การบินไทย : ‘โอกาสสุดท้าย’ ของใคร?


เพิ่มเพื่อน    

           นายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา บอกว่าให้โอกาสการบินไทย “ครั้งสุดท้าย”

                เพราะให้โอกาสฟื้นฟูมา 5 ปี แต่ทำไม่สำเร็จ

                คนไทยเกือบทุกคนมีความเห็นเกี่ยวกับการบินไทย ไม่ว่าจะมองจากมุม “สายการบินแห่งชาติ” ที่รัฐบาลควรจะอุ้มชู แต่โดยมีเงื่อนไข

                หรือมองจากมุมเป็น “ธุรกิจเอกชน” ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ไม่สมควรที่กระทรวงการคลังจะค้ำประกันเงินกู้ก้อนใหม่

                หลายคนตั้งประเด็นว่ารัฐบาลไม่ควรจะอุ้มการบินไทยด้วยการค้ำประกันเงินกู้ 50,000 ล้าน เพราะควรจะใช้เงินก้อนนี้ไปช่วยเหลือคนยากคนจนดีกว่า

                บางคนบอกว่าถ้าอยู่ไม่ได้ด้วยตัวเองก็ปล่อยให้เจ๊งไป

                อีกบางคนบอกว่าถ้าเอามืออาชีพเข้าไปทำจริงๆ ก็อาจจะรอดได้ จึงควรจะมีการปฏิรูปครั้งใหญ่เพื่อให้เดินต่อไปได้

                หลายคนบอกว่าพอเจอวิกฤติโควิด-19 สายการบินทั่วโลกก็ตกอยู่ในสภาวะเดียวกัน การบินไทยก็ควรจะได้รับความช่วยเหลือเหมือนสายการบินของประเทศอื่นที่ได้รับเงินอุดหนุนหรือเงินกู้เร่งด่วนเพื่อให้รอดจากหายนะ

                แต่อีกหลายคนก็จะบอกว่าการบินไทยเจอปัญหาขาดทุนมาก่อนหน้านี้แล้ว ไม่ใช่เพิ่งเจอตอนมีโรคระบาด

                แต่ไม่ว่าคุณจะมีความเห็นอยู่ฟากไหน ความจริงก็คือว่า หลังโควิด-19 ผ่านไป ธุรกิจการบินพาณิชย์จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

                สภาพการแข่งขัน, พฤติกรรมผู้โดยสาร, ความตระหนักเรื่องสุขภาพอนามัย, อำนาจซื้อของคนทั่วโลกที่หดตัวลง, สถานการณ์ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวล้วนเป็นปัจจัยที่กำหนดให้ธุรกิจการบินต้องเปลี่ยนไปครั้งใหญ่

                “สายป่าน” จึงมีความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง

                แต่ “ความเป็นมืออาชีพ” ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน

                ดังนั้นสูตรเดิมที่นำเสนอให้ฟื้นฟูการบินไทยที่พูดกันมาตลอด รวมไปถึงแผนที่กำลังวิพากษ์กันอยู่ขณะนี้อาจจะไม่ทันกับสถานการณ์จริงแล้วก็ได้

                ข่าวล่าสุดบอกว่า คณะรัฐมนตรีอาจจะพิจารณาแผนการ “ผ่าตัด” การบินไทยเพื่อขอให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ 50,000 ล้านบาทในวันนี้

                คน “วงใน” บางคนบอกว่า หัวใจของแผนการฟื้นฟูการบินไทยคือ เงิน คน เส้นทาง เครื่องบิน และการจำหน่ายตั๋ว ที่ต้องบูรณาการใหม่ทั้งหมด เพื่อสร้างรายได้และลดปัญหาการขาดทุน

                รายละเอียดที่ปรากฏเป็นข่าวก่อนหน้านี้บอกว่า แผนการฟื้นฟูที่เสนอ ประกอบด้วย วงเงินกู้ฉุกเฉิน 50,000-70,000 ล้านบาท โดยให้กระทรวงการคลังค้ำประกัน เพื่อรักษาสภาพคล่องเงินสดและใช้จ่ายด้านต่างๆ ในช่วงเดือนพฤษภาคม-กันยายน 2563 รวม 5 เดือน

                แหล่งข่าวบางกระแสบอกว่า การบินไทยจะทยอยกู้เป็นรายเดือน เฉลี่ยเดือนละ 10,000 ล้านบาท ในเดือนพฤษภาคม จะขอกู้ประมาณ 9,000 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายภายในองค์กร

                หนึ่งในแผนฟื้นฟูจะปรับเส้นทางการบินใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกที่ถูกกระทบโดยโควิดอย่างแรง

                เป้าหมายหลักคือ เลือกบินเส้นทางระหว่างประเทศที่มีกำไรเท่านั้น

                อีกด้านหนึ่งมีการพูดถึงการปรับให้ “ไทยสมายล์แอร์เวย์” ซึ่งเป็นบริษัทลูกเป็นสายการบินต้นทุนต่ำ บินเส้นทางในประเทศอย่างเดียว

                ส่วนบางคนบอกว่า ให้ยุบไทยสมายล์ เพราะเป็นภาระของบริษัทแม่

                อีกแผนหนึ่งคือ การปลดระวางเครื่องบินเก่าและวางแผนสำหรับเครื่องบินฝูงใหม่เพื่อตอบโจทย์การเดินทางในสิ่งแวดล้อมธุรกิจใหม่

                ผู้บริหารบางส่วนเชื่อว่าเครื่องบินลำใหญ่จะไม่มีความจำเป็นในการให้บริการอีกต่อไป อีกทั้งจะปรับนโยบายการซื้อมาเป็นเช่าแทน

                นั่นแปลว่าจะชะลอแผนซื้อเครื่องบินใหม่ 38 ลำ วงเงิน 1.5 แสนล้านไว้ก่อนค่อนข้างแน่นอน

                โครงสร้างการถือหุ้นเป็นประเด็นสำคัญอีกข้อหนึ่ง หากเป็นไปตามข้อเสนอของกระทรวงการคลังจะลดสัดส่วนการถือหุ้นให้น้อยกว่า 50% แต่ยังคงเป็นรัฐวิสาหกิจโดยให้กองทุนวายุภักษ์ และธนาคารออมสิน เข้ามาถือหุ้นเพิ่ม

                การลดสัดส่วนถือหุ้นของกระทรวงการคลังต่ำกว่า 50% จะทำให้สถานะการบินไทย ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจประเภทที่ 1 อีกต่อไป กลายเป็นประเภทที่ 2 หรือ 3

                นักวิเคราะห์บอกว่า นั่นอาจทำให้สหภาพการบินไทยหมดสิ้นสถานะลงด้วย

                สหภาพการบินไทยออกมาต่อต้านการแปลงสภาพให้พ้นจากความเป็นรัฐวิสาหกิจ

                แต่ดูเหมือนนายกฯ ประยุทธ์จะพูดทำนองว่า การบินไทยต้องไปคุยกันเองให้รู้เรื่องทั้งฝ่ายบริหารและพนักงาน รวมไปถึงสหภาพ

                พอมีข่าวว่าส่วนหนึ่งของแผนฟื้นฟูคือการลดพนักงานลงประมาณ 40% ก็มีประเด็นที่ต้อง “ถกแถลง” กันมากมายแน่นอน

                ความเห็นเกี่ยวกับการฟื้นฟูการบินไทยมีมากมายหลากหลาย จะได้ว่ากันต่อในคอลัมน์นี้ในวันต่อๆ ไปครับ. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"