ไทยเฮ! 2 เด้ง ข่าวดีเป็นวันแรกผู้ติดเชื้อรายใหม่เป็นศูนย์-ไม่พบผู้เสียชีวิต ชี้ต่ำสิบต่อเนื่อง 17 วัน แต่ ศบค.ขออย่าเพิ่งวางใจ บางทฤษฎีต้องเป็นศูนย์ 21 วัน "บิ๊กตู่" พอใจขอบคุณทุกคนที่ให้ความร่วมมือ ย้ำยังประมาทไม่ได้ ลุยให้กำลังใจผู้ได้รับผลกระทบ ลั่นอยากเปิดกิจการใจจะขาดแต่หากมีผู้ติดเชื้อจะทำอย่างไร พร้อมตั้งเลขาฯ สมช.เป็นประธาน กก.เฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนปรนมาตรการให้เป็นตามหลักเกณฑ์องค์การอนามัยโลกและผลประเมินด้านสาธารณสุข "วิษณุ" ระบุผ่อนปรนระยะ 2 ใช้เกณฑ์ระยะแรกพิจารณา ย้ำ ขรก.ต้อง "เวิร์กฟรอมโฮม" ต่อ รับพิจารณาช่วงเวลาเคอร์ฟิวแต่ยังคง พรก.ฉุกเฉิน "ภูเก็ต" เปิดช่องทางบก น้ำ อากาศ เริ่ม 16 พ.ค.นี้
ที่ทำเนียบรัฐบาล เวลา 11.30 น. วันที่ 13 พฤษภาคม นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.แถลงว่า สถานการณ์ในประเทศไทยวันนี้ถือเป็นข่าวดี เพราะเป็นวันแรกของการรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เป็นศูนย์ราย และไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม ทำให้ขณะนี้ยอดผู้ป่วยสะสมยังอยู่ที่ 3,017 ราย เสียชีวิตสะสม 56 ราย หายป่วยสะสม 2,844 ราย อย่างไรก็ตามตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ศูนย์รายเป็นเรื่องที่ต้องดีใจกับทุกคนที่พยายามกันมาหลายวัน ทั้งนี้ตั้งแต่ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเมื่อวันที่ 3 เม.ย.ทำให้ผู้ป่วยรายใหม่ไม่ขยับขึ้น และเราทำดีมาเรื่อยๆ จนมีการผ่อนปรนกิจการ/กิจกรรมในวันที่ 3 พ.ค. ตอนนั้นเรามีความกังวลใจอยู่เหมือนกันว่าเมื่อผ่อนปรนตัวเลขจะพุ่งขึ้น แต่ระยะเวลา 10 วันที่ผ่านมา มีเพียงวันที่ 4 พ.ค.เพียงวันเดียวที่พบผู้ป่วยรายใหม่ 18 คน แต่เป็นคนที่อยู่ศูนย์กักกันที่ อ.สะเดา จ.สงขลา ไม่ใช่ตัวเลขที่พบในประเทศ แต่จะบอกว่าศูนย์ก็ไม่ได้ เพราะต้องมีการรายงานตัวเลขเข้ายอดสะสม แต่วันนี้ถือเป็นศูนย์จริงๆ และถ้าไม่นับวันที่ 4 พ.ค.วันนี้ถือเป็นวันที่ 17 แล้วที่ไทยมีตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่หลักเดียวติดต่อกันมา
“อยากให้ทุกคนภาคภูมิใจที่เราสามัคคีร่วมมือกันทำให้ตัวเลขนี้เกิดขึ้นจริง แต่ขอให้ช่วยกันทำต่อไป เพราะใน 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา การสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อ ดังนั้นเราอาจสบายใจและเบาใจได้ แต่ยังวางใจไม่ได้ทั้งหมด เรายังต้องปฏิบัติตามมาตรการหลัก ทั้งการล้างมือ เว้นระยะห่าง ใส่หน้ากากอนามัย ขอชื่นชมกับตัวเลขที่เป็นศูนย์ที่เราร่วมมือกัน และขอให้ทุกคนทำตัวเองให้อยู่ในชีวิตวิถีใหม่ เพื่อให้เห็นตัวเลขที่น่าพอใจอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ ที่สุดเราอาจเป็นประเทศแรกๆ ที่พ้นความทุกข์ก่อนคนอื่นก็ได้" นพ.ทวีศิลป์กล่าว
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ตั้งแต่มีการปรับเกณฑ์การตรวจผู้ที่มีนิยามในการเฝ้าระวังตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. ให้เปิดกว้างขึ้น ทำให้มีผู้เข้ามาตรวจ 34,444 ตัวอย่าง พบผู้ป่วย 63 ราย อัตราการติดเชื้อ 0.18% ซึ่งถือว่าน้อย แต่เราจะตรวจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้จากข้อมูลของกรมควบคุมโรค ที่เก็บข้อมูลผู้ติดเชื้อตั้งแต่เดือน ก.พ.-11 พ.ค. พบว่าในสถานที่กักตัวของรัฐมีผู้ติดเชื้อทั้งหมด 90 ราย เป็นเพศชายมากกว่าหญิง ส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน ขณะที่สถานการณ์ผู้ติดเชื้อทั่วโลกมี 4,342,345 ราย เสียชีวิต 292,893 ราย ส่วนสถานการณ์ที่ประเทศจีนหลังมีการพบการติดเชื้อรอบใหม่ที่อู่ฮั่น ทำให้ทางการจีนมีมาตรการตรวจประชาชนทุกคนในอู่ฮั่นที่มีกว่า 11 ล้านคน ส่วนที่เกาหลีใต้ล่าสุดพบผู้ติดเชื้อรอบใหม่ 102 ราย ซึ่งเกิดจากชายวัย 29 ปีที่ไปเที่ยวสถานบันเทิง 5 แห่งในช่วงต้นเดือน พ.ค. ซึ่งแต่ละประเทศมีมาตรการที่แตกต่างกันไป เราไม่สามารถเทียบเคียงกับใครได้
โฆษก ศบค.กล่าวอีกว่า การปฏิบัติงานด้านความมั่นคงในช่วงเคอร์ฟิวคืนวันที่ 12 พ.ค.ต่อเนื่องเช้าวันที่ 13 พ.ค. มีผู้ฝ่าฝืนออกนอกเคหสถาน 551 ราย เพิ่มขึ้นจากคืนก่อน 65 ราย ชุมนุมมั่วสุม 47 ราย ลดลงจากคืนก่อน 21 ราย สาเหตุการชุมนุมมั่วสุมมาจากดื่มสุรา 57% รองลงมาคือเล่นการพนัน และยาเสพติด ขณะที่ผลการตรวจกิจการ/กิจกรรมประจำวันที่ 12 พ.ค. มีการตรวจไปทั้งสิ้น 23,575 แห่ง ปฏิบัติตามมาตรการ 22,123 แห่ง ปฏิบัติตามมาตรการแต่ไม่สมบูรณ์ 1,310 แห่ง หรือ 5.92% ไม่พบการไม่ปฏิบัติตามมาตรการ ตรงนี้อาจเกิดจากเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบทุกวันและให้คำแนะนำ จึงขอบคุณผู้ประกอบการทุกคนที่ให้ความร่วมมือ สิ่งเหล่านี้จะเป็นชีวิตวิถีใหม่ของพวกเรา
นายกฯ พอใจติดเชื้อเป็นศูนย์
เมื่อถามว่า การไม่พบผู้ป่วยรายใหม่ในวันนี้จะสรุปได้หรือไม่ว่าประเทศไทยปลอดภัยแล้ว นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่ายังไม่ได้ การเป็นศูนย์ในวันนี้ แต่อาจมีคนที่ฟักเชื้ออยู่แล้วเจอในวันพรุ่งนี้ เหมือนกับเกาหลีใต้ที่พบ 1 ราย และนำไปสู่การติดเชื้ออีก 102 ราย ของไทยก็เหมือนกัน ถ้ามีแม้แต่คนเดียวแล้วเขาไปสัมผัสกับคนอื่นก็สามารถติดเชื้อได้ ต้องขอให้ทุกคนช่วยกันสังเกตอาการตัวเอง และการเป็นศูนย์นั้นต้องเป็นศูนย์ไปตลอด บางทฤษฎีบอกว่าต้องเป็นศูนย์ 14 วัน หรือบางทฤษฎีบอกว่าต้องเป็นศูนย์ 21 วัน ตอนนี้เรายังไม่มีรายงานแบบนั้น ขนาดจีนเป็นศูนย์มาหลายวันยังกลับมาระบาดใหม่ จึงวางใจไม่ได้
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวว่า พอใจตัวเลขการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยเป็นศูนย์ ขอบคุณทุกคนที่ร่วมมือกันอย่างจริงจัง ทำให้ไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น ขอให้ทุกคนมีวินัยปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเคร่งครัดต่อไป ทั้งนี้ตนห่วงใยประชาชนทุกกลุ่มอาชีพ ขออย่าประมาท ช่วงนี้เป็นช่วงการผ่อนปรนมาตรการ ขอให้ทุกคนอดทนใส่หน้ากากทุกครั้ง รักษาระยะห่างทางสังคม หมั่นทำความสะอาด ดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง และกำชับให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังค้นหาโรคไวรัสโควิด-19 ในกลุ่มเสี่ยงและสถานที่เสี่ยงต่างๆ รวมทั้งให้สถานประกอบกิจการ กิจกรรมที่กลับมาเปิดบริการปฏิบัติตามมาตรการ และข้อแนะนำเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดระลอก 2
วันเดียวกัน เมื่อเวลา 09.00 น. ที่วัดระฆังโฆสิตารามฯ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะ ผอ.ศบค.ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมศูนย์ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พร้อมติดตามการบริหารจัดการของโรงทาน ตามพระดำริของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก โดย พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า นายกฯ และรัฐบาลพยายามทำทุกอย่างเต็มที่เพื่อไม่ให้ประชาชนมีความเสี่ยงกับการติดเชื้อโรค ขณะนี้ก็ได้แก้ปัญหามาเป็นระยะ พร้อมกล่าวยืนยันกับประชาชนว่า "ถ้าเราทำ 3 มาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด โดยเฉพาะการเว้นระยะห่างก็ไม่ต้องห่วง ถ้าไม่ติดก็ไม่ตาย" พร้อมอวยพรว่าให้ทุกคนอายุยืน มีสุขภาพใจและกายที่แข็งแรง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงหนึ่งได้มีชาวบ้านขอจับมือ พล.อ.ประยุทธ์ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ให้จับ พร้อมกล่าวว่าที่มาวันนี้ก็เพื่อมาให้กำลังใจทุกคน แต่ที่ไม่ได้จับมือกับทุกคนก็เพราะต้องทำตามที่สาธารณสุขบอกไว้ "ไม่ได้รังเกียจใคร ฉันรักทุกคน รังเกียจประชาชนไม่ได้อยู่แล้ว วันนี้รัฐบาลพิจารณาเพื่อเตรียมการผ่อนปรนมาตรการต่างๆ ซึ่งรู้ดีว่าทุกคนเดือดร้อน แต่เนื่องจากไวรัสโควิด-19 สามารถอยู่ในตัวคนได้ แต่บางคนไม่แสดงอาการและอาจฟื้นกลับขึ้นมาใหม่ได้ อย่างไรก็ตามถ้าเราพร้อมใจ และร่วมมือป้องกันก็ไม่มีปัญหา รัฐบาลก็เตรียมที่จะทยอยเปิดกิจการเพื่อให้ทำมาหากินได้เป็นระยะๆ ไป
ต่อมานายกฯ ให้สัมภาษณ์ว่า สิ่งที่เป็นห่วงคือวันนี้เรากำลังเดินหน้าไปสู่ชีวิตยุคใหม่ วันข้างหน้าประชาชนอาจไม่ออกมานอกบ้านเหมือนเดิม ต้องมีการปรับปรุงขายของออนไลน์ เดลิเวอรี มีการปลูกพืชผักสวนครัวตามอพาร์ตเมนต์ตามบ้านเรือน และมีการจ่ายเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องเตรียมความพร้อมในชีวิตวิถีใหม่ เราต้องเรียนรู้ในระบบเหล่านี้เพื่อนำมาสร้างอาชีพสร้างรายได้ในอนาคต เพราะหากทำพฤติกรรมเดิมๆ คงไม่ได้แล้ว ตนเป็นห่วงเรื่องนี้
ตั้ง กก.พิจารณาผ่อนปรน
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า ส่วนการขยายมาตรการทำงานที่บ้านของภาคเอกชนและภาคธุรกิจ คิดว่าการทำงานที่บ้านไม่ใช่แค่การป้องกันโควิด-19 อย่างเดียว แต่ตนนึกถึงการแก้ไขปัญหาการจราจร ทั้งนี้ได้สั่งการไปแล้วว่า การเรียนการสอนที่บ้านเป็นสิ่งสำคัญที่ตนได้ให้นโยบายไป และขอให้ไปทบทวนว่า การเรียนการสอนในวิชาใดสามารถเรียนออนไลน์และเรียนโทรทัศน์ทางไกลผ่านดาวเทียมได้ ซึ่งจะช่วยลดเวลาที่ต้องไปโรงเรียน รวมถึงมาตรการเหลื่อมเวลาในการทำงานที่ทำให้การจราจรไม่ติดขัด แต่ต้องคำนึงถึงผู้ปกครองที่ส่งลูกหลานไปโรงเรียน
"ผมขอเตือนแม้สถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 จะลดลง แต่อย่าประมาท ถึงตัวเลขจะเป็นศูนย์ก็ประมาทไม่ได้ เพราะเชื้อโรคยังสะสมอยู่ บางคนไม่แสดงอาการ ไม่ใช่ติดเชื้อน้อยแล้วจะผ่อนปรนมากขึ้น ผมอยากให้เปิดใจจะขาด แต่ถ้ามีผู้ติดเชื้อแล้วจะทำอย่างไร" นายกฯ กล่าวและว่า "วันนี้การเมืองยังไม่มีอะไร ผมไม่ได้มาเรื่องการเมือง การเมืองก็ค่อยว่ากันไป วันนี้เราต้องร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหาโควิดก่อน"
ช่วงเย็น พล.อ.ประยุทธ์ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha ระบุว่า บ่ายวันนี้ตนเดินทางไปสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย หนึ่งในภาคธุรกิจที่มีผู้ประกอบการและแรงงานกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศเป็นจำนวนมาก เพื่อรับฟังความเดือดร้อน ปัญหา และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับมาตรการความช่วยเหลือต่างๆ ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ทั้งในส่วนภูมิภาคและส่วนกลาง จากนั้นได้โพสต์ว่า ช่วงเย็นตนเดินทางต่อไปพบกับสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ขอขอบคุณที่นำเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ ข้อมูล และข้อเสนอแนะต่างๆ อย่างตรงไปตรงมา ขอขอบคุณทุกท่านที่ร่วมแรงร่วมใจ และพยายามช่วยเหลือดูแลซึ่งกันและกันมาโดยตลอด
มีรายงานว่า วันที่ 12 พ.ค. พล.อ.ประยุทธ์ได้ลงนามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 22/2563 แต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการในการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยมีเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะหัวหน้าสำนักงานประสานงานกลาง ศบค.เป็นประธาน มี พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รอง ผบ.ทบ.และรองเลขาธิการสภาพัฒน์เป็นรองประธาน โดยมีตัวแทนจากหน่วยงาน อาทิ กระทรวงยุติธรรม กฤษฎีกา อัยการสูงสุด ตัวแทนศูนย์ปฏิบัติการด้านต่างๆ ใน ศบค. และ นพ.อุดม คชินทร, นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร, นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผอ.สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม, นายสันติธาร เสถียรไทย นักเศรษฐศาสตร์ภาคเทคโนโลยีแห่งเอเชีย
โดยคณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ประเมินสถานการณ์ วิเคราะห์ กลั่นกรอง รวบรวมความคิดเห็น ข้อเสนอแนะทางวิชาการและภาคส่วนต่างๆ จัดทำแนวทางผ่อนคลายมาตรการ ในทุกช่วงระยะเวลา 14 วันเสนอนายกฯ เพื่อพิจารณาจัดทำร่างข้อกำหนดเพื่อผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการ รวมทั้งหลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติกิจการหรือกิจกรรมที่ผ่อนคลาย เพื่อให้การบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินเกี่ยวกับการผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการป้องกันดำเนินไปตามลำดับขั้นตอน ตามหลักเกณฑ์องค์การอนามัยโลกและผลประเมินด้านสาธารณสุข เพื่อให้สถานการณ์กลับคืนสู่สภาวะปกติได้อย่างเรียบร้อย
ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการพิจารณาผ่อนคลายกิจการและกิจกรรมในระยะที่ 2 ว่า เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องประชุมเพื่อพิจารณาในเรื่องนี้แล้ว เพื่อประเมินสถานการณ์และนำข้อมูลไว้รายงานต่อที่ประชุม ศบค.ในวันที่ 15 พ.ค.นี้ โดยยึดหลักเกณฑ์ระยะที่ 1 ซึ่งขณะนี้ได้ผ่อนปรนมาแล้วประมาณ 2 สัปดาห์ จึงต้องประเมินพิจารณาผ่อนปรนในระยะที่ 2 โดยจะต้องพิจารณาถึงโอกาสเสี่ยง เรื่องคน สถานที่ และกิจกรรม พร้อมกันนี้ต้องพิจารณาถึงตัวเลขผู้ป่วยสะสม ผู้ที่รักษาหาย และจำนวนผู้เสียชีวิตลดลงหรือไม่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นดัชนีชี้วัด แต่อาจมีสิ่งที่ทำให้ไม่สบายใจ ไม่สามารถผ่อนคลายได้ทั้งหมด เพราะยังมีการละเมิดข้อกำหนดที่ห้าม เช่น ละเมิดเคอร์ฟิว และยังมีการเดินทางข้ามจังหวัด หลังจากนี้จะไม่มีวันหยุดติดต่อกันหลายวัน จะมีอีกทีหนึ่งประมาณเดือน มิ.ย. นอกจากนี้ยังมีผู้เดินทางเข้าในประเทศจำนวนมาก ตรงนี้ยังต้องคุมอยู่
ยังคง พรก.ฉุกเฉินถึงสิ้น พ.ค.
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีผู้ประกอบการต้องการให้ผ่อนคลายช่วงเวลาเคอร์ฟิว รองนายกฯ กล่าวว่า เรื่องนี้เขาก็กำลังดูกันอยู่ แต่ตนยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะผ่อนคลายจุดนี้หรือไม่ ส่วนเรื่องการเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เร็วไปที่จะพูดในขณะนี้ เพราะเพิ่งผ่านมาครึ่งเดือน พ.ค. อีกครึ่งเดือนกว่าจะถึงวันที่ 31 พ.ค. แต่เรื่องการประกาศเคอร์ฟิวต้องใช้ควบคู่กับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่หลายอย่างสามารถใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อได้ แต่ก็มีจุดอ่อนเพราะ พ.ร.บ.โรคติดต่อไม่ได้ให้อำนาจอะไรกับรัฐบาล นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี เป็นการให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัด หาก 77 จังหวัดรวมทั้ง กทม.ใช้มาตรการคนละมาตรฐานกันจะลำบาก ผู้ว่าฯ เองก็ไม่มีความมั่นใจที่จะสั่งปิดหรือเปิด เช่นถ้าไปสั่งปิดอะไรแล้วเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจต่อประเทศ ทำให้มีคนตกงานและคนเหล่านี้วิ่งมาขอความช่วยเหลือรัฐบาลกลาง เพราะจังหวัดเยียวยาไม่ได้ ซึ่งวันนี้รัฐบาลกลางมีอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สามารถสั่งการได้ทีเดียวทั่วประเทศ
นายวิษณุกล่าวด้วยว่า การพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะนำเสนอข้อมูลต่อที่ประชุมใหญ่ ศบค.นั้น อาจจะมีการผ่อนคลาย 4 มาตรการ ที่ภาครัฐตั้งไว้ในระยะที่ 1 ส่วนการผ่อนคลายกิจกรรมต่างๆ อาจมีเพิ่มนอกเหนือจากที่ ศบค.แถลงไปได้ เขาพิจารณาหมดทุกรายการ แต่กิจการไหนที่เปิดไปแล้วพฤติกรรมเกิดความเสี่ยงอีกก็สามารถปิดได้ทันที จะปิดเฉพาะร้านเฉพาะราย หรือทั้งประเภทเลยก็ได้ ส่วนมาตรการเหลื่อมเวลาการทำงานราชการให้ทำต่อไป กรุงเทพฯ ทำได้แต่ต่างจังหวัดอาจจะยากลำบาก เพราะเป็นงานบริการประชาชนจึงไม่สามารถทำงานที่บ้านได้ แต่ในกรุงเทพฯ มีงานหลายประเภทสามารถทำที่บ้านได้ โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจบางหน่วยงานสามารถทำงานที่บ้านได้ 80-90 เปอร์เซ็นต์ เอกชนมีวิธีการโดยที่รัฐไม่ต้องไปขอร้องอะไร สิ่งที่อยากจะขอร้องคือการเหลื่อมเวลาทำงาน เพื่อแก้ปัญหารถติดและความแออัดในการเดินทาง
นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในวันเดียวกันนี้ในที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ที่มีนายวิษณุ เครืองาม เป็นประธานนั้น ได้มีการหารือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ผลการทำงานที่บ้านหรือที่เรียกว่าเวิร์กฟรอมโฮม และการทำงานเหลื่อมเวลา ที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ได้มานำเสนอต่อเนื่องมาจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้หารือกัน ซึ่งนายวิษณุยังได้สั่งการให้ครอบคลุมไปถึงหน่วยงานของรัฐ องค์การมหาชน รัฐวิสาหกิจ เพื่อนำมาเปรียบเทียบและวางแนวทางการทำงานในอนาคตของการพัฒนาระบบราชการไทย เบื้องต้นนายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายทุกส่วนราชการดำเนินการจัดเรื่องเหลื่อมเวลา ตอนนี้เรื่องเวิร์กฟรอมโฮมที่ ครม.สั่งการขอให้ได้ 50:50 ซึ่ง ก.พ.ได้รายงานค่าเฉลี่ยเบื้องต้นก็ปฏิบัติได้ 50:50 แล้ว แต่จะมีบางหน่วยงานที่จะเวิร์กฟรอมโฮมไม่ได้ 100% เช่น ฝ่ายความมั่นคง งานด้านสาธารณสุข การบริการประชาชน ซึ่งในส่วนดังกล่าวยังคงไว้เนื่องจากจำเป็น แต่ในส่วนอื่นขอให้ไปลองปรับดู
ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กิจการเสริมสวย และร้านสปา อาบน้ำ ตัดขน รับฝากสัตว์เลี้ยง ที่ได้ผ่อนปรนไปแล้วที่อยู่ในกิจการกลุ่มสีขาว สธ.ได้มีการสำรวจการทำตามมาตรการ สธ.ในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งในส่วนของร้านตัดผมเสริมสวยผมไม่ผ่านเกณฑ์ สธ.กำหนดร้อยละ 63 ผ่านเกณฑ์พื้นฐานร้อยละ 9 และผ่านเกณฑ์ในระดับดีเยี่ยมร้อยละ 27 โดยสาเหตุหลักที่ไม่ผ่านเกณฑ์มีเหตุผล 3 ประการ คือ 1.ร้านตัดผมไม่มีการบันทึกรายละเอียด ชื่อ-นามสกุล และเบอร์โทรศัพท์ผู้รับบริการที่ สธ.กำหนดไว้ให้มี เพื่อไว้สำหรับสอบสวนโรคหากมีผู้ใช้บริการคนใดติดเชื้อโควิด-19 2.ไม่มีการคัดกรองผู้เข้าใช้บริการร้านตัดผม และ 3.ไม่มีการสวมหน้ากากอนามัยขณะตัดผม ย้ำว่าร้านตัดผมในขณะนี้จะสามารถให้บริการได้เพียงสระ ตัด และไดร์ โดยยังไม่มีการเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในกิจกรรม เช่น การทำเล็บและโกนหนวด ในส่วนของผลสำรวจร้านสปา อาบน้ำ ตัดขน รับฝากสัตว์เลี้ยง มีร้านที่ไม่ผ่านเกณฑ์ร้อยละ 53 ผ่านเกณฑ์พื้นฐานร้อยละ 7 และผ่านเกณฑ์ระดับดีเยี่ยมร้อยละ 40 โดยสาเหตุที่ไม่ผ่านเกณฑ์เนื่องจากเหตุผล 3 ข้อ คือ ไม่มีการคัดกรองผู้มาใช้บริการ ไม่สวมหน้ากาก และไม่เว้นระยะห่าง
ภูเก็ตเปิดทางบกเรืออากาศ
"ผลสำรวจจาก 2 กิจการนี้จะยังมีร้านที่ไม่ผ่านเกณฑ์จำนวนมาก แต่ผลสำรวจถือว่าน่าพอใจ เนื่องจากแต่ละร้านมีการดูแลทำความสะอาด ป้องกันเชื้อโรคจริง โดยสาเหตุที่ไม่ผ่านเกณฑ์ส่วนมากเป็นเรื่องที่เล็กน้อยเท่านั้น ทั้งนี้ สธ.ได้นำผลสำรวจจาก 2 กิจการนี้ส่งไปให้ ศบค.เพื่อประเมินว่าจะตัดสินใจอย่างไรต่อไป แต่คาดว่าร้านตัดผมจะสามารถเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบภายในระยะเวลาอันใกล้ โดยขอย้ำว่ายังต้องทำตามมาตรการของ สธ.อย่างเคร่งครัด" นพ.ดนัยกล่าว
นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุม?โรค กล่าวถึงการเปิดคลินิกทำฟันในช่วงนี้ว่า กิจการดังกล่าวได้มีการเปิดให้ดำเนินการในช่วงระยะผ่อนปรนครั้งแรกแล้ว แต่ยอมรับว่า สธ.กำลังปรึกษากับทันตแพทยสภาว่าจะเปิดอย่างไรให้ปลอดภัย
ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ตรวจเยี่ยมการดำเนินการรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่โรงพยาบาลสันกำแพง จ.เชียงใหม่ พร้อมขอบคุณบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลและชาว อ.สันกำแพง ที่เสียสละร่วมกันดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่เข้ารับการรักษาตลอดระยะเวลา 34 วัน รวมทั้งสิ้น 13 คน จนทุกคนหายป่วยอาการดีขึ้น ซึ่งผู้ป่วยรายสุดท้ายออกจากโรงพยาบาล เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา ขณะเดียวกันได้ชื่นชมชาวเชียงใหม่ที่ให้ความร่วมมือ ทำให้จังหวัดสามารถรับมือกับการระบาดได้ และจนถึงขณะนี้เป็นเวลากว่า 1 เดือนแล้วที่ จ.เชียงใหม่ยังไม่พบผู้ป่วยรายใหม่
ที่ จ.ภูเก็ต คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดภูเก็ตขอแจ้งสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จังหวัดภูเก็ต ตั้งแต่วันที่ 5 ม.ค.- 12 พ.ค.63 จังหวัดภูเก็ตมีผู้ติดเชื้อยืนยันโรคโควิด-19 แล้วจำนวน 224 ราย (ไม่พบรายใหม่) โดยผู้ติดเชื้อได้รับอนุญาตให้กลับบ้าน 196 ราย (กลับบ้านเพิ่ม 3 ราย) เสียชีวิต 3 ราย (ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม) จำหน่าย 1 ราย (จำหน่ายเนื่องด้วยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์) กำลังรักษาพยาบาลอยู่ 24 ราย ทุกรายอาการอยู่ในเกณฑ์ที่ดี
นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดภูเก็ตได้ประชุมหารือประเมินสถานการณ์ในพื้นที่ ซึ่งที่ประชุมมีมติในประการแรก คือ ช่องทางอากาศ เดิมทางสำนักงานการบินพลเรือนได้งดการใช้สนามบินภูเก็ตจนถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบให้ทำหนังสือแจ้งไปที่ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจให้ดำเนินการเปิดใช้สนามบินภูเก็ต ตั้งแต่เวลา 00.01 น. หรือเช้าของวันที่ 16 พ.ค.นี้เป็นต้นไป ส่วนช่องทางบก บริเวณด่านท่าฉัตรไชย และช่องทางน้ำของจังหวัดภูเก็ต ที่ประชุมมีมติให้เปิดช่องทางดังกล่าว แต่ว่ายังมีข้อกำหนดฉบับที่ 5 (7) และตลอดจนมีข้อสั่งการมาว่าในการที่จะผ่อนคลายต้องทำเรื่องไปที่ส่วนกลางก่อน ดังนั้นในส่วนช่องทางบกและช่องทางน้ำ ที่ประชุมเห็นชอบให้ผ่อนคลายตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค.นี้เป็นต้นไป โดยจะต้องได้รับการเห็นชอบจากส่วนกลางหรือ ศบค.กระทรวงมหาดไทยก่อน
นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี เป็นประธานประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีมติ 2 เรื่องสำคัญ คือ 1.เรื่องการละหมาดวันศุกร์ ได้เห็นชอบตามมีมติไว้เดิม สนับสนุนดูแลจัดการให้การละหมาดวันศุกร์เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งจะเริ่มได้ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 15 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป 2.เรื่องของการเปิดหมู่บ้าน หมู่บ้านที่ถูกปิด 25 หมู่บ้าน รวมหมู่บ้านใกล้เคียงทั้งหมด 35-36 หมู่บ้าน ซึ่งจะครบ 28 วันตามมาตรฐานที่ได้ประเมิน หากไม่พบเชื้อ/คนไข้เพิ่มเติม ถึงวันที่ 18 พฤษภาคมนี้ ก็จะเป็นวันที่เปิดหมู่บ้านทั้งหมดที่ได้ทำการปิด และหมู่บ้านเดิม พร้อมกันทุกหมู่บ้านตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป ยกเว้นว่าในระหว่างนี้หากมีหมู่บ้านไหนพบเชื้อเพิ่มเติม ก็จะทำการปิดเฉพาะหมู่บ้านนั้น แต่คนที่พบเชื้อจะต้องอยู่ในหมู่บ้าน แต่ถ้าเป็นคนที่อยู่ในสถานที่กักกัน หรือ local quarantine ก็สามารถเปิดหมู่บ้านได้ตามปกติ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |