“เยอรมนี” ต้นแบบการพัฒนาโรงไฟฟ้าเพื่อชุมชน


เพิ่มเพื่อน    


    เยอรมนีประเทศในฝันของใครหลายๆ คนที่หวังว่าจะได้ไปเยี่ยมเยือนสักครั้ง แต่ใครจะรู้ว่าเยอรมนีไม่ได้เป็นประเทศที่น่าท่องเที่ยวด้วยธรรมชาติหรือวัฒนธรรมเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นประเทศที่พัฒนาด้านเทคโนโลยีอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งทำควบคู่กันไปกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมให้ยังคงสวยงามอยู่ “อาทิตย์เอกเขนก” ครั้งนี้จะพาไปศึกษาเยอรมนีอีกครั้ง แต่ในมุมมองที่แปลกใหม่ออกไป


    โดยครั้งนี้เดินทางไปกับกระทรวงพลังงาน ที่ได้ไปเปิดเวทีสัมมนาและหารือถึงทิศทางพลังงานในอนาคต ซึ่งจุดเด่นเรื่องการจัดการพลังงานนี้เอง เยอรมนีก็ไม่เป็นสองรองใคร โดยจุดเริ่มต้นของการเดินทางนี้อยู่ที่เมืองแฟรงก์เฟิร์ต หลังจากลงเครื่องและเตรียมตัวพร้อมลุยก็ได้เดินทางออกนอกเมือง ยังเขตอาสชาฟเฟนเบิร์ก เพื่อเข้าเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าที่ถือว่าเป็นตัวอย่างในการแก้ไขปัญหาขยะของคนในชุมชนละแวกนั้นเลยก็ว่าได้ นั่นก็คือโรงไฟฟ้าชุมชน GBAB โดยมีการผลิตไฟฟ้าและใช้ประเภทเชื้อเพลิงแบบก๊าซชีวภาพที่เป็นการหมักแบบแห้งที่แรกในประเทศเยอรมนี​


    สถานที่แห่งนี้จะเป็นศูนย์กลางที่รับซื้อขยะ เศษไม้ ใบไม้จากคนในเขตนี้เพื่อนำมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า โดยจะนำมากองรวมกันให้เกิดอุณหภูมิที่เหมาะสมในการย่อยสลาย ก่อนที่จะนำเข้ากระบวนการต่างๆ โดยจุลินทรีย์ที่ได้หลังจากการย่อยสลายแล้วนั้นจะส่งขายเป็นปุ๋ยสำหรับบ้านเรือนและฟาร์มขนาดใหญ่ นอกจากนี้ยังมีขยะจากครัวเรือนที่เป็นของกินของใช้ เศษอาหาร นำไปทำเป็นก๊าซชีวภาพในการผลิตความร้อนและไฟฟ้าส่งขายอีกด้วย


    ซึ่งกระบวนการทั้งหมดนั้นจะใช้เศษวัสดุและขยะชีวภาพ ของเมืองอาสชาฟเฟนเบิร์กปริมาณ 15,000 ตันต่อปี สามารถผลิตก๊าชชีวภาพได้ประมาณ 14 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อปี และนำไปผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 3 ล้านหน่วยต่อปี โดย GBAB เป็นกิจการร่วมระหว่างเมืองและเขตอาสชาฟเฟนเบิร์ก โดยได้ดำเนินการ มาตั้งแต่ปี 2001 และในปี 2011 ก็ได้เริ่มดำเนินการเป็นศูนย์ขนถ่ายขยะ และเป็นโรงหมักย่อยขยะแบบแห้ง ตั้งแต่ปี 1993


    ซึ่งถือว่าเป็นตัวอย่างของการพัฒนาโรงไฟฟ้าชุมชนที่เน้นใช้วัสดุทางการเกษตรในท้องถิ่นเป็นเชื้อเพลิงการผลิต​​โดยชุมชนจะมีรายได้จากการจัดหาเชื้อเพลิงให้กับโรงไฟฟ้า สร้างอาชีพ สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ก่อให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจในชุมชน และยังเป็นกิจกรรมที่ช่วยลดปริมาณขยะให้กับครัวเรือน พร้อมนำมาจัดการเพื่อผลิตเป็นพลังงานกลับไปให้ประชาชนได้ใช้งาน คืนกำไรให้ชุมชนอีกด้วย


    หลังจากที่มีการเยี่ยมชมต้นแบบโรงไฟฟ้าชุมชนที่มีคุณภาพแล้ว ก็ได้เดินทางไปยังเมืองเบอร์ลิน ที่เป็นเมืองหลวงและเมืองที่ใหญ่ที่สุดของประเทศเยอรมนี โดยการเดินทางครั้งนี้ก็ได้ซึมซับบรรยากาศสวยๆ ของสถาปัตยกรรมต่างๆ ในเมืองมาซะมากมาย โดยสิ่งที่น่าประทับใจที่สุดก็คือประตูเมืองบรันเดนบูร์ก แลนด์มาร์คอีกที่หนึ่งที่นักท่องเที่ยวหลายคนเมื่อไปถึงเบอร์ลินแล้วจะต้องไปเช็กอินกับประตูเมืองแห่งนี้
    โดยสถานที่ดังกล่าวมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของกรุงเบอร์ลิน เป็นประตูที่ถูกสร้างขึ้นใหม่แทนประตูดั้งเดิมของกำแพงเบอร์ลิน ประตูแห่งนี้ได้รับความนิยมอย่างมากเนื่องจากครั้งหนึ่งเคยเป็นสัญลักษณ์ของประเทศที่ถูกแบ่งแยกระหว่างเยอรมนีตะวันออกและเยอรมนีตะวันตก แต่ในปัจจุบันกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของความสามัคคีและความสงบสุขของประเทศเยอรมนี


    พร้อมกันนี้อีกจุดที่จะไม่ไปไม่ได้ก็คือ กำแพงเบอร์ลิน ที่เลื่องชื่อ โดยเป็นกำแพงที่สร้างขึ้นช่วงสงครามเย็น มีวัตถุประสงค์เพื่อปิดกั้นพรมแดนระหว่างเบอร์ลินตะวันตกซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเยอรมนีตะวันตก กับเยอรมนีตะวันออกที่โอบอยู่โดยรอบ มีความยาวทั้งสิ้น 155 กิโลเมตร เริ่มสร้างเมื่อวันที่ 13 ส.ค. พ.ศ.2504 และปิดกั้นพรมแดนนี้เป็นระยะเวลา 28 ปี ก่อนถูกทลายในวันที่ 9 พ.ย. พ.ศ.2532
    ถึงแม้ปัจจุบันจะหลงเหลือชิ้นส่วนไว้ไม่กี่จุดให้เห็นแล้ว เพราะมีชาวเยอรมันบางกลุ่มทุบและทำลายไปเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากเห็นว่าเป็นสิ่งที่คอยกัดกินความรู้สึกอยู่ตลอดเวลา แต่ก็ยังมีไว้ให้ไปสัมผัสและศึกษากันอยู่บ้าง แม้สถานที่แห่งนี้จะมีประวัติไม่น่าสุขสมเท่าไหร่นัก แต่เมื่อเวลาล่วงเลยผ่านไป กำแพงเบอร์ลินเป็นเพียงอนุสรณ์สถานที่มีไว้เพื่อให้คนรุ่นหลังรำลึกเท่านั้น และปัจจุบันก็ได้กลายเป็นกำแพงที่นักท่องเที่ยวไปถ่ายรูปคู่พอสมควร พร้อมด้วยการละเลงสี ลวดลายกราฟฟิกแนวใหม่ ที่ทำให้กำแพงเบอร์ลินดูไม่โศกเศร้าอีกต่อไป


    แต่อย่างที่กล่าวไปว่าจุดมุ่งหมายการเดินทางไปเยอรมนีครั้งนี้ ไม่ใช่เพียงแต่จะไปเที่ยวชมสถาปัตยกรรมหรือประวัติศาสตร์เท่านั้น เพราะภารกิจการศึกษาเทคโนโลยีด้านพลังงานยังมีต่อเนื่อง โดยสถานที่ต่อไป เราได้เดินทางไปยังเมืองโรเซินไฮม์ ที่เป็นเมืองในส่วนภูมิภาคโอเบอร์ไบเอิร์น รัฐบาวาเรีย เพื่อเข้าเยี่ยมชมบริษัท Stadtwerke Rosenheim ที่เป็นโรงไฟฟ้าที่ประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการโรงไฟฟ้าชุมชนจากการนำขยะในท้องถิ่นมาผลิตไฟฟ้าได้อย่างเป็นรูปธรรม
    โดยโรงไฟฟ้าของโรเซนไฮม์ถือว่ามีชุมชนร่วมเป็นเจ้าของ มีการบริหารจัดการระบบไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล ก๊าซชีวภาพร่วมกับโซลาร์เซลล์และพลังงานลม รวมถึงการนำขยะจากชุมชนและวัสดุทางการเกษตรมาผลิตไฟฟ้าและความร้อนส่งให้กับคนในเมืองผ่านเทคโนโลยีที่ได้พัฒนาคิดค้นทำให้การผลิตไฟฟ้าจากขยะไม่มีกลิ่น เสียง หรือสร้างมลพิษต่อชุมชน เพื่อจ่ายไฟฟ้าให้กับคนในชุมชน
    ซึ่งถือว่าการเดินทางมาเยอรมนีครั้งนี้เป็นครั้งที่น่าจดจำเป็นอย่างยิ่ง นอกจากจะได้สัมผัสกับสถาปัตยกรรมที่สวยงาม พร้อมกับศึกษาประวัติศาสตร์ที่เข้มข้นแล้ว ยังเป็นการเปิดโลกความรู้และความเข้าใจในด้านการจัดการพลังงาน ที่มีคนในชุมชนเป็นส่วนร่วมอีกด้วย และหวังว่าวันหนึ่งเราจะได้เห็นการบริหารจัดการด้านพลังงานที่สร้างประโยชน์แก่คนในชุมชนสูงสุดเหมือนที่ได้ไปเยี่ยมชมครั้งนี้เกิดขึ้นกับประเทศไทยในไม่ช้า.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"