รัฐบาลยกตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดยังผันผวน ต้องคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อรักษาชีวิต ปชช. นายกฯ ปัดไม่ได้ประวิงเวลาเพื่อรักษาอำนาจ “ภูมิธรรม” จี้ยกเลิกทันทีก่อนเศรษฐกิจหายนะ ญาติวีรชนพฤษภา 35 เตือนวิกฤติรอบใหม่รุนแรงกว่าทุกครั้ง กระตุกมโนสำนึก "ประยุทธ์" เสียสละลาออก เปิดทางล้างกระดาน ซูเปอร์โพลเผยฐานเสียงหนุนรัฐบาลเปราะบาง ลดฮวบอย่างรวดเร็วจากการแย่งตำแหน่ง
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 17 พฤษภาคม นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่หลายฝ่ายเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินทันทีว่า เรื่องนี้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. มีการประชุมพิจารณา พ.ร.ก.ฉุกเฉินอยู่ตลอด เพื่อพิจารณาถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่วนที่มีการเสนอจะให้ยกเลิกทันทีนั้น ในสถานการณ์ปัจจุบันอาจจะยังดำเนินการไม่ได้ทันที รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีเข้าใจถึงความเดือดร้อนของประชาชนทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบกับประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่รัฐบาลจำเป็นยังต้องให้คงอยู่ เพราะจากการรายงานของผู้ติดเชื้อไว้รัสโควิดในแต่ละวันยังมีตัวเลขผู้ติดเชื้อผันผวน แม้บางวันไม่มีผู้ติดเชื้อ แต่บางวันยังมีผู้ติดเชื้ออยู่ จึงจำเป็นต้องให้สถานการณ์ผู้ติดเชื้อหยุดนิ่งก่อน เพราะเราต้องรักษาชีวิตประชาชนก่อน
นางนฤมลกล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับทุกฝ่ายทุกส่วน พร้อมรับฟังคำแนะนำและข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติ แต่การจะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินในเวลานี้ยังไม่สามารถดำเนินการได้ แต่เมื่อถึงเวลาและสถานการณ์การแพร่ระบาดสามารถควบคุมได้ดีขึ้น ประกอบกับประชาชนให้ความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง รัฐบาลก็สามารถดำเนินการได้เร็วขึ้น นายกฯ ได้เน้นย้ำว่า “ไม่ได้ประวิงเวลาประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อประโยชน์ของตัวเอง หรือต้องการรักษาอำนาจไว้อย่างที่หลายฝ่ายนำไปเป็นประเด็นกล่าวหา รัฐบาลเข้าใจดีว่าวันนี้บ้านเมืองกำลังมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ รัฐบาลก็กำลังดำเนินการแก้ปัญหา และช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอยู่”
ด้าน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. กล่าวถึงการพิจารณาไม่ขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และมาใช้ พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อแทนว่า ผอ.ศบค.ได้มอบให้คณะกรรมการด้านกฎหมายไปศึกษา ถ้าจะต้องมีการปรับเปลี่ยนให้มีการนำเสนอขึ้นมา การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ผ่านมาเป็นการรวบรวมกฎหมายต่างๆ ให้มาอยู่ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ให้เกิดมาตรการดูแลสังคมในสถานการณ์โรคที่รุนแรง แต่ตอนนี้ในประเทศเราควบคุมโรคได้ระดับหนึ่ง เพียงแต่ยังมีประเด็น เช่น ขณะนี้เราห้ามเครื่องบินเข้าถึง 30 มิ.ย. ถ้าจะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะใช้สามารถประมวลกฎหมายตัวใดมาแทน ดังนั้นจึงต้องใช้กฎหมายหลายด้านประกอบกัน เพื่อป้องกันการนำเชื้อเข้าประเทศ และการควบคุมเชื้อให้อยู่ในการดูแลได้ทั้งหมด ตรงนี้จึงมีความจำเป็น ถ้าจะยกเลิก แต่สถานการณ์ของโลกยังมีการติดเชื้ออยู่จำนวนมาก เราต้องดูกันอย่างลึกซึ้ง และใช้เวลาพอสมควร
นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำกลุ่ม นปช. เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ว่านายกฯ ได้ประเมินสถานการณ์อยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว ทั้งนี้ จะต้องพิจารณาควบคู่กับด้านสาธารณสุขด้วย ซึ่งหากตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังไม่นิ่ง ก็ยังไม่สามารถยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้ทันที ที่นายกฯ ยังคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้ ไม่ใช่เพื่อควบคุมความเคลื่อนไหวหรือปฏิกิริยาของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล เพราะนายกฯ ไม่มีเวลามาคิดเรื่องการเมือง เพราะต้องเร่งแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนเป็นหลัก
ญาติวีรชนจี้'บิ๊กตู่'ลาออก
นายภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้าน โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า วันนี้ตัวเลขการระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยอยู่ในเกณฑ์ที่เรียกว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ รัฐบาลต้องยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อเร่งคลายล็อกให้การดำเนินเศรษฐกิจในประเทศ ได้ลื่นไหลไปตามระบบกลไกปกติ วันนี้สังคมไทยกำลังจ่ายต้นทุนที่แพงมาก หากจะยังคงยืนยันใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อเนื่องไปอีก ด้วยข้ออ้างในการควบคุมการระบาดของโควิด ทั้งๆ ที่มีกฎหมายซึ่งเกี่ยวข้อง อย่างเช่น พ.ร.บ.ควบคุมโรคระบาด ก็สามารถนำมาใช้ได้ไม่แตกต่างกัน นายกฯ อย่าคิดสั้นๆ อย่าเห็นแต่ประโยชน์เฉพาะหน้า มุ่งรักษาแต่อำนาจของตน รีบปลดล็อกยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก่อนที่เศรษฐกิจของประเทศจะหายนะจนเกินเยียวยา
ที่สวนสันติพร อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม ถนนราชดำเนิน มีการจัดงานทำบุญถวายสังฆทานอุทิศส่วนกุศลให้กับวีรชนผู้เสียชีวิตเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ในโอกาสครบรอบ 28 ปี เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 โดยนายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 เป็นประธานในพิธี และได้ออกแถลงการณ์สรุปว่า การเมืองไทยภายหลังยุคสมัย คสช. ผ่านพ้นมาจนถึงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ยังคงมีความขัดแย้งทางการเมืองสะสมเรื่อยมา หลังจากประเทศไทยเผชิญกับวิกฤติไวรัสโควิด ความขัดแย้งมีแนวโน้มจะขยายบานปลายหนักหน่วงรุนแรงกว่าทุกครั้ง บัดนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่เหมาะกับสถานการณ์ใหม่แล้ว เนื่องจากไม่ได้ปฏิรูปประเทศและสร้างความปรองดองสมานฉันท์ตามสัญญา และยังสืบทอดอำนาจ จึงกลายเป็นคู่ขัดแย้งใหม่ ซึ่งเป็นอุปสรรคของการแก้ไขความขัดแย้งและการพัฒนาประชาธิปไตย หากเกิดวิกฤติรอบใหม่จะไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ จึงควรเสียสละลาออกจากตำแหน่งนายกฯ เพื่อเปิดพื้นที่ให้รัฐบาลชุดต่อมาที่ไม่ใช่คู่ขัดแย้งได้เข้ามาแก้ปัญหา ซึ่งถือเป็นการล้างกระดานใหม่ ก่อนที่สถานการณ์ต่างๆ จะรุมเร้าเกิดความปั่นป่วนโกลาหลและกระทบต่อสถาบันสำคัญของชาติจนไร้หนทางเยียวยาวแก้ไขได้
คณะกรรมการญาติวีรชนฯ อยากให้ พล.อ.ประยุทธ์ได้ทำเพื่อบ้านเมือง ก่อนลงจากอำนาจในช่วง 3-4 เดือนข้างหน้านี้ โดยเฉพาะการแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจและปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม ออกคำสั่งแก้ไขให้มีการลดค่าใช้ไฟฟ้า ประปา ราคาพลังงานและระบบขนส่งมวลชนสาธารณะให้ถูกลงกว่าเดิม ซึ่งจะเป็นคำตอบของนายกฯ ว่าจะเลือกลงจากหลังเสือที่ทำให้ประชาชนยกย่องสรรเสริญ หรือถูกประชาชนขับไล่ ส่วน พ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับ รวม 1.9 ล้านล้านบาท จะต้องนำงบประมาณไปใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจสังคมอย่างแท้จริง เยียวยาประชาชนอย่างรวดเร็วและทั่วถึง ไม่เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มนายทุน และอย่าให้มีการทุจริตคอร์รัปชันอย่างเด็ดขาด และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า พล.อ.ประยุทธ์จะมีมโนสำนึกด้วยตัวเอง จะอ้างเป็นผู้นำที่มาคลี่คลายปัญหา เพื่อจะรักษาอำนาจของตัวเองต่อไปไม่ได้ เพราะจะเป็นการรักษาระบบการเมืองที่ล้มเหลว ไม่ตอบโจทย์ประเทศในสถานการณ์ใหม่ ซึ่งจะส่งผลเสียหายต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างใหญ่หลวง
ฐานเสียง'ลุงตู่'ลดฮวบ
ที่สถานีโทรทัศน์พีซทีวี นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. ได้เล่าเหตุการณ์การชุมนุมขับไล่เผด็จการ รสช.จนเกิดเหตุการณ์ปราบปรามนักศึกษาประชาชน และบอกว่า พูดเรื่องนี้ก็เพราะว่าประเด็นข้อเรียกร้องหลักเมื่อ 28 ปีที่แล้วคือ นายกฯ มาจากการเลือกตั้ง และในเวลานั้นประเทศไม่ได้มีผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจหรือเศรษฐกิจปากท้อง แต่กระทบเรื่องประชาธิปไตย แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ 28 ปีผ่านมา เราได้ประชาธิปไตยที่แข็งแรงหรือไม่ ซึ่งตนสามารถตอบได้เลยว่าลุ่มๆ ดอนๆ และยิ่งถอยห่างจากคำว่าประชาธิปไตย โดยเฉพาะปัจจุบันยิ่งยากลำบาก เพราะไม่ว่าจะไปทางไหน มีแต่ทางตัน ต่อให้ยุบสภา ผลลัพธ์ก็ไม่เปลี่ยน เพราะรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ให้ ส.ว.มีสิทธิ์โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี
นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล เปิดเผยผลสำรวจภาคสนามเรื่อง ฐานที่เปราะบาง กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 2,021 ตัวอย่าง ระหว่าง 13-16 พ.ค.2563 ที่ผ่านมา เมื่อพิจารณาแนวโน้มฐานจุดยืนทางการเมืองของประชาชนตั้งแต่กรกฎาคม พ.ศ.2562 ถึงช่วงเหตุวุ่นๆ ในรัฐบาล พบว่า ฐานสนับสนุนของประชาชนต่อรัฐบาลลดฮวบลงอย่างรวดเร็ว จากร้อยละ 46.9 ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 36.1 เพราะความวุ่นวาย ความขัดแย้ง แย่งตำแหน่งในรัฐบาลในช่วงวิกฤตโควิด-19 บนความทุกข์ยากของประชาชน ในขณะที่กลุ่มคนไม่สนับสนุนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 22.0 มาอยู่ที่ร้อยละ 34.1 และแม้แต่ฐานกลุ่มพลังเงียบก็ลดลงจากร้อยละ 31.1 เหลือร้อยละ 29.8 แต่ไปเพิ่มในฐานกลุ่มไม่สนับสนุนรัฐบาล
เมื่อแบ่งกลุ่มออกตามช่วงอายุในฐานสนับสนุนรัฐบาล พบคนอายุ 60 ปีขึ้นไปเป็นฐานสนับสนุนรัฐบาลที่มากที่สุด คือร้อยละ 48.7 แต่กลุ่มเยาวชนคืออายุไม่เกิน 24 ปี มีเพียงร้อยละ 10.9 เท่านั้นที่สนับสนุนรัฐบาล แต่กลุ่มไม่สนับสนุนรัฐบาลพบเยาวชนอายุไม่เกิน 24 ปี ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 58.9 ไม่สนับสนุนรัฐบาล และกลุ่มอายุ 24-39 ปี ร้อยละ 49.0 ไม่สนับสนุนรัฐบาลเช่นกัน ในขณะที่กลุ่มคนอายุ 40-59 ปี ร้อยละ 27.6 และอายุ 60 ปีขึ้นไปร้อยละ 31.1 ที่ไม่สนับสนุนรัฐบาล อย่างไรก็ตาม กลุ่มพลังเงียบพบเยาวชนจำนวนมากหรือร้อยละ 30.2, กลุ่มอายุ 25-39 ปี ร้อยละ 29.3, กลุ่ม 40-49 ปี ร้อยละ 33.5 และกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้น ร้อยละ 20.2 ตามลำดับ
ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า 4 กุมารในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่มีนายอุตตม สาวนายน รมว.การคลังและหัวหน้า พปชร. และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงานและเลขาธิการพรรค เป็นแกนนำ ไม่มีบารมีทางการเมือง แต่เข้ามาได้เพราะนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ที่ผ่านมาพล.อ.ประยุทธ์ฝากความหวังแก่คนกลุ่มนี้ จึงให้ตำแหน่งสำคัญ แต่การทำงานตลอด 1 ปีที่ผ่านมา กลับไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ ทำให้ภาพลักษณ์รัฐบาลรวมทั้งตัวนายกฯ ตกต่ำ จึงเห็นควรให้เสียสละลาออกก่อนที่จะถูกไล่ให้บอบช้ำไปกว่านี้ และเมื่อออกไปแล้ว จะส่งผลให้ พปชร.ลดความขัดแย้งในพรรคและเดินต่อไปได้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |