15 พ.ค.63-เมื่อวันพฤหสบดีที่ผ่านมา นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กรุงเทพฯพรรคก้าวไกล, นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.กรุงเทพฯพรรคก้าวไกล, และนายจิรวัฒน์ อรัญกานนท์ ส.ส.กรุงเทพฯพรรคก้าวไกล ร่วมจัดรายการเฟซบุคไลฟ์ทางเพจพรรคก้าวไกลในชื่อ “3 เกลอก้าวไกล” ชวนคุยกันเรื่องผลกระทบเกี่ยวกับ พ.ร.ก.การบริหารแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน
[“บิลลี่” อัดรัฐไม่ให้ความสำคัญแต่แรก เหตุต้องออก “พ.ร.ก.” ทำประชาชนร่วมแบกรับกรรม]
โดยในช่วงหนึ่งของรายการ นายจิรวัฒน์ ระบุว่า ถ้าเราย้อนไทม์ไลน์ไปดูให้ดี เราจะเห็นได้ว่าเหตุที่มาของการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็เพราะการบริหารจัดการที่ล้มเหลวของรัฐ ที่ไม่ให้ความสำคัญตั้งแต่แรก ถ้าเราย้อนไปดูจะเห็นว่าโรคเริ่มระบาดที่เมืองอู่ฮั่นประเทศจีนตั้งแต่เมื่อเดือนธันวาคม 2562 แล้วจีนประกาศปิดเมืองล่าช้าจนกระทั่งคนออกนอกประเทศไปก่อนหลายล้านคน ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายที่ชาวจีนมากันเป็นจำนวนมาก แต่ประเทศไทยก็ยังไม่ได้เตรียมมาตรการทางสาธารณสุขรองรับตั้งแต่เกิดเรื่องนี้ขึ้น
ต่อมาจึงมีการมาประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้โควิดเป็นโรคติดต่ออันตรายเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ ต้องใช้เวลาสามเดือน กว่าที่จะมีการประกาศให้เป็นโรคอันตราย แล้วต่อมาจึงมาประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯในวันที่ 26 มีนาคม
นายจิรวัฒน์ ระบุว่า ถ้ามีการมอนิเตอร์ตั้งแต่เดือนมกราคม ถ้ามีการเตรียมมาตรการ เราคนไทยจะไม่ต้องแบกต้นทุนทางเศรษฐกิจร่วมกันแบบนี้ อาจจะไม่ต้องปิดเมืองและเคอร์ฟิวขนาดนี้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือยอดผู้ติดเชื้อที่สูงขึ้น ต้นเหตุก็มาจากการบริหารงานของภาครัฐที่ล้มเหลวและไม่ให้ความสำคัญตั้งแต่แรก
[“เท้ง” เป็นงง รัฐออกแอพฯ 5 หน่วยงาน 5 แอพฯ ซ้ำกันทุกตัว แนะปรับเหลือตัวเดียวให้ทุกคนใช้แบบไม่งง]
ส่วนณัฐพงษ์ ระบุว่าถ้าเราดูจากสิ่งที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-2019) หรือ ศบค. ที่แถลงตัวเลขผู้ติดเชื้อในช่วงที่ผ่านมาออกมาค่อนข้างต่ำ เราจะเห็นได้ว่ามันไม่มีเหตุผลที่จะต้องคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯเอาไว้อยู่
การเปิดเมืองมีความน่ากลัวในเรื่องการแพร่ระบาดระลอกที่สองก็จริง อย่างเช่นในไต้หวันที่เริ่มมีตัวเลขระลอกที่สองเกิดขึ้นมาแล้ว แต่การป้องกันก็ยังสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ได้ เช่นเทคโนโลยี contact tracing ที่ติดตามประวัติบุคคลที่ตรวจพบว่าติดเชื้อ ซึ่งต่างประเทศใช้กันไปนานพอสมควรแล้ว
แต่เท่าที่ตัวเองเห็นวันนี้ ทางการไทยปล่อยแอพพลิเคชั่นออกมาหลายตัว แต่ทำเหมือนๆกันซ้ำๆกัน เช่นไทยแคร์, หมอชนะ, แอร์แทร็ก, และล่าสุดไทยชนะ ซึ่งออกมาโดย 5 หน่วยงานของรัฐ แต่เป็นแอพพลิเคชั่นที่ใช้ในแบบเดียวกันทำซ้ำกันหมด
นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า พูดให้ถึงที่สุด เราสามารถใช้แอพพลิเคชั่นมาแทนมาตรการที่เข้มงวดใน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯได้ เช่นก่อนเข้าออกอาคารสถานที่ให้แสกน qr code เพื่อบันทึกประวัติในการเดินทางเข้าออกสถานที่ต่างๆว่าไปที่ไหนมาบ้าง เมื่อตรวจพบว่าติดเชื้อขึ้นมาก็จะสามารถติดตามความเสี่ยงได้ แต่สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทุกคนมาใช้แอพพลิเคชั่นเดียวกัน ไม่ใช่ใช้กันคนละแอพพลิเคชั่นแบบนี้
[“กาย” ย้อนถามวันนี้ยัง “ฉุกเฉิน” จริงหรือไม่? หรือฉุกเฉินของใครกันแน่?]
ด้านนายณัฐชา กล่าวตอนหนึ่งว่า ถ้าถามถึงเหตุผลที่ยังคงต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯในวันนี้ แม้ตัวเลขจะต่ำลงแล้วก็ตาม ตนคิดว่าน่าจะเป็นเพราะความคุ้นเคยในการใช้อำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเสียมากกว่า เพราะในอดีตเคยเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดเหนืออำนาจสามฝ่ายในสมัยเป็นหัวหน้า คสช. ที่ใช้อำนาจได้ตามใจชอบจนคุ้นชิน
นายณัฐชา ระบุต่อว่า ทุกวันนี้ตนลงพื้นที่มา พบประชาชนจำนวนมากมีความรู้สึกว่าการคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯเอาไว้อยู่เป็นเพราะความกลัวส่วนบุคคล เป็นเพราะ พล.อ.ประยุทธ์กลัวการเคลื่อนไหวทางการเมือง เพราะสถานการณ์ในขณะนี้ไม่มีความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องได้รับสถานะและอำนาจที่มากเกินไปขนาดนี้แล้ว จึงทำให้ตนเชื่อว่านี่เป็นการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯจากความกังวลในสถานการณ์ทางการเมืองมากกว่าการควบคุมโรคติดต่อ
จึงต้องถามว่าคำว่าสถานการณ์ฉุกเฉินวันนี้เป็นความฉุกเฉินของใคร ขอให้บอกกับประชาชนตรงๆไปว่าวันนี้สถานการร์ดีขึ้นอย่างไร แล้วทำไมยังต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯอยู่ แต่ถ้ายังยืนกรานว่าต้องใช้ต่อไปนั่นแสดงว่ากลัวเหตุการณ์ทางการเมืองหรือไม่
[“บิลลี่” แนะใช้กฎหมายปกติควบคุมโรคได้ - วอนหยุดฝืนใช้ พ.ร.ก.ทำลายชีวิตคนจน]
ในส่วนของนายจิรวัฒน์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ระบุว่าถ้าตัวเลขเป็นไปตามที่ ศบค.ระบุ ก็ต้องชื่นชมรัฐบาลที่ทำสำเร็จในการควบคุมโรค แต่คำถามก็คือวันนี้เรายกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯได้หรือไม่ คำตอบคือได้ เรามี พ.ร.บ.โรคติดต่อฯและกลไกลทางกฎหมายปกติได้ ให้คนที่มีอำนาจมากที่สุดคือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นพระเอกของการบริหารสถานการณ์นี้ ภายใต้นโยบายและคำสั่งการโดยนายกรัฐมนตรีอยู่ ซึ่งนี่เป็นจุดที่ไม่แตกต่างกัน
แต่การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯวันนี้ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มีการออกมาใช้ในมาตรการควบคุมโรคติดต่อ มีข้อแตกต่างจากกฎหมายปกติ เช่นการให้อำนาจเบ็ดเสร็จที่กระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชน อย่างการห้ามบุคคลออกนอกเคหะสถาน ต่อมาคือการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ของรัฐในการไม่ต้องรับผิดทางแพ่งและอาญาจากการปฏิบัติหน้าที่
ซึ่งต้องถามว่าสถานการณ์วันนี้เราอยู่ในกรอบที่ต้องห้ามบุคคลใดออกนอกเคหะสถานตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯหรือไม่ ตนต้องเรียนตามตรงว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯนี้ เป็น พ.ร.ก.ที่ทำลายคนจน การกำหนดช่วงเวลาเคอร์ฟิวก็ไม่สอดคล้องกับคนจนที่หาเช้ากินค่ำ ที่ต้องเตรียมของทำมาค้าขายในช่วงดึกหรือช่วงเช้ามืด
ดังนั้นตนจึงขอแนะนำ ว่าสถานการณ์วันนี้ต่อให้ไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯก็สามารถบริหารจัดการภายใต้ พ.ร.บ.โรคติดต่อได้ ซึ่งให้อำนาจรัฐบาลในการควบคุมสถานการณ์ได้อย่างเพียงพอแล้ว ถ้าวันนี้ไม่มีการผ่อนคลายสถานการณ์ตรงนี้แล้วคนจนที่ได้รับผลกระทบจะทำมาหากินตามปกติได้อย่างไร
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |