“คลัง” เคาะจ่ายเงินเยียวยาอาชีพอิสระ 5,000 บาทให้ 14 ล้านคนที่ผ่านเกณฑ์ คาดสัปดาห์นี้จ่ายเงินครบ ส่วน“ธ.ก.ส.” เตรียมโอนเงินช่วยเกษตรกร 8.35 ล้านราย ล็อตแรกศุกร์นี้ 15 พ.ค. ฝ่ายค้านหวั่นข้อมูลรายชื่อมั่ว แนะส่งคนลงสำรวจพื้นที่หาเกษตรกรตัวจริง ก.พาณิชย์จัดให้ ดันพักหนี้เกษตรกร 900 ล้าน-อุ้มราคาปาล์ม
เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังสรุปความคืบหน้ามาตรการเยียวยา 5,000 บาท จากการลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ w ww.เราไม่ทิ้งกัน.com ณ วันที่ 11 พ.ค. 2563 มีผู้ผ่านเกณฑ์แล้ว 14 ล้านคน คาดว่าจะสามารถจ่ายเงินเยียวยาให้ได้ทั้งหมดภายในสัปดาห์นี้
ทั้งนี้ ในวันที่ 12 พ.ค.2563 จะมีการโอนเงินให้ผู้ผ่านเกณฑ์อีกประมาณ 1.6 ล้านคน ซึ่งรวมถึงกลุ่มที่ข้อมูลบัญชีไม่ถูกต้องและได้เปลี่ยนแปลงวิธีการรับเงินเป็นช่องทางพร้อมเพย์ที่ผูกกับบัตรประชาชนแล้ว ส่วนการเปิดทบทวนสิทธิภายหลังปิดให้มีการดำเนินการดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 10 พ.ค.2563 เวลา 24.00 น. พบว่า มีผู้ขอทบทวนสิทธิรวมทั้งสิ้น 6.5 ล้านคน นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มขอข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งมีผู้มาให้ข้อมูลเพิ่มเติมแล้ว 6.1 ล้านคน ยังขาดอีก 4 แสนคน
“กระทรวงการคลังคาดว่าภายในวันที่ 17 พ.ค.2563 จะสามารถบริหารจัดการข้อมูลผู้ลงทะเบียนทั้งหมดให้แล้วเสร็จได้ในระดับ 98-99% โดยอาจมีกลุ่มที่ตกค้างบ้าง เช่น กลุ่มที่ขอข้อมูลเพิ่มเติมแต่ยังไม่ได้เข้ามาให้ข้อมูล และยังมีกลุ่มผู้ขอทบทวนสิทธิที่ผู้พิทักษ์สิทธิลงพื้นที่แล้ว แต่ไม่พบตัวเนื่องจากปัจจุบันไม่ได้อยู่ตามที่อยู่ที่ได้แจ้งไว้ตอนขอทบทวนสิทธิ กรณีนี้จะส่งต่อข้อมูลให้ผู้พิทักษ์สิทธิในจังหวัดที่ท่านอยู่ในขณะนี้รับไปเป็นผู้ดูแลต่อไป ซึ่งจะใช้เวลาในการดำเนินการเพิ่มขึ้นบ้าง” นายลวรณกล่าว
นายลวรณกล่าวถึงความคืบหน้าเรื่องมาตรการเยียวยากลุ่มเกษตรกร ขณะนี้กระทรวงการคลังได้ตรวจสอบความซ้ำซ้อนกับฐานข้อมูลการจ่ายเงินเยียวยาตามมาตรการเยียวยา 5,000 บาท และฐานข้อมูลข้าราชการและข้าราชการบำนาญตามที่กระทรวงเกษตรขอความอนุเคราะห์เรียบร้อยแล้ว และได้ส่งข้อมูลให้กระทรวงเกษตรฯ เร่งดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การจ่ายเงินเยียวยาเกษตรกรเป็นไปตามกำหนดต่อไป
ด้านนายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยถึงขั้นตอนการจ่ายเงินให้แก่ครัวเรือนเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับหน่วยงานรัฐ ตามมาตรการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รายละ 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน จำนวน 10 ล้านราย ภายใต้วงเงินงบประมาณ 150,000 ล้านบาท ว่ากระบวนการดังกล่าว ธ.ก.ส.จะรับข้อมูลผู้ขึ้นทะเบียนที่ผ่านการตรวจสอบแล้วจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และดำเนินการโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรง ในกรณีเกษตรกรมีบัญชีเงินฝากกับ ธ.ก.ส. แล้ว สามารถใช้บัญชีเงินฝากเดิมได้โดยไม่ต้องมาเปิดบัญชีใหม่
ผู้จัดการ ธ.ก.ส.กล่าวว่า สำหรับเกษตรกรที่ไม่มีบัญชีเงินฝากกับ ธ.ก.ส. สามารถแจ้งเลขที่บัญชีเงินฝากที่มีอยู่กับธนาคารอื่น โดยเตรียมหมายเลขบัตรประชาชน หมายเลขโทรศัพท์ และเลขที่บัญชีเงินฝากธนาคารอื่น จากนั้นเข้าเว็บไซต์ w ww.เยียวยาเกษตรกร.com ซึ่งมีเกษตรกรบางส่วนได้แจ้งบัญชีเงินฝากธนาคารอื่นแล้ว โดยเว็บไซต์ w ww.เยียวยาเกษตรกร.com เป็นเพียงการรับแจ้งช่องทางในการโอนเงินเท่านั้น ยังไม่ได้ตรวจสอบความซ้ำซ้อนของการให้ความช่วยเหลืออื่นๆ ของรัฐ เช่น การเยียวยาผู้ประกอบอาชีพอิสระ (เราไม่ทิ้งกัน) ข้าราชการบำนาญ ประกันสังคม หรือโครงการอื่นๆ
นายอภิรมย์ย้ำว่า กรณีเกษตรกรที่อยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียนหรือปรับปรุงข้อมูลทะเบียนเกษตรกรกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2563 ซึ่งหมดเขตวันที่ 15 พ.ค.2563 จะไม่พบข้อมูลในเว็บไซต์ เนื่องจากข้อมูลที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดส่งให้ ธ.ก.ส. กลุ่มเป้าหมายแรกจำนวน 8.35 ล้านราย เป็นข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรเพียง ณ วันที่ 30 เม.ย.2563 เท่านั้น ดังนั้นเกษตรกรจะสามารถแจ้งบัญชีเงินฝากธนาคารอื่น หลังจากได้ตรวจสอบความซ้ำซ้อนตามเงื่อนไขของโครงการ โดยเริ่มแจ้งได้ตั้งแต่วันที่ 27 พ.ค.2563 และ ธ.ก.ส.จะเริ่มโอนเงินเข้าบัญชีกลุ่มเป้าหมายที่ 2 พร้อมกับเกษตรกรที่มีบัญชี ธ.ก.ส. ในวันที่ 29 พ.ค.2563 เป็นต้นไป นอกจากนี้ เว็บไซต์ดังกล่าวยังสามารถตรวจสอบผลการโอนเงินได้ โดยเกษตรกรที่ได้รับเงินกลุ่มแรกกว่า 8 ล้านราย สามารถตรวจสอบได้ตั้งแต่วันที่15 พ.ค.2563 เป็นต้นไป
“โครงการดังกล่าว ธ.ก.ส.จะเร่งดำเนินการภายใต้การควบคุมการแพร่กระจายของโควิด-19 อย่างเคร่งครัด ซึ่งนอกจากเกษตรกรไม่จำเป็นต้องมีบัญชีเงินฝากกับ ธ.ก.ส.แล้ว ยังสามารถใช้บัตรเอทีเอ็มของ ธ.ก.ส.และของธนาคารอื่นๆ ถอนเงินจากตู้เอทีเอ็มได้ทุกธนาคาร หรือใช้โทรศัพท์มือถือที่มีแอปพลิเคชัน ธ.ก.ส. A-Mobile ถอนเงินโดยไม่ใช้บัตรเอทีเอ็มที่ตู้เอทีเอ็มของ ธ.ก.ส.ได้อีกด้วย” นายอภิรมย์กล่าว
วันเดียวกันนี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงมาตรการช่วยเหลือประชาชน ของกระทรวงพาณิชย์ในสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ว่า เมื่อวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา มีการประชุมกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร โดยมีมติร่วมในหลักการ ให้พักชำระหนี้เกษตรกร ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ในวงเงินประมาณ 900 ล้านบาท โดยกองทุนต้องกลับไปแก้ไขระเบียบเกี่ยวข้อง ที่เดิมใช้มาตรการขยายเวลาชำระหนี้ แล้วเข้าประชุมคณะกรรมการกองทุนฯ อีกครั้ง เพื่อออกเป็นระเบียบปฏิบัติ
นายบุณยฤทธิ์กล่าวว่า สินค้าเกษตร 5 ชนิดหลัก คือ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปาล์ม โดย 4 ชนิดราคาปรับตัวดีขึ้น ยกเว้นปาล์ม ที่ราคาปรับตัวลดลง เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาด มีการจำกัดการเดินทาง ทำให้การใช้พลังงาน ไบโอดีเซลที่มีปาล์มเป็นวัตถุดิบลดน้อยลง เมื่อความต้องการน้อยราคาจึงตกไปบ้าง แต่ขณะนี้สถานการณ์เริ่มดีขึ้น การเดินทางสัญจรและการขนส่งเริ่มกลับมา บริษัทผู้ผลิตไบโอดีเซลจึงพร้อมที่จะรับซื้อผลปาล์มมากขึ้น ขณะที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ โดยคณะรัฐมนตรีอนุมัติซื้อน้ำมันปาล์มดิบที่ยังเหลือรับการซื้ออีก 3 หมื่นตันในเร็ววันนี้ คาดว่าราคาผลปาล์มจะขยับตัวสูงขึ้น แต่หากสเถียรภาพยังไม่ดีขึ้น จะสำรองการรับซื้อเพิ่มอีก 1 แสนตัน รวมถึงขอความร่วมมือกระทรวงมหาดไทย ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดรับซื้อผลปาล์มในราคาเป็นธรรม ไม่กดราคากับชาวสวนปาล์ม ซึ่งถ้าหากมีการกดราคาจนไม่เป็นธรรม จะขัดกฎหมายมาตรา 29 การกดราคาสินค้าเกินควร ซึ่งจะมีโทษทั้งจำและปรับ
ปลัดกระทรวงพาณิชย์กล่าวอีกว่า ช่วงนี้เป็นฤดูกาลผลไม้และจากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการส่งออก โดยเฉพาะมะม่วง ที่ไม่สามารถส่งออกขายนอกประเทศได้ เนื่องจากหลายประเทศมีการปิดพรมแดน กระทรวงพาณิชย์??จึงร่วมกับบริษัท ไปรษณีย์ไทยฯ ช่วยกันจำหน่ายผลไม้ออนไลน์ภายในประเทศ โดยไปรษณีย์ไทยที่มีกลไกโลจิสติกส์จะเข้าไปรับสินค้าถึงในสวน และจัดส่งให้ด้วย ขณะที่กรมท่าอากาศยาน ให้ความร่วมมือจัดพื้นที่ในสนามบินเปิดขายผลไม้ ซึ่งมีบริการส่งฟรีในระยะทางไม่เกิน 20 กิโลเมตร นอกจากนี้ ยังมีโครงการแลกสินค้าการเกษตร เช่น ข้าวแลกปลา เป็นแนวคิดกระทรวงพาณิชย์ ที่ใช้กลไกพาณิชย์จังหวัด ให้เป็นเซลส์แมนขายสินค้า เนื่องจากแต่ละจังหวัดรู้ว่าตัวเองมีสินค้าอะไร ที่ล้นอาจตลาด อยากระบายไปที่อื่น ขณะที่บางจังหวัดรู้ว่าตัวเองต้องการอะไร โดยจังหวัด วิสาหกิจชุมชน และสหกรณ์ ร่วมมือกัน เสนอสินค้าจับคู่กัน ทำให้เกิดมูลค่าการค้าเพิ่มขึ้นมากกว่าการค้าปกติ โดยมีมูลค่าเพิ่มขึ้นมากว่า 900 ล้านบาท ซื้อขายสินค้าเกษตรออกนอกพื้นที่มากขึ้น
เมื่อถามถึงการส่งออกสินค้า ขณะนี้เริ่มทำได้แล้วหรือไม่ ปลัดกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า ช่วงสถานการณ์แพร่ระบาด ทุกประเทศจำกัดการเคลื่อนย้าย ทั้งคนและสินค้า โดยเฉพาะประเทศจีน ที่มีความต้องการสินค้าเกษตรของเราค่อนข้างเยอะ ที่ผ่านมาใช้การขนส่งผ่านประเทศเพื่อนบ้านและวิ่งยาวไปถึงประเทศจีน แต่มีการล็อกด่านพรมแดน จึงเกิดความยากลำบาก รัฐบาลจึงใช้การเจรจาในระดับสูงด้านการทูต ซึ่งปัญหาเริ่มคลี่คลายแล้ว โดยเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมา สปป.ลาวได้กำหนดจุดเปลี่ยนถ่ายสินค้า ให้ใช้รูปแบบอยู่ดินแดนประเทศไหน ให้คนชาตินั้นขับ จึงเกิดความสะดวก เพราะหากใช้คนจากประเทศเราขับเข้าไปก็จะถูกกักตัว ขณะที่ปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทางการจีนเปิดนำเข้าผลไม้ทางบก บริเวณด่านตงซิง ที่อยู่ทางตะวันออกของประเทศเวียดนาม และด่านหมิงเสียง ก็เปิดด่านรถไฟเพิ่มจากเดิมที่มีแต่ด่านรถยนต์
ปลัดกระทรวงพาณิชย์กล่าวด้วยว่า ทางกระทรวงยังมีโครงการให้ประชาชนเข้าถึงสินค้าอุปโภคบริโภคราคาถูก โดยจัดโครงการธงฟ้าสู้ภัยโควิด-19 ที่เริ่มต้นเฟสแรกมาตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม มีรถเร่กว่าร้อยคันวิ่งขายสินค้าราคาประหยัดในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และจะมีเฟส 3 ในวันที่ 13 พฤษภาคม จะเพิ่มรถเร่เป็น 300 คัน รวมถึงโครงกาารพาณิชย์ลดราคาเพื่อประชาชน ที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 16 เมษายนที่ผ่านมา มีสินค้าร่วมรายการ 72 รายการ ผู้ประกอบการ 31 ราย และเฟส 2 เมื่อวันที่ 25 เมษายน มีผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นเป็น 51 ราย และสินค้า 3,025 รายการ และเตรียมที่จะมีเฟส 3 อีกในเร็ววันนี้ นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจาก 7-11 ลดราคาอาหารแช่แข็ง 6 เมนู จากราคา 30-32 บาท จะขายในราคาเดียวคือ 20 บาท เช่นเดียวกับบริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด จัดสินค้ามาม่าคัฟ 14 รส จากราคา 13 บาท ลดเหลือราคา 10 บาท เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้ซื้อสินค้าราคาถูก และลดค่าครองชีพ
ส่วนความเห็นจากฝ่ายการเมือง นายนิยม ช่างพินิจ ส.ส.พิษณุโลก พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เห็นด้วยกับมาตรการเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่ในทางปฏิบัติยังมีปัญหาอยู่บ้าง เพราะเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนก่อนปี 2562 และปัจจุบันยังคงเป็นเกษตรกรอยู่ กลุ่มนี้ยังไม่ได้รับการเยียวยา เหตุยังไม่ปรับปรุงข้อมูลเกษตรกรให้เป็นปีปัจจุบัน รวมทั้งหลายพื้นที่ยังประสบปัญหาภัยแล้ง ไม่สามารถเพาะปลูก เพราะเมื่อไม่มีการแจ้งปลูก ก็ไม่สามารถปรับปรุงข้อมูลเกษตรกรได้ ดังนั้นรัฐควรผ่อนปรนหรือมีมาตรการเข้ามาช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรกลุ่มนี้ ซึ่งมีประมาณ 1.7 ล้านครัวเรือน ซึ่งได้รับผลกระทบความเดือดร้อนเช่นเดียวกัน โดยไม่ควรใช้ระบบ AI เช่นเดิม เกรงว่าจะมั่วเหมือนที่ผ่านมา โดยต้องส่งคนลงพื้นที่สำรวจข้อมูลเพื่อได้ข้อเท็จจริงจะได้ช่วยเหลือตรงกลุ่มเป้าหมาย.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |