"รุ่นเก่า-รุ่นใหม่" ของจริง


เพิ่มเพื่อน    

 

               ๑๑ พฤษภา.ของปีนี้

                ตรงกับแรม ๕ ค่ำ เดือน ๖ มีฤกษ์ยามกำหนดเป็นวัน "พืชมงคล" และวัน "เกษตรกร"

                หยุดงานกันอีกวันหนึ่ง....

                ฉะนั้น ผมจะเล่านิทาน "ชีวิตจริง" ที่สะท้อน "วิถีคิด-ชีวิตไทยฐานราก" จากคน ๒ วัย ที่เรียกกันว่า "รุ่นเก่า-รุ่นใหม่" ให้ท่านคิดกันเล่นๆ

                ว่าคนจน-คนรวย โดยแก่นแท้ของมัน แบบไหนเรียกจน-แบบไหนเรียกรวย?

                คนรุ่นเก่า-คนรุ่นใหม่ คือแบบไหนในความเป็นจริงของสังคมชาติ?

                สะท้อนกันดูจาก "นิทานชีวิตจริง" ที่ผมเล่านี้ต่อจากนี้แล้วตอบซิ ไหนเก่า-ไหนใหม่ เทียบกับทุกวันนี้?

                ในกาลครั้งหนึ่ง คือครั้งนี้ พ.ศ.๒๕๖๓ นี่แหละ

                ไวรัสโควิด-๑๙ ระบาดทั้งโลก รวมทั้งที่ประเทศไทย เดือดร้อนในชีวิตเป็นอยู่กันไปหมด

                คนไทยก็ช่วยเหลือกัน ใครมีอย่างไหน ก็นำอย่างนั้นออกแจกจ่ายแบ่งปันกัน

                เมื่อต้นเดือนพฤษภา.....

                มีชายหนุ่มคนหนึ่ง อายุไม่น่าเกิน ๓๐ ปี สวมหน้ากากอนามัย พร้อมลูกน้อง ๓-๔ คน นั่งรถตระเวนไปเรื่อยๆ

                พบคนยากไร้-อดอยาก ตามท้องถนน ชายหนุ่มคนนั้นก็หยุดรถ ในมือมีธนบัตรใบละ ๑๐๐, ๕๐๐, ๑,๐๐๐ เป็นปึกๆ

                บอกให้คนเหล่านั้น สู้..สู้ ยิ้มไว้ อย่าท้อแท้

                แล้วแจกเงิน ๕๐๐ บาทบ้าง ๑,๐๐๐ บาทบ้าง แลกยิ้ม

                เรื่องนี้ มีผู้เผยแพร่คลิปในโซเชียล เขาตระเวนแจกเงินไปเรื่อยๆ หลายที่ น่าจะเป็นต่างจังหวัด

                ไม่เพียงกับคนยาก-คนจนตามท้องถนน

                เขายังมีเป้าหมาย แจกเงินคนสู้ชีวิต ประเภท "ตีนถีบ-ปากกัด" ที่ไม่งอมือ-งอเท้ารอใครมาช่วย และไม่เอาแต่โทษหรือร้องขอใคร

                โดยเฉพาะ "คนเฒ่า-คนแก่" ที่งกๆ เงิ่นๆ ตระเวนเร่ หาบคอนของไปขาย

                มีผู้ใช้นาม "อธิบดี ตี๋ ชูศักดิ์" ถ่ายคลิปลงโซเชียล อย่างเช่น ๒ พ.ค.๖๓ พร้อมข้อความว่า

                "มีคนส่งเรื่องมาให้ผม บอกว่ายายนั่งขายของจนมืดทุกวัน บางวันขายไม่ได้ก็ต้องแจก วันนี้ผมเลยอยากให้ยายได้พักผ่อน #กอดยายหน่อย"

            ก็ไม่ได้บอกว่าที่ไหน เท่าที่ผมฟังการสนทนากับยาย ชายหนุ่มคนนั้นบอก "เขามาจากนครปฐม"

                ยายท่านหนึ่ง นั่งขายขนมริมถนน ชายหนุ่มผู้นั้นควักให้ยาย ๑,๐๐๐ บาท บอกเหมาทั้งหมด

                คุณยายงงๆ ชายหนุ่มย้ำ ผมเหมาแล้ว ยายช่วยแจกให้หมดละกัน และนับเงินให้ยายอีก ๑,๐๐๐ บาท

                ยายยิ่งงง เขานับธนบัตรใบละร้อยปึกใหญ่ในมือให้อีก ๑,๐๐๐ บอกพรุ่งนี้ไม่ต้องขาย จ้างให้ยายพักอยู่กับบ้าน

                ประเด็น ก็คือ "ผู้ให้" เต็มใจให้ แต่ "ผู้รับ" ไม่เต็มใจรับ พอใจเงินจากน้ำพัก-น้ำแรงตัวเองมากกว่า ซึ่งมันขัดแย้ง "สังคมรอแจก" ทุกวันนี้มาก

                อีกรายหนึ่ง ในวันต่อมา......

                หนุ่มคนนี้ ไปพบคุณยายท่านหนึ่ง หลังโก่ง ผอมเกร็ง อายุไม่น่าต่ำกว่า ๘๐ ใช้รถเข็น ๒ ล้อ เข็นผักไปวางขายข้างถนน ซึ่งเปลี่ยว ไม่มีผู้คน นอกจากรถวิ่งผ่าน

                ชายหนุ่มแวะเอาเงินให้ยาย แต่ยายไม่ยอมรับ

                เขาต้องยกมือไหว้ ขอร้องให้ยายรับ สุดท้าย ทำเป็นขอซื้อใบตองสด ให้ยายไป ๒,๐๐๐ บาท

                และนี่ เป็นจุดเริ่มของเรื่องในวันต่อมา จากคลิป "อธิบดี ตี๋ ชูศักดิ์" ที่เกริ่นด้วยข้อความว่า

                ชีวิตมันก็แค่นี้ ขนาดบ้านไม่มีน้ำ ไม่มีไฟ ยายยังยิ้มได้ ยายบอกว่าไม่ลำบาก ยายทำให้ทุกคนมีแรงมาก#รักยายดื้อ

            คือ ชายหนุ่มซื้อกระบะ ๓ ล้อไปเปลี่ยนจาก ๒ ล้อเข็นให้ยาย เขาตามพบยายขณะเข็น ๒ ล้อกลับบ้าน วันต่อมา

                ต่อจากนี้ เป็นเสียงสนทนาในคลิป เอาเท่าที่ฟังได้ชัด

                หนุ่ม:ยายจ๋า หลานมาแล้ว

                ยาย:ไม่เอาไม่ได้หรือหนูจ๋า

                หนุ่ม:เอา...เอามาให้ จอดข้างทางก่อน

                ยาย:โอ้โฮ...ตาย ตาย แล้วเงินก็ให้ตั้งเยอะแยะ แล้วจะทำอะไรให้ล่ะหนูจ๋า

                หนุ่ม:เนี่ย...เอามาให้นี่ไง สะดวกสบายกว่าตั้งเยอะแยะ

                ยาย:ไม่เอาไม่ได้หรือ เอาไปให้คนอื่นเขาไม่ได้หรือ

                หนุ่ม:ไม่ได้...เอามาแลกกับผักนี่ไง ไม่ได้เอามาให้ยาย

                ยาย:มีอะไรที่ไหน เอามาให้เยอะแยะ มีแต่กล้วย

                หนุ่ม:มีกล้วยก็เอากล้วยไง

                ยาย:ฉันไม่เคยใช้ของดีได้

                หนุ่ม:มันเก่าแล้วไง

                ยาย:เก่าก็ไม่เป็นไร

                หนุ่ม:ถ้ายายไม่เอานะ เดี๋ยวผมจะขโมยอันนี้ไป ยายจะแลกดีๆ หรือจะให้ขโมยไป

                ยาย:เอามาให้เยอะแยะ แล้วยายจะไปทำอะไรให้ล่ะหนูจ๋า

                หนุ่ม (ขนของจากรถเข็น ๒ ล้อของยายไปใส่รถกระบะ ๓ ล้อที่ซื้อมาให้ใหม่)

                ยาย:มีแต่กล้วย กับใบตอง หัวปลี ๒ หัว ยายก็กลัวไปเป็นบริวารชาติหน้า

                หนุ่ม:มันไม่เกี่ยวกันหรอก ผมให้ยาย ๒ พัน ยายยังไม่อยากเอาเลย

                ยาย:เรามี ๑๐ นิ้วเหมือนกัน ต้องสู้

                (ยายเข็นรถคันใหม่ไปตามถนน พลางบ่น)

                ยาย:โธ่...ตาเถร เนี่ย มันเข็นสู้เข่งไม่ได้รู้เปล่า เข่งมันหนีเข้าป่าได้ นี่มันฝืด มันหนักด้วย

                (หนุ่มกับยายเข็นรถไป เดินคุยกันไป มุ่งหน้ากลับบ้าน เมื่อถึงปากทางเข้าบ้าน ช่วยกันรื้อสัมภาระต่างๆ ที่สุมปิดกันคนอื่นเข้าบ้านออก)

                หนุ่ม:ให้อะไรยายก็ไม่ค่อยเอา

                ยาย:เอาไปได้ไง ลูกเรา ยังไม่เอาของเขาเลย มีมือ ๑๐ นิ้วเหมือนกัน

                หนุ่ม:ก็ยายแก่แล้ว มีมือ ๑๐ นิ้วอ่ะ

                ยาย:เออ ยายยังจะคืนเงินให้พวกหนูเลยนะ

                หนุ่ม:ไม่คืน...ไม่เอา ถ้ายายไม่เอา พวกผมร้องไห้เลยวันนี้

                ยาย:แล้วพี่น้องหนูเขาไม่ว่าหรือเนี่ย มาช่วยยาย

                หนุ่ม:ใครจะมาว่าหนู ไม่มีใครว่าหนูได้หรอก มีแต่คนภูมิใจ มีแต่คนอยากให้มาช่วยยาย

                ยาย:อู้หู...ไม่เคยเบียดเบียนใคร ถือว่ายังไง ก็ยังงั้น           

                หนุ่ม:ใช่ ก็เพราะยายเป็นคนดีไง ไม่เบียดเบียนใครไง ผมจึงมาช่วยยาย ชาติที่แล้วผมอาจเป็นลูกยายก็ได้ ใครจะไปรู้ล่ะ ใช่มั้ยล่ะ

...............

                ยาย:       เช้าไปขายของ เย็นไปขายของ ก็เจอคนพูด กลับมาบ้านก็เงียบ กินข้าวแล้วนอน บางทีไม่กิน กินน้ำแข็ง ข้าวเขิ้วไม่กิน

                หนุ่ม:ทำไมไม่กินข้าว

                ยาย:ก็ไม่มีเวลาหุง กลับมาก็ขี้เกียจกิน มันเบื่อข้าว กินน้ำแข็ง ก็อยากตาย แต่ไอ้ห่าเอ๊ย ตายแล้วไปอยู่ที่ไหนก็ยังไม่รู้ สร้างวิหารไปพันนึง สร้างอะไรไปสี่-ห้าพัน

                หนุ่ม:ทำบุญน่ะเหรอ

                ยาย:เออ...สะพานข้ามแม่น้ำนั่นน่ะ ๕๐๐ ที่หน้าวัดนั่น ไม่รู้จะทำยังไง

                (คงสะท้อนหัวอกตัวเอง ยกมือเช็ดน้ำตาที่ไหลซึมตามรอยยับย่นบนใบหน้าสีกล้วยตาก)

                หนุ่ม:ยายยังต้องอยู่กับผม ผมเพิ่งมาเป็นหลานยายเองอ่ะ (เอื้อมมือไปบีบแขนยายเหมือนปลอบ)

                ยาย:เออ...จะเป็นหลานยังไงก็ยังไม่รู้ เพราะหลานเรายังไม่รู้จะเรียนอะไรได้ หนูมาให้ตั้ง ๒ พัน ของตั้งเยอะแยะ

                หนุ่ม:โอย แค่นี้เอง แล้วหนูจะมาดูยายบ่อยๆ

                ยาย:เดี๋ยวพี่น้องเค้าจะมาว่ามาดูแลคนอื่น หนูเอามาให้ ๒ พัน

                หนุม:ไม่เกี่ยว มีแต่ภูมิใจ หนูมีความสุขที่ได้ทำ ความสุขของหนู ก็ความสุขของทุกคน

                ยาย:จะให้ที่ (ดิน) ซักงานนึง เอามั้ยล่ะ

                หนุ่ม:ไม่เอา... ผมไม่อยากได้อะไรเลย บนโลกนี้ผมไม่อยากได้อะไรแล้ว

                ยาย:จะให้ที่ (ดิน) ซักงาน อยู่...(เสียงมอเตอร์ไซค์กลบ) คนละฝั่งทางด่วนด้วย

                หนุ่ม:ไม่เอา...สิ่งเดียวที่ผมปรารถนา อยากให้ยายมีความสุข ได้พักเหนื่อย ไม่ต้องเหนื่อย

                ยาย:ก็...มันก็เคยเรื่อยมา

                หนุ่ม:ก็นั่นไง นี่คือสิ่งที่ผมไม่อยากได้ทรัพย์สินเงินทอง ผมไม่เอา

                ยาย:มันเคยไง ไม่เคยท้อใจ แต่ว่ามัน ไอ้ห่า...สภาพเรามัน...อยู่ป่านนี้แล้ว มันก็บอกไม่ถูกเหมือนละนะ หวงหลาน ยังไม่ได้บวชหลานซักคนนึงเลย

                หนุ่ม:ยายจะบวชหลานเมื่อไหร่ ยายบอกผม ผมจะมาช่วย เพราะยายเป็นคนแบบนี้

                ยาย:(หัวเราะแห้งๆ แบบปลงชะตาชีวิต)

                หนุ่ม:ต้องบังคับ ถ้ายายไม่เอาของของผม ก็ตื๊อยายอยู่อย่างนี้ พอยายเอาปุ๊บ ผมมีความสุข ผมกลับบ้าน นอนหลับ ถ้ายายไม่เอา ผมคงนอนไม่หลับ

                ยาย:เห็นว่าเขาเปลืองเงินเยอะ เงินทองบางทีเราก็ทำไม่ได้ มันไม่แน่

                หนุ่ม:ก็ของนอกกายเงินทองน่ะ

                ยาย:นอกกายก็เถอะ บางทีมันทำไม่ได้ ฉันทำมาตั้งแต่เด็กยันโต ไม่มีเงินซักแสน ให้ลูกไปสี่หมื่นกว่า บอกแม่ตายมาเผาแม่ด้วยนะ

                ............

                หนุ่ม:ก็ไม่ท้อ?

                ยาย:ไม่ท้อ เพราะเราต้องต่อสู้ความจนเรื่อยมา

                หนุ่ม:ท้อไปก็ไม่มีประโยชน์ แต่ยายอายุ ๘๐ กว่าแล้วนะ

                ยาย:๘๔

                หนุ่ม:ผมให้เงินยาย ทำไมยายไม่เอาล่ะ

                ยาย:ก็...ฉันอยากจะคืนให้หนู นี่ไง ยังเก็บไว้เลย

                หนุ่ม:ไม่คืน ไม่เอา ทำไมยายถึงไม่อยากรับ

                ยาย:ก็เพราะคนเรามีมือ ๑๐ นิ้วเหมือนกันไง

                หนุ่ม:คนเรามีมือ มีแรงก็สู้ใช่มั้ย

                ยาย:เออ...เบียดเบียนคนอื่นเขา ยังจะต้องใช้เขาอีกเยอะ

                หนุ่ม:ยายเป็นผู้หญิงที่เก่งมาก สุดยอด

                ยาย:เฮอะๆ            

            นิทานชีวิตจริงจบแค่นี้ ได้ข้อคิดอะไรจาก "รุ่นใหม่-รุ่นเก่า" เล่าสู่กันฟังบ้างก็ดีนะ. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"