วัฒนธรรมจังหวัดปัตตานี-ยะลา ตั้งจุด"แลกเปลี่ยนสินค้าท้องถิ่น" ช่วยระบายผลผลิต-อาหารแปรรูปจากชุมชนที่กระทบโควิด


เพิ่มเพื่อน    

 

                 แม้จะอยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และรัฐบาลมีการออกประกาศตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร เพื่อควบคุมการระบาดของโรค กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดทั่วประเทศ ร่วมกับภาคีเครือข่ายทางวัฒนธรรม ลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ แจกหน้ากากอนามัย ของกินของใช้ที่จำเป็นช่วยแบ่งเบาภาระประชาชนอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังช่วยเหลือผู้ประกอบการสินค้าวัฒนธรรมประจำท้องถิ่น สินค้าชาวชุมชนคุณธรรมฯ ในแต่ละพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ขายสินค้าไม่ได้ โดยช่วยอุดหนุน แลกเปลี่ยน เปิดช่องทางขายสินค้าออนไลน์ให้ 

                นางลิปิการ์ กำลังชัย วัฒนธรรมจังหวัดยะลา กล่าวว่า เมื่อได้รับนโยบาย ก็ได้มีการสำรวจผู้ผลิตสินค้าตามชุมชนคุณธรรมฯ ว่าใครประสบปัญหา เช่น ชุมชนคุณธรรมฯบ้านคอกช้าง จังหวัดยะลา มีสินค้าปลาส้ม แต่ตอนนี้ขายไม่ได้ ทางสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดยะลาจึงได้เข้าไปช่วยเหลืออุดหนุนสินค้าปลาส้มเพื่อนำมาบรรจุเป็นถุงยังชีพ นำไปแจกจ่ายให้กับพี่น้องในชุมชนคุณธรรมฯในจังหวัดยะลา รวมไปถึงนำไปแลกเปลี่ยนกับน้ำบูดูของชุมชนคุณธรรมฯ มัสยิดบาเลาะ (บ้านบาเลาะ) อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี  แลกกับข้าวสารชีบูกันตังจากชุมชนคุณธรรมบ้านบอฆอ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส  นอกจากจะได้ช่วยเหลือทั้งผู้ประกอบการรายย่อย ชุมชนมีรายได้ และยังได้ช่วยเหลือชาวบ้านที่เดือดร้อนทั้งในพื้นที่ยะลา ปัตตานีและนราธิวาส อีกทั้งได้สร้างเครือข่าย ประชาสัมพันธ์สินค้าท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น แม้จะเป็นของเล็กๆน้อยๆ ผู้ให้ก็รู้สึกดี ผู้รับก็มีความสุข ตอนนี้ก็มีหลายจังหวัดติดต่อเข้าขออุดหนุน แลกเปลี่ยนสินค้าวัฒนธรรมในพื้นที่จังหวัดยะลาแล้ว

                 นางศศิเพ็ญ ละม้ายพันธุ์ วัฒนธรรมจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ปัตตานีมีชื่อเสียงเรื่องน้ำบูดู เมื่อชาวบ้านประสบปัญหาไม่สามารถจำหน่ายสินค้าได้ แต่เรายังไม่สามารถเดินทางข้ามจังหวัดได้ เลยนำสินค้ามาแลกเปลี่ยนกันที่เขตติดต่อระหว่างจังหวัดปัตตานีและยะลา ตรงป้ายกม. 418 เพื่อนำไปแจกจ่ายให้ชาวบ้าน ชาวบ้านก็ดีใจเพราะเป็นสินค้าที่คุ้นเคย ข้าวสารอาหารแห้งเก็บไว้กินช่วงเดือนรอมฎอน ขณะนี้ได้จัดทำทะเบียนชุมชนที่ผลิตสินค้าวัฒนธรรม  เตรียมหารือว่าจะมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนระหว่างจังหวัดและระหว่างภาคผ่านช่องทางขายสินค้าออนไลน์ด้วย

                 “ รู้สึกดีมากทั้งในฐานะวัฒนธรรมจังหวัดและจิตอาสา 904 ที่ได้ช่วยเหลือชาวบ้านจริงๆ พบความต้องการชาวบ้านเรื่องปากท้อง ชีวิตความเป็นอยู่ สุขภาพ บางคนพิการก็ประสานพัฒนาสังคมจังหวัดเข้าช่วยเหลือเขาอีกทาง เรามีเครือข่ายการทำงานมากขึ้น รู้สึกภาคภูมิใจมากค่ะ” นางศศิเพ็ญ กล่าว

 

 

                นอกจากภาคใต้ มีความเคลื่อนไหวช่วยเหลือชุมชนในภาคอีสาน นางพรพิมล คงตระกูล วัฒนธรรมจังหวัดขอนแก่น นำข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ออกไปช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรชุมชนต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบไม่ได้ขายสินค้า มีทั้งผัก ผลไม้ ไข่เป็ด ก็ช่วยกันซื้อเพื่อนำไปแบ่งปันให้กับชุมชนคุณธรรมฯ ในพื้นที่ อาทิ ชุมชนคุณธรรมวัดบูรพาภิรมยาราม ชุมชนคุณธรรมวัดกู่ประภาชัย อ.น้ำพอง ชุมชนคุณธรรมวัดท่าสองคร บ้านท่าหิน ชุมชนคุณธรรมบ้านโคกสี อ.เมือง รู้สึกมีความสุข มีรอยยิ้ม ซึ้งใจที่ได้ช่วยเขา ประชาชนเองก็ดีใจมีคนไปช่วย ผู้เฒ่าผู้แก่ได้กินผักปลอดสารพิษ เรียกได้ว่า สุขใจผู้ให้ อุ่นใจผู้รับจริงๆ

                 นางศิริรัฐ ศรีชนะ กำนันตำบลบัวใหญ่ กล่าวว่า ในฐานะเจ้าของพื้นที่รู้สึกดีใจที่ทางกระทรวงวัฒนธรรมเป็นห่วงเป็นใย แม้เป็นของเล็กน้อย แต่เต็มเปี่ยมด้วยน้ำใจ มีคุณค่าสำหรับพ่อแม่พี่น้องทุกคน ถือว่าให้ใจกันเกินร้อยในยามประสบภัยโรคระบาดเช่นนี้ ด้านยายทองเพ็ชร บุญมานิตย์ ตัวแทนชาวชุมชนคุณธรรมฯ วัดบูรพาภิรมยาราม กล่าวว่า รู้สึกดีใจมาก ดีใจที่คนไทยไม่ทิ้งกัน ขอบคุณกระทรวงวัฒนธรรมที่มาเยี่ยมเยือน มีน้ำใจอันประเสริฐครั้งนี้ ขณะที่เกษตรกรในพื้นที่ที่ได้รับการช่วยเหลืออย่าง นางรตี คำวิชา บอกว่า ขอขอบคุณที่มาชมสวนและช่วยอุดหนุนสินค้าเกษตร เพราะช่วงโควิดสินค้าเกษตรขายยาก ถือเป็นกำลังใจสู้ต่อไป

                นายธงชัย สารอักษร วัฒนธรรมจังหวัดสุราษฏร์ธานี บอกว่า ทุกครั้งที่ลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชน สิ่งที่นำไปพูดกับพี่น้องชาวชุมชนคุณธรรมฯ คือการไปนำกำลังใจจากผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้นำศาสนาไปถึงชาวชุมชนคุณธรรมฯ และหากสถานการณ์โรคระบาดคลี่คลายเราชาว บวร จะช่วยกันพัฒนาชุมชนคุณธรรมฯ สู่การท่องเที่ยว ตามโครงการสืบสาน รักษา ต่อยอด พัฒนาสู่การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม บวร On tour เป็นเจ้าบ้านที่ดีคอยต้อนรับนักท่องเที่ยว นำรายได้สู่ชุมชน ดังนั้น สิ่งที่ทำสร้างความภาคภูมิใจมากที่ได้ช่วยพี่น้องประชาชนในยามเดือดร้อนอย่างตรงจุดและทันท่วงที 

                 ด้าน นายกฤษศญพงษ์ ศิริ ปลัด วธ. กล่าวว่า ขอชื่นชมและให้กำลังใจวัฒนธรรมจังหวัด ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ทั่วประเทศที่ได้นำนโยบายของ วธ. ลงไปสู่การปฏิบัติ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนให้ชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การช่วยเหลือเกื้อกูลกันให้เกิดเป็นวิถีชีวิต วิถีวัฒนธรรม ได้ย้ำเน้นให้วัฒนธรรมจังหวัดชวนผู้นำท้องถิ่น บวร บ้าน วัด โรงเรียน หน่วยงานราชการ ลงพื้นที่ช่วยเหลือชาวบ้าน มีการจัดระบบแจกจ่ายอาหารตามหลักของกระทรวงสาธารณสุข มีระยะห่าง ใส่หน้ากากอนามัย รับไปทานที่บ้าน ส่วนถุงยังชีพขอให้เป็นสินค้าวัฒนธรรมในพื้นที่ เป็นการช่วยระบายสินค้าจากผู้ประกอบการท้องถิ่น ซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนบนวิถีอัตลักษณ์ความเป็นไทยในการช่วยเหลือเกื้อกูล แบ่งปัน มีน้ำใจไมตรี "พลังบวร แบ่งปันน้ำใจ เราไม่ทิ้งกัน"

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"