15 ปีบ้านมั่นคง เหลียวหลัง แลหน้า จากชุมชนเจริญชัยนิมิตใหม่ถึงบึงบางซื่อ


เพิ่มเพื่อน    

(บ้านมั่นคงชุมชนบ่อนไก่)

 

     โครงการบ้านมั่นคงเริ่มดำเนินการครั้งแรกในปี 2546 เริ่มจากชุมชนนำร่อง 10 แห่งทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เป้าหมายเพื่อให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยในชุมชนแออัด ซึ่งมีที่อยู่อาศัยไม่มั่นคง เช่น ปลูกสร้างบ้านในที่ดินเช่า หรือบุกรุกที่ดินเอกชน ที่ดินรัฐ ให้มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง โดยชาวบ้านร่วมกันแก้ไขปัญหาในรูปแบบที่ชาวบ้านเป็น ‘เจ้าของโครงการ’ ไม่ใช่ ‘หน่วยงานรัฐทำให้’ เหมือนที่ผ่านมา เช่น มีคณะทำงาน มีการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุนซื้อที่ดินและสร้างบ้าน และร่วมกันบริหารโครงการ โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ สนับสนุนงบประมาณและสินเชื่อ 
     จนถึงวันนี้....เวลาผ่านไป 15 ปี จาก 10 ชุมชนแรกทั่วประเทศที่ทำโครงการบ้านมั่นคง ปัจจุบันโครงการบ้านมั่นคงดำเนินการไปแล้ว รวม 74 จังหวัด 368 เมือง/เขต จำนวน 1,024 โครงการ รวม 2,134 ชุมชน ทำให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงรวมทั้งหมด 104,709 ครัวเรือน..!!
คนจนคือ ‘พลัง’ ร่วมสร้างเมือง
     กรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่เป็นเสมือนแม่เหล็กยักษ์ที่ดึงดูดผู้คนให้มารวมกัน ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรที่ยากไร้ ขาดแคลนปัจจัยการผลิต มีปัญหาหนี้สิน คนหนุ่มคนสาวที่หวังอนาคตที่ดีกว่า จึงละทิ้งท้องทุ่งมุ่งหน้าสู่เมืองใหญ่เพื่อมาขายแรงงาน เป็นกรรมกร ลูกจ้าง ขับขี่รถโดยสาร ค้าขายเล็กน้อยๆ ขายอาหารริมถนน หาบเร่ ฯลฯ

(วิเชียร แสงพลอย)


     ลุงวิเชียร แสงพลอย ประธานชุมชนเจริญชัยนิมิตใหม่ เขตจตุจักร วัย 73 ปี เป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่บากหน้าเข้าสู่เมืองกรุงเพื่อหวังชีวิตที่ดีกว่า ลุงวิเชียรเล่าย้อนอดีตว่า บ้านเดิมอยู่ที่ อ.ดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ครอบครัวทำไร่ ทำนา แต่ไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง ต้องเช่าที่ดินทำกิน แต่ก็ไม่พอกิน เพราะเป็นครอบครัวใหญ่ พอโตเป็นหนุ่มอายุราวยี่สิบต้นๆ ประมาณปี 2509 จึงเข้ามาหางานทำที่กรุงเทพฯ ด้วยความรู้ระดับชั้นประถม จึงต้องมาทำงานเป็นคนงานก่อสร้าง ได้ค่าแรงวันละ 30 บาท
     ส่วนที่พักอาศัย ตอนแรกก็เช่าบ้านอยู่แถวสะพานควาย พอดีมีคนรู้จักชักชวนให้มาปลูกบ้านอยู่แถวสวนผัก (ปัจจุบันอยู่เขตจตุจักร) ริมทางรถไฟสายเหนือ-อีสาน ด้านหลังติดกับคลองเปรมประชากร อยู่ไม่ไกลจากวัดเสมียนนารีมากนัก สมัยนั้นที่ดินแถบนั้นยังเป็นทุ่งนา เจ้าของที่ดินใจดี จึงให้ชาวบ้านปลูกบ้านพักอาศัยและเก็บค่าเช่าเดือนละ 20 บาทต่อครอบครัว ไฟฟ้าไม่มี ต้องต่อพวงจากภายนอกเข้ามา น้ำประปายังมาไม่ถึง ต้องใช้น้ำในคลองเปรมฯ และน้ำที่ขุดจากบ่อบาดาล
     ลุงวิเชียรในวัยหนุ่มปลูกสร้างบ้านแบบง่ายๆ อาศัยไม้และสังกะสีที่เหลือจากงานก่อสร้างพอคุ้มแดดคุ้มฝนไปได้ และค่อยๆ ทยอยต่อเติมบ้านจนมั่นคงแข็งแรง ส่วนเพื่อนบ้านก็มีพื้นเพและสภาพไม่แตกต่างกันมากนัก เพราะส่วนใหญ่เป็นคนต่างจังหวัดที่เข้ามาหางานทำในกรุงเทพฯ มาจากทั่วสารทิศ ส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างทั่วไป เป็นกรรมกรก่อสร้าง เป็นลูกจ้างการรถไฟ โรงงานปูนซิเมนต์ สนามกอล์ฟ ฯลฯ รวมความแล้วก็คือเป็น ‘แรงงานราคาถูก’ ที่ให้บริการแก่คนกรุงเทพฯ นั่นเอง 
     เช่นเดียวกับคนจนเมืองในพื้นที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคนขับรถแท็กซี่ สามล้อ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง คนงานก่อสร้างบ้าน สร้างตึก สร้างถนน-สะพาน พนักงานบริการ ขายอาหารริมถนน รปภ. คนกวาดถนน เก็บขยะ ทำความสะอาดสำนักงาน ไม่เว้นแม้แต่พนักงานดูดส้วม ฯลฯ ซึ่งต่างก็มีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพัฒนาเมืองในด้านต่างๆ เช่นกัน 
     ที่สำคัญก็คือ !! คนจนเหล่านี้จำเป็นที่จะต้องอาศัยอยู่ในเมือง เพราะเป็นแหล่งงาน แหล่งรายได้ของพวกเขา ดังนั้นห้องเช่าราคาถูกที่เหมาะสมกับรายได้ รวมทั้งที่ดินเอกชนและที่ดินของรัฐที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ จึงกลายเป็นแหล่งพักอาศัยของคนจนในเมือง
บ้านมั่นคงชุมชนเจริญชัยนิมิตใหม่
     ตั้งแต่ปี 2532 เป็นต้นมา เศรษฐกิจของประเทศไทยอยู่ในช่วงขาขึ้น มีเงินทุนและเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากต่างประเทศเข้ามา วงการอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยอยู่ในช่วงเฟื่องฟู มีการกว้านซื้อที่ดินเพื่อก่อสร้างโครงการต่างๆ รวมทั้งภาคเอกชนก็ขอเช่าที่ดินจากรัฐเพื่อนำมาพัฒนาในเชิงพาณิชย์ เช่น ที่ดินของการรถไฟฯ ริมถนนรัชดาภิเษก ขณะที่ภาครัฐก็มีการสร้างทางด่วนในกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้น เช่น ทางด่วนขั้นที่ 2 
     ผลกระทบที่เกิดขึ้นก็คือ มีหลายสิบชุมชนในกรุงเทพฯ ถูกไล่รื้อเพื่อนำที่ดินมาพัฒนา เช่น ชุมชนทับแก้ว บริเวณบึงมักกะสัน เขตดินแดง ซึ่งเป็นที่ดินของการรถไฟฯชาวบ้านเข้าไปบุกรุกที่ดินปลูกสร้างบ้านมานานหลายสิบปี ขณะที่บริษัท
ทางด่วนฯ ก็ต้องการพื้นที่มาสร้างทางขึ้น-ลง ชาวบ้านจึงโดนขับไล่ในช่วงปี 2532-2533, ชุมชนไผ่สิงห์โต เขตคลองเตย เนื่องจากรัฐบาลจัดการ ประชุมผู้นำธนาคารโลกที่ศูนย์สิริกิติ์ในปี 2534 จึงเกรงว่าจะเกิดภาพที่ไม่สวยงาม ชุมชนจึงถูกย้าย
     ส่วนที่ดินที่ลุงวิเชียรและเพื่อนบ้านอาศัยอยู่ในย่านจตุจักร มีเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่เศษ เป็นทำเลที่ดี การคมนาคมสะดวก มีถนนใหม่ๆ ตัดผ่านหลายสาย (สถานี บขส.หรือหมอชิตใหม่กำลังจะย้ายเข้ามาอยู่ที่นี่) จึงทำให้มีกระแสข่าวว่ามีนักลงทุนหลายรายจะขอซื้อที่ดินแปลงนี้ แต่ด้วยความใจบุญ กลัวว่าชาวบ้านจะเดือดร้อน เจ้าของที่ดินจึงไม่ขายที่ดินออกไป 
     ขณะที่ชาวบ้านก็เริ่มตื่นตัว เพราะไม่รู้ว่าเจ้าของที่ดินจะขายที่ดินในวันไหน จึงเริ่มรวมกลุ่มกันจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัยในปี 2537 โดยมีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานพัฒนาชุมชนเมือง (พชม.) สังกัดการเคหะแห่งชาติ เข้ามาให้คำแนะนำและความรู้ในการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ เพื่อเป็นกองทุนเตรียมพร้อมรองรับหากถูกไล่ที่ มีสมาชิกเริ่มต้น 28 ราย ออมเงินกันอย่างน้อยเดือนละ 100 บาท ใครมีมากก็ออมมากกว่านั้น
     “พอถึงปี 2542 ตอนนั้นสถานีหมอชิตใหม่ย้ายมาแล้ว มีคนมาขอซื้อที่ดินแปลงนี้จากเจ้าของ ราคา 65 ล้านบาท หรือประมาณตารางวาละ 30,000 บาท พวกเราก็ส่งตัวแทนไปคุยกับเจ้าของที่ดิน เจ้าของก็ถามว่าพวกเราจะมีเงินซื้อหรือ ? เพราะรู้ว่าชาวบ้านไม่มีเงินแน่ๆ แต่พวกเราก็บอกว่าตอนนี้มีเงินออมทรัพย์รวมกันประมาณ 1 ล้านบาทและจะหาเงินมาซื้อจริงๆ เพราะไม่รู้ว่าจะไปอยู่ที่ไหน ลูกหลานก็เรียนและทำงานอยู่แถวนี้ ถ้าจะไปอยู่นอกเมืองก็ต้องไปเริ่มนับหนึ่งกันใหม่” ลุงวิเชียรเล่าย้อนเหตุการณ์ในครั้งนั้น
     แต่เหมือนกับเป็นเรื่องที่น่าเหลือเชื่อ เพราะเจ้าของที่ดินใจบุญรายนั้น (นายมานะ เนตรสาริกา) ยอมขายที่ดินให้ชาวบ้านในราคาตารางวาละ 10,000 บาท แต่ชาวบ้านก็ยังขอต่อรองอีก จนเจ้าของใจอ่อนลดเหลือตารางวาละ 7,500 บาท รวมที่ดินเนื้อที่ 5 ไร่ 35 ตารางวา ราคา 18 ล้านบาทเศษ โดยชาวบ้านได้รวมกลุ่มกันจัดตั้งเป็นสหกรณ์เคหสถานชุมชนเจริญชัยนิมิตใหม่ เพื่อยื่นขอสินเชื่อจากสำนักงานพัฒนาชุมชนเมือง (ปัจจุบันคือสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน องค์การมหาชน) และทำสัญญาซื้อขายที่ดินกับเจ้าของในเดือนสิงหาคม 2543
     ส่วนที่ดินชาวบ้านก็นำมาจัดสรรกันโดยการดำเนินการของสหกรณ์เคหสถานชุมชนเจริญชัยนิมิตใหม่ แบ่งที่ดินตามความต้องการและฐานะของครอบครัว ได้ทั้งหมด 83 แปลง (รวมชุมชนที่เดือดร้อนใกล้เคียง) ที่ดินมีขนาดตั้งแต่ 10-25 ตรว. ผ่อนส่งเดือนละ 1,100 -2,300 บาทตามขนาดที่ดิน ระยะเวลา 15 ปี 
10 โครงการนำร่องบ้านมั่นคง
     ต่อมาในปี 2546 รัฐบาลในขณะนั้น มีนโยบายแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย จึงอนุมัติโครงการบ้านมั่นคงนำร่องใน 10 ชุมชน ชุมชนเจริญชัยนิมิตใหม่ได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 10 ชุมชนนั้นด้วย ส่วนชุมชนอื่นๆ เช่น บ่อนไก่ กรุงเทพฯ, แหลมรุ่งเรือง จ.ระยอง, บุ่งคุก จ.อุตรดิตถ์, เก้าเส้ง จ.สงขลา ฯลฯ โดยรัฐบาลอนุมัติงบประมาณสนับสนุนจำนวน 146 ล้านบาท เพื่อให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ ‘พอช.’ นำไปสนับสนุนชุมชนในการพัฒนาสาธารณูปโภคและสินเชื่อเพื่อซื้อที่ดิน-ก่อสร้างบ้าน 
     ในส่วนของชุมชนเจริญชัยนิมิตใหม่ได้เริ่มกระบวนการบ้านมั่นคง โดย พอช.ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาให้คำแนะนำการทำโครงการ มีตัวแทนชาวบ้านเป็นคณะกรรมการ มีการไปศึกษาดูงานชุมชนที่แก้ไขปัญหาไปแล้ว ร่วมกันสำรวจข้อมูลต่างๆ ในชุมชน จัดประชุมเพื่อรับฟังความเห็นของสมาชิก เช่น รูปแบบการพัฒนาชุมชน ร่วมกันออกแบบผังชุมชนใหม่ ออกแบบบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นบ้านเดี่ยวชั้นเดียว และบ้านเดี่ยวสองชั้น ฯลฯ
     หลังจากนั้นจึงร่วมกันสร้างระบบสาธารณูปโภค มีไฟฟ้า น้ำประปา ท่อระบายน้ำและถนนในชุมชน 3 สาย กว้าง 4 เมตร โดย พอช.สนับสนุนงบประมาณจำนวน 1,780,000 บาท ใช้แรงงานในชุมชนเป็นหลัก ส่วนการสร้างบ้าน ครอบครัวไหนที่มีความพร้อมก็ดำเนินการไปก่อน มีทั้งสร้างเอง จ้างช่างมาสร้าง รวมทั้งการลงแรงช่วยกันก่อสร้าง ใช้วัสดุเก่าที่ยังใช้ได้ ทำให้ชาวบ้านประหยัดงบได้ไม่น้อย 
     พอถึงปี 2547 บ้านส่วนใหญ่ก็ทยอยก่อสร้างแล้วเสร็จ จากชุมชนที่เคยอยู่กันแบบ “ตามมีตามเกิด” ทางเดินเฉอะแฉะ เป็นหลุมเป็นบ่อ ไม่มีน้ำประปา ไม่มีไฟฟ้าใช้เอง จึงเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ !!
     ลุงวิเชียร ในฐานะประธานชุมชนเจริญชัยฯ กล่าวว่า จากสภาพเดิมของชุมชนเมื่อ 40-50 ปีก่อนยังเป็นทุ่งนา แต่ตอนนี้กลายเป็นย่านคมนาคม เพราะอยู่ใกล้สถานี บขส.หมอชิตใหม่ สถานีรถไฟบางซื่อ และอยู่ในแนวรถไฟฟ้าสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) ทำให้ที่ดินในย่านนี้มีราคาสูงขึ้น เฉพาะที่ดินที่ชาวชุมชนอาศัยอยู่ 5 ไร่เศษ ตอนซื้อมาราคา 18 ล้านบาทเศษ (เจ้าของที่ดินลดราคาให้) ตอนนี้มีเอกชนมาขอซื้อราคา 200 ล้านบาทเพื่อทำโครงการพาณิชย์
     “แต่พวกเราตกลงกันแล้วว่าจะให้ราคาสูงอย่างไรก็จะไม่ขาย เพราะเรารับปากกับเจ้าของที่ดินเอาไว้ว่าจะซื้อมาเพื่อทำที่อยู่อาศัยเท่านั้น พวกเรายังคิดกันเลยว่า หากเราไม่รวมตัวกันซื้อที่ดินและทำโครงการบ้านมั่นคงในตอนนั้น วันนี้พวกเราจะไปอยู่ที่ไหนกัน จะกลับไปอยู่ต่างจังหวัดก็ไม่มีที่ดินทำกิน อาจจะอยู่ในสลัมที่ไหนสักแห่ง หรือเช่าบ้านอยู่ตลอดชีวิต เพราะลำพังคนหาเช้ากินค่ำคงไม่มีเงินพอจะซื้อบ้านอยู่ ถ้าเราไม่รวมตัวกันและไม่มีโครงการบ้านมั่นคง พวกเราก็คงจะไม่ได้อยู่แบบวันนี้” ลุงวิเชียร บอกความในใจ

(สมชาติ ภาระสุวรรณ)

 

บ้านที่มากกว่า “บ้าน”
สมชาติ ภาระสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ กล่าวว่า ‘โครงการบ้านมั่นคง’ เริ่มนำร่องทั่วประเทศในปี 2546 เพราะปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนเมืองเป็นปัญหาทางโครงสร้างของการพัฒนาประเทศที่ไม่สมดุล ระหว่างเมืองกับชนบท ดังนั้นคนที่ไม่สามารถอยู่ในพื้นที่ชนบทได้จึงต้องเข้ามาอาศัยในเมือง เพื่อเป็นพื้นที่ในการดำรงชีวิต 
     “จากจุดนี้จะเห็นว่าปัญหาทางโครงสร้างดังกล่าว ทำให้เกิดช่องว่าง เป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในสังคม ซึ่งกลุ่มคนจนที่อาศัยอยู่ในเมืองนี้ ส่วนใหญ่จะเข้าไม่ถึงบริการพื้นฐานของรัฐ เนื่องจากเข้ามาเป็นผู้ที่อยู่อาศัยในที่ดินของรัฐและเอกชน แล้วก็กลายเป็นผู้ที่ถูกเรียกว่า ‘ผู้บุกรุก’ ดังนั้นโครงการบ้านมั่นคงที่เราเริ่มดำเนินการนำร่อง 10 เมืองทั่วประเทศ จึงเป็นการสร้างพื้นที่นวัตกรรมใหม่สำหรับการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของคนจนในเมือง” นายสมชาติกล่าว 
     ผอ.พอช. กล่าวด้วยว่า โครงการบ้านมั่นคงทำให้คนจนเมืองซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบ มีรายได้น้อยเข้าไม่ถึงแหล่งเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัย ให้มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง และที่สำคัญแรงงานนอกระบบเหล่านี้เป็นผู้สร้างประโยชน์ให้กับเมือง หากขาดแรงงานนอกระบบเหล่านี้ เมืองก็จะเจริญไม่ได้
     นอกจากนี้ การสร้างบ้านมั่นคงไม่ใช่เป็นการสร้างเฉพาะ “ที่อยู่อาศัย” เท่านั้น แต่ยังมีกระบวนการ “พัฒนาชุมชน” และ “การพัฒนาคุณภาพชีวิต” ของชาวชุมชนด้วย เช่น ที่ชุมชนเจริญชัยนิมิตใหม่ มีสหกรณ์เคหสถานฯ ซึ่งให้สมาชิกออมเงินตามหุ้นที่มีอยู่ หุ้นละ 10 บาท คนหนึ่งไม่เกิน 20 หุ้น มีสมาชิกทั้งหมด 160 คน ปัจจุบันมีเงินหมุนเวียนประมาณ 10 ล้านบาท สมาชิกกู้ยืม ได้สูงสุดไม่เกิน 3 แสนบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 บาทต่อเดือน ผ่อนชำระภายใน 60 งวด ถือว่าเป็น ‘ธนาคาร’ ของชาวบ้าน เพราะนอกจากจะสร้างวินัยในการออมแล้ว ยังเป็นที่พึ่งของชาวบ้านในยามที่เดือดร้อนจำเป็น ไม่ต้องพึ่งเงินกู้นอกระบบที่เก็บดอกเบี้ยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 บาทต่อเดือน
     นอกจากนี้ที่ชุมชนเจริญชัยฯ ยังมีกิจกรรมการพัฒนาชุมชนต่างๆ ที่หน่วยงานภายนอกเข้ามาสนับสนุน เช่น การคัดแยกขยะ นำขยะเปียกไปทำปุ๋ย ใส่ต้นไม้ในชุมชน ขยะรีไซเคิ้ลเอาไปขายเป็นกองทุนพัฒนาชุมชน ชุมชนจึงดูสะอาดสวยงาม มีศูนย์เฝ้าระวังภัยและยาเสพติด โดยมีชาวบ้านในชุมชนเป็นอาสาสมัครเฝ้าระวัง มีกองทุนแม่ของแผ่นดิน เพื่อ  ป้องกันปัญหายาเสพติด ฯลฯ ทำให้ชุมชนเจริญชัยนิมิตใหม่เป็นสถานศึกษาดูงานของชุมชนและหน่วยงานรัฐต่างๆ ทั้งในด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยและพัฒนาชุมชน 


TDRI ชูบ้านมั่นคง 
“ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ” พัฒนาสังคมให้น่าอยู่

     จากรายงานของทีดีอาร์ไอ ฉบับที่ 102 เดือนเมษายน 2557 เรื่อง “การประเมินมูลค่าที่เกิดจากโครงการบ้านมั่นคง” ซึ่งเป็นรายงานการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) โดย ดร. นิพนธ์ พัวพงศกร และคณะ ได้คัดเลือกชุมชนบ้านมั่นคงทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด รวม 16 ชุมชน (รวมทั้งชุมชนเจริญชัยนิมิตใหม่) มีครัวเรือนที่เป็นตัวอย่างในการสารวจ 745 ครัวเรือน พบว่า
     โครงการบ้านมั่นคงมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาชุมชนแออัดขนาดใหญ่โดยสร้างความมั่นคงใน “ที่ดินและที่อยู่อาศัย” ให้แก่ครัวเรือนที่อาศัยอยู่ในชุมชนแออัด โครงการนี้ใช้แนวทางการดาเนินการแบบใหม่ที่แตกต่างจากโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยแบบเดิมซึ่งหน่วยงานรัฐเป็นผู้จัดทาโครงการ 
     กล่าวคือ (1) เป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้ผู้อยู่อาศัยในชุมชนรวมตัวและมีส่วนร่วมในการดาเนินโครงการตั้งแต่ต้นจนเสร็จสิ้น ได้แก่ การสารวจข้อมูล การเลือกชุมชนนาร่อง การเลือกวิธีปรับปรุงชุมชน การจัดหาที่ดิน การออมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัย การออกแบบบ้าน การออกแบบชุมชน การก่อสร้าง ฯลฯ 
     (2) รูปแบบและแนวทางการปรับปรุงที่อยู่อาศัยของแต่ละชุมชนมีความหลากหลายและแตกต่างกันตามสภาพปัญหา ความต้องการของสมาชิกในชุมชน และข้อจากัดด้านต่างๆ (โดยเฉพาะด้านกายภาพและเจ้าของที่ดิน) 
     และ (3) เน้นการแก้ปัญหาชุมชนแออัดทั้งเมือง โดยร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่การแก้ปัญหาเพียงบางจุดหรือบางพื้นที่
     โครงการบ้านมั่นคงมีประโยชน์ทางอ้อมทั้งทางเศรษฐกิจและมิใช่ทางเศรษฐกิจ ดังนี้ 
     ด้านเศรษฐกิจ โครงการบ้านมั่นคงทาให้ครัวเรือนมีรายจ่ายลดลง โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปาที่ประหยัด เพราะไม่ต้องพ่วงจากมิเตอร์บ้านที่มีทะเบียนบ้าน และมีรายได้เพิ่มขึ้น เพราะครัวเรือนมีการผ่อนส่งบ้านให้แก่สหกรณ์จึงต้องขวนขวายหารายได้เพิ่ม และลดรายจ่ายของครัวเรือน 
     หลักฐานทางสถิติยืนยัน ได้แก่ เด็กนักเรียนใช้เวลาเรียนหนังสือมากขึ้น นอกจากนี้การที่ชุมชนมีการจัดการที่ดีขึ้น มลพิษลดลง และสภาพแวดล้อมในชุมชนดีขึ้น อาจทาให้สุขภาพของคนในชุมชนดีขึ้น โอกาสเกิดอัคคีภัยลดลง คนในชุมชนมีความภูมิใจที่มีบ้านที่น่าอยู่ในชุมชนที่สวยงาม และสามารถเปิดประตูเชื้อเชิญญาติและเพื่อนฝูงมาที่บ้านได้ 
     ผลประโยชน์ที่สาคัญที่สุดในด้านการปกครองก็คือ ประชาชนในชุมชนเปลี่ยนฐานะจาก “ผู้บุกรุกที่ทาผิดกฎหมาย” เป็น “พลเมืองที่มีศักดิ์ศรี” ข้าราชการให้เกียรติ ให้ข่าวสาร ข้อมูล และให้ความร่วมมือกับงานพัฒนาชุมชน 
     ส่วนประโยชน์ทางสังคมที่สาคัญก็คือ ทุนทางสังคม (Social Capital) ที่เกิดจากการรวมกลุ่มในโครงการบ้านมั่นคง ทาให้คนในชุมชนไว้วางใจกัน
     ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสาหรับการดาเนินโครงการบ้านมั่นคงต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ โครงการบ้านมั่นคงก่อให้เกิดผลประโยชน์สุทธิเป็นบวกต่อสังคม ประกอบด้วย ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่สามารถวัดได้ (โดยเฉพาะการที่คนจนเมืองมีทรัพย์สินเป็นของตน มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย ซึ่งย่อมมีส่วนลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ) 
     โครงการบ้านมั่นคงยังก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางอ้อมต่อสังคม ซึ่งมีหลักฐานเชิงประจักษ์ชัดเจน เช่น เด็กมีแนวโน้มใช้เวลากับการเรียนมากขึ้น อาชญากรรมและยาเสพติดในชุมชนลดลง ลาพังเพียงประโยชน์ดังกล่าวก็เพียงพอที่รัฐสมควรเพิ่มเงินอุดหนุนโครงการบ้านมั่นคง (แม้ว่าโครงการในกรุงเทพฯ มีมูลค่าปัจจุบันของประโยชน์สุทธิติดลบ เพราะค่าเสียโอกาสของที่ดินสูงมาก) 
     “หากคานึงถึงข้อเท็จจริงว่าถ้าไม่มีโครงการบ้านมั่นคง สภาพชุมชนเป็นชุมชนแออัด เด็กในชุมชนจะไม่มีอนาคต ชุมชนแออัดเหล่านี้จะสร้างปัญหาต่างๆ ต่อชุมชนรอบข้าง เช่น ยาเสพติด ปัญหาโจรผู้ร้าย ดังนั้น เงินอุดหนุนโครงการบ้านมั่นคงเป็นการแก้ไขทั้งปัญหาคนจนเมือง การพัฒนาเศรษฐกิจ และการพัฒนาสังคมให้น่าอยู่...” รายงานดังกล่าวระบุ (ดูรายงานฉบับเต็มได้ที่ http://tdri.or.th/wp-content/uploads/2014/05/wb102.pdf)


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"