#ค้นหาความจริง ก้าวไกล-ก้าวหน้าเริ่มขยับ


เพิ่มเพื่อน    

      หลังเมื่อช่วง 1-2 วันที่ผ่านมา เกิดความเคลื่อนไหวมีการยิงแสงเลเซอร์ โดยระบุข้อความ "#ค้นหาความจริง" ในหลายพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะสถานที่ทางราชการ เช่น กระทรวงกลาโหม และต่อมาแฟนเพจเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ของ “คณะก้าวหน้า” ที่มีสามคีย์แมนหลักคือ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ-ปิยบุตร แสงกนกกุล-ช่อ พรรณิการ์ วานิช คอยคุมจังหวะทางการเมือง ได้ออกมาเปิดเผยกรณีการยิงเลเซอร์ดังกล่าว โดยมีการโพสต์คลิปขณะที่ดำเนินการ พร้อมระบุถึงเหตุการณ์ทางการเมืองในอดีต เช่น เหตุการณ์การสลายการชุมนุม นปช.และเสื้อแดงปี 2553 ที่จะครบรอบ 10 ปีในสัปดาห์หน้า

            ล่าสุดคนของพรรคพลังประชารัฐ แกนนำรัฐบาล “ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ” ก็ออกมาชี้เปรี้ยงว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องทางการเมืองที่มีความเชื่อมโยงกันของคนอดีตพรรคอนาคตใหม่ที่โดนยุบพรรคไปแล้ว และแยกกันเดินทางการเมืองออกเป็น 2 ปีก คือ “พรรคก้าวไกล” โดยการนำของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กับ "คณะก้าวหน้า”

                “ประชาชนทั่วไปมองเห็นว่ากิจกรรมภายใต้หัวข้อแฮชแท็กตามหาความจริง ที่นำโดยคณะก้าวหน้าที่โพสต์ข้อความทางทวิตเตอร์และแฟนเพจเฟซบุ๊ก พร้อมคลิปวิดีโอและแฮชแท็กตามหาความจริงในค่ำของวันที่ 11 พ.ค. ..ซึ่งประชาชนเห็นว่ามีความเกี่ยวข้องกันอย่างชัดเจน สอดรับกันเป็นกระบวนการกับความเคลื่อนไหวของ ส.ส.พรรคก้าวไกล ได้เผยแพร่ข้อความและกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อเนื่องขยายออกไป” รองโฆษกพรรค พปชร.ระบุ

            ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่พรรคก้าวไกล-คณะก้าวหน้า ถูกมองว่าเป็น "เงาของกันและกันทางการเมือง” กลับมาถูกพูดถึงในทางการเมืองพร้อมๆ กันอีกครั้งในช่วงวิกฤติโควิดเริ่มคลี่คลาย ส่วนข้อเท็จจริงและปฏิกิริยาทางการเมืองในเรื่องนี้จากฝ่ายต่างๆ จะเป็นอย่างไรก็ต้องรอติดตาม

            ในส่วนของพรรคก้าวไกล ก่อนหน้านี้ก็มีการขยับทางการเมืองในช่วงใกล้เปิดสมัยประชุมรัฐสภา 22 พ.ค. ที่น่าสนใจไม่น้อยกับการที่พรรคเล่นบทบาทชิงการนำทางการเมืองก่อนพรรคแกนนำหลักฝ่ายค้านอย่าง "เพื่อไทย" เสียอีก นั่นก็คือการที่พิธาและ ส.ส.ของพรรคก้าวไกลร่วมกันลงชื่อยื่นญัตติเพื่อขอให้สภาฯ ตั้ง

            "คณะกรรมาธิการวิสามัญติดตามการตรวจสอบการใช้งบประมาณแก้ไขปัญหาภายใต้วิกฤติการระบาดของโคโรนา 2019”

            เพราะในการเป็นพรรคฝ่ายค้านที่ไม่ได้มีอำนาจในฝ่ายบริหาร ไม่สามารถเข้าไปแสดงบทบาทอะไรได้มากในการสู้ศึกไวรัสโควิด ดังนั้น หน้าที่หลักก็คือต้องเล่นบทบาทฝ่ายตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ โดยเฉพาะการใช้เงินงบประมาณที่รัฐบาลกันหน้าตักเตรียมเงินไว้สำหรับภารกิจนี้ร่วมล้านล้านบาท ผ่านการออกพระราชกำหนดสามฉบับ เช่น พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้ 1 ล้านล้านบาท และยังมีร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณ 2563 ที่มีการไปตัด-ปรับลดงบกระทรวงต่างๆ ประมาณ 10% มากองไว้เป็นงบกลางรับมือโควิด-19

            อีกทั้งต้องไม่ลืมว่าการตั้งงบเพื่อขออนุมัติการจัดทำงบประมาณต่างๆ ซึ่งทำผ่าน พ.ร.ก.ที่กระบวนการตั้งโครงการเบิกจ่ายงบประมาณ การตรวจสอบ-อนุมัติโครงการ จะไม่เข้มข้นเท่ากับการทำโครงการในรูปแบบของ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี แม้ตาม พ.ร.ก.ให้กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ที่เขียนเรื่องกระบวนการกู้เงินดังกล่าวจะกำหนดให้มีการ "คณะกรรมการกลั่นกรองการพิจารณาทำโครงการ-ตั้งงบประมาณ" ซึ่งมีบิ๊กข้าราชการจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง-สำนักงบประมาณ มาคอยพิจารณาอนุมัติโครงการและติดตามประเมินผลการใช้เงินอย่างละเอียดยิบ แต่กระนั้นหลายฝ่ายก็ดูจะเป็นห่วงไม่น้อยว่าอาจมีช่องโหว่ เกิดการรั่วไหลจนเกิดการทุจริตเกิดขึ้นได้

            ด้วยเหตุนี้ การออกมาเล่นบทเป็นพรรคการเมืองแรกๆ ในสภาฯ ที่ต้องการให้มีการติดตามตรวจสอบการใช้เงินในภารกิจสู้โควิดของรัฐบาลของ "พรรคก้าวไกล" ที่เสนอให้สภาฯ ตั้ง กมธ.ของสภาฯ ตรวจสอบเรื่องนี้ จึงเป็นการเล่นบทบาทที่มีแต่ได้กับได้ของพรรคน้องใหม่ แต่คนเก่าจากอดีตพรรคอนาคตใหม่

            เพราะหากสุดท้าย พรรคร่วมรัฐบาลใช้เสียงข้างมากไม่เอาด้วย-ล้มญัตติดังกล่าว หรือพยายามถ่วงเวลาไม่ให้มีการตั้ง กมธ.วิสามัญดังกล่าว ที่นอกจากมีงบเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทแล้ว ก็ยังมี พ.ร.ก.ให้อำนาจแบงก์ชาติตั้งกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องในตลาดตราสารหนี้ ช่วยเหลือหุ้นกู้ภาคเอกชน 4 แสนล้านบาท ที่ฝ่ายค้านและนักวิชาการบางสำนักมองว่าเป็นการออก พ.ร.ก.เพื่อ "เอื้อกลุ่มทุนขนาดใหญ่"

            ด้วยเหตุนี้ หากวิปรัฐบาลสั่งให้ ส.ส.รัฐบาลล้ม-คว่ำญัตติดังกล่าว โดยอ้างเหตุผลว่าหลังเปิดสภาฯ 22 พ.ค. ยังไงสภาฯ ก็จะมีการพิจารณาให้ความเห็นชอบ พ.ร.ก.สามฉบับ ที่รัฐบาลออกมาในช่วงวิกฤติโควิดอยู่แล้ว ฝ่ายค้านมีประเด็นข้อสงสัย-ข้อเคลือบแคลงใดๆ ก็อภิปราย ซักถาม ตั้งข้อสังเกตกันได้เต็มที่ จะเปิดเวทีให้อภิปรายกันหลายวันหลายคืน ไม่เห็นต้องตั้ง กมธ.ฯ อะไร

            ถ้ารัฐบาลมีท่าทีออกมาแบบนี้ แน่นอนว่ามันก็เข้าทางฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลที่จะปลุกกระแสว่า "รัฐบาลกลัวการตรวจสอบการใช้เงิน 1 ล้านล้านบาท" ยิ่งเมื่อญัตติด่วนให้ตั้ง กมธ.ฯ ดังกล่าวเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับงบประมาณประเทศระดับหลักล้านล้านบาท ไม่ได้เป็นเรื่องการเมืองแบบที่วิปรัฐบาลสั่งให้ ส.ส.รัฐบาลล้มญัตติของปิยบุตร แสงกนกกุล กับอดีต ส.ส.อนาคตใหม่ ที่เคยเสนอให้ตั้ง กมธ.วิสามัญตรวจสอบการออกประกาศ-คำสั่งของ คสช.

            หากวิปรัฐบาลแจงปมปิดกั้นระบบตรวจสอบไม่ได้ ก็เสี่ยงไม่น้อยที่รัฐบาลจะถูกมองว่ามีเจตนาปิดกั้นการตรวจสอบการใช้เงินภาษีของประชาชน

            แต่หากวิปรัฐบาลไม่ขวางจนทำให้มีการตั้ง กมธ.วิสามัญตรวจสอบการใช้งบประมาณดังกล่าวสำเร็จ ก็แน่นอนว่ามันก็คือ "เครดิตทางการเมือง" ของพรรคก้าวไกลที่จะได้ไปเต็มๆ กับการเล่นบทออกตัวเร็วนำหน้าพรรคเพื่อไทย ฝ่ายค้านด้วยกันเอง ที่ยังสาละวนอยู่กับเรื่องจะขอให้สภาฯ เปิดประชุมสมัยวิสามัญฯ ทั้งที่ก็รู้อยู่แล้วเป็นเรื่องยาก

            นี่คืออีกหนึ่งฉากการเมืองที่แลเห็นของพรรคก้าวไกล พรรคที่ยังอยู่ในการจับจ้องของแวดวงการเมืองว่าจะขับเคลื่อนพรรคไปอย่างไร ในยามที่ไร้ซึ่งหัวหอกหลักอย่าง ธนาธร-ปิยบุตร ภายใต้ข้อเท็จจริงที่ว่า บารมี-การยอมรับในตัวของพิธายังห่างไกลจากทั้งสองคนอย่างมาก จนคนมองกันว่าเป็นงานหนักของพิธาไม่ใช่น้อยในการขับเคลื่อนพรรคให้สามารถมีเรตติ้ง-ความนิยมได้เหมือนสมัยยังเป็นพรรคอนาคตใหม่

            ยิ่งเมื่อดูจากวันเริ่มเปิดตัวพรรคก้าวไกลจนถึงปัจจุบันที่แม้จะเป็นเวลาไม่ถึงสามเดือน แต่จังหวะเดินทางการเมืองของพรรคก้าวไกลและพิธาก็ถูกมองว่าน่าจะทำได้ดีกว่านี้ และบางจังหวะก็อ่านสถานการณ์ผิดพลาด เช่น การรีบออกคัดค้านการออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทันทีในช่วงที่เชื้อโควิดกำลังระบาดหนัก ตัวเลขผู้ติดเชื้ออยู่ระดับกว่าร้อยคน อีกทั้งการขยับบางจังหวะ พิธาและพรรคก้าวไกลก็ยังต้อง "อาศัยเงา-เครดิต” ของธนาธรมาเรียกความสนใจ เห็นได้จากเมื่อวันที่ 9 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่พรรคก้าวไกลจัดไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ "พิธา x ธนาธร : ลมหายใจ SMEs ไทยในวิกฤติโควิด-19" ซึ่งความเห็น-ข้อเสนอของธนาธร “กินขาด-แย่งซีน” พิธาไปแบบไม่เห็นฝุ่น

            อย่างไรก็ตาม จะพบว่าระยะหลังพรรคก้าวไกลโดยการนำของพิธา ที่รู้ดีว่าวันนี้ความสนใจของสังคมที่มีต่อพรรคก้าวไกลไม่เหมือนกับวันที่ยังเป็นอนาคตใหม่ จึงทำให้พรรคพยายามจับกระแสของสังคมในเรื่องต่างๆ แล้วนำเสนอท่าทีของพรรคให้ทันสถานการณ์ ดูได้จากล่าสุดกรณีปัญหาการบริหารงานของบริษัท การบินไทย ที่รัฐบาลกำลังผ่าทางตัน พรรคก้าวไกลก็ไม่รอช้าออกแถลงการณ์คัดค้านการนำเงินภาษีประชาชนไปอุ้มการบินไทย เป็นต้น

            การเร่งสปีด สร้างเครดิต-ผลงานการเมืองของพิธาและพรรคก้าวไกลต่อจากนี้ หากคุมจังหวะให้ออกมาเป็นการเมืองเชิงคุณภาพ เป็นฝ่ายค้านมีน้ำยา ก็น่าจะยิ่งทำให้พรรคเพื่อไทย ฝ่ายค้านด้วยกันเอง ยิ่งแลดูย่ำแย่ลงไปเรื่อยๆ!!!.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"