สภาพัฒน์ฉายภาพกู้4แสนล.


เพิ่มเพื่อน    

 

นายกฯ ขอบคุณภาคเอกชนจัด "ตู้ปันสุข" แต่รับไม่ได้คนแย่งของในตู้ ขออย่าให้เกิดขึ้นอีกเด็ดขาด "คลัง" เร่งเครื่องช่วยเหลือเยียวยากลุ่มตกหล่นเราไม่ทิ้งกัน 1.7 ล้านคน ต้องได้ 5 พันบาทด้วย จ่อโอนรวดเดียวมิถุนายนคนละ 1.5 หมื่นบาท ขณะที่สภาพัฒน์ฉายภาพเงินกู้ 4 แสนล้านช่วยฟื้นเศรษฐกิจสังคมเข้มแข็งยั่งยืน
    เมื่อวันอังคาร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า วันนี้ถือเป็นวันแรกที่มีการพบปะกันทั้ง ครม. ได้ประชุมกันในสถานที่ซึ่งมีการจัดระยะห่างไว้เรียบร้อยแล้ว เหมือนกับโรงเรียนเปิดเทอมได้เจอหน้ากันพร้อมเพรียงในวันนี้  ประมาณกลางเดือนนี้วันที่ 15 พ.ค. คณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.จะไปตรวจเยี่ยมเยียนในสถานที่ที่จะมีการปลดล็อกระยะที่  2 ว่าได้มีแผนปฏิบัติการตามมาตรการของรัฐ ของศูนย์โควิด-19 ครบถ้วนหรือไม่ หรือจะมีมาตรการอื่นเพิ่มเติม ทั้งนี้เพื่อนำมาเป็นแบบอย่างในการให้สถานประกอบการอื่นนำไปใช้อย่างเท่าเทียมกัน 
    "อะไรก็ตามที่เปิดได้ก็ปิดได้ ผมจำเป็นต้องพูดแบบนี้ ไม่เช่นนั้นทุกคนก็ลืมตัวไปเรื่อย ไม่ร่วมมือ  ไม่รักษาระยะห่าง ไม่ใส่หน้ากาก ไม่อะไรพวกนี้ คือไม่ๆ ทั้งหมด แต่เมื่ออยากได้ท่านก็ต้องร่วมมือกับผมและศูนย์โควิด-19 เพราะผมไม่ได้ทำงานคนเดียว ผมทำงานด้วยศูนย์ ด้วยคณะกรรมการทั้งหมดที่เกี่ยวข้องทุกกระทรวง ทบวง กรม เป็นคณะกรรมการชุดใหญ่ ฉะนั้นเป็นผลงานร่วมกันของทุกกระทรวง  ของรัฐบาล พรรคร่วมในขณะนี้ แต่ก็ยินดีที่จะรับฟังความคิดเห็นส่วนอื่นๆ ด้วยในช่องทางที่เหมาะสม เพราะวันนี้คนไทยจำเป็นต้องร่วมมือกันในการแก้ปัญหาโควิด-19 และการฟื้นฟูประเทศของเราหลังจากสถานการณ์นี้ผ่านพ้นไปแล้วคงต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วน วันนี้อย่าเพิ่งเคลื่อนไหวอย่างอื่นให้เกิดความสับสนอลหม่านวุ่นวายกันอีกเลย ประชาชนต้องตัดสินใจว่าจะสนับสนุนอย่างไรในการทำงาน หรือการที่มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมาทำให้เกิดความสับสนวุ่นวายอลหม่านในเวลานี้ ท่านต้องตัดสินใจต้องคิดแล้ว  ฉะนั้นวันนี้ผมต้องการความรักความสามัคคีของคนทุกคนที่เป็นคนไทยทั้งหมด และส่วนใหญ่ก็ได้รับเงินเยียวยาจากรัฐบาลไปแล้ว ไม่ได้ทำเพื่อการเมือง ทำให้คนไทยที่เดือดร้อนจากโควิด-19 ใครที่เดือดร้อนน้อย ใครที่ไม่เดือดร้อนก็ขอให้ดูแลคนที่เดือดร้อนด้วย" พล.อ.ประยุทธ์ระบุ 
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า ขอขอบคุณภาคธุรกิจทุกภาคส่วนที่ดูแลลูกจ้างพนักงานมากพอสมควร  ในส่วนของรัฐบาลก็จะดูแลให้มากที่สุด แต่จำเป็นต้องใช้ข้อกฎหมายหลายตัว การทำอะไรก็ตามของรัฐบาลจำเป็นต้องดูข้อกฎหมายเป็นหลักเสมอ จำไว้เราไม่สามารถที่จะใช้หรือทำอะไรต่างๆ ที่นอกตัวบทกฎหมายได้ วันนี้เราต้องการความรักสามัคคี เราจะต้องรอดไปด้วยกัน ด้วยความรักสามัคคี เผื่อแผ่แบ่งปันน้ำใจให้กันและกัน นั่นคือ new normal ของประเทศไทย
    นอกจากนี้ นายกฯ ได้แถลงผ่านไลฟ์สดเพจไทยคู่ฟ้าถึงกรณี "ตู้ปันสุข" เพื่อแบ่งปันอาหารแก่ผู้ยากไร้และขาดแคลนในช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ว่า ขอชื่นชมภาคเอกชนที่มีความร่วมมือในการดูแลประชาชน โดยเฉพาะในเรื่องของการจัดตู้แบ่งปันทั้งเอกชนและประชาชน แต่ผู้ที่รับของเหล่านี้ก็ต้องสร้างจิตสำนึก เขาให้สำหรับเฉลี่ย แบ่งปันให้คนอื่น แต่ภาพที่ออกมานั้นตนรับไม่ได้ 
    "ก็ขออย่าให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอีกต่อไป ต้องเห็นใจคนอื่นด้วย เพราะถ้าท่านทำแบบนั้น ต่อไปก็จะไม่มีคนไปบริจาค และคนอื่นก็จะไม่ได้ไปด้วย ดังนั้นทุกคนก็ต้องปกป้องสิทธิของตนเอง โดยการเฝ้าระวังไม่ให้คนอื่นมาเอารัดเอาเปรียบแบบนี้ แต่ไม่ใช่ไปทะเลาะเบาะแว้งกันนะ เพียงแต่ห้ามปรามกัน  อย่าปล่อยให้เกิดขึ้นโดยเด็ดขาดในระยะต่อไป ถ้าเราทำแบบนี้ได้ทุกจังหวัด ทุกอำเภอ ทุกตำบล ทุกหมู่บ้าน ผมคิดว่าคนส่วนหนึ่งที่เขาอยากจะช่วยเหลือสังคม เขาพร้อมที่จะบริจาคสิ่งของเหล่านี้ใส่ตู้แบ่งปันความสุข ท่านต้องทำให้เขาสบายใจทั้งผู้ให้และผู้รับทั้งสองฝ่าย" นายกฯ กล่าว
    ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการมาร้องเรียนเพื่อรับเงินเยียวยา 5,000 บาทจากการลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com ที่กรมประชาสัมพันธ์ ซอยอารีย์สัมพันธ์ เข้าสู่สัปดาห์ที่ 3 ยังมีประชาชนเดินทางมาอย่างต่อเนื่อง โดยมาตั้งแต่ช่วงเช้ามืดและมีการแจกบัตรคิวไปแล้วกว่า 2,000 คิว ในช่วงเวลาประมาณ 10.00 น. โดยเจ้าหน้าที่ตั้งโต๊ะรับคำร้องเรียนเพิ่มขึ้นเป็น 30 โต๊ะ รวมเจ้าหน้าที่กว่า 60 คนไว้คอยบริการ
    ต่อมาเวลาประมาณ 10.40 น. นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการ รมว.การคลัง ได้ลงพื้นที่มาพบกับผู้ที่ร้องเรียน และชี้แจงว่าได้รับมอบหมายจากนายอุตตม สาวนายน รมว.การคลัง ให้มาลงพื้นที่ดูแลประชาชนที่มาร้องเรียนทุกวัน โดยในวันนี้พบว่ามีจำนวนลดลงน้อยกว่าทุกวัน โดยกระทรวงการคลังจะเปิดให้มีการตั้งโต๊ะถึงวันที่ 15 พ.ค.นี้เท่านั้น จะขยายต่อไปอีกหรือไม่ขึ้นอยู่กับนโยบาย 
    นายธนกรกล่าวว่า ปัจจุบันโอนเงิน 5,000 บาทให้ผู้ที่ลงทะเบียนไปแล้วกว่า 11.8 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงเป็นสาเหตุให้คนเดินทางมาร้องเรียนลดน้อยลง จะเร่งโอนให้ผู้ที่ตรวจสิทธิ์ผ่านแล้ว 14 ล้านคนภายในสัปดาห์นี้ โดย รมว.การคลังสั่งการให้สรุปมาตรการทั้งหมดในวันที่ 17 พ.ค.นี้ ก็จะรู้ว่ามีใครที่ได้สิทธิ์หรือไม่ได้สิทธิ์ โดยคลังประเมินว่าจะมีผู้ได้รับสิทธิ์ประมาณ 16 ล้านคน จากการหารือกับประชาชนที่มาร้องเรียนพบว่ายังเป็นปัญหาเดิม คือลงทะเบียนไม่สำเร็จ โดย รมว.การคลังได้สั่งการให้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ไปดูแลกลุ่มนี้ด้วย
    นายธนกรกล่าวว่า สำหรับผู้ที่ลงทะเบียนไม่สำเร็จโดยระบบแจ้งว่าไม่พบข้อมูล เพราะฐานข้อมูลไม่ตรงกับกระทรวงมหาดไทย อาจเป็นเพราะกรอกข้อมูลบัตรประชาชนผิด ทำให้ระบบตัดทิ้งไม่เข้าสู่การคัดกรองซึ่งมีอยู่กว่า 1.7 ล้านคน โดยขณะนี้ สศค.กำลังพิจารณาแนวทางว่าจะแก้ไขอย่างไร เบื้องต้นธนาคารกรุงไทยมีข้อมูลทั้งหมดแล้ว เป็นกระบวนการภายใน ไม่ต้องมาลงทะเบียนใหม่ การช่วยเหลือจะต้องได้ 5,000 บาทเหมือนกัน ถ้าโอนไม่ทัน พ.ค.นี้ก็จะได้เป็นก้อนเดียว 15,000 บาทในเดือน มิ.ย.นี้  นอกจากนี้ยังพบว่า ประชาชนที่มาร้องเรียนมีหลายคนที่เดินทางมาร้องเรียนซ้ำ 4-5 ครั้ง จึงขอความร่วมมือให้เดินทางมาร้องเรียนแค่คนละครั้งเดียว เพื่อให้กระทรวงการคลังตรวจสอบข้อมูลได้เร็วขึ้น
    วันเดียวกัน นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะคณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้มีการพิจารณากรอบนโยบายฟื้นฟูทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยประเทศไทยต้องหันมาสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในประเทศ จากเดิมที่อาจจะเคยเน้นเรื่องการส่งออก สร้างความเจริญเติบโตให้ประเทศ เรื่องท่องเที่ยวที่เข้ามาจำนวนมากเพื่อสร้างรายได้ให้ประเทศ แต่หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แล้ว ครม.อนุมัติแนวทางการใช้เงินกู้เพื่อที่จะสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจในประเทศให้มากขึ้น
    อย่างไรก็ตาม ขณะที่วัตถุประสงค์หลักของเงินกู้ 4 แสนล้านบาท คือ พยายามสร้างงาน สร้างรายได้ให้ชุมชน เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ส่งผลต่อประชาชน และผู้ประกอบการขาดรายได้ที่เคยได้รับตามปกติ ซึ่งเงินกู้นี้จะนำมากระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ เพื่อสร้างความเข้มแข็ง เพื่ออนาคตของประเทศ เนื่องจากประเทศไทยมีความได้เปรียบในเรื่องของเกษตรและอาหาร จึงจะใช้เงินกู้สร้างความเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน เน้นเรื่องเกษตรแปรรูปและอาหาร 
    ขณะเดียวกันให้ความสำคัญในระดับเศรษฐกิจฐานราก โดยแรงงานส่วนหนึ่งที่ต้องกลับไปยังภูมิลำเนาเดิมจำเป็นต้องมีการสร้างงานรองรับ โดยจะนำเงินกู้นี้มาสร้างเศรษฐกิจระดับชุมชน วิสาหกิจเพื่อชุมชน หรือสหกรณ์ต่างๆ เพื่อสร้างความเข้มแข็งในท้องถิ่นยืนอยู่ได้ต่อไปในอนาคต
    นอกจากนี้ หัวใจหลักอีกประการที่สำคัญคือ เน้นความยั่งยืน ไม่เน้นเชิงปริมาณ อาจจะไม่เน้นในเรื่องการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วเหมือนเดิม แต่จะเน้นความมั่นคง ความยั่งยืนของประเทศ  เพื่อให้ทุกคนยืนได้ด้วยความมั่นคงต่อไป พร้อมทั้งสอดคล้องกับวิถีชีวิตรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า New  Normal มีความเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเยอะ เราต้องทำให้เศรษฐกิจและสังคมไทยยืนได้ในอนาคต ยืนอยู่ได้ในระบบใหม่ที่จะเกิดขึ้น
    อย่างไรก็ตาม การใช้เงินกู้นี้น่าจะเป็นหัวเชื้อประการหนึ่งที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของทิศทางในการพัฒนาประเทศต่อไป และหลังจากใช้เงินกู้ เราพยายามที่จะให้มีเงินเข้าสู่งบประมาณเดือนกรกฎาคม  หรือไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ หลังจากนั้นจะไปต่อกับงบประมาณปี 2564-2565 ทั้งหมดนี้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
    สำหรับเงินกู้ยังช่วยรองรับสถานการณ์ภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นได้อีกด้วย เพราะจะมีส่วนหนึ่งที่ลงไปในภาคเกษตร ดูแลแหล่งน้ำชุมชนต่างๆ อีกเรื่องที่อยากเน้นคือ แม้ว่าจะมีวงเงินกู้ 400,000 ล้านบาท แต่ก็ไม่จำเป็นต้องใช้หมด จะเลือกเฉพาะโครงการสำคัญที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ ที่สำคัญที่สุด การใช้จ่ายจะเป็นไปด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบออนไลน์ได้ ข้อมูลต่างๆ จะนำลงเว็บไซต์ โดยมีผู้ตรวจราชการ ประชาชน นิสิต นักศึกษาร่วมกันลงพื้นที่เป็นหูเป็นตา ดูแลความโปร่งใสมากขึ้น มีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืนต่อไป.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"