คำว่า "สายการบินแห่งชาติ" เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันได้เสมอ...อยู่ที่จะมองจากแง่มุมไหน
บางคนบอกว่าถ้ารัฐบาลอุ้มการรถไฟแห่งประเทศไทยและ ขสมก.ที่ขาดทุนต่อเนื่องมาตลอดได้ การบินไทยก็อาจจะอ้างเหตุผลเดียวกันที่ขอให้รัฐต้อง "อุ้ม"
ข้ออ้างคือเป็น "ขนส่งสาธารณะ" ที่ไม่ควรให้เอกชนเข้ามาทำ เพราะจะไม่ดูแลสาธารณประโยชน์
รถไฟกับรถเมล์อ้างอย่างนี้มาตลอด ถึงวันนี้ข้ออ้างเหล่านั้นก็อาจจะเริ่มหมดความขลังลงแล้ว
สำหรับการบินไทย ข้ออ้างนี้คงจะฟังไม่ขึ้นมากขึ้นทุกวัน เพราะสายการบินเอกชนที่เสนอตัวแข่งขันนั้นสามารถคิดราคาค่าบริการถูกกว่าการบินไทย และตอบโจทย์ผู้โดยสารได้มากกว่าด้วยซ้ำ
การบินไทยพยายามจะสร้าง "สายการบินประหยัด" มาสู้ แต่ "ไทยสไมล์" ก็ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นสายการบินประหยัดอย่างแท้จริง เพราะยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าสามารถจะแข่งกับสายการบินอื่นๆ ในเส้นทางเดียวกันได้อย่างมีประสิทธิภาพจริง
ช่วงนี้มีความเห็นจากหลายฝ่ายที่นำเสนอทางออกให้การบินไทย
ผมติดตามอ่านความเห็นของผู้รู้หลายท่าน รวมถึงคุณบรรยง พงษ์พานิช อดีตกรรมการการบินไทยและอดีตกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ
คุณกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีคลังและวันนี้หัวหน้าพรรคกล้า
กับคุณประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ
ผมสรุปได้ว่าความเห็นของผู้รู้ที่อยู่ในเหตุการณ์มาก่อนน่าจะตรงกันว่า
ถ้าการบินไทยปรับตัวให้สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองไม่ได้ ไม่ว่าจะใส่เงินเข้าไปอีกเท่าไหร่ก็เจ๊งลูกเดียว
ดูเหมือนทั้งสามท่านจะไม่ให้ความสำคัญกับคำว่า "สายการบินแห่งชาติ" เท่าไหร่
เพราะในฐานะทั้งสามท่านเคยเป็นนักบริหารองค์กรมาก่อน ก็น่าจะรู้ว่าการมีสายการบินแห่งชาติที่ต้องเป็นภาระของภาษีประชาชนนั้นย่อมผิดไปจากเหตุและผลด้วยประการทั้งปวง
คุณบรรยงได้เคยเขียนไว้ในเฟซบุ๊กของท่านเองว่า
รายการโทรทัศน์โทร.มาขอสัมภาษณ์เรื่องการบินไทย
ในสองประเด็นคือ ทำไมสายการบินที่เคยรุ่งเรืองถึงกลับมาตกต่ำอย่างนิ่งในปัจจุบัน และผมมีความเห็นอย่างไรกับการที่รัฐจะตกลงค้ำประกันหนี้ให้การบินไทยห้าหมื่นล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องเร่งด่วน
ข้อแรกผมตอบไปว่า ก่อนโควิด การบินไทยก็ไปไม่รอดอยู่แล้ว
ขาดทุนตั้งปีละกว่าหมื่นล้านติดต่อกันมาหลายปี
ถึงไม่มีโควิด ทุนที่เหลือแค่หมื่นล้าน เทียบกับหนี้เกือบสามแสนล้าน ก็อยู่ได้ไม่เกินปีอยู่แล้ว
พอมาเจอโควิดก็เลยน่าจะจอดสนิททันที
เพราะขนาดสายการบินดีๆ อย่าง Lufthansa อย่าง Air France รัฐบาลของเขายังต้องช่วยแห่งละกว่าแสนล้านบาท
เหตุผลที่ตกต่ำมาจากคำว่า "การแข่งขัน" เพราะจากปี 2000 ที่มีเครื่องบินพาณิชย์ทั้งโลกแค่ 20,000 ลำ
ปัจจุบันมี 46,000 ลำ
มีการเกิดของ Low Cost Carriers ทุกคนแข่งกันปรับปรุงประสิทธิภาพ ลดต้นทุน ลดราคา เปิดเสรีการแข่งขันกันเต็มที่
ตั้งแต่เราเปิดเสรีการบินในปี 2004 มีนักท่องเที่ยวเพิ่มจาก 12 เป็น 38 ล้านคน
คนบินปีละ 18 ล้านเที่ยว เป็น 110 ล้านเที่ยว
แต่ตั๋วไม่เคยขึ้นราคามายี่สิบปี กลับลดด้วยซ้ำ
และต้นทุนการบินไทยกลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งการจัดซื้อ และต้นทุนบุคลากรตั้ง 28,000 คน (เทียบ Capacity กับคนอื่นน่าจะมีแค่ 15,000)
ยกตัวอย่างไตรมาสสามปีที่แล้ว ยอดขายกว่า 40,000 ล้าน ขาดทุน 4,500 ล้าน ทั้งๆ ที่มี Load Factor ตั้ง 80%
ก็แปลได้เลยว่า จะเท่าทุนได้ต้องขายแพงขึ้น 10%
(ซึ่งตอนนี้ก็แพงสุดอยู่แล้ว)
หรือลดต้นทุนให้ได้ 10%
เพราะ Break-even Load factor 88% ไม่มีใครในโลกทำได้
ถามว่าถ้ารัฐจะค้ำห้าหมื่นล้านนั้น ผมเห็นด้วย
เพราะถ้าไม่งั้นก็คงมีค่าเหลือศูนย์หรือติดลบ (ได้ยินว่าแอบมีค้ำประกันไปบ้างแล้ว)
แต่ผมคิดว่าไม่ควรแค่ให้ค้ำประกันเฉยๆ อย่างที่ขอ
โดยรัฐควรให้กู้มากกว่าค้ำให้
เพราะสุดท้ายต้องจ่ายเหมือนกัน
แต่สถานะของผู้ให้กู้กับผู้ค้ำไม่เหมือนกัน
และก่อนที่จะให้กู้ รัฐควรจะให้การบินไทยขอเข้าแผนฟื้นฟูตามกระบวนการของกฎหมายล้มละลาย เพราะภายใต้แผน ผู้ให้กู้รายสุดท้ายสามารถมีอำนาจต่อรองสูงได้
สามารถขอ Hair cut เจ้าหนี้อื่นได้บ้าง
สามารถล้มเลิกสิทธิประโยชน์อดีตพนักงานและต่อรองกับสหภาพได้ดีกว่า
รวมทั้งสามารถกำหนดเงื่อนไขประเภท Last in - First out (คนใส่เงินทีหลังได้รับคืนก่อน)
หรือ Preferable status อื่นๆ ได้ จะได้ผ่าตัดใหญ่ทีเดียวเลย
ทั้งหมดนี่เป็นหลักการใหญ่ ต้องไปศึกษารายละเอียดทางการเงินและกฎหมายต่างๆ อีกเยอะครับ
การบินไทยอายุ 60 แล้ว ถึงเวลายกเครื่องใหญ่ ผ่าตัดใหญ่เสียที
ถ้าให้แต่เงินเฉยๆ ก็จะยืดได้แค่ห้าเดือนก็น่าจะหมด
เป็นการ Throw good money after bad
หรือที่คนโบราณเค้าว่า "ตำน้ำพริกโปรยทิ้งบนท้องฟ้า" เป็นแน่ครับ
(อ่านต่อพรุ่งนี้...มองหาทางออกสำหรับการบินไทย).
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |