รับมือโควิด-19 หลังเปิดห้าง-ขยับเคอร์ฟิว


เพิ่มเพื่อน    

 เปิดห้าง-คลายล็อกมากขึ้น เสี่ยงจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น

                การป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย ยังเป็นเรื่องใหญ่ของประเทศไทย โดยรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่น่าสนใจก็คือ มติที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เมื่อวันศุกร์ที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา มีการเห็นชอบลดเวลาเคอร์ฟิวจาก 22.00 น.​ ถึง 04.00 น.​ มาเป็น 23.00 น. ถึง 04.00 น. และสำหรับห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า และคอมมูนิตี้มอลล์ ก็ให้กลับมาเปิดได้อีกครั้ง แต่ให้ปรับเวลาในการเปิดและปิด มาเป็น​ 10.00 ​น.​ ถึง​ 20.00 น.​ โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 17 พ.ค.เป็นต้นไป

                นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ-ที่ปรึกษาระดับกระทรวง (ระดับ 10) นพ.ทรงคุณวุฒิ และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข-ปฏิบัติราชการ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล-ประธานมูลนิธิสุขภาพตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง มองไปข้างหน้าหลังจากนี้ ที่จะมีการเปิดห้างสรรพสินค้ารวมถึงมีการคลายล็อก-เปิดเมือง-ผ่อนปรนมาตรการต่างๆ มากขึ้นว่า ต้องบอกเลยว่าจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นแน่นอน เหมือนกับที่เคยบอกก่อนหน้านี้ ระลอก 2 ระลอก 3 มาแน่ แต่เราเลือกได้ว่าจะให้มาแบบไหน จะมาแบบหลักพัน หลักหมื่นหรือจะให้มาแบบหลักสิบ มาในจำนวนที่เรารับได้หรือไม่ แน่นอนว่าด้วยมาตรการที่เราวิ่งเร็ว เราก็ต้องถึงที่ ถึงเส้นชัยเร็ว โดยหากเราผ่อน เช่นยกตัวอย่าง หากต่อไปเราพบผู้ป่วยใหม่ต่อวันไม่ถึงวันละ 50 ราย แบบนี้ 30-50 รายถือว่าพอยอมรับได้ หรือค่าการกระจายระบาดที่เรียกว่า ค่าอาร์-ศูนย์ (R0 : Basic Reproductive Number) หากประชาชนยังคงมีพฤติกรรมที่ดี ก็ถือว่ายอมรับได้ แต่หากอยู่ๆ แล้วเปลี่ยนกันเลย แล้วเกิดเป็นแบบบางประเทศที่ขึ้นมาเป็นหลักพันหลักหมื่น อันนั้นคือ หน้าตักเราหมดแล้ว ประเทศไทยเราไม่ได้มีมิติแค่เรื่องสุขภาพอย่างเดียว แต่ยังมีมิติทางเศรษฐกิจด้วย มันจะไม่เหลือหน้าตักอีกแล้ว

            สิ่งสำคัญคือ มันมีสิ่งที่เราต้องทำ ยังไงก็เลิกไม่ได้ เช่นการเว้นระยะห่าง 1-2 เมตร, การใส่หน้ากากอนามัย, การล้างมือบ่อยๆ, การไม่ไปรวมตัวกันในสถานที่ต่างๆ แบบหนาแน่น หรือการที่คนป่วยไม่สบายควรสวมหน้ากากอนามัย วันนี้เรามี new normal เรามีวิถีชีวิตใหม่ที่ดี ภายใต้หลักเข้าใจ มีความรู้ รอบคอบ พึ่งตนเองให้ได้ ยกตัวอย่างเช่น วัคซีน ประเทศไทยเราควรมีโรงงานที่ผลิตสร้างวัคซีนเองได้ ที่อาจไม่ต้องได้กำไรมาก แต่เป็นเรื่องที่ต้องทำเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับประเทศ หรือ National Health Security เป็นเรื่องสำคัญ เพราะทุกๆ 10 ปี จะมีเหตุการณ์แบบนี้ แล้วเราจะรอแบบนี้ไปเรื่อยๆ หรือผมเชื่อว่าแพทย์ไทย-นักวิทยาศาสตร์ชาวไทย และคนไทยทุกคน ไม่ได้แพ้คนชาติไหนในโลก เมื่อเราเห็นว่าเราจำเป็นต้องพึ่งตนเอง เราต้องยอมลงทุน ที่สามารถทำให้เป็นอุตสาหกรรมส่งออกได้ด้วย

นพ.รุ่งเรือง-นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ กระทรวงสาธารณสุข ที่มีประสบการณ์ในเรื่องการรับมือกับโรคติดต่อในประเทศไทยมาร่วมยี่สิบปี ในฐานะนักระบาดวิทยาภาคสนาม จนไปเป็น ผอ.สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่-ผอ.สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค ที่ผ่านมาแล้วกับการรับมือทั้งโรคซาร์ส-ไข้หวัดนก-ไข้หวัดใหญ่ระบาดใหญ่-ไวรัสเมอร์ส เป็นต้น โดย นพ.รุ่งเรืองมองวิกฤติโควิด-19 ในขณะนี้ว่า สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย ต้องมองเหมือนกับเราวิ่งมาราธอน ระยะทาง 42 กิโลเมตร ตอนแรกเราวิ่งมาได้ดี แต่ก็มีอยู่ช่วงหนึ่งที่รู้สึกว่าเราทำเวลาในการวิ่งยังได้ไม่ดี จึงต้องเร่งเวลาขึ้นมา จนเป็นที่มาของการที่ฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีการออกมาตรการต่างๆ ออกมา โดยตอนนี้ก็อยู่ในช่วงที่กำลังจะเริ่มผ่อนได้แล้ว เพราะสิ่งสำคัญที่สุดของการสู้กับโควิด-19 มันเหมือนกับการวิ่งมาราธอน ไม่ใช่การวิ่ง 100 เมตร วิ่ง 100 เมตร เราจะวิ่งเร็วมาก วิ่งนานๆ หัวใจก็อาจจะวายได้ โดยการวิ่งแบบพอดีๆ จะต้องมีทั้งวิ่งเร็วและการวิ่งผ่อน

สิ่งที่ผมในฐานะหมอเป็นห่วงก็คือ หากเราวิ่งมาอยู่ดีๆ แล้วเราหยุดเลยกะทันหัน ถามว่าหยุดได้ไหม ก็ไม่ได้เพราะหากหยุดกะทันหันหัวมันจะคะมำไปข้างหน้า แต่ขณะเดียวกัน นอกจากหยุดกะทันหันไม่ได้แล้ว ก็ต้องห้ามหยุดวิ่งด้วย อันนี้สำคัญที่สุดเลย เพราะเป้าหมายเราคือ การวิ่งเข้าเส้นชัย โดยเราต้องการเวลาน้อยที่สุด สูญเสียน้อยที่สุด แต่บางทีเราวิ่งไปแต่อาจสูญเสียประชาชน สูญเสียชีวิต สูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคมไปมาก 

ตอนนี้ต้องถือว่าประเทศไทยอยู่ในสถานการณ์ที่ค่อนข้างดีมากเมื่อเทียบกับทั่วโลก แต่สิ่งหนึ่งที่เราหยุดไม่ได้เลยก็คือ "หยุดวิ่ง" เรายังคงต้องทำอีกบางมาตรการ โดยบางมาตรการต้องทำต่อไป เลิกไม่ได้ ก็เช่น การเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล 1-2 เมตร, การใส่หน้ากากอนามัย, การล้างมือ เพราะเราก็เห็นแล้วจากบางประเทศที่เขาเริ่มผ่อน เริ่มเนือยๆ ไม่ทำสิ่งเหล่านี้ มันก็เกิดการระบาดใหม่กลับมาระลอก 2 ระลอก 3 ทันที และค่อนข้างรุนแรงด้วย

                ส่วนสถานการณ์การแพร่เชื้อโควิดต่อจากนี้ หากมีการเปิดห้างสรรพสินค้าเต็มรูปแบบจะเป็นอย่างไร ก็ต้องติดตามต่อไป หากมองย้อนหลังไปช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่ เมื่อสิบกว่าปีก่อน ก็จะพบจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็นโค้ง ซึ่งเราก็ต้องดูว่าด้วยมิติของการควบคุมด้วยยุทธศาสตร์ต่างๆ เราคงมองเป็นพื้นที่ ไม่ได้ทำทั้งประเทศ แต่ดูเป็นพื้นที่ หรือดูเป็นบางมาตรการสำคัญๆ ที่ต้องเข้าไปตอบโต้ ยกตัวอย่างเช่น เหตุเกิดที่กรุงเทพมหานคร ก็ต้องไปตีกรอบที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล หรือเกิดเหตุที่เชียงใหม่ ก็ต้องไปตีกรอบที่พื้นที่ภาคเหนือตอนบน คือต่อไป ไม่จำเป็นต้องทำทั้งประเทศ และตัววัด เราคงไม่ได้วัดแต่เฉพาะจำนวนผู้ป่วยอย่างเดียว เพราะมันวัดไม่ได้ บางครั้งเราหาไม่เจอ ค้นไม่พบก็มี ทั้งที่เราตั้งใจค้นหา ซึ่งหากต่อไป เราพบจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในอัตราที่มากเกินกว่าที่เรายอมรับได้ แล้วเราดูพฤติกรรม ดูการกระทำ หลังเราเริ่มผ่อนคลายมาตรการต่างๆ สิ่งสำคัญคือเราต้องมีการให้ความรู้เขาก่อน มีการประเมิน ว่าสามารถผ่อนปรนมาตรการต่างๆ ได้ แล้วพอผ่อนแล้วก็ต้องมีการติดตาม ประเมินผล ต้องทำวนอยู่แบบนี้ เพื่อให้บรรยากาศหรือสิ่งที่เขาทำ มันคงอยู่ตลอดไป

หากประมาท โอกาสระบาดใหม่รอบสองมาแน่

                - หลังจากนี้เมื่อเริ่มมีการคลายล็อกมากขึ้น ตามลำดับ มีการเปิดห้างสรรพสินค้า อาจทำให้โอกาสโควิดกลับมาระบาดรอบ 2 รอบ 3 ก็อาจเกิดขึ้นได้?

            โอกาสเกิดมีแน่ๆ เพราะเมื่อเราผ่อนมาตรการใดๆ จำนวนผู้ป่วยจะสูงกว่าเดิม แต่หากเรายังคงมาตรการหลักเช่นการเว้นระยะห่างทางสังคม การใส่หน้ากากอนามัย การล้างมือ ยังทำกันอยู่ หากจะมีการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ป่วยแม้เพิ่มขึ้น แต่ก็จะเพิ่มขึ้นไม่มาก จากหลักหน่วยก็อาจเป็นหลักสิบต้นๆ ก็คือเพิ่มขึ้นแต่ไม่มาก

แต่หากเราทำอย่างบางประเทศ เช่น เข้าผับ เข้าบาร์ กินเหล้ากินเบียร์ จากหลักพันเป็นหลักหมื่น แล้วลองคิดดูว่าหากเราติดเชื้อพร้อมกันหนึ่งล้านคน จะมีคนที่นอนโรงพยาบาลสองแสนคน อีกแปดแสนคน อาจไม่มีอาการอะไรมาก โดยในจำนวนสองแสนคน อาจจะมีคนไข้หนักห้าหมื่นคน แต่จริงๆ อัตราในวันนั้น อัตราการตายจะตายเป็นแสนคนเลย เพราะระบบการแพทย์และสาธารณสุขของเรารองรับไม่ได้ รองรับไม่ไหว

นพ.รุ่งเรือง-ปฏิบัติราชการ ศบค. ทำเนียบรัฐบาล มองว่าในช่วงที่ผ่านมาหลังเริ่มมีการผ่อนปรนมาตรการต่างๆ สิ่งที่เห็นก็คือ ตอนนี้คนไทยเริ่มการ์ดตกในการป้องกันโควิดกันแล้ว เราจึงต้องปลูกฝังเรื่องความมีวินัย และทำสิ่งต่างๆ ในการป้องกันโควิด ให้เป็นเรื่องปกติของชีวิต สิ่งนี้จะชนะหรือแพ้ อยู่ที่ว่าเราจะทำได้ถึงระดับ 90 เปอร์เซ็นต์หรือไม่ เช่น คน 100 คน หากทุกคนร่วมมือกันทำตามมาตรการต่างๆ สัก 90 คน มันคือวัคซีนธรรมชาติ วัคซีนของพ่อ วัคซีนตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง เพราะเมื่อ 90 คนทำตามมาตรการ ก็จะเป็นภูมิคุ้มกัน

..แน่นอนว่า จะมีการติดเชื้อเกิดขึ้นแน่นอน แต่มันจะติดแบบค่อยเป็นค่อยไป ยกตัวอย่าง หมู่บ้านแห่งหนึ่งมีคน 100 คน แล้วมีคนทยอยค่อยๆ ติดเชื้อกันเองโดยธรรมชาติ เมื่อเราป้องกันแล้ว ซึ่งเมื่อป้องกัน จะเกิดผลดีคือ เชื้อเข้าร่างกายน้อย คนเจ็บป่วยก็น้อย เชื้อก็มาก อาการเจ็บป่วยก็มาก แต่จะเป็นวัคซีนธรรมชาติให้เรามีภูมิ ถ้าในสังคมหนึ่ง มีคนติดไปแล้วเช่น 80 คน ก็จะมีภูมิธรรมชาติขึ้นมา ไม่เกิดระบาด หากสังเกตโรคหลายโรค ไม่มีวัคซีน แต่โลกก็สงบได้ กับอีกอันหนึ่งคือภูมิคุ้มกันตัวเรา คือการดูแลสุขภาพให้ดี

ข้อสุดท้ายที่เป็นหมัดน็อกสำคัญก็คือ วัคซีน ซึ่งอนาคตคงมีวัคซีนออกมาสำเร็จ แต่ต้องใช้เวลา และแม้มีเงินก็อาจซื้อไม่ได้ ถึงเคยแนะนำว่า ตอนนี้เราต้องรีบใช้ความสัมพันธ์เข้าไปจองไว้ก่อน หรือการทำแบบร่วมวิจัย  โดยให้มาวิจัยในประเทศไทย แล้วเราอาจไม่ต้องเสียเงินซื้อวัคซีนเลยก็ได้ และจะได้วัคซีนใช้เป็นประเทศแรกๆ แต่สิ่งสำคัญคือ เราต้องพึ่งตัวเองให้ได้ เพราะจากวันนี้ไปอีก 10 ปีข้างหน้า ก็น่าเชื่อว่าจะเกิดเหตุแบบนี้อีก แล้วเราจะรอวันนั้น ให้ประวัติศาสตร์ย้อนรอยหรือ

แพทย์เห็นด้วยหรือไม่ หากไม่ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ?

- หากอนาคตถ้ามีการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หลัง 31 พ.ค. หรือทบทวน ยกเลิกบางมาตรการ เช่น ยกเลิกเคอร์ฟิว สถานการณ์จะกลับมาน่าเป็นห่วงหรือไม่?

            ผมมองว่า ทุกอย่างต้องใช้ข้อมูล ข้อเท็จจริงมาประกอบ ส่วนใหญ่เราจะทำอะไรด้วยอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด ที่เรียกว่า Moment of truth ที่เป็นวินาทีแห่งความจริง คือต้องเอาความจริงมาว่ากัน หากยกเลิกได้ก็ควรยกเลิก แต่ถ้ายังยกเลิกไม่ได้ก็ยังไม่ควรไปยกเลิก หลักมีเท่านี้เอง และหากเราจะยกเลิก เราต้องรู้ว่าเราจะเจอผลดีอะไร จะเจอผลเสียอะไร ถ้าผลเสียเราต้องป้องกัน แต่หากไม่ยกเลิก เราจะเจอผลเสียอะไร ผลดีอะไร เราก็ป้องกันผลเสีย อันนี้คือหลักการบริหารราชการที่จะทำให้ประชาชนมีความสุข ก็เหมือนกับการผ่อนคลายมาตรการ บางอันผ่อนลงมาไม่ได้จริงๆ ยกตัวอย่างเช่น การให้เปิดผับ-บาร์-อาบอบนวด เพราะอย่างเรื่องสุรามันขาดสติจริงๆ แล้วยิ่งเวลาไปนั่งรวมตัวดื่มกันคงไม่มีใครไปสวมหน้ากากอนามัยดื่มสุรากัน ส่วนสนามมวยต้องคิดนวัตกรรมขึ้นมาว่าหากเปิดแล้วจะให้ต่อยกันอย่างไรเพื่อไม่ให้ติดเชื้อ

            บางเรื่องเราผ่อนให้แน่แต่ต้องขอเวลาก่อน ให้เราเคลียร์ส่วนใหญ่ให้ได้ก่อน คือ ยังไงก็ต้องมีการผ่อน ต้องมีการรักษาแรง ออมแรง เหมือนกับต่อยมวย มี 12 ยก ไม่ใช่ขึ้นมายกแรกๆ เดินต่อยแหลกเลย ไม่เกิน 4 ยกก็ไปแล้ว ดังนั้นแต่ละหมัดที่ออกต้องเน้นๆ เนื้อๆ ด้วยหลักการบริหาร ก็ต้องมีการผ่อนปรนมาตรการต่างๆ ลงเรื่อยๆ อยู่แล้ว แต่จะเป็นการผ่อนปรนมาตรการบนหลักที่เหมาะสม ถูกหลักวิชาการ มีการประเมินความเสี่ยงว่าทำอะไรแล้วจะเกิดอะไรขึ้น เพื่อเราจะได้ป้องกันไว้ก่อน

             ซึ่งด้วยประสบการณ์เรื่องโควิดนี้ เราจะอยู่กับมันอย่างน้อยสองปี แต่ไม่ใช่ว่าสองปีแล้วตึงเครียดแบบนี้ตลอด มันจะเป็นสองปีแบบค่อยๆ วิ่งแบบสบายๆ แล้ววิ่งเข้าเส้นชัย จนสุดท้ายเรามีภูมิคุ้มกันแล้วโรคก็สงบลง ก็เหมือนตอนที่มีไข้หวัดใหญ่ระบาดเมื่อช่วงปี 2552-2554 ที่กว่าจะจบจริงๆ ก็ตอนปี 2555 แต่ตอนนั้นเราปรับตัวกับมันได้ อยู่กับมันได้

โควิด-19 ถ้าช่วงวิกฤติก็ประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปีนับจากนี้ มองไปข้างหน้าอีก 6 เดือนยังมีความเสี่ยงอยู่ เพราะเราไม่ได้เพียงแต่มีศัตรูภายในคือตัวเชื้อโรคโควิดเท่านั้น แต่เรายังมีชาวต่างชาติที่ต่อไปเขาอาจจะเข้ามา ซึ่งเขาอาจควบคุมไม่ได้ดีเท่าเรา แล้วหลุดเข้ามา ตรงนี้ต้องมีมาตรการหมัดน็อกพอสมควรคือเข้ามาได้ แต่ต้องมี Quarantine ให้มีการแยกตัว 14 วัน

            - การที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยโควิดในไทยลดลงอย่างต่อเนื่องแบบนี้ จะบอกได้ไหมว่าสาเหตุสำคัญก็เพราะการที่ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จนถึงการใช้มาตรการต่างๆ เช่น เคอร์ฟิว?

            เกิดจากหลายปัจจัย เช่น การดูแลประชาชน เพราะไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาเช่นปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาอาชญากรรมตามมาแน่และจะหนักกว่าโควิดอีก รวมถึงมาตรการทางสาธารณสุขที่มีการทำเชิงบุก ทั้งการตามหาผู้ติดเชื้อ-การรักษาพยาบาล รวมถึงการทำให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจ ทั้งหมดมาจากหลายองค์ประกอบ จนเกิดพลังการมีส่วนร่วม

สิ่งที่ต้องรักษาไว้คือ การบังคับใช้กฎหมาย เพราะไม่เช่นนั้นจะมีคนออกมาทำแบบอย่างที่ไม่ดี เช่น ปล่อยข่าวลือต่างๆ ที่ไม่จริง ซึ่งเมื่อมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังก็ลดความปั่นป่วนไปได้มาก ซึ่งจริงๆ มีกฎหมายเกี่ยวกับโควิดที่เกี่ยวข้องร่วม 30-40 ฉบับ โดยหากเราปล่อยให้มีการทำอะไรต่างๆ โดยอำเภอใจ มีกฎหมายแต่ไม่มีการบังคับใช้ ก็จะมีปัญหาตามมา

            ทั้งหมดมาจากหลายองค์ประกอบ และเรื่องนี้ก็ไม่ใช่ความสำเร็จของกระทรวงสาธารณสุขเพียงหน่วยงานเดียว แต่เป็นความสำเร็จของทุกพลังความร่วมมือจากประชาชน ซึ่งตั้งแต่ผมเกิดมาไม่เคยเห็นพลังความร่วมมือแบบนี้มาก่อนเลย ครั้งนี้ถือว่าสูงที่สุดในประวัติศาสตร์

            เราถามถึงว่า ขณะนี้ก็ผ่านช่วงที่เรียกกันว่า 14 วันอันตรายนับจากเริ่มเปิดเมืองเมื่อ 3 พ.ค.มาหลายวันแล้ว โดยตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่ได้เพิ่มขึ้น มีแต่ลดลง ถือว่าสถานการณ์น่าวางใจหรือยัง นพ.รุ่งเรือง-ที่ปรึกษาระดับกระทรวง-นพ.ทรงคุณวุฒิ กระทรวงสาธารณสุข มองข้อมูลในส่วนนี้ว่า ยังคงต้องมองต่อไปอีกสักระยะ หมอคิดว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดของเราในเรื่องนี้คือเราต้องทำแบบมียุทธศาสตร์ เราอาจจะกลัวโควิดมาก แต่มันไม่ใช่ เพราะสิ่งสำคัญคือการดูแลประชาชนเช่นในเรื่องปัจจัยสี่ เช่น อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ให้เขาอยู่ได้แบบพอมีความสุขพอสมควร แต่คงเท่าเดิมไม่ได้ รวมถึงการดูแลขวัญกำลังใจเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่เป็นนักรบของเรา นอกจากนี้ที่สำคัญมากก็คือ หากเราไม่ตรวจก็ไม่เจอคนไข้ อย่างบางประเทศก็จะเห็นช่วงแรกมีคนติดเชื้อน้อยมากแต่ก็มาพบจำนวนมากตอนหลัง ซึ่งนอกจากการตรวจแล้วสิ่งสำคัญก็คือ "มาตรการเชิงบุก" ทั้งการเข้าไปค้นหา ไป testing เช่น เทสต์คนรอบข้าง ยกตัวอย่าง เราเจอคนไข้โควิด 1 คน นอกจากพาคนไข้ไปโรงพยาบาลแล้ว ยังต้องนำคนรอบข้างคนไข้คนดังกล่าวแยกตัวออกมาสังเกตอาการ

นอกจากการค้นหาผู้ป่วยแล้ว เรายังต้องให้ความสำคัญกับเรื่องการให้ความรู้ ความเข้าใจ สร้างความร่วมมือของคนในสังคมเพื่อนำไปสู่การปรับพฤติกรรม โดยหลายมาตรการที่ออกมา ก็เห็นชัดว่าทำแล้วได้ประโยชน์ต้องชื่นชม เช่น State Quarantine ที่ช่วยเรื่องการแพร่เชื้อได้มาก ตลอดจนระบบที่วางไว้ทั้งระบบเชิงรับและเชิงรุก และเชิงบุก เรียกว่าเป็น "มาตรการหมัดน็อก" ที่จะต้องมีการออกมาตรการแบบนี้มาเรื่อยๆ เพราะเมื่อสถานการณ์แต่ละช่วงเปลี่ยนไป ก็เหมือนกับการวิ่งมาราธอนหรือต่อยมวย ที่จะต่อยแบบสะเปะสะปะไม่ได้ เราต้องต่อยแต่ละหมัดแล้วคิดว่าต่อยแล้วเข้าเป้า ต่อยแล้วคุ้ม

รวมถึงเรื่อง law enforcement การบังคับใช้กฎหมาย ก็ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ ที่ต้องถือเป็นมาตรการทางสาธารณสุข เพราะบางประเทศต้องใช้เรื่องเหล่านี้ถึงจะควบคุมได้อยู่ ซึ่งสำหรับประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นคนดี ไม่ค่อยมีปัญหา แต่ส่วนน้อยที่สร้างปัญหา เช่น ถ่มน้ำลาย หรือไปตั้งวงกินเหล้า สูบบุหรี่มวนเดียวกัน แล้วไปขยายต่อคนอื่น ซึ่งหากเราเข้าใจธรรมชาติของโควิด-19 โรคนี้คือโรคเกิดใหม่ ไม่มีใครมีภูมิคุ้มกัน ใครเจอก็ต้องติดเชื้อ ที่หากติดเชื้อก็ 80 คนที่จะไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย จนถึงมีอาการมากเช่นมีอาการเหมือนเป็นไข้หวัด ส่วนอีก 20 คนก็จะมีประมาณ 10 คนที่ต้องนอนโรงพยาบาล เช่น เหนื่อยหอบ มีปอดบวม โดยในจำนวนนี้จะมี 5 คนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย เช่น ผู้สูงอายุ

นพ.รุ่งเรือง-โฆษกกระทรวงสาธารณสุข-ประธานมูลนิธิสุขภาพตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านประเทศไทยเราทำได้ค่อนข้างดี อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโควิดในประเทศไทยอยู่ที่ 1.8 เปอร์เซ็นต์เอง และการรักษาหายของเราอยู่ที่ประมาณ 93 เปอร์เซ็นต์ ก็ถือว่าระบบการแพทย์ของเราทำได้ดีค่อนข้างมาก ต้องชื่นชม ระบบสาธารณสุขของเราก็ทำได้ดีในการควบคุมโรคและการติดตาม อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญคือ จะทำอย่างไรให้เราสามารถพึ่งพาตัวเองได้ เป็น new normal เป็นวิถีชีวิตใหม่ คนพูดกันมากเรื่อง new normal ในเวลานี้ ซึ่งจริงๆ แล้วเรื่องนี้ new normal เกิดขึ้นมานานแล้ว คือ ทำแล้วมันดีขึ้น วิถีชีวิตที่ดีกว่าเดิม

ผมยกตัวอย่างคือในหลวงรัชกาลที่ 9 พ่อของเรา ที่ท่านทรงพูดเรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง ที่ก็คือ new normal แต่คนไทยส่วนใหญ่อาจจะยังไม่เข้าใจ คือเป็นเรื่องของการที่หากเราจะทำเรื่องใดต้องรู้เรื่องนั้นจริง มีความเข้าใจ และทำอย่างรอบคอบ มีการไตร่ตรอง มีเหตุมีผล และต้องเหมาะกับบริบทของบ้านเรา ที่เรียกว่าทางสายกลาง คือ ทำที่ภาคเหนือก็แบบหนึ่ง ภาคอีสาน ภาคใต้ ก็อีกแบบหนึ่ง ให้สอดคล้องกับบริบทและเราต้องพึ่งตัวเองได้ หาก new normal ไม่มีองค์ประกอบเหล่านี้ก็ไม่ใช่ new normal เพราะ new normal ไม่ใช่แค่ต้องมีความรู้ มีเทคโนโลยี แต่ต้องมีคุณธรรมด้วย เหมือนอย่างยกตัวอย่าง หากเด็กเยาวชนมีเพศสัมพันธ์กันตั้งแต่อายุน้อยๆ แบบนี้จะเป็น new normal หรือไม่ มันก็ไม่ควร แต่หากพฤติกรรมสุขภาพเราดีขึ้น เช่น ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาของปีนี้ก็จะพบว่าทำให้เราไม่มีผู้เสียชีวิต 500 ศพ เพราะช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาที่ไม่ให้มีการจำหน่ายสุรา เราไม่มีการดื่มเหล้า รวมถึงทำให้ไม่มีผู้ได้บาดเจ็บ พิการ นอนติดเตียงกันอีก 4,000-5,000 คน อย่างนี้คือ new normal จริงอยู่ ผมก็เชื่อว่าก็มีการดื่มเหล้ากันช่วงสงกรานต์ แต่มันก็ลดลงไปมาก การลดความสูญเสียแบบนี้มันคุ้ม

อีกทั้งช่วงที่ผ่านมาพบว่า โรคติดต่อต่างๆ ลดลงอย่างชัดเจนเลย สังเกต เราจะมีคนเป็นไข้หวัดประมาณวันละ 1 แสนคน เพราะคนเราอย่างน้อยหนึ่งปีก็ต้องมีเป็นหวัด มีอาการคล้ายเป็นไข้หวัด ปีละหนึ่งครั้ง คนไทยมี 70 ล้านคน หารด้วย 365 วัน ซึ่งหากเราดูแลสุขภาพกันแบบนี้ ช่วงนี้สังเกตไหม พวกเราจะไม่ค่อยเป็นหวัด แล้วก็แข็งแรงขึ้น และสิ่งสำคัญคือ เราไม่เคยมีวิถีแห่งการสร้างเสริมสุขภาพนำการซ่อมสุขภาพเลย เราจะรอจนกระทั่งไม่สบายจึงไปหาหมอ ซึ่งหากต่อไปเราผ่านวิกฤติโควิดไปได้ เราอาจจะต้องกลับมาเน้นเรื่องการดูแลสุขภาพ การพึ่งพาตัวเอง การใช้ความรู้ ไม่ใช่เห็นโฆษณายาอะไรก็ไปซื้อมากินหมด 

 สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้เราอย่าไปคิดแค่ว่ากำลังสู้กับโควิด-19 แต่ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและผ่านพ้นเหตุการณ์นี้จนวิ่งผ่านเข้าเส้นชัยไปด้วยกันให้ได้

            "ขอให้เราตั้งใจอยู่บนความไม่ประมาท และขอให้เราปฏิบัติตามมาตรการให้ได้มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ สิ่งนี้จะทำให้เราผ่านวิกฤติไปได้

ผมขอย้ำว่ายังประมาทไม่ได้ ต้องไม่ประมาท แล้วเราจะรับมือได้ ผมเชื่อมั่นว่าแล้วคนไทยทุกคนจะวิ่งเข้าเส้นชัยพร้อมกันเพื่อประกาศชัยชนะที่จุดเส้นชัย 42 กิโลเมตรด้วยการสูญเสียที่น้อยที่สุด ถ้าทุกคนทำตามมาตรการต่างๆ มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์" นพ.รุ่งเรืองกล่าวปิดท้าย.

             วรพล กิตติรัตวรางกูร

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"