11 พ.ค.63- วินทร์ เลียววาริณ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ และนักเขียนเจ้าของรางวัลซีไรต์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ถึงกบฏวังหลวง ที่านำโดย นายปรีดี พนมยงค์ มีรายละเอียดดังนี้
ในวันที่ 10 มกราคม 2492 เรือสัญชาติอเมริกันระวางยี่สิบตันลำหนึ่งเดินทางจากมณฑลกวางตุ้ง เมืองจีนเข้าสู่อ่าวไทย ไปทอดสมอนอกเกาะเสม็ด จังหวัดระยอง
บุรุษบนเรือคือ ปรีดี พนมยงค์ มันสมองคณะราษฎร หัวหน้าขบวนการเสรีไทย ผู้ช่วยให้ไทยพ้นจากการสูญเสียอธิปไตยในฐานะประเทศแพ้สงคราม
หลังจากทหารยึดอำนาจในปี พ.ศ. 2490 เขาคิดไปลี้ภัยที่เม็กซิโก แต่ชะตากรรมทำให้ต้องกลับมาอีกครั้ง
ในเรือลำนั้นนอกจาก ปรีดี พนมยงค์ ยังมีคณะก่อการ เช่น ร.อ. วัชรชัย ชัยสิทธิเวช เลขานุการส่วนตัว และที่สำคัญคือมีอาวุธจำนวนมากที่ขนมาจากเมืองจีน
เรือแล่นเข้าน่านน้ำไทย ครั้นถึง เวลาสี่ทุ่ม วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พล.ร.ต. สังวร สุวรรณชีพ ก็ส่งเรือยนต์ลำหนึ่งไปรับพวกเขา
วันเสาร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 เวลาสี่โมงเย็น เรือเอก วัชรชัย ชัยสิทธิเวช ยกกำลังบุกเข้าไปที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง คลังแสงอาวุธเสรีไทย หลอกทหารกรมรักษาดินแดนว่าเป็นเจ้าหน้าที่สันติบาล ไปจับกุมคนร้าย
ครั้นถึงเวลาสองทุ่ม ก็เคลื่อนกำลังด้วยรถยนต์สี่คัน ออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ฯ ถึงพระบรมมหาราชวังด้านประตูวิเศษไชยศรี ปลดอาวุธทหารรักษาการณ์ทั้งหมด ตั้งกองบัญชาการที่พระบรมมหาราชวัง แล้วยึดจุดยุทธศาสตร์ต่างๆ ในเมือง
รัฐประหารครั้งใหม่กำลังเริ่มต้น
รัฐประหารครั้งที่ 6 แห่งสยามยุคประชาธิปไตย
.
เหตุผลหนึ่งที่ ปรีดี พนมยงค์ กลับมายึดอำนาจเพราะฝ่ายตรงข้ามใช้ประเด็นกรณีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลโจมตีอย่างรุนแรง ปรีดี พนมยงค์ ติดต่อผู้มีอำนาจในเมืองไทยคือ พล.ต.ต เผ่า ศรียานนท์ และ พล.ต. สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เพื่อขอคำรับรองความปลอดภัยในการเดินทางกลับเมืองไทยเพื่อสู้คดี ผู้มีอำนาจปฏิเสธโดยสิ้นเชิง
จึงเหลือหนทางเดียวคือยึดอำนาจด้วยกำลัง
ความเคลื่อนไหวของ ปรีดี พนมยงค์ มิอาจหลุดรอดจากสายตาหน่วยข่าวกรองฝ่ายรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม คาดหมายแล้วว่าจะเกิดเหตุการณ์ ‘เอาคืน’ ในการปราศรัยทางวิทยุครั้งหนึ่ง จอมพล ป. พูดทิ้งเป็นนัยว่า “เลือดไทยเท่านั้นที่จะล้างเมืองไทยให้สะอาดได้”
สามวันก่อนที่ ปรีดี พนมยงค์ ยึดอำนาจ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ประกาศภาวะฉุกเฉิน พร้อมกับสั่งทหารเตรียมพร้อม ติดตั้งปืนกลตามจุดสำคัญต่างๆ ก่อนหน้านั้นสั่งให้มีการฝึกซ้อมรบด้วยกระสุนจริงที่ตำบลทุ่งเชียงราก ปทุมธานี เรียกว่า การประลองยุทธ์ที่ตำบลทุ่งเชียงราก
ไม่ว่าฝ่ายรัฐบาลจะพร้อมเพียงใด ฝ่ายก่อการก็เดินหน้า
แผนปฏิบัติการของ ปรีดี พนมยงค์ เรียกว่า แผนช้างดำ-ช้างน้ำ ออกแบบให้เป็นปฏิบัติการแบบสายฟ้าแลบ ยึดสถานที่ยุทธศาสตร์ต่างๆ ในกรุงเทพฯอย่างรวดเร็ว ทหารส่วนใหญ่ที่ร่วมด้วยเป็นทหารเรือจากสัตหีบและระยอง เช่น พล.ร.ต. ทหาร ขำหิรัญ พล.ร.ต. สังวร สุวรรณชีพ ร่วมกับกำลังของอดีตเสรีไทยที่ได้รับการฝึกรบจากสัมพันธมิตรในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เช่น พ.ต. โผน อินทรทัต ปราโมทย์ พึ่งสุนทร ทองเย็น หลีละเมียร ฯลฯ
พวกเขาใช้วังหลวงเป็นฐานบัญชาการ เพราะเชื่อว่าทหารฝ่ายรัฐบาลไม่กล้าใช้อาวุธหนักบุกพระราชวัง
กำลังอดีตเสรีไทยเคลื่อนจากจังหวัดต่างๆ เข้ามาสมทบในเมืองหลวง ได้แก่เสรีไทยหัวหิน นำโดยนายชาญ บุนนาค เสรีไทยภาคตะวันออกนำโดยนายชวน เข็มเพชร เสรีไทยภาคอีสานนำโดยนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายจำลอง ดาวเรือง นายถวิล อุดล และนายเตียง ศิริขันธ์ เสรีไทยจากกาญจนบุรีนำโดย ดร. ทองเปลว ชลภูมิ
ในเวลาเดียวกัน กำลังทหารฝ่ายก่อการก็ยึดพื้นที่ถนนวิทยุถึงสี่แยกราชประสงค์ ประตูน้ำ มักกะสัน ราชเทวี
พ.ต. โผน อินทรทัต อดีตรองผู้อำนวยการโรงงานยาสูบ และเสรีไทย นำกำลังเข้ายึดสถานีวิทยุของกรมโฆษณาการที่พญาไท และทำหน้าที่เป็นโฆษกคณะปฏิวัติ การยึดอำนาจเป็นไปตามแผน เวลา 21.15 น. รายการลิเกเรื่อง คำปฏิญาณของนายสุชิน ถูกตัดสัญญาณ เสียงประกาศคณะรัฐประหารกระจายเสียงไปทั่วประเทศ ข้อความว่ามีพระราชโองการโปรดเกล้าฯให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม และคณะรัฐบาลพ้นจากตำแหน่ง โปรดเกล้าฯให้นายดิเรก ชัยนาม เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงการคลัง นายทวี บุณยเกตุ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โปรดเกล้าฯให้ พล.ร.ท. สินธุ์ กมลนาวิน เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด
รัฐบาลตั้งวอร์รูมที่วังสวนกุหลาบ เหล่าแม่ทัพนายกองไปชุมนุมที่นั่นทันที
ทหารฝ่ายข่าวกรองบอก “ฝ่ายก่อการจะยกกำลังบุกวังสวนกุหลาบ”
นายกรัฐมนตรีสั่ง “งั้นย้ายวอร์รูมไปที่โรงเรียนโยธินบูรณะ”
จอมพล ป. พิบูลสงคราม แต่งตั้ง พล.ต. สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นหัวหน้าปราบกบฏ สั่งการ พล.ต.ต. เผ่า ศรียานนท์ “ไปยึดสถานีวิทยุกรมโฆษณาการ พญาไทคืนมา”
“เลือดไทยเท่านั้นที่จะล้างเมืองไทย” เกิดขึ้นจริง
ทหารเรือรายงาน น.อ. ชลี สินธุโสภณ ผู้บังคับการกองสัญญาณทหารเรือ “ทหารบกยิงเรือตรี ประภัทร จันทรเขต หัวหน้าสายตรวจทหารเรือ ได้รับบาดเจ็บ”
ด้วยความโกรธแค้น น.อ. ชลี สินธุโสภณ ออกอากาศทางสถานีวิทยุของทหารเรือทันทีว่า “ทหารเรือถูกรังแก ขอให้ทหารเรือยกกำลังมาช่วย เพื่อรักษาเกียรติและศักดิ์ศรีของทหารเรือ”
ทหารเรือจำนวนมากออกสู่ท้องถนน
สงครามกลางเมืองระหว่างทหารบกกับทหารเรืออุบัติขึ้นจากน้ำผึ้งหยดเดียว
.
กองบัญชาการช้างดำ-ช้างน้ำประชุมเครียด แกนนำคนหนึ่งกล่าว “ทำไมทหารเรือยังไม่มา?”
“พวกเขาข้ามแม่น้ำบางปะกงมาไม่ได้”
“ทำไม? เกิดอะไรขึ้น?”
“การข้ามฟากทำได้โดยทางแพขนานยนต์ที่ท่าข้ามบางปะกงอย่างเดียวเท่านั้น ตอนนี้พวกเขาติดอยู่ที่ท่าข้ามคลองด่าน บางบ่อ สมุทรปราการ”
“แล้วทำไมข้ามไม่ได้?”
“เพราะวันนี้ระดับน้ำในแม่น้ำบางปะกงลดลงมากผิดปกติ อีกอย่างน้ำหนักบรรทุกมากเกินไป จึงไม่สามารถใช้แพขนานยนต์ได้”
“แล้วจะทำยังไง?”
“ก็ต้องรอน้ำขึ้น”
ทันใดนั้นการยึดอำนาจก็พบอุปสรรคสำคัญที่ควบคุมไม่ได้ - ธรรมชาติ!
เหล่าทหารเรือฝ่ายก่อการรอจนน้ำขึ้นในตอนกลางคืน กว่าจะข้ามฟากและยกกำลังไปถึงใจกลางเมืองหลวง ก็เป็นเวลาสองยาม เวลานั้นฝ่ายรัฐบาลเริ่มช่วงชิงพื้นที่คืนได้มาก
เวลาตีสอง กำลังตำรวจของ พล.ต.ต. เผ่า ศรียานนท์ ยึดสถานีวิทยุกรมโฆษณาการ พญาไทคืนมาสำเร็จ โฆษกฝ่ายก่อการ พ.ต. โผน อินทรทัต ถูกตำรวจจับกุม
“ส่งตัวไปสอบสวนที่วังปารุสกวัน”
เนื่องจากชิ้นส่วนเครื่องส่งวิทยุถูกฝ่ายกบฏถอดออกไปก่อนหน้านั้น ฝ่ายรัฐบาลไม่สามารถออกอากาศกระจายเสียงได้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงไปออกอากาศที่สถานีวิทยุกรมจเรทหารสื่อสาร ประกาศให้ประชาชนอยู่ในความสงบ
“ตามที่ได้มีความไม่สงบเกิดขึ้นในพระนครเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ปรากฏว่ามีบุคคลคณะหนึ่งซึ่งมีความมุ่งหมายที่จะระงับรัฐธรรมนูญฉบับที่จะออกใหม่ กับล้มล้างรัฐบาลปัจจุบัน โดยวางแผนโฆษณาชวนเชื่อให้ทหารตำรวจต่อสู้กันเอง แล้วฉวยเอาผลของการระส่ำระสาย ทำการปฏิวัติ ขณะนี้ได้ถูกจับกุมแล้วเป็นจำนวนมาก”
ในเวลาตีสองเช่นกัน พล.ต. สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ส่งทหาร ร. พัน 1 พร้อมรถถังหลายคันไปล้อมพระราชวัง
พล.ต. สฤษดิ์สั่งทหาร “เจรจาให้พวกเขาวางอาวุธ”
“พยายามแล้วครับ พวกนั้นยิงปืนสวนมาครับ”
“งั้นก็บุกเข้ายึดวังสราญรมย์”
“จะให้บุกเข้าไปได้ยังไงครับ? มันเป็นพระราชวัง...”
“ก็ให้รถถังยิงเข้าไปซี”
รถถังก็ยิงปืนใส่วังหลวง ฝ่ายก่อการยิงสวน บาซูกาฝ่ายรัฐประหารทำลายรถถังคันหนึ่งพัง รถถังรัฐบาลสองคันพุ่งชนประตูวังพังทลายลง กำลังทหารบุกเข้าไป ทั้งสองฝ่ายยิงกัน ลูกปืนปลิวว่อน
เวลาหกโมงเช้า ทหารรัฐบาลยิงปืนใหญ่ใส่ประตูสวัสดิโสภาและเทวาพิทักษ์พังลง กำลังทหารราบบุกเข้าไป ยึดพระราชวังได้ทั้งหมด ขณะที่ช้างดำ-ช้างน้ำเริ่มถอย
กำลังทหารฝ่ายรัฐบาลตั้งตัวติด ยึดจุดยุทธศาสตร์กลับคืนไปได้ทีละจุด จนถึงเวลา 18.00 น. วันที่ 28 กุมภาพันธ์ ฝ่ายรัฐบาลก็ยึดพื้นที่คืนได้หมด ผู้ก่อการเปลี่ยนสถานะจากคณะรัฐประหารเป็นกบฏ
กบฏครั้งนี้ทำให้ทหารเสียชีวิตเจ็ดคน ประชาชนตายสามคน บาดเจ็บอีกจำนวนมาก
รถยนต์ตำรวจพา พ.ต. โผน อินทรทัต ไปสอบสวนที่วังปารุสกวัน แต่ระหว่างทางเสียงปืนดังขึ้น
ต่อมาพบศพ พ.ต. โผน อินทรทัต ที่อำเภอดุสิต ถูกยิงที่ท้ายทอยและหน้าผาก
ไทยฆ่าไทย
สิ้นวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 ช้างดำ-ช้างน้ำปราชัยโดยสิ้นเชิง
“เราประเมินรัฐบาลผิดที่คิดว่าพวกเขาจะไม่ถล่มวังหลวง”
“เราไม่ได้รับแรงสนับสนุนจากทหารเรือทั้งหมด แม้แต่กองพันนาวิกโยธินที่ 4 และ 5 ที่อยู่ใกล้วังหลวงก็มิได้สนับสนุนฝ่ายก่อการ ปล่อยให้รถถังยิงถล่มวังหลวงจนฝ่ายรัฐบาลชนะ”
คนสนิทบอกหัวหน้ากบฏวังหลวง “เราต้องไปแล้ว”
ปรีดี พนมยงค์ ไปซ่อนตัวในบ้านหลังหนึ่งฝั่งธนบุรี นานห้าเดือนเศษ
วันที่ 6 สิงหาคม 2492 ก็ลงเรือประมงขนาดเล็ก ระวางขับน้ำ 5 ตันออกสู่อ่าวไทย ผ่านด่านต่างๆ อย่างปลอดภัย มุ่งหน้าไปที่สิงคโปร์
จากสิงคโปร์ ปรีดี พนมยงค์ เดินทางไปฮ่องกง คนของพรรคคอมมิวนิสต์มาต้อนรับ ต่อไปที่ปักกิ่ง และพักที่ปักกิ่งนาน 21 ปีในฐานะอาคันตุกะของสาธารณรัฐประชาชนจีน
ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2513 นายกรัฐมนตรีจีน โจวเอินไหล ช่วยจัดการเดินเรื่องให้ ปรีดี พนมยงค์ ไปพำนักอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส
พ.ศ. 2513 แกนนำคณะราษฎร หัวหน้าเสรีไทย หัวหน้ากบฏวังหลวง ก็จากเมืองจีนไปพำนักที่ฝรั่งเศส ไม่ได้เหยียบแผ่นดินไทยอีกเลย
บ่ายวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2492 รัฐบาลจัดงานเลี้ยงที่บริเวณกระทรวงกลาโหม เลี้ยงฉลองแม่ทัพนายกองที่ปราบกบฏสำเร็จจำนวนสามร้อยคน
หลังจากนั้นก็เริ่มต้นปฏิบัติการล่าพวกบฏทีละคน
คำสั่งมีวลีเดียว “จับตาย”
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |