จ่อเลิกฉุกเฉินสิ้นพค. เลขาสมช.แย้มต้องดูหลายปัจจัย/การเมืองเสียงแตกทำโพล


เพิ่มเพื่อน    

  โพลเลิก-ไม่เลิก “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” ถาม 11 ข้อ “เลขาฯ  สมช.” ยันไม่ใช่เรื่องแปลก ที่ผ่านมาหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ-เอกชนก็ทำ แค่เป็นปัจจัยหนึ่งให้ ศบค.เคาะเท่านั้น ยังต้องยึดสุขภาพเป็นหลัก แพลมสิ้นเดือน 31 พ.ค.อาจเลิกได้ ฟากการเมืองเสียงแตก บางส่วนหนุนให้ กอ.รมน.ทำโพล อีกด้านมองผลสำรวจอาจไม่น่าเชื่อถือ อดีตรอง ผอ.สำนักข่าวกรองฯ เตือนสติอยากเจ็บครั้งเดียวแล้วจบ หรือจะเป็นเหมือนสหรัฐ

    เมื่อวันจันทร์ ยังคงมีความต่อเนื่องจากกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. มีคำสั่งให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) จัดทำโพลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในการประกาศใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หลังจากใช้มากกว่า 1 เดือน เพื่อดูผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของประชาชน รวมถึงขอความคิดเห็นควรให้คง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือยกเลิกก่อนให้ ศบค.ตัดสินใจ
    ล่าสุด เพจเฟซบุ๊กลุงตู่ตูนที่สนับสนุนการทำงานของรัฐบาลและ พล.อ.ประยุทธ์ ได้เผยแพร่ลิงก์และคิวอาร์โค้ดแบบสอบถามความพึงพอใจต่อการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และมาตรการที่เกี่ยวข้อง พร้อมระบุว่า “ร่วมส่งแบบสอบถาม ร่วมพิชิต โควิด-19 ไปด้วยกัน โดยการสแกนคิวอาร์โค้ดตามรูปที่อยู่ด้านล่างได้เลยครับ” พร้อมแฮชแท็ก #ลุงตู่  #ลุงตู่ตูน  #อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ
    สำหรับเนื้อหาในแบบสอบถามความพึงพอใจต่อการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และมาตรการที่เกี่ยวข้อง หน้าแรกจะเป็นข้อมูลส่วนตัวของผู้ประเมิน และหน้าที่สองเป็นคำถามความคิดเห็นของผู้ประเมิน 11 คำถาม โดยแต่ละคำถามจะมีคำตอบให้กดเลือก เช่น ท่านพึงพอใจต่อการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในระดับใด, ท่านคิดว่าข้อใดต่อไปนี้เป็นประโยชน์ที่ได้รับจากการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, ในช่วงภาวะวิกฤติโรคโควิด-19 มีการประกาศใช้ พ.ร.ก. ส่งผลกระทบต่อท่านในเรื่องใดบ้าง, มาตรการใดที่ท่านเห็นว่าส่งผลต่อประสิทธิภาพในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มากที่สุด, มาตรการใดที่ท่านต้องการให้รัฐบาลผ่อนปรนมากที่สุด, ท่านคิดว่ารัฐบาลควรผ่อนปรนเวลาเคอร์ฟิวเป็นเวลาใด และท่านคิดว่ากิจการใดยังมีความเสี่ยงสูงในการเป็นแหล่งแพร่ระบาด เป็นต้น
    ด้าน พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ กล่าวในเรื่องนี้ว่า ไม่ใช่มีเพียง กอ.รมน.และสำนักข่าวกรองแห่งชาติ (สขช.) ที่จัดทำโพลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่องดังกล่าว ยังมีหน่วยงานอื่นๆ ทั้งของรัฐและเอกชนจัดทำโพลลักษณะนี้ ซึ่งความคิดเห็นที่ได้จากการสำรวจความต้องการของประชาชนเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ต้องนำมาพิจารณาในที่ประชุม ศบค. และไม่ใช่ปัจจัยหลักที่จะต้องยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือยกเลิกเคอร์ฟิว เพราะต้องคำนึงถึงความปลอดภัย เรื่องสุขภาพของประชาชนเป็นที่ตั้ง
แพลม 31 พ.ค.จ่อเลิก พ.ร.ก.
    พล.อ.สมศักดิ์กล่าวต่อว่า การยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จำเป็นต้องพิจารณาหลายๆ ด้าน ทั้งความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม และความปลอดภัยของประชาชน เช่นเดียวกับเคอร์ฟิว แม้ว่าบางกิจกรรม เช่น สถานบริการกลางคืน อย่างผับ บาร์ ยังไม่อนุญาตให้เปิด แต่ยังพบประชาชนออกมามั่วสุมในยามวิกาล เช่น ตั้งวงสังสรรค์ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เล่นการพนัน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่เสี่ยงต่อการระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่อาจพิจารณาขยายเวลาออกไปจากเดิม ซึ่งต้องดูกิจกรรมที่จะผ่อนปรนในระยะที่สองว่ามีอะไรบ้าง หากยังมีเคอร์ฟิวจะส่งผลกระทบยังไง หรือยกเลิกเคอร์ฟิวจะมีผลอะไรตามมา และหากจะขยายเวลาเคอร์ฟิวเป็นช่วงเวลาไหนนั้น ยังตอบไม่ได้ ต้องหารือในที่ประชุม ศบค.อีกครั้ง
    "สักวันก็ต้องยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินอยู่แล้ว ไม่สามารถใช้ไปตลอดได้ เพียงแต่ต้องคำนึงถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 เป็นหลัก ในขณะที่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและประชาชน ก็เป็นสิ่งมองข้ามไม่ได้ "เลขาฯ สมช.ระบุ
    เมื่อถามว่า มีแนวโน้มว่าจะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินสิ้นเดือน พ.ค.นี้หรือไม่ หลังครบกำหนดวันที่ 31 พ.ค. เพราะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ พล.อ.สมศักดิ์กล่าวว่า ใช่ แต่ต้องพิจารณาปัจจัยหลายๆ ด้านมาประกอบกัน ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องมานั่งประเมินกัน และที่สำคัญต้องดูความร่วมมือของประชาชนและสถานประกอบการ รวมถึงตัวเลขผู้ติดเชื้อยังสามารถควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์ที่รองรับได้หรือไม่ ส่วนกรณีฝ่ายการเมืองโจมตีรัฐบาลยังคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทั้งๆ ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ลดลงแล้ว เพราะไม่อยากให้มีการชุมนุมนั้นคงไม่เกี่ยว และอย่านำมาโยงกัน การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นเรื่องความปลอดภัยด้านสุขภาพของประชาชนล้วนๆ
    ขณะที่นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกฯ กล่าวถึงกรณีนายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช ออกมาคัดค้านแนวความคิดให้ กอ.รมน.ทำผลสำรวจโพลเกี่ยวกับการยกเลิกหรือคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ว่าการที่นายกฯ ให้ทำโพลถือเป็นการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนโดยแท้จริง เพราะการยกเลิกหรือไม่ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้นเกี่ยวข้องกับประชาชนทุกคน ซึ่งการดำเนินการเช่นนี้ถือว่านายกฯ ต้องการรับฟังความคิดเห็นให้รอบด้านรอบคอบ เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาตัดสินใจให้ดีที่สุด เพราะนายกฯ ย้ำเสมอว่ารัฐบาลมีหัวใจคือประชาชน ดังนั้นต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและความเห็นทุกภาคส่วนนำมาประกอบการตัดสินใจให้สมบูรณ์ชัดเจนที่สุด
ดีดปากเทพไทเลิกเมนต์ 
    นายสุภรณ์กล่าวอีกว่า นายเทพไทเป็น ส.ส. ทำหน้าที่เป็นผู้แทนของประชาชน ย่อมทราบดีในเรื่องนี้ นายเทพไทก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเคยพูดบ่อยๆ ครั้งว่า ส.ส.คือตัวแทนของประชาชน ต้องฟังเสียงจากประชาชน ก็ไม่ได้ต่างอะไรกับรัฐบาล ดังนั้นการตัดสินใจโดยไม่ไยดี ไม่ฟังเสียงจากประชาชนไม่ได้ เลยสงสัยกับความคิดของท่าน ถ้ารัฐบาลตัดสินใจเบ็ดเสร็จใช้อำนาจโดยไม่ฟังเสียงประชาชน อาจถูกกล่าวหาว่ารัฐบาลเผด็จการ ใช้อำนาจบาตรใหญ่เหยียบหัวประชาชน แต่พอรัฐบาลขอฟังเสียงประชาชน ก็บอกว่ารัฐบาลมีอำนาจตัดสินใจในหลักวิชาการ หลักวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว ไม่เห็นด้วยกับวิธีการทำโพลเพื่อขอความเห็นจากประชาชน ทำไมรัฐบาลไม่ตัดสินใจเลย สรุปแล้วไม่ว่ารัฐบาลจะออกหัวออกก้อย จะเดินทางซ้ายหรือไปทางขวา ก็คงเดาใจพวกท่านไม่ถูก 
    “ผมว่าบางเรื่องคุณเทพไทในฐานะศิษย์สถาบันเดียวกันลูกพ่อขุนฯ ด้วยกันกับผม ไม่ต้องมีความเห็นสักเรื่องก็ได้ รู้สึกว่าท่านเสนอความเห็นไปเสียทุกเรื่อง จนรัฐบาลจับต้นชนปลายในความเห็นของท่านไม่ทันจริงๆ เอาเป็นอันว่า ท่านเทพไทไม่เห็นด้วยกับการทำโพลรับฟังเสียงจากประชาชนนะครับ จะได้บันทึกความเห็นท่านเทพไทไว้หนึ่งเสียงไว้บอกประชาชนว่าท่านไม่เห็นด้วยกับการรับฟังเสียงจากประชาชน" นายสุภรณ์กล่าว
    นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ดี เพราะถือเป็นการรับฟังความเห็นตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งก่อนหน้านี้ตอนประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็หาว่าเป็นเผด็จการ พอจะรับฟังความเห็นของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตยก็มาเรียกร้องขอเหตุผล
    “ที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เรียกร้องให้เลิกใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้น นายจตุพรไม่ได้เป็น ส.ส. แต่ผมเป็น ลงพื้นที่ตลอด ยังไม่พบบุคคลใดเรียกร้องให้ยกเลิก ส่วนที่บอกว่ารัฐบาลกลัวม็อบ อยากให้นายจตุพรกลับไปบอกคนที่จะก่อม็อบ ว่าที่ผ่านมานายจตุพรเคยโดนอะไรมาบ้าง ต้องเลื่อนการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาไปกี่รอบแล้ว ถ่วงเวลาไปทำไม ถ้าแน่จริงอย่าเลื่อนนัดศาลอีก ติดคุกก็คือติด ผิดก็คือผิด จะมายุให้รุ่นน้องก่อม็อบถือเป็นนักการเมืองที่ไม่ดี”
    ส่วนนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะประธาน ส.ส.พรรค กล่าวในเรื่องนี้ว่า การที่นายกฯ สั่งให้ทำโพล ทำให้เห็นว่านายกฯ ทราบดีว่าเรื่องการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อไปหรือไม่เป็นเรื่องที่วิพากษ์วิจารณ์กันมากในสังคม เพราะการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีทั้งผลบวกและลบในทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และการทำงานป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งการทำโพลหากทำแบบขอไปที หรือมีวาระซ่อนเร้น ก็จะก่อให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยว่าสำรวจเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้มีอำนาจ หรือเพื่อหวังผลทางการเมืองมากกว่า จะทำให้เกิดปัญหาใหม่ทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองทับซ้อนปัญหาเก่าเพิ่มขึ้น
เสียงแตก กอ.รมน.ทำโพล
    นายองอาจเสนอว่า เพื่อให้การสำรวจว่าควรคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้หรือควรยกเลิกได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วน ควรดำเนินการดังนี้ 1.ควรหาหน่วยงานทางวิชาการ ทำการสำรวจเพื่อสร้างการยอมรับ เพราะถ้าเริ่มต้นด้วยการให้ กอ.รมน.ดำเนินการ อาจถูกมองว่ามีการสนองงาน 2.เครื่องมือและวิธีการที่ใช้สำรวจคืออะไร ควรคิดหาเครื่องมือที่สร้างการยอมรับได้ 3.เนื้อหาสาระได้มาตรฐานทางวิชาการหรือไม่ อย่างไร ควรออกแบบเนื้อหาให้ได้มาตรฐานทางวิชาการเพื่อได้ผลที่ไม่บิดเบี้ยว
     "ขอฝากนายกฯ ให้พิจารณาการทำสำรวจว่าจะคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้หรือยกเลิกด้วยความรอบคอบ โปร่งใส ไม่มีอะไรแอบแฝง ก่อให้เกิดความเชื่อมั่นกับประชาชนเพื่อใช้ผลการสำรวจเป็นประโยชน์ในการทำงานสู้ภัยโควิด-19 อย่างแท้จริง" นายองอาจกล่าว
    นายจาตุรันต์ บุญเบ็ญจรัตน์ โฆษกพรรคพลังธรรมใหม่ โพสต์เฟซบุ๊กเรื่องนี้ว่า เป็นเรื่องดีที่จะให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ถือเป็นเสียงสะท้อนความต้องการของประชาชน เพื่อนำเสนอต่อ ศบค.ให้ร่วมพิจารณาความเหมาะสมและข้อดี-ข้อเสียในการที่จะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และไม่ติดใจหากจะให้หน่วยงานใดหรือจะให้ กอ.รมน.รับผิดชอบ เพราะมองอีกมุมก็ถือว่าเป็นการประหยัดงบรายจ่าย     ที่นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย ออกมากังวลว่าการทำโพลแค่ยื้อเวลากลบเกลื่อนการเยียวยาที่ล้มเหลวและเอาตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดมาปกปิดการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลนั้น ขอนายอนุสรณ์อย่ามโนสร้างวาทกรรมมาซ้ำเติมสถานการณ์ให้เลวร้ายลงไป ต้องแยกให้ออกและควรพูดดให้ครบทุกด้าน อยากให้นายอนุสรณ์ตื่นจากฝันร้ายเสียที แล้วมาช่วยกันคิดว่าจะทำอะไรให้บ้านเมือง ไม่ใช่แค่นั่งคิดผลิตวาทกรรมโจมตีรัฐบาลรายวัน หรือถ้าว่างมาก ขอแนะนำให้เอาของอุปโภคบริโภคไปใส่ตู้แบ่งสุขที่คนในสังคมกำลังช่วยกันน่าจะเป็นประโยชน์กว่า”
    ทั้งนี้ นายอนุสรณ์ระบุในเรื่องนี้ว่า ไม่แน่ใจว่าใครเขียนบทให้ พล.อ.ประยุทธ์พูด ลำพังได้ยินว่าจะให้ กอ.รมน.ทำโพล ก็มีปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือ โดยประชาชนไม่มั่นใจว่าจะให้ กอ.รมน.มาทำโพลหรือทำไอโอกับประชาชนกันแน่ เพราะยิ่งคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้นานเท่าไหร่ พล.อ.ประยุทธ์ยิ่งได้ประโยชน์ การให้ กอ.รมน.ทำโพล จึงเป็นเพียงการซื้อเวลา กลบปัญหาการเยียวยาล้มเหลว ไร้ประสิทธิภาพ กลบปัญหาเศรษฐกิจ จึงต้องหลบข้างหลังจำนวนผู้ติดเชื้อที่ลดลงจากความร่วมมือของประชาชน บุคลากรทางการแพทย์ และพื้นฐานระบบสาธารณสุขที่ดีของประเทศ พล.อ.ประยุทธ์จะเอากรณีโควิดมาปกปิดความล้มเหลวทางเศรษฐกิจโดยการคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้ตลอดไปไม่ได้
     “ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ต้องการทำโพลให้เป็นที่ยอมรับ ควรทำโดยสถาบันทางวิชาการที่มีมาตรฐาน โปร่งใส ตรวจสอบได้" นายอนุสรณ์กล่าว
      นายจตุพรกล่าวว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่าถ้ายกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้วแฟลชม็อบจะมานั้น แต่ถ้ายิ่งอั้นกันไว้จนคนอดอยากถึงขีดสุดแล้ว วันนั้นแม้มี พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็เอาไม่อยู่ นำพาสู่สถานการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้น แต่ถ้ายกเลิกนั้นจะเป็นการเปิดช่องให้ได้คนระบายความอึดอัด ขอให้คิดช้าๆ ตั้งสติทบทวนข้อเสนอให้ดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นปัญหาของประเทศในขณะนี้ และเท่ากับเป็นระเบิดเวลาที่รอวันระเบิด 
    “ถ้าเศรษฐกิจไม่ได้รับผลกระทบแล้ว พล.อ.ประยุทธ์จะประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินจนสิ้นโควิด-19 ไปจากโลก ก็ไม่มีใครต่อว่าอะไรได้ แต่ความจริงวันนี้คือรัฐบาลอยู่ได้ด้วยเงินกู้ อีกทั้งอุ้มคนเดือดร้อนทั้งคนรวยคนจนได้อีกแค่ 2 เดือน เมื่อเงินหมดแล้ว หลังจากนั้นประชาชนจะมีชีวิตอย่างไร และหาก กอ.รมน.ทำโพลจริง เชื่อว่าประชาชนจะให้ยกเลิกทันที หากไม่มีการยกเมฆโพลกันมาเท่านั้น ดังนั้นผมหวังว่านายกฯ คงได้ตัดสินใจยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อหยุดระเบิดเวลาในอนาคต เพื่อให้บ้านเมืองในอนาคตดีกว่าวันนี้” นายจตุพรระบุ
ถามเจ็บแล้วจบดีไหม
    นายไพศาล พืชมงคล อดีตกรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊กว่า การดำรงไว้หรือยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่ฉุกเฉินและจำเป็นนั้น จังหวัดใดที่ไม่มีผู้ป่วยและไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่แล้วย่อมทำให้สถานการณ์ฉุกเฉินหมดสิ้นไป สามารถใช้กฎหมายว่าด้วยการควบคุมโรคระบาด ดังนั้นจึงต้องพิจารณาไตร่ตรองอย่างรอบคอบว่าสถานการณ์ฉุกเฉินมีอยู่ในลักษณะทั้งประเทศหรือจำกัดอยู่เฉพาะในจังหวัดใด ซึ่งถ้าสถานการณ์ฉุกเฉินหมดไปในจังหวัดใดหรือในขอบเขตทั่วประเทศ แต่ไม่ยกเลิก นอกจากจะมีปัญหาทางการเมืองแล้ว ก็อาจมีปัญหาทางกฎหมายอีกด้วย
    นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์เฟซบุ๊กว่า ความเห็นของนักเคลื่อนไหว นักการเมืองที่ให้เลิกล็อกดาวน์ คืนเสรีภาพในการเคลื่อนไหว ทำให้นึกถึงภาพของทีมหมอและพยาบาลรัฐมิชิแกนที่ถือป้ายประท้วงคนที่ชุมนุมเดินขบวนเรียกร้องเลิกล็อกดาวน์ สงสัยอยากให้ไทยเป็นแบบสหรัฐที่มีคนป่วยคนตายเพราะโควิดมากๆ คนเรียกร้องเสรีภาพถือปืนออกมายึดที่ทำการรัฐ พล.ประยุทธ์ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเมื่อปลายเดือน มี.ค. ซึ่งต้องยอมรับความจริงว่า การบริหารประเทศในภาวะวิกฤติ การจัดการแบบรวมศูนย์สั่งการ ข้อมูลพร้อม มีเอกภาพ มอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดบริหารเชิงพื้นที่ ด้วยวิธีการนี้ ไทยถึงได้รับชื่นชมยกย่องจากทั่วโลก ในทางกลับกัน หาก พล.อ.ประยุทธ์พลาด คนติดเชื้อเยอะ คนตายมาก ป่านนี้ถูกรุมถล่มจากประชาชนแล้ว ไม่ต้องรอนักการเมืองออกมาเคลื่อนไหวหรอก
    “ต้องถามใจคนไทยที่จะกรอกแบบสอบถามสำรวจความคิดเห็นที่เผยแพร่ส่งต่อๆ กันในไลน์ ว่าคิดอย่างไร อยากเห็นประเทศไทยไปทางไหน คืนเสรีภาพ ปลดล็อกดาวน์ ธุรกิจกลับมาเปิดดำเนินการเหมือนเดิม หากเชื้อโรคกลับมาระบาดใหม่ค่อยว่ากันใหม่ หรือล็อกครั้งเดียวเอาให้สะเด็ดน้ำ อย่าลักปิดลักเปิดเจ็บตัวหลายที ตอนนี้คนไทยเคยชินกับ New Normal แล้ว” นายนันทิวัฒน์ระบุ.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"