'คลัง'เตือนอย่าหลงเชื่อแก๊งปลอมบอนด์รัฐขาย


เพิ่มเพื่อน    

11 พ.ค. 2563 นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีกลุ่มมิจฉาชีพปลอมแปลงพันธบัตรรัฐบาลออกอาละวาด ด้วยการใช้กลอุบายสร้างความน่าเชื่อถือและใช้พันธบัตรปลอมหลอกลวงประชาชนให้เข้าไปลงทุน จนทำให้มีผู้หลงเชื่อจำนวนมากและสร้างความเสียหายไปแล้วหลายล้านบาท ดังนั้น จึงขอแจ้งเตือนให้ประชาชนระมัดระวัง และตรวจสอบให้แน่ใจก่อนทำธุรกรรมพันธบัตรทุกครั้ง

ทั้งนี้ สบน. ยังได้แจ้งความต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.)เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดไปแล้ว เพราะการปลอมแปลงพันธบัตรรัฐบาลและนำออกใช้เพื่อหลอกลวงประชาชน ถือเป็นความผิดทางกฎหมายซึ่งมีบทลงโทษรุนแรง ขณะเดียวกันก็ขอให้ประชาชนเพิ่มความระมัดระวัง หากไม่มั่นใจสามารถสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับพันธบัตรรัฐบาลหรือการลงทุนในพันธบัตรได้ที่ สบน. หรือหากต้องการตรวจสอบพันธบัตรรัฐบาลหรือแจ้งเบาะแสการปลอมแปลงก็ทำได้ที่สายด่วน 1213

“ที่ผ่านมา สบน. ได้ร่วมกับศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)แจ้งความดำเนินคดีแก๊งปลอมแปลงไปแล้ว โดยขอให้เร่งปราบปรามอย่างจริงจังเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน เพราะ สบน.มีแผนจะออกพันธบัตรรัฐบาลรุ่นใหม่มาจำหน่ายให้ประชาชนเพิ่มเติม สำหรับใช้ใน พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งหากมีการปลอมแปลงพันธบัตรอยู่มากก็อาจกระทบต่อความน่าเชื่อถือได้” นางแพตริเซีย กล่าว

นางแพตริเซีย กล่าวถึงแผนการกู้เงินในพ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทว่า ขณะนี้ สบน.ได้ทำการกู้ไปแล้ว 2 รอบ รวม 1.2 แสนล้านบาท โดยเป็นการกู้ด้วยการออกตั๋วสัญญาใช้เงินทั้งหมด ซึ่งรอบแรกได้กู้เสร็จและมีเงินเข้าคลังไปแล้ว 7 หมื่นล้านบาท เพื่อนำไปใช้จ่ายเงินชดเชยรายได้ให้ผู้รับผลกระทบโควิด-19 รอบเดือน พ.ค. 2563 คนละ 5 พันบาท จำนวน 14 ล้านราย ส่วนรอบสองอีก 5 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้ช่วยเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19คนละ 5 พันบาท อีกจำนวน 10 ล้านคน ซึ่งคาดว่าจะกู้เสร็จมีเงินเข้าคลังได้ภายในกลางเดือน พ.ค.นี้

ส่วนการออกพันธบัตรรัฐบาลสำหรับจำหน่ายให้ประชาชน จะมีการออกพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษ รุ่น “เราไม่ทิ้งกัน” จำหน่าย 5 หมื่นล้านบาท เริ่มขายวันที่ 14 พ.ค.นี้ โดยจำหน่ายให้ผู้สูงอายุก่อน หากไม่หมดจะเปิดขายให้ประชาชนทั่วไป และองค์กรนิติบุคคลที่ไม่แสวงหากำไรต่อไป โดยซื้อได้ผ่านแอพพลิเคชัน Direct Bond และธนาคาร 4 แห่ง กรุงไทย กรุงเทพ ไทยพาณิชย์ และกสิกรไทย โดย สบน.จะบริหารแผนการกู้เงินให้พอดีกับการใช้จ่ายเยียวยาโควิดในแต่ละช่วง ไม่จำเป็นต้องออกพันธบัตรก้อนใหญ่นับแสนล้านบาท เพราะจะทำให้รัฐบาลเสียดอกเบี้ยโดยไม่จำเป็น

“ภาพรวมการกู้เงินพ.ร.ก.1 ล้านล้านบาท จะแบ่งเป็นกู้ในปีงบ 2563 ก่อน 6 แสนล้านบาท เพื่อเตรียมไว้ใช้ช่วยเหลือเกษตร อาชีพอิสระ และดูแลระบบสาธารณสุข ส่วนเงินกู้อีก 4 แสนล้านบาทสำหรับใช้ไว้ฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังจบวิกฤตโควิด-19 จะเริ่มกู้ในปีหน้าเป็นต้นไป โดยการกู้จะมีทั้งแบบระยะสั้นและยาว ผ่านการออกตั๋วสัญญาใช้เงิน การขอสินเชื่อจากธนาคาร การออกพันธบัตรรัฐบาล โดยเน้นกู้ในประเทศเป็นส่วนใหญ่ไม่ต่ำกว่า 80% เพราะมีสภาพคล่องเหลือเพียงพอ ส่วนเงินกู้จากต่างประเทศจะพิจารณาเฉพาะที่มีเงื่อนไขดอกเบี้ยน่าสนใจเท่านั้น” นางแพตริเซีย กล่าว


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"