ยังคงเดินหน้าหาทางออกสำหรับแนวทางการแก้ปัญหาที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ประสบปัญหาอยู่ ณ ขณะนี้ เรียกได้ว่าเป็นประเด็นที่นำไปวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ว่าที่สุดแล้วข้อสรุปการแก้ปัญหาจะเดินไปทางไหน เพื่อให้การบินไทยที่ทุกบอกว่าเป็นสายการบินแห่งชาติ จะกลับมายืนได้แข็งแรงเหมือนที่เคยเป็นมาในอดีต
ก่อนหน้านี้เป็นที่รับรู้จากปากของ "ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคม ที่บอกว่าในแผนฟื้นฟูของการบินไทยได้ระบุว่ามีความเสี่ยง 23 เรื่อง เรื่องนี้ รมว.คมนาคมประกาศชัดเจนขณะให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า หากยังมีความเสี่ยงอยู่แม้เพียงเรื่องเดียวก็ไม่ได้ ดังนั้นการบินไทยต้องไปคิดให้รอบคอบ แม้ที่ผ่านมาตั้งแต่ก่อตั้งการบินไทยมาถือเป็นรัฐวิสาหกิจที่ประสบความสำเร็จ มีกำไร
ขณะที่ในช่วงหลังมีปัญหา ซึ่งในปี 2558 ที่ผ่านมา การบินไทยเคยมีการดำเนินการฟื้นฟูใกล้เคียงในลักษณะนี้ ดังนั้นต้องนำข้อมูลมาประมวลทั้งหมด หากทุกอย่างชัดเจนก็เดินหน้าต่อไปได้ แต่ถ้าไม่ชัดเจนแล้วต้องตัดสินใจสิ่งที่ทำจะเป็นภาระต่อรัฐบาลและประชาชนก็ไม่ทำ นั่นคือเหตุผลที่ยังไม่สามารถเสนอคณะรัฐมนตรีได้
รมว.คมนาคมกล่าวต่อในเรื่องนี้ว่า วันนี้ต้องพิจารณาปัญหาของการบินไทยด้วยใจที่ปราศจากอคติ และดูว่าอะไรเป็นทางออกที่ดีที่สุดในการที่จะทำให้การบินไทยกลับมาแข็งแรง และเปรียบเทียบกับสายการบินอื่นๆ ที่มีปัญหาเหมือนการบินไทยว่ามีการดำเนินงานอย่างไร เพราะหากในอดีตเคยดำเนินการไปแล้ว แต่ไม่ได้ผล แล้วจะทำแบบเดิมๆ อีกคงไม่ได้ แผนฟื้นฟูนี้ต้องมีคำอธิบายที่ชัดเจน คือ Action Plan ต้องชัดเจน who what When Where Why KPI ต้องมีอย่างละเอียดทั้งหมด แผนรายได้ต้องมี เช่นนั้นจะใส่เงินไปให้ได้อย่างไร แผนบริหารหนี้จะเจรจาเจ้าหนี้อย่างไร แฮร์คัตกันอย่างไร รายจ่ายจะลดอย่างไร ซึ่งหลายเรื่องเคยพูดหมดไปแล้ว เครื่องไม่ได้บินเลย ทำไมค่าน้ำมันไม่ลด เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดคณะทำงานฟื้นฟูกิจการการบินไทยอยู่ระหว่างหารือแนวทางแก้ปัญหาการดำเนินงานของการบินไทยที่ประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนัก ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และคณะกรรมการการบินไทยไปทบทวนแผนฟื้นฟูกิจการให้สมบูรณ์ โดยจะต้องพิจารณาว่าการบินไทยสามารถดำเนินงานได้ตามแผนฟื้นฟูหรือไม่ และจะต้องอธิบายเรื่องที่เป็นความเสี่ยงได้ คาดว่า สนข.จะส่งแผนฟื้นฟูกลับมายังกระทรวงคมนาคมวันที่ 21 พฤษภาคมนี้
ส่วนกรณีที่มีข้อเสนอให้การบินไทยล้มละลาย นายศักดิ์สยามบอกว่า ต้องพิจารณาในแง่ของการทำงานว่าฟื้นฟูได้หรือไม่ โดยหลักการที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายคือ ต้องการให้ผู้ที่เกี่ยวข้องช่วยกันแก้ปัญหาการบินไทยโดยปราศจากอคติใดๆ เพราะหากใช้อคติจะขาดสติ และตัวการบินไทยเองก็ต้องพยายามบริหารกิจการให้ได้
ด้านผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจการบินได้ออกมาแสดงความคิดเห็นว่า โจทย์สำคัญในการแก้ไขปัญหาการบินไทยคือ ทำให้ธุรกิจกลับมาคล่องตัว สามารถแข่งขันได้ โดยประเด็นเรื่องของสายการบินแห่งชาตินั้น ยืนยันว่าปัจจุบันทั่วโลกไม่ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าว โดยได้ยกตัวอย่างกรณีหากคนไทยต้องการทำการบินไปยังเมืองสำคัญในสหรัฐ เช่น นิวยอร์ก ซึ่งการบินไทยก็ไม่ได้ให้บริการบินอยู่แล้ว แต่ปัจจุบันนี้การเดินทางก็ยังสามารถทำได้โดยมีสายการบินอื่นๆ อีกมากมายให้บริการ
ดังนั้นในช่วงที่มีการเปิดเสรีด้านการบินไปแล้ว ผู้ใช้บริการมีทางเลือกมากมายที่เหมาะกับความต้องการและกำลังซื้อของผู้โดยสาร ประเด็นเรื่องสายการบินแห่งชาติจึงมีหลายประเทศ เลิกให้ความสำคัญไปแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือการทำให้ผู้โดยสารเข้าถึงบริการ และภาครัฐ ดูแลให้บริการของสายการบินปลอดภัยมีมาตรฐาน ค่าบริการเป็นธรรมกับผู้ใช้
ส่วนประเด็นเรื่องการบินไทยจะยังคงเป็นรัฐวิสาหกิจหรือไม่ มองว่าโดยฐานะของการบินไทยขณะนี้จำเป็นต้องทำให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการ มีค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม ครอบคลุมถึงความจำเป็นต้องลดสวัสดิการ ทั้งผู้บริหารและพนักงานที่เกินจำเป็นให้มีความเหมาะสม
ขณะเดียวกัน ต้องยอมรับว่าในช่วงที่ธุรกิจการบินทั่วโลกได้รับผลกระทบจาดปัญหาการระบาดไวรัสโควิด-19 และไม่รู้ว่าจะสามารถกลับมาฟื้นตัวได้เมื่อไหร่นั้น ถือเป็นจังหวะที่ดีที่การบินไทยจะใช้เวลาช่วงปีกว่าถึง 2 ปีนี้ เร่งฟื้นฟูกิจการตัวเองให้กลับมาแข็งแรง ก็ได้แต่หวังว่าวิบากกรรมครั้งนี้ของการบินไทยจะผ่านพ้นไปได้โดยเร็วไว.
กัลยา ยืนยง
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |