โควิดดัน‘ลุงตู่’พุ่ง! ผลโพลประชาชนมีจุดยืนทางการเมืองหนุนรัฐบาลมากกว่าเดิม


เพิ่มเพื่อน    

  ข้าราชการทำงานเหลื่อมเวลา 30 นาทีไม่พอ "วิษณุ" เผยเตรียมขยายเหลื่อมเวลาเพิ่มเป็นชั่วโมง รอ ก.พ.ชง ครม. ซูเปอร์โพลเปิดผลสำรวจ ประชาชนคลายความกังวลว่าตัวเองจะติดโควิด-19 มีความสุขที่ทุกคนในครอบครัวรักกัน ดูแลกัน สุขทุกข์ร่วมกัน จุดยืนทางการเมืองสนับสนุนรัฐบาลเพิ่มขึ้น

    เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี  ให้สัมภาษณ์ถึงการพิจารณาเรื่องการเหลื่อมเวลาทำงานของภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม สั่งการให้มีการเหลื่อมเวลาทำงานมากขึ้นเพื่อลดความแออัดของการเดินทาง จากการใช้บริการรถไฟฟ้าและรถโดยสารสาธารณะอื่นๆ เนื่องจากช่วงเวลา 30 นาทีที่เคยปฏิบัติก่อนหน้านี้ไม่พอ เพราะยังมีความแออัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาเร่งด่วนว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) กำลังรวบรวมข้อมูลรายละเอียดต่างๆ คาดว่าจะออกมาในรูปแบบการขยายช่วงเวลาในการเหลื่อมเวลาทำงาน ให้เป็นช่วงเวลา เช่น ช่วงเช้า เวลา 07.00 น., 10.00 น., ช่วงบ่าย และช่วงเย็น 
    "ทั้งหมดจะต้องรอสำนักงาน ก.พ.เสนอ และต้องพิจารณาในรายละเอียดก่อนเสนอเข้าที่ประชุม ครม.ต่อไป ทั้งนี้ ตนคิดว่าไม่น่าเป็นปัญหา เพราะยังอยู่ในช่วงการปิดภาคเรียน ส่วนมาตรการทำงานจากที่บ้านตามแนวทางของรัฐที่ผ่านมา ทำได้มากกว่าร้อยละ 50"
        นายวิษณุยังกล่าวถึงความคืบหน้าการผ่อนปรนมาตรการบางส่วนในระยะที่ 2 ว่าอยู่ระหว่างการดำเนินการของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง เพื่อผ่อนปรนให้กิจการและร้านค้าบางประเภท ตามที่มีการแสดงความเห็นและพูดคุยในที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ครั้งที่ผ่านมา เช่น สถานรับเลี้ยงเด็ก บ้านพักคนชรา และร้านจำหน่ายวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง ซ่อมแซมบ้าน ซึ่งจะต้องได้รับการพิจารณาผ่อนปรนก่อน
    ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง ความสุขประชาชนกับเสียงหนุน กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินการเก็บข้อมูลแบบผสมผสาน (Mixed Method) ทั้งการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ การลงพื้นที่ และการเก็บข้อมูลในโลกโซเชียล ทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,105 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 5-8 พฤษภาคม พ.ศ.2563 ที่ผ่านมา พบว่า ร้อยละ 50.8 กังวลน้อยลงที่ตัวเองจะติดเชื้อโควิด-19 ร้อยละ 39.6 กังวลเหมือนเดิม และร้อยละ 9.6 กังวลมากขึ้น
    เมื่อถามถึงความสุขประชาชนช่วงโควิด-19 พบ 5 อันดับแรก ได้แก่ ร้อยละ 97.4 สุขในครอบครัว เมื่อเห็นทุกคนในครอบครัวรักกัน ดูแลกัน สุขทุกข์ร่วมกัน รองลงมาคือ ร้อยละ 94.1 สุขในชุมชน เมื่อเห็นการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ดูแลกันของคนในชุมชน,   ร้อยละ 92.3 สุขเมื่อเห็นพลเมืองดี มีทัศนคติที่ดี มีวินัย, ร้อยละ 91.4 สุขในสถาบัน เมื่อเห็นการช่วยเหลือดูแลประชาชนและเห็นคนไทยปกป้องเทิดทูนสถาบันหลักของชาติ และร้อยละ 87.6 สุขเมื่อได้ทำงานที่มั่นคง มีช่องทางทำมาหากิน ไม่ขัดสน
สนับสนุนรัฐบาลเพิ่มขึ้น
    นอกจากนี้ มาตรการที่จะทำให้สุขใจสุขกายของประชาชน ช่วงวิกฤติเศรษฐกิจโควิด-19 พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 90.9 ระบุมาตรการลดราคาสินค้าจำเป็น ของกิน ของใช้ รองลงมาคือ ร้อยละ 90.3 ระบุมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนลงอีก เพราะประชาชนทำตามมาตรการ อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ และร้อยละ 90.1 ระบุมาตรการสร้างงาน หนุนอาชีพให้คนทำมาหากินได้ ไม่ขัดสน
    ที่น่าสนใจคือ แนวโน้มฐานสนับสนุนของประชาชนจากจุดยืนทางการเมืองต่อรัฐบาลล่าสุด หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อลด ผลสำรวจพบว่า คนสนับสนุนรัฐบาลเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 36.2 ช่วงขอมหาเศรษฐีช่วย มาอยู่ที่ร้อยละ 46.9 หลังยอดผู้ติดเชื้อลดลง ในขณะที่กลุ่มคนไม่สนับสนุนรัฐบาลลดลงจาก ร้อยละ 26.6 มาอยู่ที่ร้อยละ 22.0 และกลุ่มพลังเงียบอยู่ที่ร้อยละ 31.1 ซึ่งกลุ่มพลังเงียบยังคงเป็นตัวแปรสำคัญในสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน
    ผอ.ซูเปอร์โพลกล่าวเสนอแนะให้รัฐบาลออกมาตรการใหม่ชื่อ “ฟรีสร้างอาชีพ” ทำคนไทยมีเบ็ดตกปลามากกว่าเอาปลามาให้ทานอย่างเดียว จึงเสนอให้ฟรีทุกอย่างที่จำเป็นต่อการทำมาหากิน เช่น ฟรีอินเทอร์เน็ตไฮสปีด ฟรีโปรแกรมทำธุรกิจ ฟรีที่ปรึกษา ฟรีเรียนออนไลน์ ฟรีพลังงานแสงอาทิตย์ ฟรีการตลาด และอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ในทางเศรษฐศาสตร์ ไม่มีของฟรีในโลก ทุกอย่างมีคนแบกภาระค่าใช้จ่ายในทุกกิจกรรม แต่ฟรีเหล่านี้เป็นตัวอย่างให้รัฐบาลคิด เข้าถึงหัวใจของประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายที่ไม่ต้องการแบมือขอเงินจากรัฐบาลอย่างเดียว พวกเขามีศักดิ์ศรีเกียรติภูมิแห่งตนเช่นกัน โดยสรุปรัฐบาลน่าจะฟรีทุกอย่างที่ทำให้ประชาชนประกอบสัมมาอาชีพไม่เป็นพิษต่อสังคมและตนเอง
    นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่สถานีโทรทัศน์ฟูจิทีวีประเทศญี่ปุ่นนำเสนอรายงานรัฐบาลไทยได้เริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของไวรัสโควิดเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ และไทยเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการลดจำนวนผู้ติดอย่างต่อเนื่องว่า เป็นเพราะนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลได้แก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดที่ถูกทาง มีการวางมาตรการต่างๆ ตั้งแต่เริ่มรู้ว่าจะมีการระบาดของเชื้อ ทั้งด้านสาธารณสุข การให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบต่างๆ จนสามารถนำไปสู่การผ่อนปรนมาตรการระยะที่ 1 และกำลังพิจารณาจะผ่อนปรนมาตรการระยะที่ 2 ในวันที่ 17 พ.ค.นี้เพิ่มเติมอีกขั้นหนึ่ง เพื่อให้ประชาชนได้ผ่อนคลายในวิถีชีวิตและเริ่มกระตุ้นเศรษฐกิจขึ้นมาอีก
    เขากล่าวว่า แต่ทั้งนี้รัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาเพียงฝ่ายเดียวได้ เพราะสถานการณ์ที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องนี้เกิดจากร่วมมือร่วมแรงร่วมใจจากทุกภาคส่วน และจากพี่น้องประชาชนที่สามัคคีช่วยกันเป็นอย่างดี ที่ได้พร้อมใจปฏิบัติตัวตามมาตรการของรัฐอย่างเคร่งครัด ทั้งการสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง ล้างมือบ่อยๆ การรักษาระยะห่างทางสังคม รวมถึงการอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ
เยียวยาทุกคนที่มีบัตร ปชช.
    นายสุภรณ์กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้การแก้ไขปัญหาของรัฐบาลแม้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง แต่นายกฯ ได้ย้ำให้ปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัดต่อไป เพื่อให้แน่ใจว่าสถานการณ์จะดีขึ้นอีก และไม่กลับมาระบาดอีก เมื่อนายกฯ และรัฐบาลเกิดความมั่นใจว่าเชื้อไวรัสโควิดไม่มีการแพร่ระบาดจนมั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว รัฐบาลก็จะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินอย่างแน่นอน ขอทุกคนอดทนอีกไม่นาน ให้ปรับวิถีชีวิตไปกับการสู้โรคร้ายไวรัสนี้ไปด้วยกันอีกสักระยะ ในที่สุดประเทศไทยจะชนะอย่างเบ็ดเสร็จ และพี่น้องประชาชนชาวไทยจะกลับมามีชีวิตอย่างปกติสุขเช่นเดิม
    ด้านนายสุชาติ ธาดาธำรงเวช อดีต รมว.การคลัง กล่าวว่า วิธีการเยียวยาที่เหมาะสมและรวดเร็วคือ ใช้บัตรประชาชนเป็นกลไก เพราะข้อมูลมีอยู่ครบถ้วนแล้ว และคนไทยทุกคนต้องได้รับเงินชดเชยเท่ากันอย่างถ้วนหน้า การที่รัฐบาลใช้เงินจำนวนมากถึง 1.9 ล้านล้านบาท คิดเป็น 11.4% ของผลผลิตของชาติ (GDP) เพื่อแก้วิกฤติโรคระบาดโควิด-19 โดยเป็นเงินกู้ถึง 1 ล้านล้านบาท ประชาชนไทยทุกคนจะร่วมกันเป็นหนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะต้องเก็บภาษีในอนาคตมาใช้คืน รัฐบาลมีเป้าหมายกู้เงินเพื่อมาชดเชยเยียวยาประชาชน 600,000 ล้านบาท และฟื้นฟูเศรษฐกิจ 400,000 ล้านบาท
         แต่วิธีการเยียวยาของรัฐบาลมีเงื่อนไขยุ่งยากมาก ชดเชยประชาชนแต่ละคนไม่เหมือนกันและไม่เท่ากัน เช่น การให้ประชาชนที่ค้าขายทำงานเอง และแรงงานที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม คนละ 5,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือน มีประชาชนลงทะเบียนกว่า 28 ล้านคน เดิมรัฐบาลจะให้ 9 ล้านคน แต่หลังๆ มานี้ รัฐบาลได้เพิ่มผู้มีสิทธิเป็น 14 ล้านคน แล้วก็เพิ่มเป็น 16 ล้านคน เนื่องจากเงื่อนไขมาก จึงเกิดความล่าช้าไม่ทันกาล ในขณะที่ประชาชนไม่มีรายได้ไม่มีกิน
        อดีต รมว.คลังกล่าวว่า การชดเชยแรงงานในระบบประกันสังคมก็ยิ่งยุ่งยากใหญ่ ล่าช้าและไม่เท่าเทียม ส่วนเกษตรกรกลับชดเชยให้เป็นครอบครัว ซึ่งลักลั่นและแตกต่างกับกรณีเยียวยาทั่วไป จึงไม่มั่นใจวิธีการและที่มาหรือฐานคิดที่ใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติ ดังนั้นทุกคนที่ถือบัตรประชาชนไทย ควรได้เงินชดเชยเท่ากันทุกคน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"