การบินไทย : ไม่มีใครให้ เงินมาฟื้นฟูเฉยๆ


เพิ่มเพื่อน    

               อนาคต “การบินไทย” จะไปอย่างไรไม่ควรจะเป็นเรื่องการพิจารณาของคนที่มีผลประโยชน์โยงกับสายการบินแห่งนี้ เพราะการแก้วิกฤติที่ร้ายแรงเช่นนี้ต้องเป็นทางออกที่ตอบคำถามเรื่องความเป็นมืออาชีพเท่านั้น

                ถ้าอยู่ไม่ได้ด้วยความสามารถในการแข่งขันในเวทีสากล และไม่อาจจะตอบคำถามว่า “เอาภาษีประชาชนไปอุ้มรัฐวิสาหกิจที่ไม่มีอนาคต” ก็ย่อมไม่ใช่ทางออกที่ถาวร

                ช่วงนี้มีความเห็นมาจากหลายๆ คนที่อยู่ในฐานะที่จะนำเสนอทางออกสำหรับ “สายการบินแห่งชาติ” ได้

                คุณกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นำเสนอไว้น่าสนใจในฐานะเป็นนักบริหารและนักการเมืองที่ต้องเผชิญกับความเป็นจริงในโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

                คุณกรณ์เขียนไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า

                ผมเห็นด้วยกับการฟื้นฟูการบินไทยให้เป็น ‘บริษัทชั้นนำ’ ของประเทศ

                แต่หากจำเป็นต้องอุ้มด้วยเงินภาษี ข้อแลกเปลี่ยนคือ

                1.การบินไทยต้องเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

                2.ผู้ถือหุ้น และเจ้าหนี้เดิม ต้องแบ่งรับภาระความเสียหาย เงินภาษีที่จะใช้ ต้องมีสิทธิเหนือเงินส่วนอื่นทั้งหมดในบริษัท

                ก่อนโควิดการบินไทยก็มีสถานะทางการเงินที่ร่อแร่อยู่แล้ว ขาดทุนปีละกว่าหมื่นล้าน ทั้งๆ ที่ตั๋วโดยสารแพงกว่าคนอื่น แถมอัตราผู้โดยสารก็อยู่ในเกณฑ์ดี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมาตรฐานบริการที่ดี

                แต่เมื่อโลกมีวิกฤติ เราต้องวิเคราะห์กันต่อว่า หลังโควิดจะเป็นอย่างไร?

                จำนวนผู้โดยสารจะลดลงเท่าไร และบริษัทจะต้องปรับลดค่าใช้จ่ายอย่างไรถึงจะอยู่รอด

                 ลำพังเพียงการบริการที่ดีไม่สามารถช่วยบริษัทได้ แต่ต้องมีระบบบริหารที่มีประสิทธิภาพด้วย

                ความเป็นจริงทางการเงิน สถานะวันนี้ของการบินไทยจะเรียกว่า ‘เจ๊ง’ ก็ไม่ผิดครับ เพราะทุนติดลบ เงินสดก็ติดลบ (ซึ่งแม้รวมวงเงินกู้ทั้งหมดที่มีก็ยังไม่พอใช้เกินสิ้นเดือนหน้า) ดังนั้นตามปกติ หากใครจะใส่เงินเข้าบริษัทเพิ่มเติม เขาต้องตั้งคำถามกับผู้บริหาร ผู้ถือหุ้น และเจ้าหนี้เดิมว่า ‘แล้วพวกคุณจะช่วยรับภาระอย่างไร?’

                คงไม่มีใครให้เงินเฉยๆ ไม่ว่าจะเป็นในรูปของหุ้น เงินกู้ หรือการค้ำประกันเงินกู้ (โดยเฉพาะถ้าเงินนั้นเป็นเงินภาษีประชาชน)

                ทาง IATA ประมาณการว่ารายได้ธุรกิจการบินทั่วโลกจะลดลง 55% ในปี 2020 และจะใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะฟื้น และล่าสุดสายการบิน British Airways ประกาศลดพนักงาน 12,000 คน หรือ 30% ของพนักงานทั้งหมด ส่วน SAS มีแผนลดพนักงาน 5,000 คน

                ท่านนายกฯ บอกว่าการอุ้มครั้งนี้ ‘เป็นครั้งสุดท้าย’ ผมมองน่าจะเป็นเพราะมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์แนวคิดที่จะค้ำประกันเงินกู้ 50,000 ล้านอย่างกว้างขวาง

                ซึ่งหากท่านนายกฯ จะช่วยจริง ท่านควรต้องยืนยันชัดๆ ให้ผู้บริหาร ผู้ถือหุ้น และเจ้าหนี้ ทุกคนมีส่วนช่วยลดภาระของบริษัทลงด้วย

                ผมขอยกตัวอย่างกรณีที่ Norway รัฐบาลเขาได้กำหนดสัดส่วนทุนต่อหนี้ขั้นต่ำไว้ที่ 8% เป็นเงื่อนไขก่อนที่รัฐจะยอมค้ำประกันหนี้ใหม่ให้ เจ้าหนี้เดิมจึงต้องยอมแปลงหนี้เป็นทุน และนอกจากนั้นยังมีเงื่อนไขให้ผู้ถือหุ้นเดิมเพิ่มทุนก่อนด้วย

                ทั้งหมดนี้เพื่อให้มีการแบ่งรับภาระ ไม่ใช่ได้เงินภาษีไปโดยไม่ต้องร่วมรับผิดชอบ ซึ่งนี่คือหลักการที่ไม่ถูกต้องนัก

                ท่านนายกฯ คงทราบดีว่าปัจจุบันการบินไทยมีค่าใช้จ่ายอยู่เดือนละกว่า 1 หมื่นล้าน (โดยไม่มีรายได้) ดังนั้นหากไม่สามารถกลับมาสร้างรายได้โดยเร็ว หากไม่มีการปรับโครงสร้างทุน และหนี้สินของบริษัท วงเงิน 50,000 ล้านนี้ไม่นานก็หมด ซึ่งก็จะกลายเป็นการสูญเสียเพิ่มเติมของรัฐอย่างสูญเปล่า

                ท่านนายกฯ ได้รับรู้ปัญหาการบินไทยมา 5 ปีแล้ว

                ท่านได้ตั้งคณะกรรมการซูเปอร์บอร์ดขึ้นมาเพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูการบินไทย และรัฐวิสาหกิจอื่นๆ แต่ก็ไม่มีอะไรดีขึ้น ขณะนี้ยังแทบไม่มีโอกาสได้แสดงความสามารถเลยด้วยซ้ำไป

                ‘ครั้งสุดท้าย’ นี้จะมีอะไรแตกต่างอย่างไรครับ?

                คนไทยมีสิทธิ์ได้รับคำชี้แจงว่าท่านนายกฯ มีแผนอะไรที่จะทำให้การบินไทยดีขึ้นได้จริง

                เราทุกคนเฝ้ารอเพื่อเอาใจช่วย “การบินไทย” ในฐานะลูกค้าที่ซื่อสัตย์

                แต่ในฐานะผู้เสียภาษี หากไม่มีความชัดเจนว่าการบินไทยจะฟื้นฟูอย่างไร รัฐบาลก็ไม่ควรเข้าไปแบกภาระเพิ่มเติม

                (พรุ่งนี้ : ทางออกที่น่าจะเป็นไปได้ที่สุด) 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"