ถือรอปันผล


เพิ่มเพื่อน    

   

      ในช่วงเดือน เม.ย. ดัชนีหุ้นไทยนอกจากจะถูกกดดันด้วยการขายลดความเสี่ยงก่อนวันหยุดยาวในช่วงเทศกาลสงกรานต์แล้ว ยังมีแรงกดดันจากการประกาศจ่ายปันผลและการขึ้นเครื่องหมายผู้ซื้อหลักทรัพย์ไม่ได้สิทธิรับเงินปันผล (XD) ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ประมาณ 70 บริษัท ซึ่งเป็น บจ.ที่มีมาร์เก็ตแคปใหญ่ โดยจะเป็นปัจจัยกดดันดัชนีประมาณ 11 จุด ทำให้ดัชนีหุ้นไทยในเดือน เม.ย.ปรับขึ้นได้ไม่มาก

        โดยนักลงทุนบางส่วนเลือกที่จะถือหุ้นเพื่อรอปันผล แทนการซื้อขายบนกระดาน เพราะอย่างน้อยยังมีการันตีว่าถึงอย่างไรก็ได้เงินคืนอย่างแน่นอน ซึ่งจะน้อยหรือมาก ก็ขึ้นอยู่กับผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) นั้นๆ ว่ามีการเติบโตมากน้อยเพียงใด รวมถึงเงื่อนไขนโยบายที่เคยประกาศไว้ว่าจะมีการจ่ายปันผลปีละกี่ครั้ง นอกเหนือจากนั้น ก็ต้องดูพื้นฐานของ บจ.ด้วย

        ความเห็นของบริษัทหลักทรัพย์ (บล.ทิสโก้) ระบุว่า จากสถิติย้อนหลัง 7 ปี พบว่ากว่า 70% ในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย.ของทุกปี เป็นช่วงที่หุ้นไทยจะปรับตัวขึ้น โดยได้รับปัจจัยหนุนจากการที่นักลงทุนเข้ามาช้อนซื้อหุ้นปันผลดีก่อนที่ บจ.จะประกาศจ่ายปันผล หากนักลงทุนเข้าซื้อหุ้นหลังตรุษจีนและถือต่ออีก 1 เดือน หรือขายออกในสิ้นเดือน มี.ค. จะได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 2.8% หากถือไว้ 2 เดือน หรือขายออกช่วงสิ้นเดือนเม.ย. จะได้รับผลตอบแทนเฉลี่ย 4.8%

        ซึ่งในปี 60 นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า มี บจ. ประกาศจ่ายเงินปันผลรวมทั้งสิ้น 487 บริษัท (ไม่รวมกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน) มูลค่ารวม 478,092 ล้านบาท

        ทั้งนี้ แบ่งเป็น บจ.ใน SET 400 บริษัท มูลค่าเงินปันผล 473,270 ล้านบาท และ บจ.ใน mai 87 บริษัท มูลค่าเงินปันผล 4,822 ล้านบาท โดยมูลค่าเงินปันผลส่วนใหญ่ หรือ 52% ของทั้งหมด เกิดจาก บจ.หมวดพลังงานและสาธารณูปโภค ธนาคาร และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นอกจากนี้ มีอัตราเงินปันผลตอบแทน โดยเฉลี่ยเท่ากับ 3.41% ขณะที่ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (Property fund & REITs) มีอัตราเงินปันผลตอบแทนโดยเฉลี่ย 5.97% และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน มีอัตราเงินปันผลตอบแทนโดยเฉลี่ย 7.04%

        “บจ.ไทยส่วนใหญ่มีผลประกอบการดี และจ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ ด้วยอัตราผลตอบแทนที่อยู่ในระดับดี ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ลงทุนพิจารณาลงทุนในหุ้นไทย”

        ด้านความแข็งแรงของ บจ.ใน SET ที่ประกาศจ่ายเงินปันผลสูงสุด 5 อันดับแรก คือ บมจ.ปตท. (PTT), บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC), บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC), ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) และ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) มีมูลค่ารวมกัน 132,085 ล้านบาท หรือ 28% ของมูลค่าเงินปันผลทั้งหมดใน SET

        สำหรับ บจ.ใน mai ที่ประกาศจ่ายเงินปันผลสูงสุด 5 อันดับแรก คือ บมจ.ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส (FSMART), บมจ.บรุ๊คเคอร์ กรุ๊ป (BROOK), บมจ.บางกอก เดค-คอน (BKD), บมจ.ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ (TSE) และ บมจ.ฟอร์จูน พาร์ท อินดัสตรี้ (FPI) มีมูลค่าเงินปันผลรวม 1,470 ล้านบาท หรือ 30% ของมูลค่าเงินปันผลทั้งหมดใน mai

        เมื่อพิจารณาในด้านการลงทุนในหุ้นที่มีการจ่ายเงินปันผลสูง บจ.ที่จ่ายเงินปันผลต่อหุ้นสูงสุด 5 อันดับแรก คือ บมจ. กันยงอีเลคทริก (KYE), บมจ.กู๊ดเยียร์ (ประเทศไทย) (GYT), บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC), บมจ.ปตท. (PTT) และ บมจ.อาหารสยาม (SFP) โดยประกาศจ่ายเงินปันผลต่อหุ้นในปี 60 มูลค่าตั้งแต่ 16.50 ถึง 30.36 บาทต่อหุ้น

        ด้าน บจ.ที่มีอัตราเงินปันผลตอบแทน (Dividend Yield) สูงสุด 5 อันดับแรก คือ บมจ.แปซิฟิกไพพ์ (PAP), บมจ.พรีเมียร์ เทคโนโลยี (PT), บมจ.บางสะพานบาร์มิล (BSBM), บมจ.หลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) (KGI) และ บมจ.ทรีนีตี้ วัฒนา (TNITY) โดยมีอัตราเงินปันผลตอบแทนตั้งแต่ 9.42% ถึง 15.23%

        ความเสี่ยงจากการซื้อขายหุ้นบนกระดานในภาวะที่ตลาดหุ้นกำลังผันผวนในปัจจุบันยังมีอยู่มาก หากนักลงทุนไม่ได้คิดมากกับตัวเลขกำไรที่จะได้มา หรือไม่รีบร้อนมากนัก การถือไว้เพื่อรับปันผลจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ค่อนข้างมีความเสี่ยงในการขาดทุนน้อย และที่สำคัญมีโอกาสได้ผลตอบแทนคืนจริงๆ แต่ต้องพิจารณาถึงความคุ้มค่า และความเหมาะสมของระยะเวลาที่ถือไว้ด้วย เหนือสิ่งอื่นใดที่จะขาดไม่ได้ คือพื้นฐานของบริษัทที่ต้องแน่นปึ้กจริงๆ ถึงจะคุ้มค่าการรอคอย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"