เป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับประเทศไทย เมื่อผลการแถลงของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เมื่อวันพุธที่ 13 พ.ค.ที่ผ่านมา เพราะเป็นวันแรกของการรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เป็นศูนย์ราย คือไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ในประเทศไทย อีกทั้งไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติมด้วย
ยอดตัวเลขล่าสุดเมื่อ 13 พ.ค. สำหรับประเทศไทยคือ มีผู้ป่วยสะสมยังอยู่ที่ 3,017 ราย เสียชีวิตสะสม 56 ราย หายป่วยสะสม 2,844 ราย
“ตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ศูนย์รายเป็นเรื่องที่ต้องดีใจกับทุกคนที่พยายามกันมาหลายวัน ทั้งนี้ ตั้งแต่ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน วันที่ 3 เม.ย. ทำให้ผู้ป่วยรายใหม่ไม่ขยับขึ้น และเราทำดีมาเรื่อยๆ ขอให้ทุกคนทำตัวเองให้อยู่ในชีวิตวิถีใหม่ เพื่อให้เห็นตัวเลขที่น่าพอใจอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ ที่สุดเราอาจเป็นประเทศแรกๆ ที่พ้นความทุกข์ก่อนคนอื่นก็ได้ การเป็นศูนย์นั้นต้องเป็นศูนย์ไปตลอด บางทฤษฎีบอกว่าต้องเป็นศูนย์ 14 วัน หรือบางทฤษฎีบอกว่าต้องเป็นศูนย์ 21 วัน ตอนนี้เรายังไม่มีรายงานแบบนั้น ขนาดจีนเป็นศูนย์มาหลายวันยังกลับมาระบาดใหม่ จึงวางใจไม่ได้” นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ระบุตอนหนึ่งระหว่างการแถลงข่าว
ตัวเลขข้างต้นที่เป็นข่าวดีของคนไทยทั้งประเทศ แต่ทว่าก็อย่างที่รู้กัน เรื่องการติดเชื้อ-แพร่เชื้อโควิดในประเทศไทย ก็อย่างที่หมอทั้งหลายออกมาบอก แม้ตัวเลขเป็นศูนย์ 3-4 วันติดกัน แต่สถานการณ์ก็ยังวางใจไม่ได้ ต้องเฝ้าระวังกันอย่างเข้มข้นต่อเนื่องกันไปอีกหลายสัปดาห์พอสมควร ยิ่งในอนาคตก็จะต้องมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามาทำให้ต้องตั้งการ์ดสูงอีก เช่น การเปิดเทอมของโรงเรียน-สถาบันการศึกษาทั่วประเทศในเดือน ก.ค.ที่จะถึงนี้ เป็นต้น
แต่สถานการณ์เฉพาะหน้าที่หลายคนรอติดตามก็คือ การเปิดเมือง-คลายล็อกรอบสอง โดยเฉพาะที่หลายคนรอติดตามก็คือ กิจการ-กิจกรรมขนาดใหญ่ที่จะทำให้มีคนไปรวมตัวกันมากๆ อย่าง "ห้างสรรพสินค้า” จะกลับมาเปิดได้เหมือนเดิมเมื่อใด
ก่อนหน้านี้มีข่าวว่าการประชุม ศบค. ในวันศุกร์ที่ 15 พ.ค.นี้ ที่ประชุม ศบค.ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน อาจจะมีการพิจารณาวาระสำคัญคือการพิจารณามาตรการ "เปิดเมือง-คลายล็อกเฟส 1” หลังก่อนหน้านี้มีการผ่อนปรนระยะที่ 1 ไปแล้วเมื่อ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา
ซึ่งก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 11 พ.ค. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงไว้ว่า เรื่องการผ่อนปรนมาตรการคลายล็อกระยะที่สองต้องรอวันที่ 15 พ.ค. ที่จะมีการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ แต่เบื้องต้นขอให้ผู้ประกอบการเตรียมตัว แบ่งเป็น 3 ประเภทกิจการ/กิจกรรม แยกเป็น
กิจการ/กิจกรรมประเภทที่ 1 ด้านเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตประจำวัน ได้แก่ ก.การจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มในภัตตาคาร สวนอาหาร ศูนย์อาหาร โรงอาหาร ร้านอาหาร เครื่องดื่ม ขนมหวาน ไอศกรีม ภายในอาคารสำนักงาน ข.ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ยกเว้นโรงภาพยนตร์ ฟิตเนส ลานโบว์ลิ่ง สวนสนุก สวนน้ำ ศูนย์ประชุม ศูนย์พระเครื่อง สนามพระ และพระบูชา ค.ร้านค้าปลีก ค้าส่งอื่นๆ ง.ร้านเสริมสวย (ย้อมผม ดัดผม หรือกิจกรรมอื่นๆ ภายในเวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง และร้านทำเล็บ)
กิจการ/กิจกรรมประเภทที่ 2 เกี่ยวกับกิจกรรมออกกำลังกายหรือการดูแลสุขภาพ ได้แก่ ก.คลินิก เวชกรรมเสริมความงาม สถานเสริมความงามและควบคุมน้ำหนัก ข.สนามกีฬา เฉพาะกีฬากลางแจ้งตามกติกาสากล เล่นเป็นทีมไม่มีผู้ชม ค.สวนดอกไม้ สวนพฤกษศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ แกลเลอรี ห้องสมุดสาธารณะ (เข้าเป็นรายคน) ง.สถานประกอบการนวดแผนไทย (เฉพาะนวดเท้า)
และกิจการ/กิจกรรมประเภทที่ 3 เกี่ยวกับกิจกรรมอื่นๆ คือการประชุม ณ สถานที่ภายในหรือภายนอกองค์กร ลักษณะการบรรยายร่วมกับวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ (จำกัดจำนวนคนตามพื้นที่) ทีมถ่ายทำรายการโทรทัศน์ โฆษณา ถ่ายแบบ ทำคลิป (ไม่เกิน 5 คน)
ขณะที่เพจศูนย์ข้อมูลโควิด-19 ได้โพสต์การกำหนดไทม์ไลน์ของความคืบหน้าการดำเนินมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 2 ที่มีการพิจารณา 5 ช่วง แยกเป็น ช่วงที่ 1 วันที่ 8-12 พ.ค. รับฟังความคิดเห็น ช่วงที่ 2 วันที่ 13 พ.ค. เป็นการประเมินผลมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 1 และซักซ้อมทำความเข้าใจ ช่วงที่ 3 วันที่ 14-15 พ.ค. ยกร่างข้อกำหนด หาพื้นที่ผ่อนปรนระยะที่ 2 ช่วงที่ 4 วันที่ 16 พ.ค. ประเมินผลช่วงที่ 5 วันที่ 17 พ.ค. หากผลประเมินการผ่อนคลายระยะที่ 1 สอบผ่าน ก็จะเริ่มมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 2
สุดท้าย ศบค.จะตัดสินใจอย่างไรต้องดูกันอีกครั้งในช่วงปลายสัปดาห์นี้ หลังก่อนหน้านี้ ศบค.มีการคลายล็อกกิจการ-กิจกรรม 6 กลุ่มกลับมา Reopening ได้อีกครั้งเมื่อวันที่ 3 พ.ค. ตอนแรกก็เกิดเสียงสะท้อนแสดงความเป็นห่วงจากหลายฝ่ายว่าจะส่งผลให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยกลับมาสูงขึ้น กลายเป็นการแพร่ระบาดรอบสอง แต่สุดท้ายหลังผ่านมาร่วมกว่าสัปดาห์ นับจากวันที่ 3 พ.ค. ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศไทยก็อยู่ในระดับเลขตัวเดียวมาตลอด
การที่พบผู้ติดเชื้อจำนวนน้อย จนกระทั่งสุดท้ายไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ ถึงเวลานี้ยิ่งเพิ่มน้ำหนักให้กับเสียงเรียกร้องให้มีการเปิดเมือง-คลายล็อกดาวน์มากขึ้น จนมาถึงระดับกระแสเสียง "ให้ยกเลิกการบังคับใช้พระราชกำหนดบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน" ที่จับกระแสได้ว่าเริ่มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะแรงกดดัน เสียงเรียกร้องจากฝ่ายการเมืองที่สอดประสานกันมากขึ้นเรื่อยๆ จากซีกฝ่ายค้าน-กลุ่มเคลื่อนไหวการเมืองฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลซึ่งเรียกร้องในประเด็นนี้ โดยเอาเรื่องทางการเมืองมาตีกันว่า สาเหตุที่พลเอกประยุทธ์ไม่ต้องการเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะห่วงว่าหลังเปิดประชุมสภาฯ การเมืองจะเริ่มกลับมาร้อนแรงอีกครั้งทั้งในและนอกสภาฯ เลยต้องการคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อสกัดแรงกระเพื่อมที่อาจส่งผลต่อเสถียรภาพรัฐบาล
เชื่อได้ว่า ยิ่งใกล้ถึงวันที่ 31 พ.ค. ที่จะครบการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินรอบสอง กระแสกดดัน-เรียกร้องจากฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะฝ่ายการเมืองจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น และคงทำให้เมื่อถึงช่วงใกล้ๆ วันที่ 31 พ.ค. พลเอกประยุทธ์คงต้องคิดหนักไม่น้อย ว่าสุดท้ายจะต่ออายุหรือยกเลิกการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อไปหรือไม่ ภายใต้เงื่อนไขสำคัญก็คือ หากตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดอยู่ระดับต่ำสิบก็น่าจะทำให้ความเป็นไปได้ในการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินอาจยิ่งมีมากขึ้น หรืออย่างน้อยก็อาจต้องผ่อนปรนมาตรการบางอย่างล็อก หากไม่ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เช่น การยกเลิกเคอร์ฟิวหรือขยับเวลาเคอร์ฟิวให้สั้นลง เป็นต้น
ท่าทีของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม” ต่อเรื่องการจะขยายเวลาการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อไปหรือไม่ นายกฯ ย้ำไว้ว่า “การจะต่ออายุหรือไม่นั้นอยู่ที่การพิจารณาของ ศบค. ซึ่งต้องคำนึงถึงมาตรฐานในด้านสาธารณสุขเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นจำนวนผู้ติดเชื้อลดลงและน้อยลงจนเหลือ 0 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ยังนอนใจไม่ได้แม้จะเหลือ 0 เปอร์เซ็นต์ก็ตาม”
มองได้ว่า สุดท้ายแล้ว ต่อให้มีเสียงเรียกร้อง-แรงกดดันทางการเมือง ในการไล่บี้ให้พลเอกประยุทธ์ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินอย่างไร ยังไงพลเอกประยุทธ์ก็ต้องหลังพิงความเห็นของบุคลากรทางการแพทย์เป็นหลักไว้ก่อน สำหรับเป็นข้อมูลสำคัญในการตัดสินใจ
อย่างทัศนะของ "นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค” ได้ย้ำเรื่องนี้ว่า การที่พบผู้ติดเชื้อในหลักต่ำสิบหรือแม้แต่ไม่พบรายใหม่เลย สถานการณ์ก็ยังวางใจไม่ได้
“การที่เราเจอคนไข้ในระบบรายงานหนึ่งคน แต่ไม่ได้หมายถึงว่าทั้งประเทศเรามีคนไข้โควิด-19 แค่รายเดียว หรือแม้แต่หากไปถึงวันที่เรารายงานว่าคนไข้เหลือศูนย์คน ก็ไม่ได้แปลว่าไม่มีคนไข้เหลืออยู่แล้วในประเทศไทย เหตุผลก็คือโรคนี้คนที่ติดเชื้อส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง คนส่วนใหญ่คิดว่าตัวเองเป็นไข้หวัดก็อาจจะไม่ได้ไปพบแพทย์ คิดว่าตัวเองไม่ได้ติดเชื้อ หากจะถามว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะกำจัดโรคโควิด-19 ให้หมดไปจากประเทศไทย ตามทฤษฎีก็ต้องตอบว่าเป็นไปได้ พูดง่ายๆ คือต้องพยายามตัดวงจรการแพร่ระบาดให้ได้ ใครที่ไม่สบายก็อย่าไปแพร่โรคให้คนอื่น ต้องบอกกับคนไทยว่า ตอนนี้ไม่ใช่เวลาจะมานั่งฉลองชัยหรือประกาศชัยชนะ ตอนนี้ยังเป็นเวลาที่เรายังต้องระมัดระวังกันต่อไป" นพ.ธนรักษ์ระบุ
เอาเป็นว่า คนไทยดีใจกันได้กับการไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่-ไม่พบผู้เสียชีวิตเพิ่ม แม้ยังไม่รู้ว่าวันต่อไปจะมีข่าวดีแบบนี้ต่อเนื่องหรือไม่ สำคัญก็คือ “การ์ดห้ามตก-ห้ามประมาท” เด็ดขาด.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |