กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานสถิติ สำรวจการป้องกันโควิด-19 ของคนไทย พบการ์ดตก! เล็กน้อย พฤติกรรมป้องกันโดยรวมจาก 77.6% ลดลงเหลือ 72.5% เดินทางออกนอกจังหวัดมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่ยังเชื่อมั่นมาตรการของรัฐบาล
สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.), สำนักงานสถิติแห่งชาติ, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้สำรวจการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในระหว่างมาตรการผ่อนปรนระหว่างวันที่ 8-14 พ.ค.2563 จากผู้ตอบแบบสอบถาม 19,378 คน ผ่าน h ttps://thaifightcovid19.com/ แบ่งเป็นเพศหญิง 73% ชาย 26% อายุเฉลี่ย 48 ปี การศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป 86%, อาชีพข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ 27%, พนักงานลูกจ้างเอกชน 24% และประกอบธุรกิจส่วนตัว ค้าขาย อาชีพอิสระอีก 19%
ผลสรุปการสำรวจพบว่า ในช่วงมาตรการผ่อนปรน กลุ่มตัวอย่าง 48% มีรายได้ลดลง และอีก 53% มีรายจ่ายเพิ่มขึ้น โดยพบว่ารายจ่ายที่เพิ่มขึ้นของประชาชนส่วนใหญ่ 88% มาจากค่าอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ เช่น แอลกอฮอล์ หน้ากากอนามัย เฟซชิลด์ รองลงมาได้แก่ ค่าน้ำ ค่าไฟ 76% และค่าอาหาร 56%
ส่วนภาพรวมการเดินทางออกนอกจังหวัดในสัปดาห์ที่ผ่านมา พบประชาชน 26% เดินทางออกนอกจังหวัด โดยเหตุผลที่เดินทางออกนอกจังหวัดเพราะจำเป็นต้องไปทำงาน 61% และเดินทางไปธุระจำเป็น เช่น ติดต่อหน่วยงานราชการ 21% และเดินทางไปเยี่ยมครอบครัว ญาติ เพื่อนฝูง 21% นอกจากนี้ยังพบว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา มีประชาชนประมาณ 11% ไปร่วมการรวมกลุ่มกิจกรรมทางสังคม เช่น งานบวช งานแต่งงาน งานสังสรรค์ งานประชุม การเรียนการสอนต่อหน้า
สำหรับพฤติกรรมการป้องกันตนเองในช่วงผ่อนปรนมาตรการระหว่างวันที่ 8-14 พ.ค. พบว่า ประชาชนมีพฤติกรรมการป้องกันตนเองลดลงในทุกพฤติกรรม เมื่อเทียบกับข้อมูลก่อนการผ่อนปรนมาตรการสัปดาห์สุดท้ายของเดือนเมษายน โดยพฤติกรรมป้องกันโดยรวมจาก 77.6% ลดลงเหลือ 72.5%, สวมหน้ากากทุกครั้ง 91.2% ลดลงเหลือ 91%, ล้างมือทุกครั้งจาก 87.2% ลดเหลือ 83.4%, กินร้อน ช้อนกลางตนเอง 86.1% ลดเหลือ 82.3%, ระวังไม่อยู่ใกล้คนอื่นในระยะน้อยกว่า 2 เมตร จาก 65.3% เหลือ 60.7% และไม่เอามือจับหน้า จมูก ปาก จาก 62.9% เหลือ 52.9%
ขณะเดียวกัน เมื่อสอบถามถึงความเชื่อมั่นของประชาชนต่อรัฐบาลไทยในการออกมาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมการแพร่เชื้อโควิด-19 พบว่า 65% เชื่อมั่น ขณะที่ 21% ไม่แน่ใจ/ไม่ทราบ และ 14% ไม่เชื่อมั่น อย่างไรก็ตาม ได้เตรียมนำผลที่ได้ไปพัฒนาแนวปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพในการลดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ให้มากขึ้น
นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์โรคระบาดในช่วงฤดูฝนที่กำลังจะมาถึง ซึ่งมีความจำเป็นในการป้องกัน โดยเฉพาะโรคไข้เลือดออก โรคไข้หวัดใหญ่ เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19
นพ.ธนรักษ์กล่าวว่า โรคที่มักจะมากับฤดูฝน ได้แก่ 1.โรคไข้เลือดออก ทำให้หลายคนอาจจะสับสนกับโรคโควิด-19 แต่สามารถแยกได้จากลักษณะที่ชัดเจนง่ายที่สุด คือ โรคไข้เลือดออกจะมีอาการไข้เป็นหลัก ในขณะที่โควิด-19 จะมีอาการทั้งไข้และอาการของโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก แต่ที่สำคัญที่สุดคือการป้องกันโรคไข้เลือดออก เพื่อไม่ให้มีจำนวนผู้ป่วยที่จำเป็นจะต้องเข้าโรงพยาบาล (รพ.) เพิ่มมากขึ้น ดังนั้น สธ.ขอเรียกร้องไปยังประชาชนช่วยกันป้องกันโรคไข้เลือดออกเต็มที่ เช่น การทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย การป้องกันยุงกัด ด้วยมาตรการต่างๆ ที่เหมาะสม ก็จะช่วยให้มีจำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกต่ำที่สุด
“ปีนี้เป็นปีที่จะต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือจริงๆ ถ้าเกิดมีอาการโรคไข้เลือดออก ผู้ป่วยบางคนก็จะมีอาการช็อก มักจะเกิดขึ้นในวันที่เริ่มมีอาการไข้ลง โดยจะมีไข้สูงประมาณวันที่ 2-7 วันแรก และช่วงที่มีอาการไข้ลดผู้ป่วยอาจจะมีอาการช็อก หรือว่ามีน้ำไหลออกจากหลอดเลือด ซึ่งโดยทั่วไปถ้าได้รับการรักษาอย่างดี ประคับประคองดี ก็มักจะหายได้แล้วก็กลับมามีสุขภาพที่ดี” นพ.ธนรักษ์กล่าว
นพ.ธนรักษ์กล่าวต่อว่า โรคไข้หวัดใหญ่ ที่มีอาการป่วยคล้ายคลึงกันนั้น จึงอยากเชิญชวนให้กลุ่มที่สามารถได้รับวัคซีนฟรี รีบไปรับวัคซีนโดยด่วน ได้แก่ 1.หญิงมีครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป 2.เด็กอายุ 6 เดือนถึง 2 ปี 3.ผู้มีโรคเรื้อรัง ได้แก่ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หัวใจ หอบหืด ไตวาย หลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยมะเร็ง ที่อยู่ระหว่างการให้เคมีบำบัดและเบาหวาน 4.ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป 5.ผู้พิการทางสมอง ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ 6.ผู้ที่ป่วยโรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ) และ 7.ผู้มีน้ำหนักตั้งแต่ 100 กิโลกรัม หรือดัชนีมวลกายตั้งแต่ 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร
“การให้วัคซีนของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) จะอยู่บนพื้นฐานของใครมาก่อนได้รับวัคซีนก่อน หมดแล้วก็หมดเลย เพราะว่าเราสามารถจัดหาวัคซีนได้เพียงประมาณ 4 ล้านเข็ม สำหรับคนประมาณ 4 ล้านคน อยากจะเชิญชวนให้กลุ่มผู้ที่สามารถมีสิทธิได้รับวัคซีนฟรีไปรับวัคซีน และอีกกลุ่มที่สามารถรับวัคซีนได้ฟรี คือกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ โดยวัคซีนเริ่มที่จะส่งไปตามโรงพยาบาลต่างๆ การได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ และไม่ได้ป้องกันโรคโควิด-19 แต่การป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่จะทำให้ระบบบริการสาธารณสุขสามารถที่จะดำเนินการอย่างราบรื่นต่อไป แล้วก็ไม่สับสนในเรื่องของกลุ่มเสี่ยงบางกลุ่มที่เกิดมีอาการของไข้หวัดใหญ่ขึ้นมาแล้วจะต้องทุ่มเททรัพยากรไปตรงนั้น” นพ.ธนรักษ์กล่าว
นพ.ธนรักษ์กล่าวต่อว่า มีข่าวลือว่าการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่จะทำให้มีโอกาสติดเชื้อโควิด-19 มากขึ้น ขอชี้แจงว่าไม่เป็นความจริง สามารถรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้เพื่อป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ และป้องกันความรุนแรงของโรคที่อาจจะเกิดขึ้นได้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |