สธ.ห่วงปชช.เริ่มการ์ดตกหลังคลายล็อกหวั่นโควิดระบาดรอบ2


เพิ่มเพื่อน    

10 พ.ค.63-ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ว่า วันนี้แม้อัตราผู้ป่วยรายใหม่จะเพิ่มขึ้นแค่หลักหน่วย โดย 2 ราย เป็นผู้ป่วยในกทม. และนราธิวาส ซึ่งมีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโควิด-19 มาก่อน ถือว่าสถานการณ์ค่อนข้างดี หลังมีการคลายล็อกให้ประชาชนใช้ชีวิตมา 1 สัปดาห์แล้ว สถานการณ์กลับมาเป็นการแพร่ระบาดในวงจำกัด ไม่ใช่การแพร่ระบาดในวงกว้างแต่ต้องพยายามอย่างเต็มที่ในการรักษาระดับที่มีผู้ป่วยในอัตราน้อยๆ นี้เอาไว้ให้ได้ แต่ตนสังเกตเห็นว่าประชาชนเริ่มการ์ดตก มีการออกจากบ้านโดยไม่สวมหน้ากากอนามัย ดังนั้นต้องขอเตือนไว้ว่าเมื่อไหร่ที่เราประมาทไม่ระมัดระวังตัวมีโอกาสที่โรคจะกลับมาระบาดในระดับวิกฤติได้   

“การที่เรามีผู้ป่วยในประเทศ 2 ราย ไม่ได้หมายความว่าเรามีผู้ป่วยแค่นี้  ที่สำคัญคือยังมีคนที่มีอาการน้อยที่ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขถึงต้องมีการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง เราจะคลายกังวลได้ก็ต่อเมื่อทุกประเทศสามารถควบคุมการระบาดได้ หรือมีวัคซีนใช้ และไทยเองมีวัคซีนเพียงพอที่จะให้ประชากรกลุ่มเสี่ยง เราถึงจะไประยะที่ 3 คือการฟื้นฟู ซึ่งกระทรวงก็เตรียมการเอาไว้แล้ว” 

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดมี 2 ปัจจัยคือการติดเชื้อในชุมชน 2.การเจอคนมากน้อยแค่ไหน ยิ่งเจอมากยิ่งเสี่ยงมาก และขึ้นกับสถานที่ที่ไปเจอผู้คนด้วย โดยเฉพาะพื้นที่ที่เคยมีผู้ป่วยมาก่อนถือว่ามีความเสี่ยงสูง อย่างห้างสรรพสินค้าเปิดแล้ว ควรไปซื้อเฉพาะของที่ต้องการแล้วกลับ ไม่ควรอยู่นาน อย่าคิดว่าการไปห้างฯ คือการพักผ่อน แต่การไปห้างฯ คือการเพิ่มความเสี่ยง 

"การเจอผู้ป่วยเกิดการติดเชื้อในประเทศวันนี้เป็นสัญญาณที่เกิดขึ้นหลังการคลายล็อก 1 สัปดาห์หรือไม่ ผมมองว่าไม่ใช่ แต่เป็นเพราะเขาติดเชื้ออยู่แล้วเพียงแต่เราเพิ่งหาเขาเจอ ส่วนที่การเจอผู้ป่วยที่ภูเก็ตเข้าใจว่าเป็นการเจอในพื้นที่ใหม่ พรุ่งนี้น่าจะมีการให้รายละเอียดอีกครั้ง ซึ่งก็เป็นที่มาที่เราต้องทำงานอย่างเข้มข้นทั้งการเฝ้าระวังในรพ. และการค้นหาผู้ป่วยในชุมชนแบบมีเป้าหมาย"

รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ตนไม่อยากประเมินว่าการระบาดระลอกที่ 2 จะมาเมื่อไหร่ แต่ต้องเรียนว่าสถานการณ์ตอนนี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แต่ไม่ถึงกับกังวลถ้าไม่มีผู้ป่วยเพิ่มมากในระดับวิกฤติ ถ้าเจอจำนวนผู้ป่วยต่อวันจำนวนไม่มาก ถ้าพบผู้ป่วยต่อวันอยู่ที่ 5 ราย ต่อประชากร 1 ล้านคน เช่น กทม.เจอวันละ 30-40 ราย ระดับนี้ยังพอรับมือได้ ส่วนถ้าเร็วๆ นี้มีผู้ป่วยวันเดียว จะมีผลต่อการพิจารณาคลายล็อกรอบ 2 หรือไม่นั้น คงมองเป็นพื้นที่มากกว่า ไม่ใช่ทำทั้งประเทศ ถ้าพื้นที่ที่ยังมีปัญหาก็คงยังไม่มีการคลายล็อก  

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ตนได้รับคำถามบ่อยว่าเราจะอยู่กับโรคนี้นานแค่ไหน ซึ่งเป็นคำถามที่ไม่ควรถามบุคลากรทางการแพทย์ เพราะพลังอำนาจที่จะหยุดการระบาดได้คือประชาชนที่ต้องถามตัวเองว่าทำเต็มที่หรือยัง ในการให้ความร่วมมือกันสวมหน้ากากอนามัย หน้ากากผ้า ล้างมือบ่อยๆ งานที่สามารถทำที่บ้านได้อยากให้ทำกันต่อ การเหลื่อมเวลาทำงานเพื่อลดความแออัดของที่ทำงาน และการเดินทาง ที่ทำงานควรจัดเว้นระยะห่าง 1-2 เมตร ถ้าเว้นไม่ได้ควรมีฉากกั้นที่สูงมาก ปิดแอร์ เปิดหน้าต่าง หรือติดตั้งระบบระบายอากาศ 

"อยากให้ทุกกิจการเปิดได้ แต่ต้องไม่เพิ่มความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรค ดังนั้นให้ร่วมมือกัน ขอย้ำว่ามาตรการเหล่านี้ควรทำต่อเนื่องแม้ว่าโควิดจะหมดไปเพื่อให้เป็นนิวนอมใหม่จริงๆ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหารถติด PM 2.5 ป้องกันโรคระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหารด้วย"  

ผู้สื่อข่าวถามถึงแผนฟื้นฟูที่กระทรวงระบุว่าได้เตรียมการเอาไว้แล้ว นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า เป็นแผนพื้นฟูด้านการแพทย์ และสาธารณสุข โดยการวิเคราะห์จากแผนที่ผ่านมา มีอะไรที่แก้ไข ต้องเตรียมการ เตรียมพร้อมเอาไว้รับกับสถานการณ์วิกฤติอันใกล้ และวิกฤติที่อาจจะมีการเกิดโรคอุบัติใหม่ในอนาคตด้วย ยกตัวอย่าง เรื่องของยา เวชภัณฑ์ วัคซีน อุปกรณ์ป้องกันตัวต่างๆ ทั้งหน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 ชุด PPE เป็นต้น ต้องซับพอร์ตมากกว่านี้ รวมถึงมีสำรองใช้ และต้องมองเรื่องการพึ่งพาตัวเองให้มากขึ้น ตลอดจนการบริหารบุคคลากรในยามปกติ และการปรับแผนรับกับภาวะวิกฤติ.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"