ลาก่อน, โลกาภิวัฒน์ สวัสดี, โรคาภิวัฒน์!


เพิ่มเพื่อน    

       ผมตั้งวงคุยกับกูรูเรื่องระหว่างประเทศ 3 ท่านในรายการ “ตอบโจทย์” ทาง ThaiPBS เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่าด้วยเรื่องโควิด-19 กับปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “โลกาภิวัฒน์”

            วงสนทนามี ดร.เตช บุนนาค อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ, ดร.ปณิธาน วัฒนายากร แห่งคณะรัฐศาสตร์, จุฬาฯ และ ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ โดยมีคุณวราวิทย์ ฉิมมณี ร่วมดำเนินรายการ

            ทั้งสามท่านเป็นเพื่อนคุ้นเคยตั้งแต่เราต่างมีอายุยังน้อย และเฝ้ามองความผันแปรของโลกตั้งแต่ยุคสงครามเย็น

            ผมกับคุณเตชอยู่ในคณะตัวแทนจากประเทศไทยที่นำโดยหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ที่ไปลงนามในการเปิดสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 1975

            เราทั้งสองต่างถือว่าเราได้เป็นพยานของบทสำคัญทางประวัติศาสตร์ฉากหนึ่ง

            เป็นประสบการณ์ที่หายากยิ่ง และทุกวันนี้ทุกครั้งที่เรานั่งวิเคราะห์สถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปรไปอย่างรวดเร็วและน่าหวาดหวั่น ก็ยังหนีไม่พ้นที่จะเท้าความถึงฉากที่นายกฯ คึกฤทธิ์กับนายกฯ โจว เอินไหล ลงนามในเอกสารอันมีความหมายยิ่งระหว่างสองประเทศ

            (คุณเตชในฐานะเป็นเลขานุการของคณะเป็นคนยื่นหนังสือให้นายกฯ คึกฤทธิ์ลงนามในวันนั้น)

            กับ ดร.ปณิธานนั้น เราตั้งวงวิเคราะห์สถานการณ์โลกกันมาตั้งแต่สงครามอ่าวเปอร์เซีย และช่วยกันเฝ้ามองโลกจากมุมความมั่นคงอย่างใกล้ชิดมาตลอด

            อาจารย์สมภพเป็นอาจารย์หนุ่มที่ร่วมเสวนากันตั้งแต่เราร่วม Think Tank ที่ผมตั้งชื่อว่า Nation Panel of Economists คุยเรื่องเศรษฐกิจและการเมืองเพื่อระดมความคิดหาทางวางแนวทางของประเทศไทยในยุคสงครามเวียดนามยังร้อนแรงอยู่

            แต่เมื่อวันศุกร์ (ผ่านเหตุการณ์ที่ปักกิ่งมา 45 ปี) พอฉากของการเสวนาเมื่อวันศุกร์เปิด ผมเล่าให้ฟังว่านิตยสาร The Economist เพิ่งพาดหัวในฉบับล่าสุดว่า

            Goodbye, Globalisation

            สะท้อนว่าโลกกำลังถูกเขย่าครั้งสำคัญอีกครั้ง

            เราผ่านสงครามร้อน (สงครามโลกครั้งที่สอง) แล้วก็เข้าสู่สงครามเย็น ตามมาด้วยสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และแถมด้วยสงครามไซเบอร์ ตามมาด้วยสงครามไฮเทค

            และวันนี้ดูเหมือนเรากำลังก้าวเข้าสู่ “สงครามไวรัส” อย่างเต็มรูปแบบ

            สงครามรูปแบบใหม่ที่มีไวรัสเป็นตัวละครตัวใหม่...ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปรในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่สำคัญอีกครั้งหนึ่ง

            ผมเรียกมันว่า “โรคาภิวัฒน์”

            เพราะมันเป็นโรคร้ายที่ระบาดไปทั่ว ไม่สนใจเรื่องพรมแดน, ศาสนา, สถานะทางสังคม, ความร่ำรวยหรือยากจน

            สงครามวันนี้ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 มีมิติหลายด้านที่เพิ่มความสลับซับซ้อนหนักหน่วงยิ่งขึ้นมาก

            เพราะโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ตัวนี้ทำให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างโลกตะวันตกกับตะวันออก

            เกิดการปริแตกของสหภาพยุโรปเองที่ต่างคนต่างเอาตัวรอด ไม่เกื้อหนุนช่วยเหลือกันและกัน

            อีกทั้งยังมีการแก่งแย่งอุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมไปถึงหน้ากากอนามัย, เครื่องช่วยหายใจและบุคลากรทางการแพทย์

            ตามมาด้วยการแข่งขันว่าใครจะสามารถวิจัยและค้นพบวัคซีคก่อนกัน

            อีกทั้งหากเจอวัคซีนแล้วจะมีการแบ่งปันกันระหว่างประเทศต่างๆ รวดเร็วและมากน้อยเพียงใด

            คำว่า “โลกาภิวัฒน์” จึงกำลังถูกทดแทนด้วย “ชาตินิยม” ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความตึงเครียดขึ้นในโลกรอบใหม่

            เรียกมันว่า “สงครามเย็นรอบสอง”

            เหมือนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกสองที่ผู้คนหวาดกลัวกันหนักหนา

            อีกทั้งยังมีประเด็นการแย่งชิงว่าระบอบการเมืองของใครมีประสิทธิภาพในการต่อสู้กับไวรัสได้ดีกว่ากันแน่

            จีนอ้างได้ไหมว่าระบอบคอมมิวนิสต์มีความสามารถในการตั้งรับโรคระบาดได้ชะงัดกว่า “เสรีนิยมตะวันตก” ที่ให้ความสำคัญกับเสรีภาพส่วนบุคคลมากกว่าความมีวินัยเพื่อสุขอนามัย

            สหรัฐฯ พยายามแก้ประเด็นนี้ด้วยการชี้นิ้วกล่าวหาว่าจีนเป็นจำเลยในเรื่องนี้เพราะเชื้อโรคตัวนี้เกิดที่ประเทศจีน

            และเพราะความไม่โปร่งใสในข้อมูลและความพยายามปกปิดความจริงตั้งแต่ต้น (ตามแนวทางของเผด็จการ) จึงทำให้แพร่ไปทั่วโลก สร้างความเสียหายทั้งชีวิตและเศรษฐกิจของทั้งโลก

            พอคำว่า “globalization” ถูกลดความสำคัญลงก็มีคำว่า “de-coupling” ปรากฏขึ้นมา

            ศัพท์คำนี้ความจริงมาก่อนโควิด-19 เพราะมีความหมายว่าสหรัฐฯ กับจีนกำลังต้องการจะ “แยกวง” โดยมีเทคโนโลยีด้านสารสนเทศเป็นเส้นแบ่งกั้นใหม่

            เพราะจีนพัฒนา 5G สำเร็จผ่านหัวเว่ย และสหรัฐฯ ถือว่านั่นเป็นอันตราย เพราะเทคโนโลยีของจีนระบบนี้สามารถจะแอบเจาะความลับของตะวันตกได้ จึงสั่งห้ามไม่ให้องค์กรของสหรัฐฯ และพันธมิตรในยุโรปติดตั้งระบบของจีน

            สหรัฐฯ สั่งให้ทุกหน่วยงานของตนและน้าวโน้มยุโรป (รวมไปถึงแคนาดา, ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์) ต่อต้าน 5G ของจีน

            โดยให้ใช้ระบบของตะวันตกเองเป็นหลัก

            เท่ากับว่าโลกจะถูกแบ่งเป็นสองค่ายเหมือนตอนสงครามเย็นอีกรอบหนึ่ง

            ต่างกันตรงที่ว่าสงครามเย็นรอบแรกถูกแบ่งแยกโดยอุดมการณ์ทางการเมือง

            แต่คราวนี้ปัจจัยความขัดแย้งที่ทำให้ต้อง “ตีเส้นแบ่งค่าย” อีกครั้งหนึ่งคือเทคโนโลยี

            ที่ทับซ้อนสงครามการค้าระหว่างสองยักษ์อีกรอบหนึ่ง. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"