่งนี้สร้างความเดือดร้อนและภาระเกินกว่าความจำเป็นก็ควรแก้ไข ให้ระบบการตรวจสอบถ่วงดุลทำงานได้ รัฐบาลต้องเคารพมติผู้ตรวจการแผ่นดินที่ชี้ว่ามีการละเมิดสิทธิประชาชน โดยไม่ต้องรอคำชี้ขาดทางกฎหมายจากศาลรัฐธรรมนูญ จึงจะเป็นแบบอย่างของการปฏิรูปการเมืองอย่างแท้จริง การใช้อำนาจทางการเมือง หากกลับไปสู่จุดที่ใช้อำนาจรัฐมาสร้างความได้เปรียบทางการเมือง มีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง ก็จะปฏิรูปการเมืองไม่ได้  
    เมื่อถามถึงกระแสข่าวที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ จะตั้งพรรคการเมืองเพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ นั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ทุกคนมีสิทธิ์ตั้งพรรคภายใต้กฎหมาย และยอมรับว่าคงจะมีการดึงตัว ส.ส.ของพรรคไปเป็นเรื่องธรรมดา แต่ไม่คิดว่าจะเป็นปัญหาสมองไหลจนเป็นปัญหากับพรรค ในส่วนของนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ และนายสกลธี ภัททิยกุล ที่มีข่าวว่าไปพบกับนายสมคิดนั้น ก็ได้ชี้แจงกับนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคในส่วนกทม. ว่าไม่ได้มีเรื่องการเมือง ซึ่งนายณัฏฐพลก็ทำโรงเรียนอยู่
เย้ยพรรคสมคิดไปไม่รอด
    ด้านนายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า แม้นายสมคิดยังแทงกั๊กเรื่องตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ คนนอกต่อ แต่เชื่อว่าถึงอย่างไรนายสมคิดจะต้องอยู่เบื้องหลังในการทาบทามพรรคการเมืองใหม่ๆ และพรรคเก่าบางพรรคให้มาช่วยสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อไป ทั้งนี้ การที่พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นนายกฯ คนในได้ พรรคที่จะเสนอชื่อก็จะต้องมี ส.ส.ไม่ต่ำกว่า 25 คน เป็นไปได้ยากสำหรับพรรคเกิดใหม่ มีเพียงพรรคเก่าที่สามารถทำได้ แต่ถ้า พล.อ.ประยุทธ์จะรอมาเป็นนายกฯ คนนอก ก็ต้องใช้เสียงโหวตในสภามากถึง 2 ใน 3 หรือมากถึง 375 เสียง เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์และนายสมคิดคงต้องรวบรวมหลายพรรคหลายก๊กหลายมุ้งมาช่วย แต่มองว่าเป็นงานหินทั้งสองทาง
    “ผมไม่ให้ราคานายสมคิด ต่อให้พวกคุณใช้งบสารพัดทำโครงการต่างๆ อย่างโครงการไทยนิยมเข้าหาประชาชนมากมาย ใช้กลไกของรัฐเอาเปรียบสารพัด แต่ท้ายที่สุดแล้วก็ขึ้นกับความพึงพอใจของประชาชนว่าจะเลือกพรรคไหน ไม่ได้ขึ้นกับปืนที่จะไปบังคับประชาชนได้ ดังนั้นขอให้ พล.อ.ประยุทธ์เลิกคิดไปได้เลยที่จะกลับเข้ามาเป็นนายกฯ อีก เพราะบริหารประเทศมาจะครบ 4 ปี ทำประเทศติดหล่ม คนไทยมีหนี้สินครัวเรือนพุ่ง ทุจริตคอร์รัปชันก็มากมาย และยังลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชน ส่วนปรองดองก็ไม่เคยเกิดขึ้นเลย” นายวรชัยกล่าว
    ส่วนนายนิสิต สินธุไพร สมาชิกพรรคเพื่อไทย และแกนนำคนเสื้อแดง กล่าวว่า นายสมคิดประกาศเจตนารมณ์ชัดเจนในทางการเมือง การตั้งพรรคสนับสนุนใครนั้นไม่เป็นปัญหา แต่กังวลว่า พล.อ.ประยุทธ์ ที่ในวันนี้ยังเป็นนายกฯ และหัวหน้า คสช. อาจจะใช้กลไก อำนาจต่างๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับพรรคที่สนับสนุนตัวเอง ในอดีตยุคจอมพลถนอม กิตติขจร พล.อ.สุจินดา คราประยูร และคณะดำเนินงานทางการเมืองมาก่อน ล้วนไม่ได้สร้างผลดีต่อแนวทางการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ยิ่งในวันนี้มีการมองว่ากลไกทางรัฐธรรมนูญ กฎหมายต่างๆ ทำเพื่อเลื่อนการเลือกตั้ง ล้วนเป็นการสร้างโอกาสให้ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ต่อ มีการใช้กลไกต่างๆ ปูพื้นฐานเพื่อให้พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ในครั้งหน้า ถือเป็นการเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่นอย่างร้ายแรง 
    "ที่ผ่านมาการตั้งพรรคทหารทั้งทางตรงทางอ้อมมักไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งจำนวน ส.ส. ความยั่งยืนในการเป็นพรรคส่วนใหญ่เป็นพรรคเฉพาะกิจ เมื่อทหารหมดอำนาจ พรรคก็ล่มสลายไป" นายนิสิต กล่าว 
    นายชัชวาลย์ คงอุดม หรือชัช เตาปูน ผู้ก่อตั้งพรรคพลังท้องถิ่นไท กล่าวปฏิเสธที่ว่าพรรคนี้ตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับนายสมคิด พรรคนี้ตั้งขึ้นมาเนื่องจากสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทยเมื่อปี 2556 ได้ตั้งพรรคการเมืองที่มีตัวแทนเป็นปากเสียงในสภาบ้างได้มาหาตน ตอนนั้นนายสมคิดยังอยู่กับตนที่สยามรัฐ เห็นว่านายสมคิดเก่ง จึงอยากให้เป็นหัวหน้าพรรค แต่นายสมคิดได้ปฏิเสธ เพราะกลัวว่าเดี๋ยวส.ส.ในพื้นที่มาขู่เข็ญนายก อบต.ทั้งหลายถอยกันหมด ปัจจุบันขาดการติดต่อไปนาน นายสมคิดไม่ว่าง ทำงานเยอะ ส่วนตนออกต่างจังหวัดบ่อย ไม่ได้พบปะพูดคุยกันเหมือนสมัยก่อน พบล่าสุดคืองานวันเกิด นสพ.สยามรัฐ เมื่อกลางปี 2560 
     นายชัชวาลย์กล่าวยืนยันว่า ไม่ได้คุยกับนายสมคิดเลย ทางสมาชิกพรรคตนบอกว่าการจะหาเสียงกันก็ทำไป แต่วันข้างหน้าจะไปร่วมกับพรรคการเมืองไหนก็ไม่ขัด ขอให้เกี่ยวข้องผลประโยชน์ประเทศชาติ พรรคพร้อมส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง และจะชูตัวเองเป็นนายกฯ ไม่งั้นจะตั้งพรรคให้เหนื่อยทำไม แต่ถ้าเสียงไม่พอ จะโหวตให้กับใคร เป็นอีกเรื่องหนึ่ง  
การเมืองนัดถกก่อน มิ.ย.
     นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคปชป. กล่าวถึงกรณีนายเสนาะ เทียนทอง ฝันว่านายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ได้กลับประเทศไทยว่า ผู้อาวุโสของพรรคเพื่อไทยบอกว่าตัวเองฝันแม่น ตนว่าเป็นข่าวดีของประเทศ อัยการ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จะได้ไม่ต้องเหนื่อย นายทักษิณยินดีกลับมาเอง แต่ต้องเป็นภาระของอธิบดีกรมราชทัณฑ์ต้องเหนื่อยหน่อยในการจัดเตรียมสถานที่ และเป็นเรื่องดี จะได้สอนสังคมให้รู้ว่าทำผิดต้องรับผิด มิใช่ไม่ยอมรับแล้วแก้กฎหมายเพื่อพวกพ้อง รัฐธรรมนูญใหม่ห้ามแทรกแซง บงการ การออกนโยบาย กำหนดตัวบุคคลลงสมัครรับเลือกตั้ง ไม่อย่างนั้นอาจถูกยุบพรรค
    “ทางออกที่ดีที่สุด ตอนนี้เพื่อให้พรรคเพื่อไทย การเมืองไทยเจริญก้าวหน้า นายทักษิณควรประกาศยุติบทบาททางการเมือง ทั้งทางกาย วาจา และใจ และเคารพคำประกาศนั้นทั้งทางตรงและทางอ้อม เหมือนกับที่นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ประกาศวางมือไว้ก่อนหน้านี้แล้ว แต่ไม่ใช่ปากบอกไม่ยุ่ง แต่การกระทำกลับสวนทางเหมือนที่ผ่านมา” นายวิรัตน์กล่าว
    ด้าน พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกฯ ได้รับข้อมูลจากนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ว่ามีฝ่ายการเมืองประสานมาว่าไม่ต้องรอการพูดคุยกับพรรคการเมืองในเดือน มิ.ย. แต่ให้เชิญมาประชุมกันก่อนเดือน มิ.ย. หรือในเดือน มิ.ย.ก็ได้ ซึ่งรัฐบาลกำลังเตรียมข้อมูล หากพร้อมจะเชิญพูดคุยก่อน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกันว่าวันนี้รัฐบาลทำอะไรอยู่ และวันข้างหน้าฝ่ายการเมืองที่เป็นตัวเลือกให้กับประชาชนมีแนวทางแก้ปัญหาประเทศอย่างไร เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เป็นการลอกข้อสอบกันอยู่แล้ว
    ผู้สื่อข่าวถามว่า การเรียกพรรคการเมืองมาพูดคุยต้องรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และร่าง พ.ร.ป.การได้มาซึ่ง ส.ว.หรือไม่ พล.ท.สรรเสริญกล่าวว่า ไม่ต้องรออะไรก็ได้ เพราะฝ่ายการเมืองเสนอเข้ามาว่าอะไรที่สามารถคุยได้ก็คุยกันก่อน และรัฐบาลก็อยากแลกเปลี่ยน เล่าถึงสิ่งที่รัฐบาลทำไปว่าคืออะไรบ้าง และอยากรู้แนวทางของแต่ละพรรคว่าแนวทางที่จะทำให้บ้านเมืองสงบเป็นอย่างไร แต่ต้องเข้าใจว่าเรื่องบางเรื่องยังไม่ได้ข้อยุติในการพูดคุย เช่น การปลดล็อก เพราะต้องคำนึงถึงผลวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญด้วย วันนี้นายกฯ มอบหมายนายวิษณุไปลองดูว่าหากจะพูดคุย มีพรรคการเมืองเข้าร่วมเยอะหรือไม่ เพราะถ้าพูดคุยกลุ่มเล็กจะไม่ดี แต่เราบังคับให้ทุกคนมาพูดคุยไม่ได้
    นายวราวุธ ศิลปอาชา กล่าวว่า พรรคยังไม่ทราบว่ารัฐบาลจะหารือประเด็นไหน ถ้าทราบพรรคจะมาหารือเพื่อวางแนวทางต่อไป แต่ตอนนี้ยังไม่รับการเชิญ หรือมีรายละเอียดจากทางรัฐบาลแต่อย่างใด เพราะรายละเอียดของการเลือกตั้งยังมีอีกมาก ทั้งนี้กับสถานการณ์ทางการเมือง ยังคงมีความคาดหวังให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นโดยเร็ว. 
    


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"