สั่งติดวงจรปิดเฝ้า‘ตู้ปันสุข’


เพิ่มเพื่อน    

 "บิ๊กตู่" เยี่ยมโรงทานวัดระฆังฯ ให้กำลังใจ ปชช.อดทน ปลื้มทุกแห่งพร้อมใจตั้ง "โรงทาน-ตู้ปันสุข" ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบโควิด-19 วอนหยิบของแต่พอดี เล็งติดกล้องเฝ้าพวกฉวยโอกาส "พศ." ตั้งโรงทานตามพระบัญชา "สมเด็จพระสังฆราช" แล้ว 914 แห่ง

    ที่วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร เขตบางกอกน้อย กทม. วันที่ 13 พ.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมศูนย์ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พร้อมติดตามการบริหารจัดการของโรงทาน ตามพระดำริของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก โดยทรงให้จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบความยากลำบากในสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เรื่องที่น่าภูมิใจวันนี้คือมีคนมาร่วมกันทำเพื่อสาธารณะผ่านตู้ปันสุข ตู้แบ่งปัน ซึ่งถ้าทุกคนรู้จักระเบียบกติกาของสังคม ทุกคนที่ให้ก็จะมีกำลังใจที่จะมาบริจาคเพิ่ม แต่บางคนก็เกินไป ไม่สวยงาม เอาของไปเยอะแยะคนอื่นก็ไม่ได้แบ่งปัน ขอให้เอาเท่าที่จำเป็นพรุ่งนี้ก็ไปรับใหม่ได้  ถ้าทุกคนได้เห็นก็อยากบริจาคเฉลี่ยกันไป เขาถึงได้เรียกว่าตู้แบ่งปัน ถ้าเอาไปคนเดียวแบบนี้เป็นการเห็นแก่ตัวไม่ใช่การแบ่งปัน อย่ามาอ้างอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่ได้ ต้องเห็นใจซึ่งกันและกัน นายกฯ ก็คิดทุกวันว่าจะทำอะไรให้ประชาชน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยมีอยู่จำนวนมาก ก็ขอให้ช่วยกันปรับตัวเอง
    จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ได้สอบถามความเป็นอยู่ การประกอบอาชีพของชาวบ้าน ก่อนให้กำลังใจว่า เห็นใจทุกคนในช่วงนี้ วัดและพระจึงเป็นที่พึ่ง ทั้งนี้วัดถือเป็นสถานที่สำคัญซึ่งนอกจากเผยแผ่ศาสนาแล้ว ยังเป็นแก่นของพุทธศาสนา สอนคนให้รู้จักความเป็นกลาง ไม่ขัดแย้ง สร้างทุกคนให้มีความสุข วันนี้จงภูมิใจในการทำสิ่งที่ดีให้แก่คนอื่น ซึ่งนอกจากเรื่องการทำมาหากินแล้ว เราต้องให้ใจกับคนอื่นด้วย คิดดีเป็นตัวอย่างที่ดีต่อสังคม คนไม่ดีก็จะค่อยๆ หายไป มาตรการทางสังคมจะช่วยได้เยอะ คนที่ทำไม่ดีก็จะถูกปฏิเสธ 
    ต่อมานายกฯ เดินเข้าไปเยี่ยมชมการปฏิบัติงานของประชาชนผู้มีจิตอาสาภายในโรงครัวของวัด ซึ่งกำลังช่วยกันประกอบอาหารแจกจ่ายชุมชนใกล้เคียงและผู้ปฏิบัติงานช่วยเหลือประชาชนเป็นประจำทุกวัน โดยดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือน มี.ค.ที่ผ่านมา 
    พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ว่า ตนมาดูโรงครัวและโรงทานของวัดระฆังฯ ที่ทำอาหารแจกจ่ายประชาชน ทั้งที่มารับที่วัดและนำออกไปแจกจ่ายชุมชน ทั้งนี้ที่วัดระฆังฯ ดูแลประชาชนวันละกว่าพันคนต่อเนื่องมาโดยตลอด ซึ่งหลายๆ ที่ควรเอาไปเป็นแบบอย่าง สิ่งที่สำคัญวันนี้คือคนที่มีความตั้งใจเผื่อแผ่มีจำนวนมาก ถ้าเราช่วยกันส่งเสริมมีโรงทานตามที่ต่างๆ เขาจะสามารถเข้าไปบริจาคได้ เพราะจะเป็นความสุขทางใจที่เมื่อคนให้เห็นรอยยิ้มของคนรับ
    "ขอฝากเรื่องการจัดตั้งโรงทานและจัดตั้งตู้ปันสุขหรือตู้แบ่งปันให้มีจำนวนมากขึ้น เพราะถือเป็นการแสดงออกถึงความรักความสามัคคีระหว่างกัน คนที่มีศักยภาพก็นำของมาบริจาคช่วยเหลือกัน  หลายอย่างต้องทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน และเป็นการแสดงออกถึงวัฒนธรรม การเผื่อแผ่แบ่งปัน  ความรัก ความสามัคคี ซึ่งอาจจะเกิดปัญหาขึ้นมาบ้างก็แก้ไขกันไป เพราะมีมาตรการทางสังคมอยู่แล้ว  ซึ่งผมได้สั่งการให้ดูแลเรื่องตู้แบ่งปันให้มากขึ้น ให้มีคนเฝ้าและติดกล้อง เพื่อบันทึกว่าใครมีพฤติกรรมอย่างไร ยืนยันไม่อยากลงโทษใคร เพียงแต่วันนี้เราต้องไม่เห็นแก่ตัว ต้องนึกถึงคนอื่นนำของไปใช้แต่พอดีเพียงพอ" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
    ด้านนายณรงค์ ทรงอารมณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กล่าวว่า สมเด็จพระสังฆราชมีพระบัญชาลงมาให้ พศ.ประสานวัดที่มีศักยภาพเพียงพอจัดตั้งโรงทาน 77 จังหวัด  รวม 914 โรงทาน สามารถช่วยเหลือประชาชนได้ 2.7 แสนคน โดยคิดเป็นเงินงบประมาณ 10.9 ล้านบาท คิดเฉลี่ยค่าหัว 40 บาทต่อคน ขณะที่วัดเล็กที่อยากจะช่วยเหลือมีการจัดตั้งโรงทานที่เป็นลักษณะตู้ปันความสุข ที่กำลังแพร่หลายอยู่ในช่วงนี้ ซึ่งวัดจะมีระบบการจัดคิวเพื่อลดความแออัด มีจุดคัดกรอง  มีทางเข้าและออกชัดเจน ประชาชนต้องใส่หน้ากากและมีการเว้นระยะห่าง 
    "มีหลายวัดมีแนวคิดตั้งโรงทานเคลื่อนที่ นำอาหารที่ปรุงสุกใหม่นำส่งถึงมือประชาชน โดยจะประสานผู้นำชุมชนว่าจะเข้าไปที่ไหน ในเวลาเท่าใด เพื่อไม่ให้ประชาชนต้องมาแออัดชุมนุมกันที่วัด  รวมทั้งจะต่อยอดโดยใช้หลักธรรมพระพุทธศาสนากับศาสตร์พระราชา โดยใช้วัดเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ ปลูกผักปลอดสารพิษ เป็นต้น อย่างไรก็ตามการตั้งโรงทานไม่มีเฉพาะในประเทศไทย แต่วัดไทยในต่างประเทศมีกว่า 550 แห่ง" ผอ.พศ.กล่าว
    ที่รัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวหลังเป็นประธานเปิดตู้ปันสุข บริเวณด้านหน้าอาคารสุขประพฤติว่า การจัดตั้งตู้ปันสุขของวุฒิสภาครั้งนี้ เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 โดยจะจัดเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน และขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม  เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ด้วย
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการเปิดตู้ปันสุขของวุฒิสภา ปรากฏว่ามีประชาชนมาเข้าแถวเพื่อรอรับสิ่งของอย่างต่อเนื่อง โดยทุกคนให้ความร่วมมือเว้นระยะห่าง และเข้าหยิบสิ่งของจากตู้ปันสุขด้วยความเป็นระเบียบเรียบร้อย
    เช่นเดียวกับ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน เป็นประธานเปิดตู้แรงงานปันสุข เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 โดยมีนายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน  นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงเข้าร่วม ณ  บริเวณประตู 1 กระทรวงแรงงาน ซึ่งภายในตู้แรงงานปันสุขมีทั้งเครื่องอุปโภคบริโภค ของใช้จำเป็นในชีวิตประจำวัน อาหารแห้ง ปลากระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขนม น้ำดื่ม เป็นต้น ซึ่งผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนสามารถหยิบได้ฟรี และหากใครที่ต้องการแบ่งปันก็สามารถนำสิ่งของมาเพิ่มเติมในตู้นี้ได้ ภายใต้แนวคิดหยิบได้แต่พอดี ถ้ามีเอามาแบ่งปัน เพื่อร่วมเป็นกำลังใจและช่วยเหลือให้ทุกคนก้าวพ้นวิกฤติโควิด-19 ไปด้วยกัน
    ส่วนนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกวุฒิสภา เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบทำให้คนตกงาน ว่างงาน ทำให้ขาดรายได้ ไม่เพียงพอต่อการประทังชีวิต จึงได้ร่วมกับมูลนิธิสร้างสรรค์เด็กเปิดโรงครัวเพื่อคนตกงานและคนไม่มีกิน เพื่อช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้ผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยเปิดให้เข้ามารับประทานได้ทุกวัน และหากพบว่าใครขัดสนและครอบครัวประสบปัญหาจะมีถุงยังชีพมอบให้ติดตัวกลับไปด้วย 
    "นอกจากนี้ได้เปิดโต๊ะแบ่งปันเพื่อเป็นจุดช่วยเหลือ และแบ่งปันอาหารและสิ่งของอุปโภคบริโภค จำนวน 2 โต๊ะ เป็นโต๊ะสำหรับผู้ใหญ่และสำหรับเด็ก ซึ่งเป็นที่น่ายินดีมากว่าการทำกิจกรรมทั้ง 2 อย่างนี้ มีผู้ประสบปัญหาเดือดร้อนมาใช้บริการมากมาย และมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่แวะเวียนนำข้าวสารอาหารแห้งมาสมทบทุกวัน" นายวัลลภกล่าว
ไม่เปิดขึ้นทะเบียนรอบ2
    วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการมาร้องเรียนเพื่อรับเงินเยียวยา 5,000 บาท จากการลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com ที่กรมประชาสัมพันธ์ ซอยอารีย์สัมพันธ์ ยังคงมีประชาชนเดินทางมาอย่างต่อเนื่อง แต่น้อยลงกว่าช่วงที่ผ่านมา และเมื่อเวลา 11.30 น. นายธนกร วังบุญคงชนะ  เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ลงมาพบกับผู้ที่ร้องเรียน ก่อนชี้แจงว่ามีผู้ผ่านการตรวจสอบสิทธิ์ล่าสุดแล้ว 14.4 ล้านคน โดยในกลุ่มขอทบทวนสิทธิ์ 6.5 ล้านคน ผ่านสิทธิ์แล้ว 4.5 ล้านคน  โดยกระทรวงจะเร่งทยอยโอนเงิน 5,000 บาทให้ผู้ผ่านสิทธิ์ 14 ล้านคนภายในสัปดาห์นี้ พร้อมทั้งยังเร่งให้ผู้พิทักษ์สิทธิ์พบผู้ลงทะเบียน เพื่อให้สามารถสรุปมาตรการทั้งหมดได้ภายในวันที่ 17 พ.ค.
     "รัฐมนตรีคลังสั่งให้ดูแลกลุ่มเก็บตกทั้งหมด ซึ่งตอนนี้มีผู้ผ่านสิทธิ์แล้ว 14.4 ล้านคน ใกล้ตัวเลขเข้าข่าย 16 ล้านคนแล้ว ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีนโยบายให้ขึ้นทะเบียนรอบ 2 เพราะหลังจากนี้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จะไปดูกลุ่มต่างๆ ที่ยังมีปัญหา และมีแนวทางช่วยเหลือออกมาในไม่ช้า" นายธนกรกล่าว
    ขณะที่นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า สำนักงบประมาณและกระทรวงการคลังได้ส่งมอบเงินให้แผนงานโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ซึ่งเป็นนายทะเบียนเกษตรกร รวม 150,000 ล้านบาท เพื่อจ่ายให้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรทั้งหมด 10 ล้านราย และ สศก.จะโอนเงินทั้งหมดไปยังธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อโอนเข้าบัญชีของเกษตรกรรายละ 5,000 บาทในงวดเดือน พ.ค. ซึ่งเป็นงวดแรกตามที่กำหนดไว้ 
    นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการ สศก.กล่าวว่า อีก 2 วันข้างหน้า ธ.ก.ส.จะโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรกลุ่มที่ 1 ซึ่งมีกว่า 8 ล้านราย จากนั้นจะจ่ายให้เกษตรกรและปรับปรุงทะเบียนเสร็จเป็นกลุ่มที่  2 ส่วนเกษตรกรกลุ่มที่ 3 ยังไม่ได้เพาะปลูกเนื่องจากรอฝน ขอให้ไปยื่นแบบ ทบก.01 เพื่อแสดงความจำนงเพาะปลูกภายใน 15 พ.ค. เมื่อเพาะปลูกแล้วให้เร่งแจ้งเจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอตรวจแปลงก่อนวันที่ 30 มิ.ย. เมื่อ ครม.อนุมัติแล้วคาดว่าจะได้รับเงินภายใน 31 ก.ค. งวดเดียวรวม 15,000 บาท
    ที่กระทรวงแรงงาน น.ส.สุรินทร์ พิมพา ประธานสหภาพแรงงานกิจการสิ่งทอนครหลวง นำตัวแทนกลุ่มผู้ใช้แรงงาน แรงงานข้ามชาติ และผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมของบริษัท นครหลวงถุงเท้าไนล่อน จำกัด และเครือข่ายแรงงานกลุ่มย่านสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ จ.นครปฐม 15 คน ยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อนายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เพื่อขอความเป็นธรรมกรณีลูกจ้างกว่า 180 ชีวิตถูกนายจ้างลอยแพนานกว่า 2 เดือน โดยอ้างผลกระทบโควิด-19 ไม่ยอมจ่ายเงินค่าจ้าง อีกทั้งบริษัทหักเงินเดือน แต่กลับไม่นำส่งเงินประกันสังคมให้ลูกจ้าง ทำให้ลูกจ้างเสียสิทธิ์ช่วยเหลือรักษาพยาบาล 
    ทั้งนี้คณะ น.ส.สุรินทร์ยังได้นำปิ่นโตใส่ข้าวเปล่าคลุกน้ำปลามานั่งรับประทานที่หน้ากระทรวง เพื่อสื่อให้เห็นว่ากำลังจะอดตายแล้ว พร้อมมีข้อเสนอดังนี้ 1.กระทรวงแรงงานต้องเป็นตัวกลางในการเจรจากับนายจ้างในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วนเพื่อเยียวยาปัญหาที่เกิดขึ้น 2.บริษัทต้องแจ้งให้พนักงานทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วันอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรหากให้พนักงานหยุดงาน และต้องมีมาตรการที่ชัดเจนเกี่ยวกับการจ่ายเงินชดเชยให้แก่พนักงานตามกฎหมาย 3.บริษัทต้องนำส่งประกันสังคมย้อนหลังเพื่อรักษาสถานภาพผู้ประกันตนให้แก่พนักงาน 4.บริษัทต้องเร่งจ่ายเงินออมสะสม และเงินเกษียณอายุให้แก่พนักงานโดยเร็ว และ 5.หากบริษัทไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ บริษัทต้องจ่ายค่าชดเชยให้พนักงานทุกคนตามกฎหมาย 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"