สภาเปิดขึงพืดเงินกู้ 1.9 ล้านล. ศึกใน 'พปชร.' ไม่จบรอแตกหัก


เพิ่มเพื่อน    

 

ภายหลังมีประกาศพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสมัยสามัญ ในวันที่ 22 พ.ค.63  โดยวาระเร่งด่วนจ่อคิวเข้าสู่การพิจารณาล้วนแต่เป็นประเด็นร้อนทางการเมือง หลังช่วงที่ผ่านมาการเมืองถูกปิดตายด้วยสถานการณ์โควิด-19 ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

            ไทม์ไลน์เร่งด่วนถูกกำหนดขึ้นตั้งแต่วันที่ 27-28 พ.ค. คือ พ.ร.ก.กู้เงิน 1.9 ล้านล้านบาท ผ่าน พ.ร.ก. 3 ฉบับ ที่ฝ่ายบริหารจะขอความเห็นชอบจากรัฐสภา ประกอบด้วย พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท 

            พระราชกำหนดการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ  พ.ศ.2563 หรือให้อำนาจแบงก์ชาติซื้อหุ้นกู้ของเอกชนจำนวน 4 แสนล้านบาท และพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 วงเงิน 5 แสนล้านบาท   

            ถัดมาคือการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ  พ.ศ.2563 วงเงินงบประมาณ 1 แสนล้านบาท และร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ  พ.ศ.2564 ให้สภาพิจารณาในวาระแรก

            ล่าสุด พรรคร่วมฝ่ายค้าน 7 พรรคการเมือง จำนวน 209 เสียง ได้ปล่อยข้อมูลตรวจสอบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ โดยพุ่งเป้าไปที่ทีมเศรษฐกิจภายใต้การนำของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ และ นายอุตตม สาวนายน รมว.การคลัง ผู้รับผิดชอบโครงการกู้เงิน 1.9 ล้านล้านบาท เพื่อหวังผลไปสู่การเมืองนอกสภา เพราะลำพังเสียงในสภานั้นถอยห่างจากการล้มรัฐบาลไปมากแล้ว

            เริ่มต้นที่ พ.ร.ก.กู้เงินจำนวน 1 ล้านล้านบาท เม็ดเงินขนาดใหญ่ที่สุดถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกจำนวน 6 แสนล้านบาท ใช้เยียวยาผู้ใช้แรงงานทั้งในและนอกระบบ เกษตรกรเป็นส่วนมาก จ่ายเงินให้ประชาชนจำนวน 5,000 บาท ระยะเวลา 3 เดือน พบว่าชาวบ้านเข้าไม่ถึงสิทธิ์ เกิดความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรมล่าช้า หลังคนหาเช้ากินค่ำถูกให้ออกจากงานกะทันหัน เมื่อประกาศตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินสั่งให้ปิดกิจการ เป็นเหตุให้คนอดอยาก หิวโหย แร้นแค้น และท้ายสุดกินยาฆ่าตัวตายรายวัน 

            ส่วนที่สองอีก 4 แสนล้านบาท สำหรับแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่มุ่งเน้นสร้างความเข้มแข็งและพัฒนาพื้นฐานให้เศรษฐกิจชุมชน โดยกระจายผ่านกลไกกระทรวงมหาดไทยที่มี พล.อ.อนุพงษ์  เผ่าจินดา เป็นรัฐมนตรีว่าการมหาดไทย และตัวช่วยคือกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ภายใต้การกำกับรองนายกฯ สมคิด    

            ยังไม่ทันเบิกจ่ายก็ถูกดักคอว่าอาจซ้ำรอยกับ "โครงการไทยนิยมยั่งยืน" ในยุค คสช.ที่จ่ายงบประมาณต่างๆ ลงหมู่บ้านแบบตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ และขาดการมีส่วนร่วมจากคนในพื้นที่ อาทิ โครงการซ่อมศาลากลางหมู่บ้าน, การซ่อมแซมทางเท้า, ป้ายจราจร ล้วนแต่ไม่ยั่งยืน แถมยังถูกวิจารณ์ว่าสร้างความนิยมทางการเมืองฝั่งรัฐบาล ส่อมีเงินรั่วไหลจนเกิดปรากฏการณ์ "แร้งลง รุมทึ้ง เชื้อชั่วไม่ยอมตาย"   

            ต่อด้วย พ.ร.ก.สำหรับดูแลเสถียรภาพการเงิน วงเงิน 4 แสนล้านบาท ให้ ธปท.เข้าซื้อตราสารหนี้ของเอกชนที่ครบกำหนดหุ้นกู้ในสิ้นปี 63 มีข้อห่วงใยว่าอาจอุ้มนายทุนแบบเลือกที่รักมักที่ชังหรือไม่ ล่าสุดมีข้อมูลระบุว่า ในจำนวนหุ้นกู้ 15 อันดับแรกของบริษัทเอกชน รวมมูลค่า 214,699 ล้านบาทที่จะครบกำหนดในปีนี้ 

            บริษัท 15 อันดับแรก มีกลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือซีพี ซึ่งมีธุรกิจในเครือมากที่สุด คือ ทรูมูฟเอช ทรูคอร์ปอเรชั่น เจริญโภคภัณฑ์อาหาร ซีพีออล รวมทั้งกลุ่มเครือไทยเบฟเวอเรจ ที่มีเบอร์ลี่ ยุคเกอร์   อยู่ในข่ายที่อาจจะขอรับการช่วยเหลือจากแบงก์ชาติ จึงมีเสียงเรียกร้องให้ 2 บริษัทของเจ้าสัวที่ร่ำรวยอันดับ 1 และ 2 ของประเทศไทยประกาศไม่ขอรับความช่วยเหลือจากรัฐบาล เพื่อช่วยบรรเทางบประมาณในสภาวะประเทศใกล้ถังแตก

            นอกจากนี้ยังมีประเด็นร้อนล่าสุด ที่สะท้อนระบบการจัดการของรัฐบาลนี้ที่ไม่มีประสิทธิภาพ คือเรื่องการบินไทย หลังการเสนอแผนฟื้นฟูที่นายสมคิดเป็นผู้รับผิดชอบ ชงเรื่องให้นายกรัฐมนตรี โดยกระทรวงการคลังพิจารณาค้ำประกันเงินกู้ให้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จำนวนกว่า 5  หมื่นล้านบาท ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมอย่างกว้างขวาง

            พร้อมคำถามที่ตามมาว่า บริษัทการบินไทยที่มีกระทรวงการคลังถือหุ้น 51.3% และมีผู้ถือหุ้นอื่นๆ  อีก 48.7% แต่เวลากู้เงินจะให้รัฐบาลค้ำประกันเงินกู้ 100% ซึ่งหากเกิดความเสียหายขึ้น รัฐบาลต้องชดใช้ 100% โดยทั้งหมดเป็นเงินภาษีประชาชนใช่หรือไม่ ส่วนผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ อีก 48.7% จะได้ประโยชน์เพียงอย่างเดียวและไม่ต้องร่วมรับผลเสียหาย ถือว่าเป็นธรรมกับภาษีประชาชนเพียงใด ซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำในสังคมใช่หรือไม่  

            เสียงสะท้อนทำให้ พล.อ.ประยุทธ์เกิดความไม่มั่นใจกับแผนฟื้นฟู ที่นายสมคิดกับนายอุตตมเสนอขึ้นมา ว่าจะทำให้การบินไทยไปรอดจริงหรือไม่ พร้อมลั่นวาจาว่า "ให้เวลาแก้ปัญหามา 5 ปีแล้วแต่ยังไม่สำเร็จ ครั้งนี้คงเป็นเดิมพันครั้งสุดท้าย"

            เชื่อว่าความผิดพลาดเหล่านี้ของรัฐบาลจะถูกฝ่ายค้านนำมาขยายผล และบดขยี้ความล้มเหลวย้อนหลังกลับไป 5 ปีที่ผ่านมาในยุค คสช. พร้อมพุ่งเป้าไปที่ทีมเศรษฐกิจของสมคิดว่าถึงเวลาเปลี่ยนแปลงแล้วหรือไม่    

            ไม่เพียงแต่ฝ่ายค้านเท่านั้น ยังมีเสียงจากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ปีกตรงข้าม หลังเกิดศึกแย่งชามข้าวภายใน พปชร. เมื่อครบสัญญาใจปรับ ครม.หลังบริหารประเทศมา 1 ปี ระหว่างกลุ่มการเมืองที่ดันหลัง "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และประธานยุทธศาสตร์ พปชร.  

            ที่ต้องการเสียบแทน "ก๊วนนายสมคิด" ภายใต้รหัส 4 กุมาร ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเกรดเออย่าง กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน หรือกินโควตากระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และยังควบตำแหน่งกรรมการบริหาร พปชร. เช่น หัวหน้า รองหัวหน้า และเลขาธิการพรรค เป็นยันต์กันผีอีกด้วย

            แม้ก่อนหน้า พล.อ.ประยุทธ์ ผู้มีอำนาจเต็มในรัฐบาล จะออกมาสยบข่าวดังกล่าวว่าจะยังไม่มีการปรับ ครม.เพราะต้องการมุ่งมั่นกับการแก้ปัญหาโควิด แต่เรื่องภายในพรรค "บิ๊กตู่" อาจล้วงไม่ถึง เพราะแม้แต่สมาชิกพรรคตัวเองก็ยังไม่ได้เป็น ดังนั้นเรื่องใน พปชร.จึงเป็นของกรรมการบริหารพรรคและ ส.ส.  ที่บัดนี้เปิดเกมสกัดและป้องกันเก้าอี้กันอย่างหนักหน่วงจนยากจะสมานรอยร้าวได้

            สะท้อนผ่านสงครามบนหน้าสื่อหลากหลายแขนง รวมทั้งการชิงกระแสการเมืองบลัฟฝ่ายตรงข้าม  อย่างกรณีที่นายอุตตมและนายสนธิรัตน์พากันขึ้นไปหานายกฯ จากนั้นลงมาให้ข่าวกับสื่อมวลชนว่า  "เรื่องจบแล้ว" แต่หากอ่านเนื้อความให้ดี ยังไม่มีอะไรยืนยันว่าจะอยู่ในตำแหน่งแบบอยู่รอดปลอดภัย ที่สำคัญยังไม่มีคำยืนยันจากปาก พล.อ.ประยุทธ์

            แม้กระทั่งนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกรัฐบาลที่มีชื่อเป็น รมช.การคลังคนใหม่ในสาย "บิ๊กป้อม" ก็ยังออกมาให้ข่าวสวนทางอย่างไม่กลัวว่า "นายกฯ ไม่ได้พูดหรือหารือเรื่องการเมืองแต่อย่างใด" สำทับด้วย พล.อ.ประวิตรที่ระบุว่า ยังไม่ได้มีการพูดคุยกับนายอุตตมและนายสนธิรัตน์ หลังมีกระแสข่าวว่าทั้งคู่ขอเข้าพบที่มูลนิธิป่ารอยต่อฯ เพื่อปรับความเข้าใจเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

            ฟันธงได้เลยว่า ศึกแย่งชิงชามข้าวใน พปชร.ที่บานปลายใหญ่หลวงไปแล้วยากที่จะจบลง เพราะต้องไม่ลืมว่าตลอดเวลาที่ "ทั้งสองฝ่าย" รบกัน ได้เปิดแผลของแต่ละฝ่ายให้ดูด้อยค่าทางการเมืองและสายตาประชาชนมาต่อเนื่อง จึงขอให้จับตาดูว่าในเดือน มิ.ย.นี้ หากมีการประชุมใหญ่ พปชร.เกิดขึ้น จะต้องมีใครเก็บกระเป๋าออกไปหรือไม่

                แต่ที่แน่ๆ สารพันปัญหาเหล่านี้...ย่อมกระทบต่อเสถียรภาพของรัฐบาลประยุทธ์ทั้งสิ้น. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"