ความพยายามในไทยเรื่องการผลักดันลดการปนเปื้อนสารพิษตกค้างในสิ่งแวดล้อมมีอย่างต่อเนื่อง เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศที่เสื่อมโทรมและกอบกู้ชีวิตจมสารเคมีของเกษตรกรและผู้บริโภค มีงานวิจัยออกมาหลายชิ้นเกี่ยวกับการลดตกค้างสารเคมีเกษตรในสิ่งแวดล้อม โดยภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการพัฒนาจุลินทรีย์สามารถย่อยสลายสารพิษจากยาฆ่าหญ้าและยาฆ่าแมลงที่ปนเปื้อนสู่ดิน ช่วยถอนพิษร้ายในผืนดินเสื่อมโทรม อีกทั้งเหมาะกับพื้นที่ต้องการเปลี่ยนระบบเป็นเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์ ซึ่งจุฬาฯ นำเสนองานวิจัยนี้ในโอกาสการประกาศผลจัดอันดับมหาวิทยาลัยของ The Times Higher Education University Impact Rankings 2020 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับการจัดอันดับให้เป็นที่หนึ่งของประเทศไทย และเป็นที่ 45 ของโลก ในการพัฒนาระบบนิเวศทางบกอย่างยั่งยืน หนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDG ขององค์การสหประชาชาติ (UNESCO) จุฬาฯ มีผลงานตามเป้าในชื่อ”ชีวิตบนผืนดิน” ผ่านงานวิจัยต่างๆ รวมถึงการวางแผนเชิงนโยบาย
ศ.ดร.อลิสา วังใน ภาควิชาชีวเคมี จุฬาฯ เป็นผู้พัฒนาโครงการลดมลพิษสิ่งแวดล้อมนี้ กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม เรามีปัญหาสารเคมีทางการเกษตรปนเปื้อนในดินและน้ำ นำมาสู่การพัฒนาหัวเชื้อจุลินทรีย์ย่อยสลายสารพิษ ใช้ฉีดพ่นทั่วพื้นที่ปนเปื้อน เช่น นาข้าว สวนผัก สวนผลไม้ และสวนดอกไม้ จุลินทรีย์จะย่อยสลายสารเคมีในยาฆ่าหญ้า หลังฉีดพ่นปริมาณสารตกค้างลดลงในปริมาณที่ไม่สามารถตรวจพบได้ เป็นนวัตกรรมที่ช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และสามารถเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ทำให้เกษตรมีรายได้ที่มากขึ้น อีกทั้งช่วยสร้างระบบห่วงโซ่อาหารที่ปลอดภัยแก่ผู้บริโภค มีเกษตรกรรายหนึ่งหมดเงินไปราวสามหมื่นบาทกับการฟื้นฟูดิน แต่ไม่ได้ผล เมื่อมาอบรมเชิงปฏิบัติและใช้หัวเชื้อจุลินทรีย์นี้ พบว่า ใช้งานได้ดี และสนใจจะใช้แนวทางนี้แทน
“ จุฬาฯ มีเครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาคที่อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน เข้าไปช่วยฟื้นฟูพื้นดิน เพราะชาวบ้านทำเกษตรกรเชิงเดี่ยวอย่างต่อเนื่อง มีการใช้ยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลงปริมาณมาก ปนเปื้อนสู่ดินและแหล่งน้ำสาธารณะ เมื่อทดลองในแปลงนาข้าว นอกจากลดสารตกค้างแล้ว พบว่า ข้าวแตกรวงดีขึ้นต่อไร่ ปริมาณและคุณภาพเมล็ดข้าวดีขึ้น 1.75 เท่า ส่วน แปลงผักสลัดผลผลิตออกมาสวย ต้นงาม แข็งแรง ในละแวกนั้นเกษตรกรนิยมเพาะปลูกดอกดาวเรือง เมื่อใช้หัวเชื้อจุลินทรีย์ฟื้นฟูดิน ดาวเรืองมีดอกใหญ่ขนาดจัมโบ้ ขนาดใหญ่ สีเหลืองสด และสมบูรณ์มากขึ้น เก็บผลผลิตขายได้มากกว่าเดิม 2.75 เท่า แถมราคาดี ส่วนสลัดคอสที่ใส่จุลินทรีย์ ผักไม่มีโรค ใบสะอาด รสชาติดี กรอบ ไม่ขม ใบเขียวกว่า นักวิจัยตั้งชื่อ”จุลินทรีย์คึกคัก” ศ.ดร.อลิสา กล่าวถึงงานวิจัย
ผลผลิตสลัดคอสที่ใส่จุลินทรีย์คึกคัก ไร้โรค ใบสะอาด สีเขียวกว่า
“ จุลินทรีย์คึกคัก ” ของจุฬาฯ ยังมีจุดเด่นใช้เวลาไม่นานสลายสารพิษตกค้าง นักชีวเคมี บอกว่า ปกติการเปลี่ยนพื้นที่เกษตรเคมีเป็นเกษตรอินทรีย์ ต้องรอให้สารพิษสลาย 3-5 ปี แต่จากการทดสอบหัวเชื้อจุลินทรีย์ที่พัฒนา เมื่อฉีดพ่นในพื้นที่ปนเปื้อน ประกอบกับกระบวนการไถพรวนและปลูกปอเทืองบำรุงดินควบคู่ไปด้วย ทิ้งไว้ 8 เดือน -1 ปี ผืนดินกลับมามีชีวิตอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพขึ้นกับประวัติพื้นที่ใช้สารเคมีเกษตรมาต่อเนื่องแค่ไหน บางพื้นที่สภาพดินแข็งกระด้างมาก พืชไม่สามารถแทงรากดูดซึมธาตุอาหารในดินได้ จะแนะนำเกษตรกรใส่จุลินทรีย์ถี่ขึ้น ทุก 2 สัปดาห์ จากปกติเดือนละครั้ง งานวิจัยนี้บูรณาการร่วมกับ ผศ.ดร.จิตรตรา เพียภูเขียว ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ เพื่อให้งานวิจัยฟื้นฟูพื้นที่เกษตรตอบโจทย์ที่สุด นวัตกรรมนี้นอกจากเหมาะกับการเปลี่ยนพื้นที่สู่เกษตรอินทรีย์ ยังรวมถึงเกษตรเคมีที่ต้องการฟื้นฟูดิน และพื้นที่เกษตรอินทรีย์ พืชดูดสารอาหารในดินระหว่างการเพาะปลูกไปแล้ว เกษตรกรใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพอยู่แล้ว แต่ใช้จุลินทรีย์คึกคักร่วมด้วยช่วยเพิ่มธาตุอาหารในดิน ส่งผลให้พืชเจริญงอกงามดีขึ้น งานวิจัยเชิงลึกยังพัฒนาตัวเร่งชีวภาพใช้ในภาคอุตสาหกรรมการเกษตร เนื่องจากมีภาคเอกชนสนใจเพื่อให้ขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์กับเกษตรกรในเครือข่าย ก่อนสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 จัดโครงการฝึกอบรม เกษตรกร บุคลากรทางการเกษตรที่สนใจเรื่องนวัตกรรมเพิ่มผลผลิต และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมปลอดภัยต่อเนื่อง ปัจจุบันเลื่อนกิจกรรมไปไม่มีกำหนดจนกว่าสภาวการณ์ปกติ
ปัญหาใหญ่ระดับชาติที่นักวิจัยจุฬาฯ กังวล เป็นเรื่องการตกค้างของยาฆ่าแมลงบนผักผลไม้ ซึ่งคนไทยกำลังตายผ่อนส่งจากปัญหานี้ นำมาสู่งานวิจัยพัฒนาเอนไซม์จากจุลินทรีย์เพื่อสลายสารปราบศัตรูพืชตกค้าง เรียกง่ายๆ จุลินทรีย์ล้างผักนั่นเอง
ศ.ดร.อลิสา กล่าวว่า ด้วยความเป็นนักชีวเคมีจึงสกัดเอมไซม์จากจุลินทรีย์อีกชนิดใช้ล้างผัก ผลไม้ ลดสารพิษ มีสูตรที่เป็นเอกลักษณ์ เพราะเกษตรกรพ่นยาฆ่าแมลงระหว่างการเพาะปลูก และก่อนการเก็บเกี่ยว ป้องกันแมลงทำลายผลผลิต ยาฆ่าแมลงหรือสารพิษตกค้างในผัก ทำให้เกิดโรค ทำลายระบบประสาท รวมถึงทารกในครรภ์เกิดความผิดปกติ เป็นความสูญค่ารักษาพยาบาล และกระทบธุรกิจผักผลไม้ส่งออก
“ เอนไซม์นี้มีประสิทธิภาพกำจัดยาฆ่าแมลงกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตตกค้างบนผักผลไม้สูงถึง 80-98% และลดความเป็นพิษของสารตกค้าง เป็นสูตรผสมสารเคลือบอินทรีย์ สามารถยืดอายุผักผลไม้ได้นานขึ้นมากขึ้นอย่างน้อย 14 วัน ปราศจากสารเคมีตกค้างอันตราย ปลอดภัยต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม สำหรับธุรกิจเกษตร ประหยัดน้ำล้างในกระบวนการล้างได้ 2-3 เท่า เทียบกับล้างด้วยน้ำไหล ผลิตผลจากเกษตรยุคใหม่ ใช้เอนไซม์ล้างลดสารพิษ เพิ่มมูลค่าผลผลิตปลอดภัย “ ศ.ดร.อลิสา กล่าว
การพัฒนาระบบนิเวศอย่างยั่งยืน ฟื้นฟูดิน น้ำ ป่า สร้างอาชีพ โดยใช้องค์ความรู้นักวิชาการจุฬาฯ
แม้จะเป็นมหาวิทยาลัยที่มีแคมปัสหลักอยู่กลางกรุงเทพมหานคร และเดินหน้าสู่มหาวิทยาลัยสีเขียว ผลิตงานวิจัยไม่ขึ้นหิ้ง จุฬาฯ ยังมีศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาคที่อ.แก่งคอย จ.สระบุรี และที่อ.เวียงสา จ.น่าน เป็นกำลังหลักในการสร้างองค์ความรู้และแสดงบทบาทเพื่อการพัฒนาระบบนิเวศทางปฐพีอย่างยั่งยืน ที่สระบุรี ทางจุฬาฯ ได้พัฒนาที่ดินตั้งแต่ปี 2532 แต่งตั้งคณะทำงานสำรวจสิ่งแวดล้อมทางชีวภาพ กายภาพ ประเมินสถานภาพทางนิเวศวิทยา โดยเชื่อมโยงโครงการในพื้นที่ด้วยกันกับโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ศูนย์เครือข่ายนี้มีบทบาทสำคัญฟื้นฟูป่า โดยใช้องค์ความรู้จากนักวิชาการของจุฬาฯ อีกทั้งยังสร้างการมีส่วนร่วมและช่วยเหลือชุมชน มีการให้นิสิตเข้าไปเรียนรู้วิถีและความต้องการของชุมชนพื้นบ้าน ตลอดจนการเรียนรู้การสร้างแหล่งกักเก็บน้ำ โครงการการปลูกหญ้าแฝกและพืชอื่นเพื่อป้องกันภัยดินถล่ม ตลอดจนโครงการใช้ราไมคอร์ไรซาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการฟื้นฟูป่าไม้ในไทย
ส่วนการก่อตั้งสถานีวิจัยและปฏิบัติการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ท้องถิ่นในท้องที่อำเภอเวียงสา ตั้งแต่ปี 2549 ช่วยดูแลฟื้นฟูพื้นดินเนื่องจากชาวบ้านในละแวกนั้นมีการทำเกษตรกรรมพืชเดี่ยวอย่างต่อเนื่อง มีการใช้ยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลงเป็นปริมาณมาก จนมีการปนเปื้อนสู่ดินและแหล่งน้ำ มี“โครงการรักษ์ป่าน่าน” ซึ่งจุฬาฯ ได้ริเริ่มร่วมกับธนาคารกสิกรไทย หรือ KBank และองค์กรต่างๆ สร้างชุมชนเกษตรกรรมที่เปลี่ยนแปลงวิถีเกษตรกรรมแบบเดิม ปลอดสารเคมีและลดการปนเปื้อน รวมถึงพัฒนาอาชีพ ส่งเสริมเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำโครงการจัดการภัยพิบัติ การรับมือกับน้ำท่วมเพื่อลดความสูญเสียและผลกระทบระบบนิเวศ