"แม้ในระยะสั้นอีอีซีจะได้รับผลกระทบแต่ในระยะยาว นักลงทุนยังเชื่อมั่นที่จะลงทุนในอีอีซี เพราะการลงทุนส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในระยะยาว และมีแผนการลงทุนที่ชัดเจนยื่นขอส่งเสริมการลงทุน หรือยื่นจัดตั้งธุรกิจ ในวันนี้จะต้องเปิดธุรกิจได้ภายใน 1-2 ปี และลงทุนระยะยาว 30-40 ปี"
แม้ว่าปัจจุบันจะมีการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 อยู่ทั่วโลก ทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจนั้นเกิดผลกระทบ แทบจะล้มกันเป็นโดมิโน ทำให้หลายประเทศต้องเร่งดูแลและแก้ไขให้วิกฤติครั้งนี้มีผลสรุปเร็วที่สุด รวมถึงหลายกลุ่มอุตสาหกรรมต้องกลับมาทบทวนตัวเองถึงแนวโน้มการลงทุนที่จะเกิดขึ้นในช่วงนี้หรือในอนาคต โดยเฉพาะประเทศไทยเองที่นักลงทุนทั้งไทยและต่างชาตินั้นยังคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจนหลายฝ่ายไม่กล้าที่จะใช้เงินในช่วงนี้ ซึ่งดูได้จากดัชนีชี้วัดของหลายๆ หน่วยงาน ที่พูดถึงการเติบโตของเศรษฐกิจหรือความเชื่อมั่นของนักลงทุน รวมทั้งการใช้ทรัพยากรในการผลิตลดน้อยถอยลงเกือบทุกตัว
ทั้งนี้ ประเทศไทยเองมีการลงทุนขนาดใหญ่ที่ยังรอความชัดเจนอยู่ และหวังว่าจะสามารถเดินหน้าต่อไปได้ในช่วงนี้ แม้จะเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจขึ้น เพราะหลายฝ่ายมีความคิดเห็นว่าการลงทุนของภาครัฐจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยพยุงเศรษฐกิจของประเทศไทยให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้ในช่วงนี้ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการก่อสร้าง จะทำให้เกิดการจ้างงาน เม็ดเงินลงหมุนเวียนในพื้นที่นั้นๆ
การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน หรือโครงการขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจ็กต์) ที่ประเทศกำลังให้ความสำคัญ คือ การพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ที่จะเป็นโครงการหลักที่สนับสนุนการลงทุนดังกล่าว โดยล่าสุดโครงการหลักๆ ก็ยังเดินหน้าต่อไป ซึ่งเป็นเรื่องโชคดีของเศรษฐกิจไทยที่มีการตัดสินใจลงทุนขนาดใหญ่ไปก่อนหน้าที่จะเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไปแล้ว และเดินหน้าอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ หลายๆ ฝ่ายจึงได้รับอานิสงส์จากการดำเนินงานครั้งนี้
โดยจากผู้ดำเนินการหลายโครงการยังคงเดินหน้าที่จะลงทุนต่อเนื่อง อาทิ กรมทางหลวง (ทล.) โดย นายปิยพงษ์ จิวัฒนกุลไพศาล ผู้อำนวยการกองทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายพัทยา-มาบตาพุด ว่า ขณะนี้งานก่อสร้างคืบหน้า 99% ซึ่งกรมทางหลวงเตรียมเปิดทดลองให้บริการในปลายเดือน พ.ค.นี้ ก่อนเปิดบริการอย่างเป็นทางการเดือน ส.ค.2563
ขณะเดียวกัน กรมทางหลวงยังมีแผนพัฒนาส่วนต่อขยายโครงข่ายมอเตอร์เวย์เชื่อมต่ออีอีซี ในโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง เส้นทางแหลมฉบัง-ปราจีนบุรี-นครราชสีมา โดยปัจจุบันกรมทางหลวงได้ศึกษาและออกแบบแนวเส้นทางไปแล้วราว 50% และอยู่ระหว่างของบประมาณจัดสรรเพิ่มเติม เพื่อดำเนินการศึกษาออกแบบแนวเส้นทางให้แล้วเสร็จ
“เข้าใจว่าขณะนี้เราอยู่ในช่วงของการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโควิด-19 ดังนั้น ทล.ในฐานะหน่วยงานก็เตรียมความพร้อมดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลในทุกเรื่อง คงต้องรอฟังนโยบายอย่างชัดเจนก่อนว่าจะมีแนวทางอย่างไรในเรื่องของการลงทุน เบื้องต้นเชื่อว่าคงมีการพิจารณาจัดลำดับความสำคัญของการลงทุน” นายปิยพงศ์กล่าว
ลงนามเอกชน พ.ค.นี้
ขณะเดียวกัน ด้านความก้าวหน้าของการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ล่าสุด นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) หรือ สกพอ. เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ที่มี นายอุตตม สาวนายน รมว.การคลัง เป็นประธาน ว่า จะเร่งนำมติของ กบอ.เสนอคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยเร็วที่สุด และคาดว่าจะมีการลงนามสัญญากับกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส (BBS Joint Venture) (กลุ่มบีบีเอส) ประกอบด้วย บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (Lead Firm) บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมลงทุนได้ภายในเดือน พ.ค.นี้ โดยโครงการดังกล่าวจะใช้เวลาพัฒนาประมาณ 4 ปีครึ่ง ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี
ทั้งนี้ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก มี 6 กิจกรรมสำคัญ ได้แก่ 1) อาคารผู้โดยสารหลังที่สาม 2) ศูนย์ธุรกิจการค้าและการขนส่งภาคพื้นดิน 3) ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) 4) เขตประกอบการค้าเสรี และเขตธุรกิจเกี่ยวเนื่อง 5) ศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์ และ 6) ศูนย์ฝึกอบรมการบิน ซึ่งปัจจุบัน โดยมั่นใจว่าโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาจะเป็นโครงการสำคัญที่จะทำให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจในประเทศ เกิดการจ้างงานเพิ่ม 15,640 ตำแหน่งต่อปี ในระยะ 5 ปีแรก โดยการลงทุนของโครงการรวมเป็นเงินลงทุนรวมประมาณ 290,000 ล้านบาท ซึ่งรัฐได้ประโยชน์ คือภาษีอากรเพิ่มมากกว่า 60,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก ได้วางยุทธศาสตร์สำคัญใน 3 ภารกิจ คือ 1.เป็น “สนามบินกรุงเทพฯ แห่งที่ 3” เชื่อมสนามบินดอนเมือง และสุวรรณภูมิ ด้วยรถไฟความเร็วสูง 2.เป็นศูนย์กลางการพัฒนาธุรกิจเป้าหมายโดยเฉพาะการเป็น “ศูนย์กลางอุตสาหกรรม ท่องเที่ยว และ Logistics & Aviation” ของอีอีซี
"จะเร่งนำเสนอเรื่องนี้ต่อ กพอ.โดยเร็วที่สุด ซึ่งโควิด-19 จะไม่กระทบแผนลงทุน คาดว่าแผนงานวางไว้จะแล้วเสร็จในปี 66 และหลังโควิด-19 อุตสาหกรรมการบินจะกลับมาฟื้นตัวได้ 50% ในช่วงครึ่งแรกของปี 64 และในครึ่งหลังจะฟื้นตัวกลับมา 70% ถือว่าช่วงนี้เป็นการเตรียมพร้อมด้านการลงทุนก่อสร้างที่” นายคณิศกล่าว
เร่งส่งมอบพื้นที่สร้างไฮสปีดอีอีซี
ขณะที่ความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินนั้น นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคมในฐานะประธานการประชุมคณะทำงานเร่งรัดการส่งมอบพื้นที่และการรื้อย้ายสาธารณูปโภค โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ที่ประชุมได้เห็นชอบหลักการตามข้อเสนอการขอขยายเขตทางในพื้นที่เวนคืนเพิ่มเติมจาก 25 เมตร ตามเอกสารการคัดเลือกเอกชน (RFP) ตามที่ บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อม 3 สนามบิน จำกัด เสนอ
โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และบริษัทรถไฟความเร็วสูง ได้หารือร่วมกันเกี่ยวกับการขยายเขตทางตามความเป็นจำเป็น 5 จุด เพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยการทำงาน และการก่อสร้าง รวมทั้งลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนขณะก่อสร้าง และเมื่อเปิดเดินรถให้บริการ ตลอดจนใช้เป็นเส้นทางสาธารณะแก่ประชาชนใช้โดยสารทางถนนโดยรอบตลอดเส้นทางโครงการฯ โดยหากมีพื้นที่ส่วนใดที่อาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) อีกครั้ง
"โครงการทั้งหมดนี้ก็มีการอนุมัติคำสั่งและดำเนินการอย่างต่อเนื่องท่ามกลางวิกฤติไวรัสโควิด-19 ซึ่งคาดว่าบางโครงการจะแล้วเสร็จพร้อมๆ กับการหายไปของตัวไวรัส ทำให้ประชาชนผู้บริโภคสามารถใช้งานได้ทัน ขณะที่ความเชื่อมั่นของด้านเอกชนในตอนนี้ นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ก็ออกมายืนยันแล้วว่า หากวิกฤติในครั้งนี้คลี่คลาย นักลงทุนก็พร้อมที่จะลงทุนทันที" นายชัยวัฒน์กล่าว
โดยนายสุพันธุ์กล่าวว่า โครงสร้างพื้นฐาน หรือเมกะโปรเจ็กต์ที่ภาครัฐกำลังทำอยู่นั้นก็เห็นถึงความชัดเจนอย่างมาก หลายโครงการเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าโควิด-19 นั้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อเรื่องนี้ เนื่องจากเป็นการลงทุนระยะยาวหลายโครงการมีการวางแผนไว้หลายปี และทุกโครงการเป็นโครงการที่มีความจำเป็นต่อการสนับสนุนพื้นที่อีอีซี ขณะที่ด้านความเชื่อมั่นของนักลงทุนเองบางกลุ่มที่ยังไม่ได้ดำเนินการลงทุนก็คงต้องรอเรื่องโควิดให้มีความคลี่คลายลง แต่ในกลุ่มที่มีการลงทุนไปแล้วก็เดินหน้าลงทุนอย่างต่อเนื่อง
“นอกจากเรื่องโควิด-19 แล้ว ก็ไม่น่าจะมีปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้นักลงทุนต้องทบทวนหรือรอการลงทุนในประเทศไทย เพราะนักลงทุนส่วนใหญ่นั้นดูจากด้านโครงสร้างพื้นฐานและนโยบายของภาครัฐเป็นหลักอยู่แล้ว โดยเฉพาะการเมืองที่ช่วงนี้ยังไม่มีปัญหาร้ายแรงอะไร ก็ทำให้นักลงทุนยังมีความเชื่อมั่นใจช่วงนี้ และถ้าทุกอย่างคลี่คลายไปก็จะทำให้นักลงทุนสามารถดำเนินงานได้ต่อทันที” นายสุพันธุ์กล่าว
นักลงทุนยังเชื่อมั่นอีอีซี
แต่ก็ต้องยอมรับว่าการระบาดของโรคโควิด-19 ไม่ใช่จะไม่ส่งผลกระทบเลยซะทีเดียว เนื่องจากภาครัฐจำเป็นต้องทบทวนแผนการชักจูงการลงทุน เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลง ทั้งช่วงระบาดและหลังการระบาด โดย นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สกพอ. ก็ได้ออกมากล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปี 2563 ทำให้ สกพอ.ต้องทบทวนทั้งเป้าหมายการลงทุน และยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนในอีอีซี
จากเดิมที่ตั้งเป้าการส่งเสริมการลงทุนในอีอีซีจะมีเม็ดเงินเข้ามากว่า 100,000 ล้านบาทต่อปี แต่ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ต้องมีการทบทวนเป้าหมายในปี 2563 ใหม่ เพราะขณะนี้สถานการณ์การลงทุนเปลี่ยนแปลงไปจากผลกระทบของโรคระบาดที่ยังไม่สามารถประเมินได้ว่า จะกระทบยาวนานขนาดไหน โดย สกพอ.กำลังวิเคราะห์ตัวเลขคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในไตรมาส 1 ปี 2563 ที่มีคำขอ 117 โครงการ จำนวนเงินลงทุน 47,580 ล้านบาท คิดเป็น 67% ของมูลค่าคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม ทาง สกพอ.เองก็จะมีการพิจารณาการทำงานเพื่อชักจูงนักลงทุนในต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในอีอีซี ซึ่งวางแผนให้ช่วงครึ่งปีแรกตั้งเป้าหมายที่จะรักษาการติดต่อนักลงทุนที่มีศักยภาพระยะยาวต่อไป แต่ปรับวิธีทำงานเป็นการรับฟังและการประชุมผ่านการประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์(Video conference) ส่วนช่วงครึ่งปีหลังที่สถานการณ์ดีขึ้นก็จะเร่งการเตรียมประสานกับนักลงทุนตามแผนการลงทุนที่มีอยู่ โดยคาดว่าในช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า สถานการณ์จะดีขึ้นตามลำดับ
"แม้ในระยะสั้นอีอีซีจะได้รับผลกระทบ แต่ในระยะยาวนักลงทุนยังเชื่อมั่นที่จะลงทุนในอีอีซี เพราะการลงทุนส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในระยะยาว และมีแผนการลงทุนที่ชัดเจนยื่นขอส่งเสริมการลงทุน หรือยื่นจัดตั้งธุรกิจ ในวันนี้จะต้องเปิดธุรกิจได้ภายใน 1-2 ปี และลงทุนระยะยาว 30-40 ปี" นายคณิศกล่าว
สำหรับการทบทวนยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุนในอีอีซี อยู่ในขั้นตอนที่ สกพอ.กำลังทบทวน โดยให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ในภูมิภาค และทิศทางเศรษฐกิจของโลกหลังโควิด-19 ซึ่งการวางแผนผลักดันการลงทุนตามทิศทางใหม่ที่จะเกิดขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับ การส่งเสริมการลงทุนในช่วงปลายปี 2563 ถึงต้นปี 2564 ซึ่งประมาณว่าช่วงดังกล่าวสถานการณ์น่าจะกลับมาส่วนใหญ่ จะเร่งผลักดันการลงทุนหลักที่จะเกิดตามทิศทางใหม่ของโลก
ซึ่งก็ต้องติดตามความคืบหน้าต่อไปว่ารัฐบาลไทยจะมีคำสั่งอย่างไรต่อการเดินหน้าพื้นที่อีอีซี ซึ่งหลังจากนี้เองก็คาดว่าจะเห็นความชัดเจนในโครงการเมกะโปรเจ็กต์อื่นๆ เพิ่มมากขึ้น โดยทั้งนี้ถือว่าเป็นโอกาสในวิกฤติ ที่เป็นโชคดีของประเทศไทย เนื่องจากแม้เศรษฐกิจโลกจะหยุดชะงัก แต่เชื่อว่าหากมีการลงทุนขนาดใหญ่ต่อเนื่องในประเทศเกิดขึ้น ก็จะสามารถผลักดันเศรษฐกิจในประเทศไม่ให้หยุดชะงักไปเหมือนเศรษฐกิจโลกได้.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |