"บิ๊กป้อม" เบรกสร้างบ้านพักศาลดอยสุเทพ สั่ง 3 ฝ่ายร่วมกันหาทางออก 9 เม.ย. แย้มใช้ ม.44แก้ปัญหา ปรับพื้นที่ให้ประชาชนใช้ประโยชน์ วอนม็อบยุติเคลื่อนไหว เลขาฯ ศาลรอ ก.บ.ศ.ชี้ขาดวันจันทร์ ชี้ยกเลิกสัญญาอาจโดนฟ้องกลับ
ที่กระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 5 เมษายน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีที่มีมวลชนคัดค้านโครงการก่อสร้างบ้านพักตุลาการเชิงดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ เดินเท้ามายังทำเนียบรัฐบาลว่า เป็นเรื่องของประชาชนที่ไม่เห็นด้วยเกี่ยวกับการก่อสร้างบ้านพักของศาล ซึ่งอยู่ใกล้กับดอยสุเทพ ซึ่งได้สั่งการให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งศาลและจังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงกองทัพภาคที่ 3 และมณฑลทหารบกที่ 33 ไปพูดคุยร่วมกันวันที่ 9 เม.ย.นี้ถึงรายละเอียดในเรื่องนี้แล้ว โดยในขณะนี้ยังไม่มีการก่อสร้างต่อ เพราะจะต้องมีการพูดคุยกันก่อน เพื่อให้พื้นที่ตรงนี้ประชาชนสามารถใช้ได้ และดัดแปลงเป็นพื้นที่ที่มีป่า ซึ่งอาจจะใช้เป็นพื้นที่พักผ่อนของประชาชน
เมื่อถามว่ามีแนวโน้มที่จะไม่ให้สร้างต่อ และให้ย้ายไปสร้างในพื้นที่อื่นใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า น่าจะเป็นแบบนั้น แต่คงไม่มีการรื้อถอน ซึ่งอาจจะปรับเป็นพื้นที่ให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ต่อไป พร้อมกันนี้จะต้องมีการปลูกต้นไม้ที่ถูกตัดไปให้กลับมาเป็นเหมือนเดิม แต่พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ของราชพัสดุ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยมอบหมายให้ทหารทำหน้าที่ดูแล และทหารได้มอบให้กลับคืนไปยังราชพัสดุแล้ว และราชพัสดุอนุญาตให้ศาลใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ซึ่งทุกอย่างถือว่าทำถูกต้อง อย่างไรก็ตาม รายละเอียดจะต้องมีการพูดคุยกันเพื่อหาทางออกตามกฎหมาย แต่คงไม่มีการฟ้องร้อง เพราะเป็นเรื่องของประชาชน และขอร้องมวลชนที่จะเดินทางมายังกรุงเทพฯ ขอให้ยุติการเคลื่อนไหวดังกล่าว
“อันนี้ไม่ใช่ป่า ถ้าบุกรุกป่าก็ผิดกฎหมาย เหมือนกับที่ผมเข้ามาดูแลมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ก็เพื่อต้องการดูแลป่า ซึ่งเมื่อก่อนป่าทางภาคตะวันออกมีการบุกรุกพื้นที่ป่า 13 ล้านไร่ เมื่อผมเข้ามาเป็นประธานมูลนิธิฯ ก็ดูแลในเรื่องดังกล่าว จนทำให้ตอนนี้มีพื้นที่บุกรุกป่าน้อยลงเหลือเพียง 1.3 ล้านไร่ เพราะเราต้องช่วยกันดูแลป่าและรักษาพันธุ์พืช รวมถึงสัตว์ป่า เพราะสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ทรงต้องการให้คน ป่า และสัตว์ป่าอยู่ร่วมกันได้ ให้คนช่วยดูแลป่า เพราะฉะนั้นป่ารอยต่อ 5 จังหวัดภาคตะวันออกจึงมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น สามารถเป็นต้นน้ำลำธารให้พื้นที่ภาคตะวันออกได้เป็นอย่างดี” พล.อ.ประวิตรระบุ
เมื่อถามย้ำว่า ต้องมีการใช้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือมาตรา 44 ในการแก้ปัญหาเรื่องข้อกฎหมายหรือไม่นั้น พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ให้เขาคุยกันก่อน
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า ภายหลังเกิดกรณีคัดค้านโครงการก่อสร้างบ้านพักตุลาการ เชิงดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. สั่งให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้าไปพูดคุยเพื่อคลี่คลายปัญหาโดยเร็ว เพราะฝ่ายที่คัดค้านต้องการให้หยุดการก่อสร้าง ขณะที่ศาลยืนยันว่าดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบทุกอย่าง หากมีคำสั่งให้หยุดการก่อสร้างหรือตัดสินใจยกเลิกสัญญา อาจทำให้ผู้รับเหมาฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจำนวนมหาศาลจากศาลได้ และคนที่รับผิดชอบโครงการนี้จะมีความผิดไปด้วย
โดยเรื่องนี้มีการประเมินเอาไว้ 3 ทางออก คือ 1.สร้างต่อให้เสร็จ เพราะถือว่าทำถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบทุกอย่าง ทางออกนี้ทางศาลกับผู้รับเหมามีความต้องการอย่างมาก แต่จะสร้างความไม่พอใจในหมู่ประชาชน 2.ยุติการปลูกสร้างเฉพาะส่วนบ้านพัก แล้วรื้อถอนออก กรณีนี้ประชาชนต้องการ แต่ไม่มีกฎหมายรองรับ และผู้รับเหมาจะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายต่อศาล มีทางเดียวที่ป้องกันได้คือใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 และ 3.ยุติการก่อสร้างชั่วคราว โดยทำความตกลงว่าจะไม่มีการเรียกร้องค่าเสียหาย ปัจจุบันรัฐบาลกำลังใช้แนวทางนี้อยู่ แต่หากแนวดังกล่าวไม่สำเร็จ พล.อ.ประยุทธ์เตรียมที่จะใช้แนวทางที่ 2 เพื่อระงับปัญหาดังกล่าว
ที่สำนักงานศาลยุติธรรม อาคารศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม และนายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม ร่วมกันแถลงข่าวกรณีการสร้างบ้านพักตุลาการเชิงดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ พร้อมฉายภาพแผนที่และภูมิทัศน์พื้นที่การก่อสร้างบนจอโปรเจ็กเตอร์
นายสราวุธได้ชี้แจงถึงความเป็นมาของการก่อสร้าง และรายละเอียดของสัญญาการก่อสร้างทั้งหมด โดยยืนยันว่าทำถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย และไม่ได้ทำลายป่า อย่างไรก็ตาม สำนักงานศาลยุติธรรมพร้อมที่จะรับข้อมูลและข้อเสนอแนะในทางที่สร้างสรรค์ ที่จะแก้ปัญหาต่างๆ ซึ่งในวันจันทร์ที่ 9 เม.ย.นี้ เวลา 09.00 น. คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) ซึ่งเปรียบเหมือนคณะรัฐมนตรีของศาล มีหน้าที่บริหารกำกับดูแลกิจการทั่วไปของสำนักงานศาล ที่มีตนเป็นเลขานุการ จะเสนอที่ประชุมในประเด็นนี้ว่า ก.บ.ศ.จะมีความเห็นหรือมติให้สำนักงานศาลดำเนินการอย่างไร จะปฏิบัติตาม และจะแจ้งผลมตินี้ให้นายกฯ ทราบด้วย ดังนั้นช่องทางในการแก้ไขปัญหาจะต้องเข้าสู่การพิจารณาของ ก.บ.ศ. และในช่วงบ่ายวันที่ 9 เม.ย. จะแถลงข่าวให้ทราบถึงผลต่อไป
"การรับฟังความคิดเห็นทำได้หลายทาง ก็ไม่ได้ปฏิเสธอะไร เพียงแต่ว่าเนื่องจากการทำงานของตนมีประธานศาลฎีกาเป็นผู้บังคับบัญชา และ ก.บ.ศ.กำกับดูแลการบริหารจัดการ เพราะฉะนั้นจึงจะใช้ช่องทางนี้ในการดำเนินการ ถ้า ก.บ.ศ.มีมติอย่างไร ก็จะปฏิบัติตาม เราก็ต้องรับฟังก่อนว่าจะยุติโครงการหรือไม่ ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงว่าจะทำอย่างไร ความเสียหายที่เกิดขึ้นมีหรือไม่และผิดสัญญาหรือไม่ เราก็ต้องอยู่บนพื้นฐานของเหตุและผล เราไม่อยากให้ความเสียหายเกิดขึ้นกับภาครัฐ" นายสราวุธกล่าว และว่า นายชีพ จุลมนต์ ประธานศาลฎีกา มีดำริให้นำเรื่องนี้เข้าที่ประชุม ก.บ.ศ.
ส่วนที่ พล.อ.ประวิตรระบุแนวโน้มที่จะได้ข้อยุติเรื่องนี้คือจะให้ยุติการก่อสร้างโครงการนี้นั้น นายสราวุธ กล่าวว่า คงไม่สามารถให้ความเห็นได้จนกว่า ก.บ.ศ.จะพิจารณาแล้วเสร็จ ซึ่งคำสั่งจะให้ยุติการก่อสร้างนั้นไม่ทราบ เพราะยังไม่ได้รับคำสั่งหรือไม่ได้รับแจ้งอะไร ขณะนี้ในพื้นที่ผู้รับจ้างยังคงปฏิบัติตามสัญญา แต่ส่วนการดำเนินงานตนไม่ได้ไปดูในรายละเอียด ยอมรับว่าการก่อสร้างลุล่วงไปแล้วกว่า 98%
เมื่อถามว่า ผู้รับจ้างจะดำเนินการต่อไปจนกว่าจะมีคำสั่งจากศาลสั่งยุติใช่หรือไม่ นายสราวุธกล่าวว่า ตนมีหน้าที่ปฏิบัติตามสัญญา เพราะถ้าจะยกเลิกสัญญาหรือไม่ปฏิบัติตามสัญญา อาจจะมีการฟ้องร้องเกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้นเราต้องอยู่ภายใต้กฎหมายและสัญญาที่มีอยู่ ซึ่งหากยกเลิกสัญญาหรือยุติการก่อสร้างแล้วจะเกิดความเสียหายอย่างไรบ้าง คู่สัญญาคงจะฟ้องศาลในฐานะคู่สัญญาว่าเราผิดสัญญา เพราะอยู่ดีๆ ไปยกเลิกสัญญาโดยไม่มีเหตุผล หรือไม่มีข้อที่ผิดตามสัญญา
เลขาธิการสำนักงานศาลฯ กล่าวถึงข้อเรียกร้องให้ คสช.ใช้มาตรา 44 เข้ามาแก้ปัญหาว่า ไม่มีความเห็น คนที่มีอำนาจหน้าที่ก็ต้องปฏิบัติไปตามอำนาจหน้าที่ของตัวเอง หากใช้มาตรา 44 แล้วจะขัดกับข้อกฎหมายหรือไม่นั้น เหตุการณ์ยังไม่เกิดขึ้น ดังนั้นจะไม่สมมติเหตุการณ์อะไรขึ้นมา ซึ่งขั้นตอนที่มาแถลง เพราะต้องการแถลงจุดยืนให้เห็นว่าเราพร้อมที่จะฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย และพร้อมที่จะรับฟังข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์กับส่วนรวมกับทุกฝ่าย ทั้งนี้ ในวันที่ 21 เม.ย.จะมีการปลูกต้นไม้ คืนสภาพแวดล้อมเดิม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกฤตย์ เยี่ยมเมธา, นายดิเรก จันทรดิรก และนายสรุท ศรีถาวร กลุ่มตัวแทนภาคประชาชน ในฐานะตัวแทนเครือข่ายขอคืนผืนป่าดอยสุเทพ ซึ่งเดินเท้าจากเชียงใหม่เมื่อวันที่ 4 เม.ย. เพื่อยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อขอให้ใช้มาตรา 44 ในการสั่งระงับการก่อสร้างบ้านพักของข้าราชการตุลาการนั้น ได้เดินทางถึงจังหวัดลำปาง ก่อนจะแถลงข่าวขอยุติการเดินไว้ชั่วคราว เนื่องจากหน่วยงานข่าวกรองได้แจ้งว่าอาจจะมีมือที่สามทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยกับกลุ่มของตนเอง จนกลายเป็นความไม่สงบเกิดขึ้นในบ้านเมือง และส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |