ประเทศไทยหลังยุค COVID-19


เพิ่มเพื่อน    

 

            หายหน้า-หายตาไป 2-3 วัน...ถือเป็นการช่วย เปิดพื้นที่ ให้กับผู้ควบคุม ดูแล เนื้อหา สาระต่างๆ ของ ไทยโพสต์ เขา อาจด้วยเหตุเพราะช่วงหลังๆ ทั้งสาระ ทั้งโฆษณา มันอาจเยอะแยะตาแป๊ะไก๋ ไม่รู้หาช่อง หาทาง ยัดอะไรต่อมิอะไรให้เหมาะเจาะ พอดิบพอดี ข้อเขียนคอลัมน์ ท่านขุนน้อย เลยถูกหั่น ถูกตัด ถูกเจียน จนอ่านแทบไม่รู้เรื่อง!!! การเว้นวรรค เว้นระยะห่าง จึงอาจถือเป็นการช่วย เปิดพื้นที่ ให้เขาสามารถบริหาร จัดการ ทุกสิ่งทุกอย่างให้พอคล่องเนื้อ คล่องตัว คล้ายๆ ประเภทคงต้อง โซเชียล ดิสแทนซิง เอาไว้มั่ง อะไรประมาณนั้น...

                                   -----------------------------------------------

                อย่างไรก็ตาม...สำหรับวันนี้ เผอิญเพื่อนเก่า เพื่อนแก่ ท่านอดีตรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข คุณพี่ วิทยา แก้วภราดัย ที่ได้เว้นระยะห่างทางสังคมจากแวดวงการเมือง หันไปซุ่มทำไร่ ไถนา อยู่แถวๆ จังหวัด หน่ะ-คอน-ซี้-ถ่ำ-หม่ะ-หราด ท่านได้โทร.มาแจ้งข่าว มา บรีฟสรุป ให้ฟังถึงบรรยากาศ ฉากสถานการณ์ ของผู้คนในชนบท ในช่วงที่เชื้อโคโรนา ไวรัส COVID-19 กำลังออกฤทธิ์ ออกเดช ออกอาละวาด ซึ่งออกจะเป็นอะไรที่น่าคิด น่าสะกิดใจ มิใช่น้อย เพราะโดยบทเรียน โดยประสบการณ์ ของผู้ที่คลุกคลีอยู่กับแวดวงการเมือง ตั้งแต่ระดับยังเป็นนิสิตนักศึกษา จนกลายมาเป็นนักการเมือง ต้องพบปะกับชาวบ้าน ชาวช่อง ไปจนถึงบรรดาเสือ-สิงห์-กระทิง-แรด อีกทั้งยังเคยบริหาร จัดการ ดูแลกระทรวงสำคัญๆ อย่างกระทรวงสาธารณสุข มาก่อนอะไรก็ตามที่ท่านได้ สะท้อน ออกมา คงต้องเก็บมาคิดๆ เอาไว้มั่ง...

                                   ----------------------------------------------------

                คือช่วงที่คุณพี่ วิทยา ท่านมีฐานะ ตำแหน่ง เป็นรัฐมนตรีสาธารณสุขนั้น ท่านเองก็เคยเจอกับการแพร่ระบาดของ ไข้หวัดหมู หรือที่เรียกเป็นภาษาฝรั่งว่า Swine Flu อะไรประมาณนั้น ที่เริ่มต้นระบาดแถวๆ อเมริกา หรือเม็กซิโก ก่อนแพร่สะพัดไปในระดับทั่วทั้งโลก ไม่ต่างไปจาก COVID-19 ช่วงนี้ เผลอๆ อาจหนักกว่าด้วยซ้ำ เพราะถ้าลองไปถาม อากู๋กูเกิล หรือ วิกิพีเดีย ว่ากันว่า...จำนวนผู้ป่วย ผู้ติดเชื้อ ในระดับทั่วทั้งโลก ปาเข้าไปถึงประมาณ 700-1,400 ล้านคน หรือ 11-25 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรโลก เอาเลยถึงขั้นนั้น เพียงแต่ด้วยเหตุเพราะความรู้ ความเข้าใจ ต่อ ไข้หวัดหมู ของผู้คนในวงการแพทย์ วงการสาธารณสุข ออกจะเป็นอะไรที่แจ่มแจ้ง ชัดเจน ไม่มึนซ์ซ์ซ์ๆ เบลออ์อ์อ์ๆ เหมือนกับเชื้อ COVID-19 การผลิตวัคซีน การหาตัวยามารักษา จึงทำให้จำนวนคนตาย ไม่ถึงกับสูงโด่เด่มากมายนัก คือประมาณ 18,000 กว่ารายเท่านั้นเอง...

                                      -------------------------------------------------

                ช่วงนั้น...คุณพี่ วิทยา ท่านก็ใช้ เคล็ดวิชา เดียวกันกับท่านนายกฯ บิ๊กตู่ ช่วงนี้นี่แหละ คือมอบให้บุคลากรทางการแพทย์เป็น ทัพหน้า หรือ ทัพหลวง โดยนักการเมือง หรือรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง เป็นเพียง ทัพหนุน หรือ ทัพเสริม เพียงแต่ช่วงระหว่างนั้นดันมี ทัพ อื่นๆ เข้ามาสอดแทรก จนทำให้เรื่อง ไข้หวัดหมู แทบไม่ได้รับความสนใจมากมายซักเท่าไหร่นัก เนื่องจากใครต่อใครในบ้านเรา มีแต่ต้องหันไปสนใจบรรดา ทัพเสื้อแดง ซะเป็นหลัก ที่ออกมาไล่กระทืบนายกรัฐมนตรี ออกมาเผาบ้าน เผาเมือง ฯลฯ กันอย่างกิจจะลักษณะ ไม่ใช่แค่ ยิงเลเซอร์ ใส่โน่น ใส่นี่ เหมือนอย่างเช่นทุกวันนี้...

                                     ------------------------------------------------

                แต่ในช่วงที่ต้อง โซเชียล ดิสแทนซิง ไปจากแวดวงการเมือง...สิ่งที่ท่านอดีตรัฐมนตรีฯ วิทยา ท่านให้ความสนใจเอามากๆ น่าจะเป็นเรื่องของ ผลกระทบ หรือ ผลข้างเคียง อันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส “COVID-19” ที่ออกจะผิดแผกแตกต่าง ไปจากเมื่อครั้งการแพร่ระบาดของ ไข้หวัดหมู อยู่พอสมควร ไม่ว่าในทางการเมือง เศรษฐกิจ หรือวิถีชีวิตทางสังคมของผู้คน แม้แต่ในประเทศไทยแลนด์ แดนสยาม ของหมู่เฮาก็เถอะ เพราะระหว่างที่หันไปทำไร่ ไถนา อยู่ในชนบท ทำให้ท่านพอสังเกตเห็นว่า ผลกระทบ หรือ ผลข้างเคียง จากการระบาดของเชื้อ COVID-19 นั้น ออกจะผิดแผก แตกต่าง เอามากๆ ระหว่าง พื้นที่ในเมือง กับ พื้นที่ในชนบท ไม่ว่าเรื่องการใช้ชีวิต เรื่องปาก เรื่องท้อง การหาข้าว ปลา อาหารมาใส่ท้องในแต่ละมื้อ เรื่องการทำงานในบ้าน-นอกบ้าน การเว้นระยะห่างทางสังคม เรื่องสุขภาพ หรือเสรีภาพ ฯลฯ ก็แล้วแต่...

                                      --------------------------------------------

                พูดง่ายๆ ว่า... ผู้คนในชนบท น่าจะสบายกว่า หรือเดือดร้อนน้อยกว่า ผู้คนในเมือง อันเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคระบาดชนิดนี้ ประมาณ 3 เท่า หรือ 8 เท่าเป็นอย่างน้อย ยิ่งถ้าไม่ถูกรบกวนจากเรื่อง ภัยแล้ง แบบซ้ำๆ ซากๆ หรือยิ่งถ้าได้รับการส่งเสริมให้พอเข้าถึง-เข้าใจเรื่อง เทคโนโลยี ประเภทอิเล็กทรอนิกส์ หรือดิจิตอลทั้งหลาย โอกาสที่ ชนบท จะกลายเป็นรากฐานอันมั่นคงในการรองรับประเทศทั้งประเทศ แบบฐานรองรับพีระมิดทั้งแท่ง ทั้งด้าม ไม่ใช่แบบ พีระมิดกลับหัว เหมือนอย่างที่เคยเป็นมา ย่อมมีความเป็นไปได้สูงเอามากๆ!!!

                                      -------------------------------------------

                สำหรับเรื่องผลกระทบ หรือผลข้างเคียงทาง การเมือง นั้น...ภาพจินตนาการที่ท่านอดีตรัฐมนตรีฯ วิทยา ท่านพอมองเห็น หรือหลับตาเห็นอยู่บ้างรางๆ ต้องเรียกว่า...ฟังแล้วออกจะ หนาวว์ว์ว์ ชนิดต้องหรี่แอร์ในหน้าร้อนเอาง่ายๆ โดยเฉพาะสำหรับบรรดา นักการเมือง ที่ยังคลุกคลีตีโมงอยู่ในแวดวงอำนาจทั้งหลาย หรือแม้แต่บรรดา นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่ยังพยายามขี่แสงเลเซอร์ ยังพยายามเจาะเวลาหาอดีตชนิดไม่แล้วเสร็จ ส่วนจะเป็นไปในแนวไหน อย่างไร อันนี้...ใครสนใจอยากรู้รายละเอียด คงต้องลองไปสอบถามจากตัวท่านเอาเองก็แล้วกัน เพราะสิ่งที่ท่านคิด ท่านเห็น ในจินตนาการ หรือใน วิสัยทัศน์ ก็แล้วแต่ ก็น่าจะเป็นอะไรที่ ย่อมมีความเป็นไปได้สูงเอามากๆ อีกเช่นกัน...

                                    -----------------------------------------------

                ปิดท้ายด้วยวาทะวันนี้ จาก Peter F. Drucker ... “The Best way to predict the future is to create it. - วิธีคาดคะเนอนาคตที่ดีที่สุด คือการสร้างสรรค์มันขึ้นมา...”

                                     -------------------------------------------------

 

                                                                       

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"