9 พ.ค.63 - นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตประธานยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊ก โดยมีเนื้อหาดังต่อไปนี้
เลิกขู่รายวันได้แล้ว
รัฐบาลกำลังมีท่าทีที่เป็นปัญหาต่อธุรกิจเอกชนและการทำมาค้าขายรวมทั้งการทำมาหากินของประชาชนจากการใช้มาตรการล็อคดาวน์เข้มงวดเกินจำเป็นและความไม่ชัดเจนในการประเมินว่าจะกลับมาล็อคดาวน์เข้มข้นอีกหรือผ่อนคลายเพิ่มด้วยหลักเกณฑ์อย่างไร รัฐบาลเน้นแต่จ้องจับผิดผู้ประกอบการ ข่มขู่ไม่เว้นแต่ละวัน โดยไม่แสดงความสนใจที่จะรับฟังปัญหาหรือหาทางช่วยเหลือให้สามารถทำมาค้าขายได้ รัฐบาลอาจจะไม่รู้ว่ากิจการจำนวนมากที่ยังเปิดอยู่ก็กำลังจะอยู่ไม่ได้และอีกจำนวนมากไม่สามารถกลับมาเปิดใหม่ได้
การที่นายกรัฐมนตรีและศบค.พูดขู่ไม่เว้นแต่ละวันว่าพร้อมจะกลับมาใช้มาตรการล็อคดาวน์ หากมีตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงขึ้นมาใหม่ หรือถ้าไม่มีการเข้มงวดต่อเนื่องก็อาจไม่มีการผ่อนคลายในระยะต่อไป กำลังทำให้ผู้ประกอบการตลอดจนคนงานลูกจ้างรู้สึกยังมีความเสี่ยงสูงในการลงทุนและการทำงาน เนื่องจากจนถึงปัจจุบันนี้ก็ยังไม่เคยมีการอธิบายถึงหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณาว่าตัวเลขสูงนั้นคืออย่างไร ใช้คำว่าเลขตัวเดียวบ้าง ไม่เกิน 20-30 คนบ้าง ไม่ได้บอกว่าโยงกับจำนวนประชากรหรือไม่ และไม่ได้บอกว่ารวมผู้ที่เพิ่งกลับมาจากต่างประเทศหรือผู้ที่อยู่ในระหว่างกักตัวด้วยหรือไม่
ดูเหมือนรัฐบาลจะเห็นว่าการปิดกิจการต่างๆเป็นการทำโทษที่ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อ จะผ่อนคลายให้ทำมาหากินกันได้ก็ต่อเมื่อห้างร้านต่างๆและประชาชนหยุดทำผิดกันแล้ว และหากมีการทำผิดกันอีกก็จะลงโทษอีก ไม่มีมิติของการเห็นว่าการประกอบธุรกิจและการทำมาค้าขายเป็นสิ่งที่ดีงามเป็นประโยชน์และมีความสำคัญที่ขาดไม่ได้ของสังคมและรัฐบาลจะต้องเอาใจใส่ว่ากำลังประสบปัญหาอย่างไร ที่เปิดไม่ได้หรือจะอยู่ไม่ได้เป็นเพราะปัญหาอะไร รัฐบาลจะช่วยแก้ปัญหาอุปสรรคต่างๆให้ได้อย่างไร
สิ่งที่รัฐบาลควรทำแต่กลับไม่ได้ทำ เริ่มตั้งแต่การแจกคู่มือปฏิบัติล่วงหน้าการซักซ้อมทำความเข้าใจ ไม่มีการสอบถามหรือสำรวจปัญหาต่างๆตั้งแต่มาตรการต่างๆปฏิบัติได้จริงหรือไม่ เป็นหนี้เป็นสินกันอยู่อย่างไร เงินหมุนเวียนมีหรือไม่ คนงานลูกจ้างหาได้หรือเปล่า เมื่อประกอบกับความไม่ชัดเจนแน่นอนในการล็อคดาวน์ทำให้ธุรกิจห้างร้านต่างๆเปิดทำกิจการน้อยกว่าที่ควรจะเป็นไปมาก นอกจากนี้มาตรการที่เข้มงวดเกินจำเป็นในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมาทำให้ธุรกิจหลายประเภทล้มเลิกกิจการกันไปและมีผลกระทบเป็นลูกโซ่ ดังนั้นเมื่อมีการคลายล็อคในขั้นต่อไป สิ่งที่จะเกิดขึ้นอาจไม่ใช่การดำเนินการธุรกิจที่คึกคัก ไปที่ไหนก็คนแน่นไปหมดอย่างที่รัฐบาลกลัว แต่อาจกลายเป็นความเงียบเหงาซบเซาเนื่องจากธุรกิจจำนวนมากไม่สามารถกลับมาประกอบิจการได้อีกแล้วซึ่งหมายถึงความเสียหายทางเศรษฐกิจและความเดือดร้อนของประชาชนมากกว่าที่รัฐบาลคาดคิดไว้
ที่นายกฯพูดว่าเศรษฐกิจจะเสียหายไปอีก 9 เดือนนั้น เกรงว่าจะเป็นเพียงการออกตัวไม่ต้องรับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้นมากกว่าจะแสดงให้เห็นถึงการมองการณ์ไกล เพราะเศรษฐกิจของไทยเสียหายมากกว่าประเทศต่างๆในอาเซียนมาก่อนการแพร่ระบาดของโควิด19 และถูกทำให้เสียหายมากกว่าที่จำเป็นในช่วงสภานการณ์โควิด19 การที่รัฐบาลเน้นแต่การคุมตัวเลขผู้ติดเชื้อให้เป็นเลขตัวเดียวหรือเป็นศูนย์ เน้นการจับผิดผู้ประกอบการมากว่าหาทางช่วยเหลือและการไม่มีกลไกรับฟังปัญหาและความเห็นของภาคเอกชนรายเล็กรายน้อยและประชาชนที่เดือดร้อน ทำให้รัฐบาลขาดความเข้าใจต่อสภาพเศรษฐกิจของประเทศ ไม่สามารถวางแผนรับมือปัญหาล่วงหน้าได้ ยิ่งรัฐบาลนี้คุ้นชินกับวัฒนธรรมการทำงานแบบไม่ถูกจี้ก็ไม่ตัดสินใจและตัดสินใจสั่งการอะไรไปแล้วค่อยวางแผนรับมือกับปัญหาภายหลังคือตามหลังปัญหามาตลอด ก็ยิ่งไม่อาจหวังได้เลยว่ารัฐบาลจะวางแผนรับมือปัญหาเศรษฐกิจ ใน 6 เดือนหรือ 9 เดือนข้างหน้าได้
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |