แรงสะท้อนกลับโพล 'กอ.รมน.' พ.ร.ก.ฉุกเฉินต้องยึดข้อมูล ‘หมอ’


เพิ่มเพื่อน    

    มีทั้งเสียงสนับสนุนและเสียงคัดค้าน กรณี “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม มอบหมายให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ทำโพลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่องผลกระทบเกิดจากการประกาศพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ใน 2 ห้วง คือ ระยะที่ 1 เพื่อดูมาตรการผ่อนปรนในระยะที่ 2 และระยะที่ 2 คือปลายเดือนพฤษภาคม โดยสอบถามเรื่องให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือยังคงไว้

                เป็นการมอบหมายให้ทำโพล หลังสถานการณ์ผู้ป่วยรายใหม่ต่อวันในประเทศลดจำนวนลง รวมถึงมีเสียงเรียกร้องจากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะฝ่ายการเมือง ต้องการให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และการประกาศเคอร์ฟิว

                ขณะที่ความตั้งใจของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) นั้น ยังต้องการคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินเอาไว้ เพราะไม่มั่นใจในสถานการณ์ว่า จะเกิดการแพร่ระบาดในระลอกที่ 2 และ 3 ตามมาหรือไม่

                การมอบหมายให้ กอ.รมน.ทำโพล จึงถูกตีความว่า แบ่งออกเป็น 2 มุม จากฝ่ายการเมือง นั่นคือ 1.ศบค.ต้องการหาฉันทามติ เพื่อรองรับกรณียกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และเคอร์ฟิวแล้วว่า เป็นการตัดสินใจร่วมกันระหว่างรัฐและประชาชนผ่านผลการรับฟังความคิดเห็น หากเกิดข้อผิดพลาด มีการระบาดครั้งที่ 2 จะไม่ใช่การตัดสินใจโดยลำพังของรัฐบาล หรือ ศบค.

                และ 2.รัฐบาล หรือ ศบค.ต้องการจะคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และเคอร์ฟิวเอาไว้ จึงใช้ กอ.รมน.ทำแบบสำรวจ เพื่อหาเหตุผลในการคงไว้ เพราะหากย้อนกลับไปในการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เมื่อปลายเดือนเมษายน ครั้งนั้นสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ก็ร่วมมือภาคส่วนอื่นๆ ทำผลสำรวจเรื่องการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินมาแล้วครั้งหนึ่ง โดยพบว่า ร้อยละ 70 สนับสนุนให้ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไป และนำข้อมูลนี้เสนอ ศบค.เพื่อประกอบการพิจารณาด้วย

                การทำผลสำรวจเพื่อสอบถามเรื่องนี้จึงถูกตั้งข้อสงสัย โดยเฉพาะการให้ กอ.รมน.เป็นผู้รับผิดชอบ อย่างที่ "องอาจ คล้ามไพบูลย์" รองหัวหน้า และประธาน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ให้ข้อสังเกตเอาไว้ถึงการยอมรับ

            “การที่นายกฯ สั่งการให้ กอ.รมน.ทำการสำรวจอาจไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม เพราะ กอ.รมน.เป็นหน่วยงานภาครัฐ อาจถูกมองว่ารับงานเพื่อสนองความต้องการของนายกฯ เพื่อผลทางการเมือง นายกฯ ควรหาหน่วยงานทางวิชาการทำการสำรวจเพื่อสร้างการยอมรับ เพราะถ้าเริ่มต้นด้วยการไม่ยอมรับหน่วยงานที่ทำสำรวจแล้ว จะเกิดการไม่ยอมรับผลการสำรวจด้วย”

                ขณะเดียวกัน "เทพไท เสนพงศ์" ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ เองก็คลางแคลงในประเด็นนี้ เพราะการจะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือเคอร์ฟิว ควรใช้ข้อมูลของคณะแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ ข้อมูลวิชาการเป็นตัวตัดสินใจ เพราะเรื่องนี้เกี่ยวกับการแพร่ระบาด

            “ขอเสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ ให้ยกเลิกแนวความคิดที่จะให้ กอ.รมน.สำรวจความเห็นของประชาชน เพื่อใช้ในการตัดสินใจการยกเลิกหรือคงอยู่ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะเรื่องนี้เป็นความสำคัญของประเทศ ไม่ควรตั้งอยู่ในความประมาท ที่ผ่านมารัฐบาลเดินมาถูกทางแล้ว จึงอยากให้พิจารณาตัดสินใจด้วยข้อมูลทางวิชาการ หรือข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์ หรือข้อมูลทางการแพทย์ มากกว่าการเอาอารมณ์ความรู้สึกของสังคมมาเป็นเครื่องตัดสินใจในเรื่องสำคัญที่เกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์ ความเป็นความตายของคนในชาติ”

                อย่างไรก็ตาม ท่าทีและแนวคิดของรัฐบาล หรือ ศบค.ในเรื่องนี้ เกิดขึ้นในช่วงก่อนที่จะมีการประกาศผ่อนปรนในระยะที่ 2 ซึ่งมีหลายกิจการ/กิจกรรม กลับมาเปิดได้ โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้า และกิจการขนาดใหญ่ต่างๆ อาจจะต้องการนำมาประกอบการตัดสินใจ ปรับบางเรื่องให้สอดคล้องกัน

                ที่น่าจับตาคือ การปรับระยะเวลาของเคอร์ฟิวจาก 22.00-04.00 น. ให้สั้นลงกว่า 6 ชั่วโมง เพื่อให้สอดคล้องกับบางสาขาอาชีพ ซึ่งที่ผ่านมาพ่อค้าแม่ค้าออกมาเรียกร้องพอสมควรให้เขยิบขึ้นไป เนื่องจากเวลา 04.00 น. ไม่เพียงพอต่อการเตรียมตัว

                ขณะที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อย่างไรก็รัฐบาล และ ศบค.คงต้องคงไว้ก่อน เผื่อยามฉุกเฉินจะได้ประกาศมาตรการต่างๆ ได้ทันท่วงที และตัดสินใจอีกครั้งในปลายเดือนพฤษภาคมหากสถานการณ์ไม่เลวร้ายลง.

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"