ไทยป่วยเพิ่ม 6 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต "3 กลุ่มกิจการ/กิจกรรม" เตรียมเฮ! ศบค.ผ่อนปรนเฟส 2 เคาะ 15 พ.ค. สธ.ย้ำห้ามการ์ดตก เผยต้องพึ่งวัคซีนจีน-สหรัฐ รับคิดค้นเองต้องรอ 2-3 ปีไม่ทันป้องโควิด กห.หาสถานที่กักตัว-คัดกรองเพิ่ม ขยับรองรับคนไทยจากต่างประเทศ 400 คนต่อวัน ภูเก็ตโล่งไร้ติดเชื้อรายใหม่
ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม เวลา 11.30 น. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่า สถานการณ์ของประเทศไทย มีผู้ป่วยรายใหม่ 6 ราย ยอดผู้ป่วยสะสม 3,015 ราย หายป่วยสะสม 2,796 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม อยู่ระหว่างรักษาตัว 163 ราย
สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ 6 ราย รายที่ 1 เป็นเด็กชายไทย อายุ 6 ปี มีภูมิลำเนาอยู่ใน จ.นราธิวาส มีประวัติสัมผัสผู้ยืนยัน โดยไปเฝ้าพ่อที่ป่วยที่โรงพยาบาล ส่วนรายที่ 2-5 เป็นผู้ป่วยที่พบใน จ.ภูเก็ต ตามที่มีการรายงานอย่างไม่เป็นทางการเมื่อวันที่ 10 พ.ค. โดยรายที่ 2 เป็นชายไทย อายุ 19 ปี มีประวัติเดินทางไปสถานที่ชุมชน, รายที่ 3 เป็นชายไทย อายุ 29 ปี เป็นตำรวจ, รายที่ 4 เป็นหญิงไทย อายุ 23 ปี อาชีพพนักงานบริษัท ไปพบลูกค้าในบางโอกาส, รายที่ 5 เป็นหญิงไทย อายุ 29 ปี อาชีพพนักงานในร้านค้า และรายที่ 6 เป็นชายไทยอายุ 22 ปี มาจากการค้นหาเชิงรุกใน จ.ยะลา ซึ่งสัมผัสผู้ป่วยยืนยันที่กลับมาจากมาเลเซีย จะเห็นว่าผู้ป่วยรายที่ 2-6 เป็นกลุ่มอายุที่มีความเสี่ยงสูง จึงขอให้ระมัดระวังการเดินทางไปไหนมาไหน
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า สถานการณ์ผู้ติดเชื้อทั่วโลก 4,180,305 ราย เสียชีวิต 283,860 ราย ขณะที่ประเทศจีนล่าสุดพบผู้ป่วยรายใหม่ 17 คนในวันเดียว โดยเป็นผู้ป่วยรายใหม่ในเมืองซูหลาน มณฑลจี๋หลิน 11 คน ทำให้พื้นที่ดังกล่าวต้องยกระดับภัยคุกคามจากการระบาดทั้งที่ประเทศจีนเพิ่งผ่อนคลายทั่วประเทศได้ไม่กี่วัน เป็นบทเรียนที่เราต้องเฝ้าดู นอกจากนี้ ในวันที่ 11 พ.ค. จะมีคนไทยกลับจากอินเดีย 219 ราย, ญี่ปุ่น 71 ราย และในวันที่ 12 พ.ค. จากรัสเซีย 99 ราย, ภูฏาน 1 ราย และสหรัฐอเมริกา 200 ราย
ส่วนผลการปฏิบัติงานด้านความมั่นคงช่วงเคอร์ฟิวคืนวันที่ 10 พ.ค. ต่อเนื่องเช้าวันที่ 11 พ.ค. มีผู้ฝ่าฝืนออกนอกเคหสถาน 597 ราย น้อยกว่าคืนก่อน 70 ราย ชุมนุมมั่วสุม 89 ราย น้อยกว่าคืนก่อน 58 ราย พบว่าการดื่มสุราเป็นการกระทำผิดอันดับหนึ่ง หรือ 55% ขณะที่การตรวจกิจการ/กิจกรรมที่ได้รับการผ่อนปรนประจำวันที่ 10 พ.ค. ตรวจทั้งสิ้น 18,512 แห่ง ปฏิบัติตามมาตรการ 18,063 แห่ง แต่ในจำนวนนี้เป็นผู้ปฏิบัติตามมาตรการ แต่ปฏิบัติไม่สมบูรณ์ 5,644 แห่ง หรือ 30.49% ต้องเข้าไปแนะนำให้เขาทำให้ดีขึ้น ส่วนที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรการ 449 แห่ง หรือ 2.37% น้อยกว่าเมื่อวันที่ 10 พ.ค.
เมื่อถามถึงกรณีมีการทำข้อมูลกิจการ/กิจกรรมที่จะได้รับการผ่อนปรนในระยะที่ 2 มาเผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย ทาง ศบค.สามารถเปิดเผยสถานประกอบการที่จะได้รับการผ่อนปรนได้หรือไม่ว่ามีอะไรบ้าง นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ได้มีการพูดคุยกันในระดับผู้บริหาร ทั้งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด (รอง ผบ.ทสส.) แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน ยังไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ ต้องรอวันที่ 15 พ.ค. ที่จะมีการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ แต่วันนี้ขอประกาศอย่างไม่เป็นทางการไปก่อนเพื่อให้ผู้ประกอบการเตรียมตัว แบ่งเป็น 3 ประเภทกิจการ/กิจกรรม
3 กลุ่มกิจการเตรียมเฮ
โดยกิจการ/กิจกรรมประเภทที่ 1 ด้านเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตประจำวัน ได้แก่ ก.การจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มในภัตตาคาร สวนอาหาร ศูนย์อาหาร โรงอาหาร ร้านอาหาร เครื่องดื่ม ขนมหวาน ไอศกรีม ภายในอาคารสำนักงาน ข.ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ยกเว้นโรงภาพยนตร์ ฟิตเนส ลานโบว์ลิ่ง สวนสนุก สวนน้ำ ศูนย์ประชุม ศูนย์พระเครื่อง สนามพระ และพระบูชา ค.ร้านค้าปลีก ค้าส่งอื่นๆ ง.ร้านเสริมสวย (ย้อมผม ดัดผม หรือกิจกรรมอื่นๆ ภายในเวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง และร้านทำเล็บ)
กิจการ/กิจกรรมประเภทที่ 2 เกี่ยวกับกิจกรรมออกกำลังกายหรือการดูแลสุขภาพ ได้แก่ ก.คลินิก เวชกรรมเสริมความงาม สถานเสริมความงามและควบคุมน้ำหนัก ข.สนามกีฬา เฉพาะกีฬากลางแจ้งตามกติกาสากล เล่นเป็นทีมไม่มีผู้ชม ค.สวนดอกไม้ สวนพฤกษศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ แกลเลอรี ห้องสมุดสาธารณะ (เข้าเป็นรายคน) ง.สถานประกอบการนวดแผนไทย (เฉพาะนวดเท้า)
และกิจการ/กิจกรรมประเภทที่ 3 เกี่ยวกับกิจกรรมอื่นๆ คือการประชุม ณ สถานที่ภายในหรือภายนอกองค์กร ลักษณะการบรรยายร่วมกับวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ (จำกัดจำนวนคนตามพื้นที่) ทีมถ่ายทำรายการโทรทัศน์ โฆษณา ถ่ายแบบ ทำคลิป (ไม่เกิน 5 คน) ขอย้ำว่านี่เป็นร่างยังไม่นิ่ง สามารถเปลี่ยนแปลงได้ โดยจะดึงกิจการ/กิจกรรมความเสี่ยงต่ำเข้ามาก่อน ขอให้ผู้ประกอบการไปเตรียมตัวเพื่อให้ผู้รับบริการมั่นใจว่าจะไม่มีติดเชื้อ
อย่างไรก็ตาม เป็นความอิ่มอกอิ่มใจที่ได้เห็นโครงการตู้ปันสุขหรือตู้ลักษณะเดียวกันในชื่ออื่นๆ ที่มีการตั้งกันเพียงไม่กี่วันแล้วกระจายกันไปทั่วประเทศ ครอบคลุมแล้ว 43 จังหวัด เป็นปรากฏการณ์ที่คนไทยด้วยกันให้ความรัก แบ่งปัน มีน้ำใจให้กัน อยากเห็นภาพแบบนี้ยั่งยืนตลอดไป เชื่อว่าจะปรากฏครบทั้ง 77 จังหวัด
ที่กระทรวงสาธารณสุข เวลา 13.00 น. นพ.พจน์ อินทลาภาพร หัวหน้างานโรคติดต่อ โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า ในขณะนี้โรงพยาบาลราชวิถีได้เน้นรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการปานกลางไปจนถึงผู้ป่วยที่มีอาการหนัก จากตัวเลขจำนวนผู้ป่วยที่รักษาทั้งสิ้น 69 ราย เป็นปอดอักเสบจากการติดเชื้อโควิด-19 33 ราย และมีอาการรุนแรง 10 ราย สามารถรักษาจนหายดี และเสียชีวิต 4 ราย โดยผู้เสียชีวิตทั้งหมดมีอาการปอดอักเสบทั้งหมด ซึ่งแพทย์จะรวบรวมผลการรักษาทั้งหมดมาเป็นข้อมูลในการปรับเปลี่ยนการรักษาต่อไป โดยยกเคสการรักษาผู้ป่วยทั้ง 3 เคสที่มีผลต่อสร้างบรรทัดฐานในการรักษาผู้ป่วยรายอื่นๆ ได้ กรณีผู้ป่วยหญิงอายุ 31 ปี ที่เป็นผู้ป่วยรายแรกที่มีการทดลองใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ในการรักษา ซึ่งหลังจากใช้ยาดังกล่าวรักษาเพียงแค่ 3 วัน กลับไม่พบเชื้อโควิด-19 ในร่างกาย ซึ่งมีการตรวจเชื้อทั้งสิ้น 5 ครั้ง จนถึงวันที่ 28 ก็ไม่พบเชื้อจึงให้สามารถกลับบ้านได้ โดยพบว่ายาฟาวิพิราเวียร์มีประโยชน์ในการรักษา จึงเสนอยาดังกล่าวเข้าสู่ระบบการรักษาอย่างเป็นทางการ
ส่วนอีกกรณีเป็นชายอายุ 55 ปี ป่วยมาแล้ว 13 วัน จึงเข้ามารักษาที่โรงพยาบาล ทีมแพทย์ให้ยาฟาวิพิราเวียร์ และยาต่างๆเหมือนรายแรก แต่กลับเสียชีวิต ทั้งที่ก่อนนั้นไม่มีโรคประจำตัว ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการที่เข้ารักษาช้า ประกอบกับมีอายุมาก โดยเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำ?คัญ ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับหญิงไทยอายุ 57 ปี อีกรายที่เป็นผู้ป่วยซึ่งได้เข้ารับการรักษาในวันที่ 4 ซึ่งวันที่ 5 จึงเริ่มมีอาการไอ ไข้ และเหนื่อย พบว่ามีอาการปอดอักเสบ อย่างไรก็ตาม มีไข้อย่างต่อเนื่องตลอด 7 วัน ทั้งนี้ ท้ายที่สุดผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นจนกลับมาหายดีอีกครั้ง เนื่องจากผู้ป่วยเข้ารับการรักษาได้รวดเร็ว สรุปคือการมีอาการแล้วรีบมารักษาโดยบอกข้อมูลตามความเป็นจริงจะช่วยป้องกันความเสี่ยงของการเสียชีวิตได้
วัคซีนไทยต้องรอ 2-3 ปี
ด้าน นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า สถาบันวัคซีนแห่งชาติและนักวิจัยจากหลายหน่วยงานในไทยกำลังร่วมกันคิดค้นอยู่ ซึ่งคงต้องรออีกอย่างน้อย 24-36 เดือนกว่าไทยจะคิดค้นวัคซีนได้เอง เพราะตอนนี้เพิ่งอยู่ในขั้นทดลองกับสัตว์และยังต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ อีกมากกว่าจะนำมาใช้ได้จริง ซึ่งหากรออาจไม่ทันกับการป้องกันการระบาด ดังนั้นทางที่ดีที่ไทยจะมีวัคซีนใช้ได้เร็วจึงต้องอาศัยการร่วมมือกับประเทศต่างๆ เช่น ประเทศจีนและสหรัฐอเมริกา ที่ไทยได้ลงนามร่วมพัฒนาวัคซีนไปก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งหากสองประเทศประสบผลสำเร็จในการพัฒนาวัคซีน ไทยก็สามารถนำเข้ามาใช้ในประเทศได้ทันที
ทั้งนี้ คาดว่าในวันที่ 17 พ.ค.นี้ รัฐบาลจะคลายล็อกกลุ่มกิจการกลุ่มที่ 2 ให้กลับมาเปิดบริการได้ แต่ย้ำว่าแม้จะผ่อนคลายเพิ่ม แต่มาตรการต่างๆ ที่แนะนำมาทั้งการล้างมือ การรักษาระยะห่าง และใส่หน้ากาก ยังต้องทำต่อเนื่อง ห้ามการ์ดตก ป้องกันไม่ให้การระบาดกลับมาเกิดซ้ำเหมือนหลายประเทศที่ประสบอยู่ตอนนี้ สำหรับสาธารณสุขเอง เจ้าหน้าที่ดำเนินมาตรการค้นหาผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงเชิงรุกเพิ่มต่อเนื่อง แม้ผู้ป่วยในไทยจะลดลง เพราะต้องการหาตัวผู้ป่วยให้ได้มากที่สุด
ที่ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย ในศาลาว่าการกลาโหม พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม (กห.) เปิดเผยว่า พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม และ พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกระทรวงกลาโหม ได้ประชุมร่วมกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) หน่วยขึ้นตรงของกระทรวง และเหล่าทัพ โดยหารือได้ข้อสรุปร่วมกันเตรียมพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถการบริหารจัดการมาตรการคัดกรองและการกักตัวควบคุมโรคของรัฐ ให้เพียงพอรองรับคนไทยในต่างประเทศจำนวนมากที่ลงทะเบียนกับกระทรวงการต่างประเทศ ที่แจ้งความประสงค์จะเดินทางกลับไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถรับเพิ่มเติมจากเดิมวันละ 200 คน เป็น 400 คนต่อวัน ซึ่งจำเป็นต้องจัดหาสถานที่และห้องพักรองรับถึง 7,000 ห้อง
พล.ท.คงชีพกล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมา กห.ได้ประสานความร่วมมือกับ กห.มิตรประเทศ และ กห.สาธารณรัฐประชาชนจีนต่อเนื่อง โดยในวันที่ 12 พ.ค. จีนจะนำอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ รวมทั้งสิ่งของช่วยเหลือมามอบให้ จากนั้นในวันที่ 14 พ.ค. เวลา 09.00 กห.ไทยและจีนมีกำหนดการร่วมประชุมการบริหารจัดการทรัพยากรทางการแพทย์และการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ผ่านระบบการประชุมทางไกล เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดระลอกสองที่อาจเกิดขึ้น
ที่ จ.ภูเก็ต คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดภูเก็ต แจ้งสถานการณ์โรคติดเชื้อโควิดว่า มีผู้ติดเชื้อยืนยันโรคโควิด-19 แล้วจำนวน 224 ราย (ไม่พบรายใหม่) โดยผู้ติดเชื้อได้รับอนุญาตให้กลับบ้าน 193 ราย (เพิ่มขึ้นจากเดิม 2 ราย) เสียชีวิต 3 ราย (ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม)
ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร หรือวัดใหญ่ อ.เมืองฯ จ.พิษณุโลก สถานที่ประดิษฐานพระพุทธชินราช พระคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดพิษณุโลก ได้เปิดวิหารหลวงพ่อพระพุทธชินราชให้ประชาชนได้เข้าไปกราบสักการะเป็นวันแรก หลังจากปิดวัดและปิดวิหารมาตั้งแต่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา
ที่สถานีขนส่งขอนแก่นแห่งที่ 3 ถนนสายเลี่ยงเมืองขอนแก่น-อุดรธานี อ.เมืองฯ จ.ขอนแก่น เจ้าหน้าที่ยังคงคุมเข้มมาตรการตรวจคัดกรองและลงบันทึกข้อมูลของผู้โดยสารที่เดินทางมากับรถยนต์โดยสารในทุกเส้นทาง โดยนายสมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น กล่าวว่า ขณะนี้การเปิดให้บริการเดินรถโดยสารที่ บขส.ขอนแก่น แห่งที่ 3 ในเส้นทางขอนแก่น-กรุงเทพฯ แบบไปและกลับ วันละ 6 เที่ยวเท่านั้น โดยยังคงกำหนดมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเข้มงวด
สำหรับการผ่อนปรนในรอบที่ 2 ประกอบด้วยกลุ่มกิจการใน 8 ประเภท ได้แก่ ร้านอาหารหรือภัตตาคาร, ห้างสรรพสินค้า, สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ เช่น การนวดและสปา, กลุ่มสถานเสริมความงาม, สถานบริการฟิตเนส หรือสนามกีฬาในร่ม รวมทั้งโรงยิม, กลุ่มการจัดประชุม อบรม สัมมนาในศูนย์ประชุมในโรงแรมและภายในองค์กร, กลุ่มกองถ่ายทำภาพยนตร์ ถ่ายแบบ ถ่ายคลิปและกลุ่มสวนสนุก สวนน้ำ สนามเด็กเล่น ซึ่งทั้งหมดฝ่ายสาธารณสุขและคณะทำงานได้เข้าพื้นที่เพื่อกำหนดมาตรการที่ทุกสถานประกอการจะต้องดำเนินการตามมาตรฐานความปลอดภัยสูงสุด.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |