10ปีสลายเสื้อแดง-6ปีรัฐประหาร ในวันที่การเมืองติดล็อกโควิด


เพิ่มเพื่อน    

         หลังสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยเริ่มคลี่คลาย ตัวเลขผู้ติดเชื้อเริ่มพบลดน้อยลงเรื่อยๆ จนล่าสุดเมื่อวันพุธที่ 13  พ.ค.ที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ และไม่พบผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม สิ่งนี้เลยยิ่งทำให้กระแสกดดันเรียกร้องให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยกเลิกการบังคับใช้ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินฯ ยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งต่อจากนี้ จะมีการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรกันตั้งแต่ 22 พ.ค. โดยมีการเมืองเรื่องร้อนๆ รอเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภาฯ กันหลายเรื่อง ทำให้การเมืองก็จะกลับมาสู่โหมดร้อนแรงอีกรอบ

                อย่างไรก็ตาม สำหรับเดือนนี้ พฤษภาคม ที่ยังอยู่ในช่วงการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไปจนถึง 31 พ.ค. แต่เดือน พ.ค.สำหรับการเมืองไทย เป็นช่วงที่มีเหตุการณ์สำคัญๆ ทางการเมืองเกิดขึ้นมากมาย เช่น เหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 2535 เหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองของ นปช.และคนเสื้อแดง  โดยเฉพาะการสลายการชุมนุม เมื่อ 19 พ.ค.2553 ที่ก็จะครบรอบ 10 ปีในสัปดาห์หน้า การทำรัฐประหารของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สมัยเป็น ผบ.ทบ. เมื่อ 22 พ.ค.2557 ในนามคณะ คสช. เป็นต้น

                โดยหากไม่มีวิกฤติสงครามไวรัสโควิด-19 ก็เชื่อได้ว่า กิจกรรมทางการเมืองต่างๆ ที่จะมีการจัดกิจกรรม งานเสวนา ต่างๆ ทางการเมือง คงคึกคักไม่น้อย

                อย่างไรก็ตาม ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ กับสังคมดิจิตอล ที่ทำให้แต่ละฝ่ายนำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์โควิดในเวลานี้ ไม่เว้นแม้แต่กับกลุ่มการเมืองต่างๆ  ก็มีการเคลื่อนไหวโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาเป็นเครื่องมือสื่อสารทางการเมือง เพื่อให้มีการจัดกิจกรรม การแสดงความเห็นทางการเมืองกันได้บ้าง ในช่วงยามที่วิกฤติโควิดยังวางใจไม่ได้ และติดขัดด้วยเงื่อนไขต่างๆ เช่น พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน

                ทำให้ช่วง 1-2 วันที่ผ่านมา เลยได้เห็นปรากฏการณ์การยิงแสงเลเซอร์ข้อความ “#ตามหาความจริง” ตามสถานที่เชิงสัญลักษณ์ทางการเมือง ในช่วงการชุมนุมเสื้อแดงปี 2553 เช่น พื้นที่ใกล้ๆ วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร ข้างตึกกระทรวงกลาโหม เป็นต้น

                รอบนี้ที่น่าสนใจ ก็คือ “คณะก้าวหน้า” โดยการนำของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, ปิยบุตร แสงกนกกุล, ช่อ พรรณิการ์ วานิช ออกมารับบท ออกตัวเป็นเจ้าภาพหลักในการแจ้งความเคลื่อนไหวดังกล่าวอย่างเป็นทางการ ทั้งที่ในช่วงการชุมนุมดังกล่าวเมื่อปี 2553 จากข่าวและภาพที่ปรากฏทางสาธารณชน  ก็มีแค่ธนาธรที่เข้าไปร่วมชุมนุม-สังเกตการณ์ด้วย เช่นที่บริเวณสี่แยกคอกวัว แต่ธนาธรก็ไม่ได้มีบทบาทอะไรมากนัก

                โดยความเคลื่อนไหวในเพจเฟซบุ๊กคณะก้าวหน้า Progressive Movement ที่แจ้งถึงปรากฏการณ์ดังกล่าว ก็มีการโพสต์ข้อความระบุไว้ตอนหนึ่งว่า "กี่ครั้งที่ประชาชนมือเปล่า ถูกสังหารอย่างเลือดเย็น กี่ครั้งที่ผู้ฆ่าและผู้สั่งฆ่า ไม่เพียงไม่ต้องรับโทษ แต่ยังเติบใหญ่ในเส้นทางอำนาจ ทุกครั้งความจริงถูกทำให้เลือนหาย ความยุติธรรมไม่เคยมาถึง พอกันทีกับการที่ขอเพียงมีอำนาจล้นฟ้าจะลงมือฆ่าคนเป็นร้อยก็ไม่ผิด ฝากไปถึงผู้มีอำนาจว่า ไม่ต้องตามหาให้เหนื่อยแรงอีกต่อไปว่าใครคือคนที่ฉายแสงสว่างส่องหาความจริง ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่คือพวกเรา 'ประชาชน' คนธรรมดาที่กำลังร่วมกัน #ตามหาความจริง"

                สิ่งที่เกิดขึ้นต้องยอมรับว่า เป็นการสื่อสารทางการเมืองสมัยใหม่ ที่อย่างน้อยก็เรียกร้องความสนใจ ทำให้ประชาชนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ นักศึกษา ที่เติบโตไม่ทันกับการชุมนุมเมื่อสิบปีที่แล้ว ที่เป็นการชุมนุมที่ยืดเยื้อ และเกิดเรื่องราวต่างๆ  ขึ้นมากมาย กลุ่มคนรุ่นใหม่ วัยรุ่น พอเห็นความเคลื่อนไหวดังกล่าวที่มีการต่อยอด ขยายผลในโลกโซเชียลมีเดีย ก็อาจหันไปให้ความสนใจ ไปหาข้อมูลถึงการชุมนุมใหญ่ของเสื้อแดงเมื่อสิบปีที่แล้ว เพียงเท่านี้กลุ่มผู้เคลื่อนไหวดังกล่าวก็คงมองว่า แค่นี้ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว โดยเฉพาะหากคนเหล่านั้น เลือกที่จะ ”เปิดรับสาร” เพียงด้านใดด้านหนึ่ง ตามที่กลุ่มผู้เคลื่อนไหวต้องการ 

                ด้าน ”พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แคนดิเดตว่าที่ ผบ.ตร.คนใหม่” ได้ออกมาเปิดเผยภายหลังการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถึงกรณีคณะก้าวหน้าออกมายอมรับว่าเป็นผู้ทำแคมเปญ #ตามหาความจริง โดยการยิงเลเซอร์ตามสถานที่ต่างๆ ว่า เรื่องนี้ได้มอบหมายให้พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลไปพิจารณาว่าการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายผิดกฎหมายหรือไม่ ในฐานความผิดใด ยืนยันว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีฝ่ายกฎหมายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าติดตามและกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด ส่วนจะมีการเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องที่ออกมาประกาศตัวว่าเป็นผู้กระทำหรือไม่ รายละเอียดทั้งหมดได้มอบหมายให้ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลไปดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย

                ฟากแกนนำ นปช.เสื้อแดง ที่มีบทบาทนำในการชุมนุมเมื่อสิบปีที่แล้ว แต่วันนี้กำลังกลายเป็นกลุ่มการเมืองตกยุคไปแล้ว เมื่อเทียบกับคณะก้าวหน้าของธนาธร-ปิยบุตร ก็มีเคลื่อนไหวทำกิจกรรมในโอกาสครบรอบสิบปีการชุมนุมใหญ่เมื่อสิบปีที่แล้วเช่นกัน ผ่านการจัดกิจกรรมที่ใช้สื่อโซเชียลมีเดีย ภายใต้การเปิดเผยของ “ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช.เสื้อแดง” ที่บอกว่า จะมีการจัดงานรำลึก 10 ปีการชุมนุมของคนเสื้อแดง ที่จะจัดกิจกรรมออนไลน์ในวันที่ 19 พ.ค. ที่เป็นวันสลายการชุมนุม โดยรูปแบบคือ มีการติดต่อให้บุคคลหลายกลุ่มเขียนบทความเข้ามาแล้วจะนำไปเผยแพร่ในช่วงงานดังกล่าว ซึ่งก็จะมีอาทิเช่น ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล เป็นต้น

                เมื่อทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยต้องรับมือกับวิกฤติโควิด-19 ที่ดูแล้วคงเป็นแบบนี้ไปอีกนานพอสมควร ก็ทำให้การเคลื่อนไหวทางการเมืองก็ต้องปรับตัวตามไปด้วย แต่คาดว่า เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย จนการเมืองเริ่มกลับเข้าสู่โหมดปกติ แม้ไม่เต็มร้อยเหมือนเดิม เพราะยังต้องเฝ้าระวังการติดเชื้อกันอยู่ ถึงจังหวะนั้นอุณหภูมิการเมืองทั้งในและนอกรัฐสภา  ก็คงกลับมาร้อนแรงอีกรอบ. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"