จับตาแผนฟื้นฟูการบินไทย ‘ทอน’แนะปล่อยเจ้าสัวฮุบ


เพิ่มเพื่อน    

  จับตาคมนาคม ชงแผนฟื้นฟูเข้า ครม. ยืนกรานไม่เสนอให้คลังค้ำประกันเงินกู้ 5 หมื่นล้าน ขณะที่ "ธนาธร" เล่นใหญ่! แนะปล่อยให้เจ๊ง แล้วประเคนนายทุนเปิดเสรีน่านฟ้า แต่น่าเสียดายผู้จะมาซื้อกิจการที่มีศักยภาพในไทยมีเพียงแค่ 5 เจ้า  กลุ่มซีพี, กลุ่มเบียร์ช้าง, กลุ่มบีทีเอส, กลุ่มกัลฟ์ และกลุ่มคิงเพาเวอร์ กับทุนจีน

    แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 12 พฤษภาคมนี้ กระทรวงคมนาคมจะเสนอแผนฟื้นฟูของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) แบบเต็มรูปแบบให้ที่ประชุม ครม.พิจารณา ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ โดยหลังจากวันอังคารที่ 12 พ.ค.แล้วจะได้เห็นแนวทางการแก้ไขปัญหาของการบินไทยอย่างชัดเจน สำหรับแผนดังกล่าว จะเป็นการรักษาผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชน พร้อมยืนยันว่าจะดำเนินการไม่ให้ประชาชนได้รับความเสียหาย และขอให้สบายใจได้ว่าจะไม่เบียดเบียนเงินภาษีของพี่น้องประชาชนอย่างแน่นอน
    แหล่งข่าวกล่าวว่า เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคมที่ผ่านมา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม และนายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม เข้าหารือกับ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งได้หารือถึงแผนฟื้นฟู โดยให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ให้การบินไทย วงเงิน 50,000 ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องในระยะสั้น โดยมีหลายฝ่ายไม่เห็นด้วยกับการกู้เงินครั้งนี้ 
    “กระทรวงคมนาคมเห็นชอบให้การบินไทยดำเนินการฟื้นฟูกิจการตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย แต่ไม่เห็นด้วยที่จะเสนอให้คลังค้ำประกันเงินกู้ 5 หมื่นล้านให้การบินไทย” แหล่งข่าวกล่าว
    อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ได้มอบหมายให้นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม และนายชยธรรม์ พรหมศร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ร่วมกันดูในรายละเอียดของแผนฟื้นฟูการบินไทยที่มีการปรับปรุง ก่อนที่จะมีการนำเสนอให้กระทรวงคมนาคมสรุปผลอย่างเป็นทางการก่อนเข้า ครม.อีกครั้งหนึ่ง ครั้งจากเมื่อวันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมาไม่ได้เสนอให้ที่ประชุม ครม.
    นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำคณะก้าวหน้า อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ได้เฟซบุ๊กไลฟ์แสดงความคิดเห็นกรณีแผนฟื้นฟูบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์เห็นชอบให้กระทรวงการคลังซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ค้ำประกันกู้เงิน 50,000 ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่อง ใช้ในการดำเนินงานและชำระหนี้ระยะสั้นว่า 
    "รัฐบาลอุ้มการบินครั้งนี้ไม่ได้ใช้เงินเพียงแค่ 50,000 ล้านบาท เพราะใช้เพียงหล่อเลี้ยงสภาพคล่อง และจ่ายเงินเดือนพนักงาน ในขณะที่ธุรกิจการบิน การท่องเที่ยว และสนามบินปิดอยู่ ต่อไปถ้าการบินไทยล้มละลาย เจ้าหนี้ได้เงินทุกบาททุกสตางค์จากรัฐบาล แต่ยังมีก้อนที่สองที่พูดถึงกันน้อย คือการเพิ่มทุนเพื่อปรับปรุงงบการเงินให้แข็งแรง และเดินหน้าธุรกิจในระยะยาวอีก 80,000 ล้านบาท รวมแล้วจะต้องใช้เงิน 130,000 ล้านบาท
แนะปล่อยให้เจ๊งแล้วขาย
    ผมไม่เห็นด้วยกับวิธีการอุ้มการบินไทยแบบรัฐบาล เพราะแบบที่รัฐบาลทำอยู่ปัจจุบันนั้น ถ้าการบินไทยไปได้ดี ผู้ถือหุ้นเป็นผู้ชนะ ถ้าการบินไทยเจ๊ง ประชาชนแพ้ ผู้ถือหุ้นไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย เจ้าหนี้และผู้ถือหุ้นตามมาตรการของรัฐบาลนี้ไม่ต้องมีความรับผิดชอบใดๆ กับผลประกอบการของการบินไทย ไม่ว่าจะขาดทุนเท่าไรก็ตาม แต่ถ้ากำไรพวกเขาได้ประโยชน์ กลับกันในส่วนของประชาชน ถ้าการบินไทยไปได้ดี ประชาชนไม่ได้อะไรเลย แต่ถ้าการบินไทยเจ๊ง ประชาชนจะต้องเป็นคนแบกหนี้ เป็นคนที่จะต้องจ่ายเงินเพิ่มทุนลงไป ดังนั้นผมเห็นว่าเรามีรูปแบบอื่น มีวิธีแบบอื่นที่จะจัดการปัญหาของการบินไทยในวันนี้ได้ดีกว่านี้
    ส่วนประมาณการงบกำไรขาดทุนในแผนฟื้นฟูระหว่างผู้บริหารการบินไทยกับรัฐบาล ที่ประมาณการว่าในปีนี้จะติดลบ 59,000 ล้านบาท แต่ปี 2564 จะกลับมามีกำไร 4,500 ล้านบาท และในปี 2567 จะมีกำไร 13,000 ล้านบาทนั้น ในฐานะที่ทำธุรกิจ เป็นไปไม่ได้ที่การบินไทยจะลดต้นทุน 42% ภายใน 2 ปี เพราะผมไม่เชื่อมั่นแผนธุรกิจนี้ และผู้ที่ทำแผนธุรกิจนี้รู้ดีว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะไม่ได้ขอเงินแค่ 50,000 ล้านบาท แต่ขอเงินจากรัฐบาลถึง 130,000 ล้านบาท ถ้าเป็นไปตามแผนธุรกิจนี้จริง ไม่จำเป็นที่จะต้องกู้เงินและเพิ่มทุนเช่นนี้
    เรามีทางเลือกอยู่ 4 ทาง คือ 1.เปิดเสรีน่านฟ้า รัฐบาลถือหุ้นการบินไทยเหลือ 0% แล้วให้สายการบินทุกแห่งแข่งขันอย่างเสรี 2.เปิดเสรีน่านฟ้า หุ้นการบินไทยที่รัฐบาลถือต้องไม่เกิน 25% แต่ให้กลไกตลาดมีอำนาจพอที่จะกำกับการบินไทย 3.ทำแบบปัจจุบัน ที่รัฐบาลถือหุ้นมากกว่า 51% 4.รัฐบาลถือหุ้นการบินไทย 100% แต่ปัจจุบันมีหนทางคือ 1.ปล่อยการบินไทยล้มละลายไปเลย รัฐบาลไม่เข้าไปยุ่ง ให้กลไกตลาดเป็นตัวจัดการ ถ้ามีคนสนใจ ผู้ซื้อรายใหม่จะไปดำเนินการต่อเอง 2.การเข้าไปช่วยการบินไทยปล่อยกู้ในระยะสั้นเพื่อนำไปสู่การขาย หรือล้มละลายอย่างมีการจัดการ (Bridge Loan) 3.ยึดการบินไทยกลับมาเป็นของรัฐ (Nationalization) ตัดผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้ออกให้หมด ซึ่งจะไปสู่จุดจบแบบไหนก็ได้ 
    "น่าเสียดายที่ผู้ซื้อกิจการการบินไทยที่มีศักยภาพในไทยมีเพียงแค่ 5 เจ้า ได้แก่ กลุ่มซีพี กลุ่มเบียร์ช้าง กลุ่มบีทีเอส กลุ่มกัลฟ์ และกลุ่มคิงเพาเวอร์ ซึ่งมีธุรกิจบางอย่าง หรือผลประโยชน์บางอย่างที่สามารถใช้ประโยชน์จากการบินไทยได้ ส่วนต่างชาติแคนดิเดตที่เป็นไปได้ คือสายการบินจากประเทศจีน เนื่องจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์และรัฐบาลจีนมีความใกล้ชิดกันสูง และครอบงำธุรกิจด้านต่างๆ ในประเทศไทย"
    นายธนาธรยังกล่าวว่า ในภาวะแบบนี้ถ้ารัฐบาลถือหุ้นใหญ่ก็จะกลับไปสู่แบบเดิม วิธีที่ดีที่สุดก็คือการเปิดเสรีน่านฟ้า และให้รัฐบาลไม่ต้องถือหุ้น หรือถือหุ้นน้อยกว่า 25% และใช้ต่อเมื่อมีวิกฤติและความจำเป็น เป็นทางเลือกที่ดีกว่าข้อเสนอของรัฐบาลในปัจจุบันนี้ เพราะเมื่อเจ๊งประชาชนรับ แต่กำไรผู้ถือหุ้นเอาไป ไม่มีความยุติธรรมกับประชาชน 
    "ยืนยันว่ารัฐบาลมีทางเลือกอื่นที่ประชาชนไม่ต้องรับต้นทุนทั้งหมดของการอุ้มการบินไทย ในขณะที่ถ้าจะเลือกให้รัฐบาลถือหุ้นต่อไป เลือกที่จะถือหุ้นที่เล็ก น้อยกว่า 25% เพื่อนำไปสู่การเปิดเสรีน่านฟ้า ผมเชื่อว่าเงิน 130,000 ล้านบาทเป็นเงินจำนวนที่เยอะ ประเทศไทยมีงบประมาณ 3 ล้านล้านบาทต่อปี คิดเป็น 3-4% ของงบประมาณประเทศต่อปี เรากำลังบอกว่าเราจะใช้เงินก้อนนี้ไปอุ้มการบินไทย โดยที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียคนอื่นไม่ต้องรับผิดชอบเลย ผมไม่เห็นด้วย และผมเชื่อว่าเรามีทางเลือกที่ดีกว่านี้" นายธนาธรทิ้งท้าย
ก้าวไกลไม่เชื่อการบินไทย
    ขณะที่พรรคก้าวไกลออกแถลงการณ์ว่า ถ้าการช่วยเหลือการบินไทยต้องใช้เงินสูงถึง 134,000 ล้านบาทเป็นอย่างน้อย พรรคก้าวไกลขอเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเผยแผนฟื้นฟูการบินไทยโดยละเอียดก่อนที่จะมีการอนุมัติ เพื่อให้ประชาชนเจ้าของเงินภาษีได้พิจารณาก่อน ทั้งนี้ เราพบว่าแผนฟื้นฟูดังกล่าวไม่ได้มีลักษณะแตกต่างไปจากแผนปฏิรูปการบินไทยเมื่อปี 2558 ซึ่งล้มเหลวมาแล้ว ทำให้ไม่สามารถเชื่อได้ว่าการบินไทยจะสามารถปรับโครงสร้างได้สำเร็จ
    “ซึ่งถ้ารายงานข่าวข้างต้นมาจากแผนฟื้นฟูการบินไทยจริง เราไม่อาจเชื่อได้ว่า “นี่คือการช่วยครั้งสุดท้าย” ตามคำพูดของนายกรัฐมนตรี และเงินในการอุ้มการบินไทยจะมากกว่า 134,000 ล้านบาทอย่างแน่นอน” 
    จากนั้นก็คงถึงเวลาที่จะต้องทบทวนว่า เรายังจำเป็นต้องมีสายการบินแห่งชาติอยู่อีกหรือไม่ และการบินไทยนั้นได้ทำหน้าที่ของสายการบินแห่งชาติได้ดีแค่ไหน ประชาชนและประเทศได้ประโยชน์อะไรจากการบินไทย หรือที่ผ่านมาการบินไทยเป็นเพียงแหล่งหาผลประโยชน์ให้แก่เครือข่ายของผู้มีอำนาจ กองทัพ และข้าราชการบนฐานภาษีของประชาชนเท่านั้น
    “ทางเลือกแรก หากเราจะไม่มีสายการบินแห่งชาติอีกต่อไป  จำเป็นต้องมีเงื่อนไขการเปิดเสรีน่านฟ้าเพื่อให้เกิดการแข่งขันที่จะนำไปสู่ผลประโยชน์ของผู้บริโภค ส่วนทางเลือกที่เหลือ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีมืออาชีพด้านการกู้ธุรกิจล้มละลายเข้ามาบริหารในช่วงฟื้นฟู ก่อนที่จะกลับมาขายหุ้นบางส่วนให้เอกชนเมื่อฟื้นฟูเสร็จ ซึ่งสัดส่วนหุ้นที่จะขายให้เอกชนจะต้องตัดสินใจว่า หลังจากวิกฤติครั้งนี้รัฐจะยังคงถือหุ้นส่วนใหญ่ในการบินไทยหรือไม่ ถ้าถือหุ้นส่วนใหญ่ยังจะคงสัดส่วนมากกว่าหรือน้อยกว่า 50%” แถลงการณ์พรรคก้าวไกลระบุทิ้งท้าย
       นายโสภณ ซารัมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้ความเห็นว่า การบินไทยเป็นบริษัทมหาชนของรัฐ เพื่อบริการประชาชน เหมือนกิจการอื่นๆ เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย บริษัท ขสมก เป็นต้น บริการของรัฐเหล่านี้ มีไว้สำหรับบริการประชาชนไม่มุ่งเน้นผลกำไรเป็นหลักจึงทำให้หน่วยงานเหล่านี้ขาดทุนมาโดยตลอด
       จะเปรียบเทียบให้เห็นการรักษาโรคคนป่วยมีอยู่สองอย่างประกอบกันคือหมอกับคนไข้หมอ (รัฐบาล) ต้องพิจารณาว่าคนไข้ต้องใช้ยาประเภทใด เคยใช้ยาประเภทใดมาแล้วหายแล้ว และก็ยังป่วยอีกก็ไม่ควรใช้ ฉะนั้นก็ต้องใช้ยาแรง อาจต้องใช้ถึงขั้นผ่าตัดยกเครื่องใหม่เปลี่ยนอวัยวะที่เป็นพิษออก ตัดพิษโรคร้ายที่แฝงตัวอยู่ออกให้หมด ยอมเสียอวัยวะเพื่อรักษาชีวิตดีกว่าไหมครับ เพราะว่าหมอยังมีคนไข้อื่นๆ ให้รักษาในขณะนี้เป็นจำนวนมาก เช่น โรคภัยแล้งของเกษตรกรซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของประเทศ หรือแม้แต่ภัยโควิดซึ่งไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างในอนาคต เป็นต้น อีกประการหนึ่ง หมอทางโรงพยาบาลก็เริ่มจนแล้ว ยกเว้นไม่รู้ว่าตัวเองจนจริงๆ คนไข้มาถึงวันนี้ยังไม่รู้ว่าตัวเองป่วยไม่ยอมรับการรักษา ยังอยากใช้ยาแบบเดิมๆ ไม่เจ็บไม่ปวด ไม่ทรมาน จะได้สบายๆ ยังสวยยังหล่อไม่เสียแขนเสียขาอยู่ เพราะคิดว่ายังไงหมอก็ไม่ปล่อยให้ตาย
         นายโสภณสรุปว่า การรักษาผู้ป่วย (การบินไทย) คราวนี้ถ้าใช้วิธีไม่ถูก คนที่เดือดร้อนก็คือประชาชน (ญาติก็ไม่ได้เป็น พระคุณก็ไม่เคยมีต่อกัน ต้องมีส่วนรับผิดชอบจึงเข้าภาษิตที่ว่าเนื้อไม่ได้กินกระดูกแขวนคอ) ที่พูดมานี้ไม่มีอคติกับใครทั้งสิ้น.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"