"บิ๊กตู่" ขอบคุณ 20 เศรษฐีจากใจจริง ช่วยกันคนละไม้คนละมือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ความสามัคคี ความโอบอ้อมอารี และน้ำใจของคนไทยที่มีต่อพี่น้องร่วมชาติและผู้อื่นเป็นสิ่งพิเศษที่หาไม่ได้จากที่ไหนในโลก มั่นใจแรงสนับสนุนจากผู้อาวุโสของสังคมและผู้มีศักยภาพพาประเทศผ่านความยากลำบากไปได้ "ลวรณ" แจงยิบเยียวยาโควิดครอบคลุม 4 กลุ่มรวม 40 ล้านคน อีก 4 กลุ่มจะตามมาติดๆ เอาให้ครบ 66 ล้านคน
เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha ระบุว่า "ตามที่ผมได้มีจดหมายเปิดผนึกถึงมหาเศรษฐีของประเทศ ขอให้ทุกท่านทำโครงการหรือกิจกรรมเพิ่มเติมตามที่เห็นสมควร เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนคนไทยที่กำลังเดือดร้อนโดยตรงและเป็นรูปธรรม ซึ่งผมได้รับการตอบรับจากทุกท่านแล้ว ผมขอขอบคุณจากใจจริง ไม่ใช่แค่เรื่องจำนวนหรือมูลค่าโครงการที่ท่านทำ
แต่ที่สำคัญมากกว่า คือการตอบรับจากทุกท่านที่พร้อมจะช่วยกันคนละไม้คนละมือออกไปบรรเทาความทุกข์ร้อนของพี่น้องคนไทย สิ่งนี้ตอกย้ำว่าคนไทยนั้นมีความพิเศษ มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ยากลำบาก ความสามัคคี ความโอบอ้อมอารี และน้ำใจของคนไทยที่มีต่อพี่น้องร่วมชาติและผู้อื่นเป็นสิ่งพิเศษที่หาไม่ได้จากที่ไหนในโลกครับ
นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายท่าน ซึ่งแม้จะไม่ได้รับจดหมายจากผม ก็ได้แสดงความพร้อมและเสนอตัวที่จะร่วมกันช่วยเหลือพี่น้องคนไทยและประเทศไทยของเรา รวมไปถึงพี่น้องประชาชนเองที่ได้พร้อมใจกันออกมาทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อแบ่งปันความสุขช่วยเหลือสังคม ตามที่ได้เห็นบนสื่อต่างๆ ในช่วงนี้
ผมมั่นใจว่าแรงสนับสนุนจากผู้อาวุโสของสังคมและผู้มีศักยภาพ จะเป็นอีกหนึ่งแรงกำลังสำคัญที่ผนึกเข้ากับแรงกำลังจากทุกภาคส่วนของสังคม ช่วยกันนำพาประเทศไทยอันเป็นที่รักยิ่งของเราให้ผ่านพ้นสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้ไปได้
ผมขอชื่นชม และขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านเดินหน้าทำโครงการหรือกิจกรรมช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่องต่อไป ให้สำเร็จลุล่วงตามเจตนารมณ์อันดีงามของท่าน ขอบคุณครับ #ประเทศไทยต้องชนะ"
ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ทำเนียบรัฐบาล นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังและโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงถึงความคืบหน้ามาตรการเยียวยาของภาครัฐว่า ประชาชนคนไทย 66 ล้านคน ประกอบด้วย 1.แรงงานในระบบ 11 ล้านคน ได้รับการเยียวยาผ่านสำนักงานประกันสังคมอยู่แล้ว 2.แรงงานอิสระ 16 ล้านคน กระทรวงการคลังรับมาดำเนินการตามมาตรการเราไม่ทิ้งกัน เยียวยา 5,000 บาท 3 เดือน ณ วันนี้ มีผู้ผ่านเกณฑ์ 15 ล้านคน ยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 3.เกษตรกร 10 ล้านคน กระทรวงเกษตรฯ เริ่มดำเนินการแล้ว เยียวยา 5,000 บาทต่อครอบครัว 4.เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ 3 ล้านคน ไม่ลดวันเวลาทำงานหรือลดเงินเดือน รัฐบาลดูแลอยู่ ทั้ง 4 กลุ่มรวมกัน 40 ล้านคน เป็นกลุ่มแรงงาน 5.กลุ่มเปราะบาง (เด็กแรกเกิด ผู้สูงอายุ คนพิการ) 13 ล้านคน ทางกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กำลังเสนอมาตรการดูแลในระยะเวลาอันใกล้นี้
6.ผู้มีรายได้น้อย 2.4 ล้านคน ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทั้งหมด 14.6 ล้านคน การเยียวยาของภาครัฐเน้นว่าการเยียวยาจะต้องไม่มีความซ้ำซ้อนระหว่างกลุ่ม 14.6 ล้านคน หักกลุ่ม 1-4 ที่ซ้ำซ้อน จึงเหลือผู้มีรายได้น้อย 2.4 ล้านคน 7.คนลงทะเบียนไม่สำเร็จ (มาตรการเยียวยา 5,000 บาท) 1.7 ล้านคน
สารพัดมาตรการเยียวยา
เขากล่าวว่า กระทรวงการคลังได้เปิดให้ดูแลอยู่ เป็นกลุ่มใหญ่ที่มาร้องเรียน รัฐบาลเข้าใจ หลายท่านไม่คุ้นชินในการลงทะเบียนออนไลน์ กระทรวงการคลังมีนโยบายชัดเจนที่จะดูแล ท่านที่จะมาร้องเรียนตอนนี้ปิดแล้ว ให้ท่านไปที่สาขาของธนาคารของรัฐทุกแห่งทั่วประเทศ 8.ผู้ได้รับผลกระทบทางสังคมกรณีฉุกเฉิน 1 ล้านคน กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ มีกลไกระเบียบรองรับอยู่แล้ว กลุ่ม 5-8 ต้องดำเนินการขจัดความซ้ำซ้อน ประเมินแล้วเหลือไม่เกิน 12.5 ล้านคน เมื่อรวมกลุ่มเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี 13.5 ล้านคน จะได้ 66 ล้านคน รัฐบาลจะดูแลคนทุกกลุ่ม มีฐานข้อมูลชัดเจน
นายลวรณกล่าวถึงมาตรการอื่นๆ ที่รัฐบาลจะดูแลว่า กลุ่มประชาชน รัฐบาลให้ความสำคัญกับการลดค่าใช้จ่าย โดยยืดภาระการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไปเป็นเดือน ส.ค., ลดค่าน้ำ-ค่าไฟฟ้า, ป่วยโควิดรักษาฟรี, แจกหน้ากากอนามัยกลุ่มเสี่ยง, เพิ่มสภาพคล่อง สินเชื่อฉุกเฉิน 1 หมื่นบาท/ราย กู้ได้ที่ธนาคารออมสิน หรือ ธ.ก.ส. ไม่ต้องมีหลักประกัน ดอกเบี้ย 0.1% ต่อเดือน และสินเชื่อพิเศษ 5 หมื่นบาท/ราย ดอกเบี้ย 0.35% ต่อเดือน มีหลักประกัน เช่น สลิปเงินเดือน
ส่วนผู้ประกอบการ ถ้ารักษาระดับการจ้างงานได้เหมือนเดิม หักรายจ่ายค่าจ้างได้ 3 เท่า, ยืดเวลาเสียภาษีนิติบุคคล, ยกเว้นภาษีนำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์, ลดภาษีหัก ณ ที่จ่าย เหลือ 1.5%, เร่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้ผู้ประกอบการส่งออก ยื่นทางอินเทอร์เน็ตได้รับคืนภายใน 15 วัน ยื่นปกติได้รับคืนภายใน 45 วัน, สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ซอฟต์โลนวงเงิน 5 แสนล้านบาท และการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย
นายลวรณยังตอบคำถามถึงกรณีผู้ถูกตัดสิทธิเยียวยา 5,000 บาท เพราะมีชื่อเป็นเกษตรกร และคนที่ยังลงทะเบียนไม่สำเร็จ ว่า ในวันพฤหัสบดี (14 พ.ค.) ที่ผ่านมา มีการส่ง sms ไปถึงผู้ลงทะเบียนที่มีสถานะเป็นหัวหน้าครัวเรือนเกษตร ประมาณ 470,000 คน ฐานข้อมูลกระทรวงเกษตรฯ มีการอัพเดตให้เป็นปัจจุบัน กระทรวงการคลังได้ตรวจสอบข้อมูลเสร็จแล้วเมื่อวันศุกร์ (15 พ.ค.) ที่ผ่านมา การจ่ายเงินจะดำเนินการได้ภายในวันพุธหน้า (20 พ.ค.) ส่วนคนที่ลงทะเบียนรับ 5,000 บาทไม่สำเร็จกำลังพิจารณา โดยกลุ่มคนลงทะเบียนไม่สำเร็จเรามีข้อมูลครบถ้วนดำเนินการต่อไป
ส่วนคนที่ไม่ได้ลงทะเบียนต้องดูมาตรการอื่นของภาครัฐที่ออกมารองรับ ทั้งนี้ นายลวรณได้ย้ำถึงผู้ที่ลงทะเบียนไม่สำเร็จ สามารถติดต่อได้ที่ธนาคารของรัฐทุกแห่งในสัปดาห์หน้า ไม่ต้องเดินทางมาที่กระทรวงการคลังกับกรมประชาสัมพันธ์ซึ่งปิดแล้ว
สัปดาห์หน้าจ่ายครบ 14.5 ล้านคน
ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงความคืบหน้าจ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาทว่า หลังจากปิดรับเรื่องราวร้องทุกข์ขอรับเงินเยียวยา 5,000 บาท ในโครงการเราไม่ทิ้งกันที่กรมประชาสัมพันธ์แล้ว มีประชาชนมายื่นร้องเรียนทั้งหมดเกือบ 30,000 คน ซึ่งกระทรวงการคลังได้ดำเนินการแยกกลุ่มปัญหาและดำเนินการแก้ไขไปแล้วจำนวนหนึ่ง โดยทำควบคู่กันไป นอกจากนั้น กระทรวงคลังได้เปิดให้มีการร้องทุกข์ต่อที่ธนาคารของรัฐคือ ธนาคารออมสิน, ธ.ก.ส. และธนาคารกรุงไทยทุกสาขาทั่วประเทศ ในวันเวลาราชการ ตั้งแต่วันที่ 18-29 พ.ค. เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่ยังเดือดร้อน แต่ขอร้องให้ทุกคนปฏิบัติตามมาตรการของรัฐอย่างเข้มงวดด้วย
เลขาฯ รมว.การคลังเผยว่า สำหรับการจ่ายเงินเยียวยานั้น ขณะนี้มีผู้ผ่านเกณฑ์จำนวน 15 ล้านคน จ่ายเงินไปแล้ว 13.9 ล้านคน และในสัปดาห์หน้ากระทรวงการคลังจะจ่ายเงินให้ครบ 14.5 ล้านคน วันนี้ชาวบ้านทั่วประเทศฝากขอบคุณ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม และนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ผ่าน ส.ส.พรรคพลังประชารัฐมา เพราะส่วนใหญ่ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาทแล้ว สามารถช่วยประทังความเดือดร้อนในภาวะโควิด-19 ไปได้ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาตนได้ลงไปรับเรื่องร้องทุกข์ชาวบ้านเกือบทุกวัน เข้าใจหัวอกคนที่เดือดร้อนดี ดังนั้นยืนยันว่ารัฐบาลจะช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่เดือดร้อนทุกคน
นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการช่วยเหลือเยียวยาพระภิกษุสงฆ์ทั่วประเทศในสถานการณ์โควิด-19 ว่า ทั้งประเทศมีวัดอยู่จำนวนกว่า 40,000 วัด มีพระสงฆ์จำนวนกว่า 270,000 รูป จากสถานการณ์โควิด-19 และมีมาตรการข้อบังคับต่างๆ ทำให้ประชาชนไม่เดินทางเข้าวัด พระภิกษุสงฆ์และวัดต่างๆ จึงขาดแคลนในเรื่องอาหาร สิ่งของเครื่องใช้ รวมถึงค่าดำเนินการภายในวัด ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำ ค่าไฟ เป็นต้น เรื่องนี้ทางกระทรวงวัฒนธรรมได้ทำหนังสือมายังสำนักนายกรัฐมนตรี ในการขอความช่วยเหลือเยียวยาพระภิกษุสงฆ์วัดทั่วประเทศ ซึ่งตนจะนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาต่อไป
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้เตรียมแผนฟื้นฟูการท่องเที่ยวร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) รองรับเมื่อสถานการณ์การโรคโควิด-19 คลี่คลายลงแล้ว เพื่อฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสให้กลับมาสร้างรายได้ ช่วยกระตุ้นระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว โดยการท่องเที่ยวหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง มีแผนการฟื้นฟูที่จะรองรับการใช้ชีวิตตามวิถีใหม่ หรือ New normal ซึ่งต้องให้ความสำคัญกับสุขภาพความสะอาด และความปลอดภัยเป็นหลัก พร้อมนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกในหลายๆ ด้าน
ฟื้นฟูท่องเที่ยว
เธอบอกว่า นอกจากนี้ในแผนการฟื้นฟูการท่องเที่ยว ยังเน้นการท่องเที่ยวชุมชน เพื่อช่วยกระจายรายได้ เสริมสร้างเศรษฐกิจฐานราก สร้างความแข็งแกร่งอย่างยั่งยืน โดยแผนฟื้นฟูการท่องเที่ยวนี้ สอดคล้องกับแผนแม่บทในยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นเศรษฐกิจฐานราก ที่จะมุ่งส่งเสริมเศรษฐกิจระดับชุมชนท้องถิ่น ให้มีความเข้มแข็ง มีศักยภาพในการแข่งขัน สามารถพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งจะช่วยก่อให้เกิดการยกระดับมาตรฐานการครองชีพและความเป็นอยู่ของประชาชนในชุมชนให้ดีขึ้น
"ภายใต้ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ได้แบ่งในส่วนของการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 400,000 ล้านบาท โดยเบื้องต้นในการฟื้นฟูการท่องเที่ยว คาดว่าจะต้องใช้เงินประมาณ 1-2 หมื่นล้านบาท เพื่อดำเนินการฟื้นฟูทั้งการซ่อมและสร้างแหล่งท่องเที่ยว โดย รมว.การท่องเที่ยวและกีฬาจะเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติต่อไป ซึ่งหวังว่าหลังโรคโควิด-19 คลี่คลายลง ภาคการท่องเที่ยวจะช่วยให้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนดียิ่งขึ้นอีกครั้ง" น.ส.ไตรศุลีกล่าว
วันเดียวกันนี้ นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา โพสต์ว่าหากสามารถทำ 10 ข้อนี้ได้ ชี้แจงภาพรวมต่อประชาชนและต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรีก็จะสร้าง New normal ใหม่ในการบริหารราชการแผ่นดินได้ และนอกจากจะเป็นคณะรัฐมนตรีตามปกติแล้ว นับแต่นี้ไปยังจะเพิ่มบทบาทเป็นคณะรัฐมนตรีเฉพาะกิจเพื่อการปฏิรูปประเทศอีกต่างหากเวลาที่เหลืออยู่ 3 ปีจะทรงคุณค่ายิ่ง
สามารถเปลี่ยนประเทศได้ในระดับสำคัญเมื่อถึงวันที่ 6 เมษายน 2566 อันเป็นวันครบรอบ 5 ปีแผนปฏิรูปประเทศตามรัฐธรรมนูญ
1.นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการยกร่างพระราชบัญญัติกลไกและกระบวนการในการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ ประกอบด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกาครึ่งหนึ่ง และผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกที่มีประสบการณ์อีกครึ่งหนึ่ง โดยใช้ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบูรณาการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและแก้ปัญหาความยากจนที่ สศช. (สภาพัฒน์) ยกร่างเสนอคณะรัฐมนตรีเมื่อเดือนธันวาคม 2561 เป็นฐานตั้งต้น ให้ดำเนินการยกร่างให้แล้วเสร็จเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีภายใน 3 เดือน
2.นายกรัฐมนตรีเสนอร่างพระราชบัญญัติตามข้อ 1 ต่อรัฐสภา ในฐานะร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศตามรัฐธรรมนูญมาตรา 270
ปฏิรูปกฎหมายเร่งด่วน
3.นายกรัฐมนตรีเสนอร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติฉบับใหม่ และร่างพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีอาญา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 258 ง. (4) ที่ผ่านการพิจารณาและตรวจแก้มาแล้วจากคณะกรรมการยกร่างที่ประกอบด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกาครึ่งหนึ่ง และผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกอีกครึ่งหนึ่งมาแล้ว 2 ชุด 2 รอบ ใช้เวลารวม 2 ปี เข้าสู่รัฐสภา ในฐานะร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศตามรัฐธรรมนูญมาตรา 270
4.นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วนชุดใหม่
5.นายกรัฐมนตรีมอบนโยบายหรือกำหนดไว้ในคำสั่งแต่งตั้งตามข้อ 2 ให้ถือว่าการจัดกลไกและกระบวนการในการยกเลิกกฎหมายที่ล้าสมัยเป็นอุปสรรคในการดำรงชีวิต หรือการประกอบสัมมาอาชีวะของประชาชน หรือ Regulatory Guillotine คือหนึ่งในภารกิจเร่งด่วนของคณะกรรมการชุดนี้ที่ต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี
6.นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ทุกหน่วยราชการให้ร่วมมือกับคณะกรรมการตามข้อ 4 ปฏิบัติตามกระบวนการ Regulatory Guillotine อย่างเคร่งครัด
7.หนึ่งในข้อปฏิบัติตามข้อ 6 คือการจัดตั้งคณะกรรมการทบทวนกฎหมายในระดับกระทรวงขึ้นทุกกระทรวง และคณะกรรมการทบทวนกฎหมายระดับชาติ โดยต้องมีองค์ประกอบจากภาคประชาชนและภาคผู้ประกอบการเข้าร่วมด้วยอย่างมีนัยสำคัญตามที่คณะกรรมการตามข้อ 4 กำหนด
8.นายกรัฐมนตรีชี้แจงต่อประชาชนให้รับรู้ถึงการมีส่วนร่วมในกระบวนการ Regulatory Guillotine โดยขอให้ประชาชนภาคส่วนต่างๆ ตอบแบบสอบถามถึงกฎหมาย รวมทั้งกฎเกณฑ์หรือระเบียบต่างๆ ที่เห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพ รวมถึงความเห็นในการยกเลิกหรือปรับปรุง
9.นายกรัฐมนตรีมอบนโยบายให้คณะกรรมการตามข้อ 4 ทำหน้าที่เสริมคณะกรรมการกฤษฎีกาในการยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับแผนการปฏิรูปประเทศในประเด็นเร่งด่วนที่จะมีนัยต่อการเปลี่ยนแปลง หรือที่สภาพัฒน์เรียกว่า Big rock ที่กำลังปรับปรุงใหม่อยู่ในขณะนี้
10.นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ชุดใหม่ ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 19/2561 ข้อ 13 เรียกประชุมคณะกรรมการครั้งแรกโดยเร็วที่สุดภายในเดือนมิถุนายน 2563 และมีคำสั่งให้สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง(สำนักงาน ป.ย.ป.) ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 19/2561 ข้อ 7 ทำหน้าที่เป็นแกนกลางในการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เสริม สศช. (สภาพัฒน์) ซึ่งมีงานล้นมือ กับทั้งให้เป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการตามข้อ 4
เชื่อว่าหลายข้อใน 10 ข้อนี้อยู่ในใจของนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีที่รับผิดชอบอยู่แล้ว ทราบมาว่าบางข้อ โดยเฉพาะข้อ 10 มีกำหนดจะทำในเร็วๆ นี้ ผมเพียงแต่รวบรวม เสนอแนะเพิ่มเติม และขอให้เล่าภาพรวมให้ประชาชน รัฐสภา และข้าราชการทุกกระทรวงทบวงกรมอย่างเป็นระบบและเป็นแพ็กเกจ เท่านั้น.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |