ยกทีมถกนายกฯอุ้ม‘เจ้าจำปี’


เพิ่มเพื่อน    

 สหภาพการบินไทยร่อนหนังสือร้องบิ๊กตู่ค้านแปรรูปบริษัทพ้นรัฐวิสาหกิจ ชี้ต้องคุ้มครองสิทธิสวัสดิการพนักงานทุกคนตาม กม. ขณะที่สามารถสแกนหนี้เจ้าจำปี ทุบโต๊ะเฉือนไทยสมายล์-นกแอร์ เตือนไม่รีบห้ามเลือดนับถอยหลังล้มละลาย ด้านการบินไทยแจ้งตลาดหลักทรัพย์ผ่อนผันส่งงบการเงินบริษัทเหตุพิษโควิด

    เมื่อวันศุกร์ เวลา 12.15 น. ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (ฝั่ง ก.พ.) กลุ่มสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย จำนวน 15 คน นำโดยนายนเรศ ฝั่งแย้ม ประธานสหภาพฯ ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ผ่านนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี และนายสมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อแสดงจุดยืนของสหภาพฯ ต่อกรณีแผนฟื้นฟูบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย 
    โดยนายนเรศกล่าวว่า สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทยและพนักงานบริษัท ยินดีให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการฟื้นฟูบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ปกป้องบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยเน้นในเรื่องของสถานะคงสภาพความเป็นรัฐวิสาหกิจ และการอยู่ร่วมกันของหน่วยงานทุกหน่วยงานของบริษัท และการคุ้มครองสิทธิประโยชน์รวมถึงสวัสดิการของพนักงานบริษัททุกท่านตามสภาพการจ้างที่มีอยู่เดิมตามกฎหมาย โดยขอแสดงเจตนารมณ์คัดค้านการแปรรูปบริษัทด้วยการแบ่งแยกหน่วยธุรกิจของบริษัทฯออกจากกัน หรือมีผลให้บริษัท การบินไทยฯ พ้นสภาพจากความเป็นรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากการบินไทยเป็นสายการบินแห่งชาติ และต้องเป็นหนึ่งเดียวเท่านั้น 
    วันเดียวกัน นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะกำกับดูแลบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นการส่วนตัว บนห้องทำงานตึกไทยคู่ฟ้า ภายหลังการหารือแล้วเสร็จ นายถาวรระบุว่า สหภาพฯ ไม่ได้มายื่นหนังสือกับตนเอง แต่ตนเองเห็นว่าทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในแผนฟื้นฟู
    ต่อมาในช่วงบ่าย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข พร้อมด้วยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม และนายถาวร เข้าหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ที่ห้องทำงานตึกไทยคู่ฟ้าอีกครั้ง
      โดยนายอนุทินกล่าวภายหลังเข้าพบนายกฯ ว่า ได้รายงานแผนการลงทุนด้วยการคมนาคมของกระทรวงคมนาคมที่จะเดินหน้าต่อไปตามโครงการต่างๆ ที่ได้กำหนดไว้ เพราะขณะนี้ภาคเอกชน ไม่ได้มาลงทุนง่ายเหมือนเมื่อก่อน จึงต้องหามาตรการอื่นๆ มาอุดรอยรั่ว ให้เกิดการลงทุน มีเงินหมุนเวียนในระบบ และเศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ นอกจากนี้ยังได้หารือถึงแผนฟื้นฟูบริษัท การบินไทย จำกัด ซึ่งยังต้องพูดคุยกันกับอีกหลายฝ่าย ทั้งในส่วนของกระทรวงการคลัง
    ขณะที่ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่าใจความว่า ส่อง "เจ้าจำปี" สแกนหนี้ที่ต้องเฉือน! ใครที่ได้ส่องดูผลประกอบการของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ บกท. ก็จะต้องเป็นห่วงสถานะทางการเงินของ บกท.อย่างยิ่ง เพราะมีหนี้สะสมสูงถึง 244,899 ล้านบาท (ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562) ซึ่งเป็นผลมาจากการดำเนินงานขาดทุนต่อเนื่องมานานหลายปี จนถึงปีที่แล้ว (2562) บกท.ขาดทุน 12,017 ล้านบาท ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องหาทางลดการขาดทุนลงให้ได้
    ดร.สามารถระบุว่า ผลการดำเนินงานขาดทุนของ บกท.นั้น เกิดจากการดำเนินงานของ บกท.เอง และบริษัทอื่นหรือบริษัทย่อยที่ บกท.ถือหุ้นอยู่ เฉพาะบริษัทที่ บกท.ถือหุ้นเกิน 10% มีถึง 10 บริษัท เช่น บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด, บริษัท ทัวร์เอื้องหลวง จำกัด, บริษัท วิงสแปน เซอร์วิสเซส จำกัด (บริหารจัดการเรื่องบุคลากรให้ บกท.) และบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) เป็นต้น
       ดร.สามารถระบุด้วยว่า เมื่อดูผลประกอบการของบริษัทดังกล่าวที่ บกท.ถือหุ้นอยู่ ปรากฏว่าไทยสมายล์ซึ่ง บกท.ถือหุ้นทั้งหมด 100% ขาดทุนมากที่สุด โดยในปี 2561 ไทยสมายล์ขาดทุนถึง 2,602 ล้านบาท และขาดทุนต่อเนื่องมาทุกปีตั้งแต่จัดตั้งมาในปี 2555 ถึงเวลานี้ไทยสมายล์ขาดทุนสะสมรวมกันกว่า 8,000 ล้านบาท ด้วยเหตุนี้ จึงถึงเวลาแล้วที่ บกท.จะต้องทุบโต๊ะหาทางจัดการขั้นเด็ดขาดกับไทยสมายล์ให้ได้ 
    “ทั้งนี้ ตอนแรกไทยสมายล์ให้บริการเฉพาะเส้นทางภายในประเทศ ตอนหลังได้เพิ่มเส้นทางไปสู่หลายประเทศในภูมิภาคนี้ แต่ก็ยังสู้ไม่ได้ สวนทางกับการเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก่อนมีโควิด-19 ครั้นจะหันหน้าไปพึ่งบริษัทแม่หรือ บกท. ซึ่งถือหุ้น 100% ให้หาเงินมาโปะ ก็ไม่มีทางเพราะ บกท.ก็ขาดทุนบักโกรกอยู่แล้ว อุ้มลูกไม่ไหวแน่” ดร.สามารถระบุ
       ดร.สามารถระบุว่า จึงขอเสนอให้ บกท.พิจารณาดำเนินการต่อไทยสมายล์ ดังนี้  1.ยุบไทยสมายล์ หาก บกท.เห็นว่าไม่มีทางพลิกฟื้นให้ไทยสมายล์กลับมามีกำไรได้ จะทำให้ช่วย บกท.ลดการขาดทุนได้ถึงปีละประมาณ 20% สัดส่วนที่ลดลงมากขนาดนี้ จะทำให้ บกท.ตัวเบาได้เป็นอย่างดีทีเดียว 2.ควรพิจารณาควบรวมกิจการของไทยสมายล์เข้ากับ บกท.เป็นบริษัทเดียว ซึ่งจะทำให้ค่าบริหารจัดการถูกกว่าแยกเป็น 2 บริษัท 
    “ทั้งนี้ ในอดีตเมื่อปี 2531 เคยมีการควบรวมกิจการของบริษัท เดินอากาศไทย จำกัด (บดท.) เข้ากับการบินไทย เนื่องจาก บดท.ที่ให้บริการเฉพาะเส้นทางภายในประเทศเท่านั้นมีผลประกอบการขาดทุน ในขณะที่การบินไทยให้บริการเฉพาะเส้นทางระหว่างประเทศเท่านั้นมีผลประกอบการได้กำไร หลังจากควบรวมกิจการแล้ว ปรากฏว่าการบินไทยสามารถทำให้มีกำไรได้ทั้งเส้นทางภายในประเทศและเส้นทางระหว่างประเทศ” ดร.สามารถระบุ 
    ดร.สามารถระบุว่า นอกจากนี้ บกท.ควรพิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหาการขาดทุนในบริษัทย่อยอื่นที่ บกท.ถือหุ้นอยู่ด้วย เช่น บริษัท สายการบินนกแอร์  ซึ่งปัจจุบัน บกท.ถือหุ้นอยู่ 13.28% สัดส่วนน้อยขนาดนี้ทำให้ บกท.ไม่มีอำนาจควบคุม และนกแอร์ขาดทุนต่อเนื่องเช่นเดียวกัน ในปีที่แล้ว (2562) ขาดทุน 2,051 ล้านบาท หาก บกท.เห็นว่านกแอร์ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อ บกท. ก็ควรขายหุ้นที่ถืออยู่ทิ้งไปทั้งหมด
    “ถ้า บกท.ไม่จัดการขั้นเด็ดขาดกับไทยสมายล์และนกแอร์ รวมทั้งบริษัทย่อยอื่น เห็นทีจะหนีไม่พ้นที่ บกท.จะต้องถูกจัดการขั้นเด็ดขาดเสียเอง นั่นก็คือ บกท.จะต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้ พ.ร.บ.ล้มละลาย ที่มีเสียงแอบกระซิบมาว่าได้ถูกบรรจุไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการของ บกท.ซึ่งกำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ในเร็วๆ นี้ เป็นแนวทางที่ 10 หรือแนวทางสุดท้าย จากทั้งหมด 10 แนวทาง หาก บกท.ไม่สามารถปฏิบัติตามแนวทางในแผนฟื้นฟูได้ประสบผลสำเร็จ” ดร.สามารถระบุ 
    วันเดียวกันนี้ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ ขอผ่อนผันการจัดทำและการนำส่งงบการเงินของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทย่อยสำหรับงวดสามเดือนสิ้นสุด วันที่ 31 มีนาคม 2563 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ดังนั้น บริษัทจึงมีความจำเป็นต้องหยุดทำการบินและปิดสถานที่ทำงาน ทั้งในและต่างประเทศตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม 2563 มีผลกระทบต่อข้อมูลทางบัญชี ทั้งนี้ คณะกรรมการตรวจสอบบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ในการประชุม ครั้งพิเศษที่ 2/2563 วันที่ 5 พ.ค.ได้มติเห็นสมควรให้ขอผ่อนผันระยะเวลาการนำส่งงบการเงิน ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ออกไป โดยจะนำส่งภายในวันที่ 14 ส.ค. เพื่อให้บริษัทได้ตรวจสอบข้อมูลได้ถูกต้องครบถ้วน. 
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"