ใจหล่นตาตุ่ม! "สมคิด" ยอมรับสภาพ เศรษฐกิจไตรมาสสองน่าเป็นห่วง ไม่ต้องพูดถึงการส่งออก-ท่องเที่ยวในวิกฤตการณ์แบบนี้ คลังเปิดจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษรุ่น “เราไม่ทิ้งกัน” วงเงินไม่เกิน 5 หมื่นล้านบาท ส่วน “ธ.ก.ส.” จี้เกษตรกรเร่งแจ้งบัญชีเงินฝาก รับเงินเยียวยาก่อน 13 พ.ค.นี้ โอน 5 พันบาทแรกวันที่ 15 พ.ค.
เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในการประชุมการหารือมาตรการเยียวยาเกษตรกร ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ว่าภาพรวมเศรษฐกิจในไตรมาส 1/2563 ไม่ดี ส่วนในไตรมาส 2/2563 ก็ยังน่าเป็นห่วง เป็นไปตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ดี
"ดังนั้นไม่ต้องพูดถึงเรื่องภาคการส่งออก การท่องเที่ยวในวิกฤตการณ์แบบนี้เลย ดังนั้นจึงเหลือเพียงเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า อยากให้มีงบประมาณที่สามารถทำให้เกิดการผลักดันเศรษฐกิจท้องถิ่นในการสร้างความเข้มแข็ง เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในขณะนี้"
นายสมคิดกล่าวว่า แนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในช่วง 1 ปีข้างหน้า มีแกนหลักสำคัญ 3 เรื่อง ได้แก่ 1. การสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เข้มแข็ง เพื่อสร้างสมดุลกับเศรษฐกิจภายนอก โดยการเชื่อมโยงทั้งภาคการผลิต การตลาด การท่องเที่ยว สิ่งแวดล้อมเข้าด้วยกัน ให้เดินหน้าไปพร้อมกัน 2.การสร้างดิจิทัลในการพัฒนาประเทศ และ 3.ด้านการต่างประเทศ การผลักดันเป็นศูนย์กลาง โดยเห็นว่าประเทศไทยจำเป็นต้องใช้วิกฤติในขณะนี้เป็นโอกาสในสร้างความเข้มแข็งของทั้ง 3 แกนหลักขึ้นมา
“ขณะนี้เป็นวิกฤติ แต่ครั้งนี้เราต้องถือเป็นโอกาสสำคัญ ประเทศไทย มีเวลาไม่มาก จึงได้มอบหมายให้ ธ.ก.ส.ไปคิดโครงการเพื่อดูแลเศรษฐกิจท้องถิ่น โดยคาดว่าจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาภายในสัปดาห์หน้า เพื่อให้โครงการเดินหน้าได้ภายในปลายเดือน พ.ค.2563 ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมเมื่อกรรมการกลั่นกรองโครงการที่จะเสนอขอใช้เงิน พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท (คณะกรรมการ 10 ปลัด) ประกาศหลักเกณฑ์ จะได้เสนอโครงการเพื่อให้เดินหน้าได้ทันที เพราะเดือนหน้าต้องมีเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจท้องถิ่น โดยโครงการจะต้องเดินหน้าได้ทันที” นายสมคิดกล่าว
นายสมคิดกล่าวอีกว่า โครงการที่จะออกมาจะต้องคิดในเชิงปฏิบัติมากกว่าเชิงทฤษฎี เพราะเกษตรกรมีทั้งที่อยู่ในพื้นที่เดิมอยู่แล้ว และแรงงานที่กลับสู่ชนบท ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งต้องมีโครงการอบรม เพื่อให้แรงงานที่กลับสู่ชนบทได้รู้ว่าทำเกษตรอย่างไร และทำอะไรได้บ้าง
“ตรงนี้คือสิ่งที่ต้องชี้แจงให้ได้ว่าการอบรมนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง ไม่เช่นนั้นคนที่กลับชนบทซึ่งไม่เคยทำเกษตรเลยจะทำได้อย่างไร ต้องออกแบบเป็นขั้นบันได ว่าขั้นแรกแต่ละจังหวัดจะจัดอบรมที่ไหน กี่คน อบรมอะไร และจ้างมาอบรมด้วย นี่คือหนทางที่สร้างให้เขามีรายได้ขึ้นมา เพราะเจตนาดั้งเดิมคือให้คนมีรายได้ มีงาน โดยโครงการอบรมไม่จำเป็นต้องเป็นด้านเกษตรอย่างเดียว มีทั้งเรื่องเศรษฐกิจชุมชน เรื่องเทคโนโลยี ให้เขารอบรู้ในการอบรมแต่ละเรื่อง เรียกว่าจ้างมาเรียน และขั้นต่อไป คนที่อบรมแล้วจะมีโอกาสเข้าไปทำเกษตร เรื่องสินเชื่อก็ต้องตามมา ธ.ก.ส.ต้องเข้าไปรองรับเรื่องนี้ และประสานกับหน่วยงานต่างๆ ให้เข้ามาช่วยเหลือ” นายสมคิดกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันเดียวกันนี้ ที่กรมประชาสัมพันธ์ ประชาชนยังเดินทางมาร้องเรียนเงินเยียวยา 5,000 บาทอย่างต่อเนื่อง แต่บรรยากาศเริ่มบางตาเมื่อเทียบกับหลายวันที่ผ่านมา เนื่องจากประชาชนได้เดินทางมาร้องเรียนไปก่อนหน้านี้แล้ว ส่งผลให้บรรยากาศเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยมีเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวกทั้งการให้คำแนะนำและคำปรึกษา รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ทั้งอาหาร เครื่องดื่ม และรถสุขาเคลื่อนที่คอยให้บริการประชาชน โดยคาดว่ามีผู้เดินทางมาไม่ถึง 2,000 ราย
นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการ รมว.การคลัง ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมพื้นที่รับเรื่องร้องเรียน โดยระบุว่า ขณะนี้มีประชาชนผ่านเกณฑ์ได้รับสิทธิ์จำนวน 13.4 ล้านคน จ่ายเงินเยียวยาไปแล้ว 11 ล้านคน และจะจ่ายให้ครบภายในสัปดาห์หน้า ซึ่งจากการลงพื้นที่พบว่าคนที่มาร้องเรียนที่กรมประชาสัมพันธ์ว่าลงทะเบียนไม่สำเร็จ ซึ่งอยู่ในกลุ่ม 1.7 ล้านคน โดยนายอุตตม สาวนายน รมว.การคลัง ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการช่วยเหลือกลุ่มนี้แล้ว
สำหรับกระบวนการทบทวนสิทธิ์รับเงินเยียวยา 5,000 บาท 3 เดือน ระบบจะเปิดบริการไปจนถึงในวันที่ 10 พ.ค.นี้ ขณะที่กรมประชาสัมพันธ์จะเปิดพื้นที่อำนวยความสะดวกให้ประชาชนมาร้องเรียนได้จนถึงวันที่ 15 พ.ค.นี้ ในส่วนของประชาชนที่อยู่ในต่างจังหวัดที่มีความประสงค์จะร้องเรียนสิทธิ์มาตรการเยียวยา 5,000 บาท สามารถยื่นเรื่องได้ที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดได้ทั่วประเทศ
“กระทรวงการคลังยืนยันว่า หลังจากดำเนินการในส่วนของมาตรการเงินเยียวยา 5,000 บาทเสร็จสิ้นแล้ว ยังคงต้องหามาตรการอื่นเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือกลุ่มประชาชนที่ยังไม่ได้รับการดูแล เช่น กลุ่มคนไร้บ้าน ซึ่งขณะนี้ได้มีการหารือร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์แล้ว” นายธนกรกล่าว
ด้านนายอุตตม สาวนายน รมว.การคลัง เปิดเผยว่า คลังเปิดจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษรุ่น “เราไม่ทิ้งกัน” ในปีงบประมาณ 2563 แบบไร้ใบตราสาร (Scripless) โดยมีวัตถุประสงค์ในการระดมทุนเพื่อบรรเทาผลกระทบและแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตามแผนงานโครงการของรัฐบาล ภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงิน วงเงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท
โดยจะเริ่มจำหน่ายในวันที่ 14 พ.ค.2563 เวลา 08.30 น. วงเงินไม่เกิน 5 หมื่นล้านบาท อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันได รุ่นอายุ 5 ปี เฉลี่ย 2.40% และรุ่นอายุ 10 ปี เฉลี่ย 3.00% ต่อปี โดยคาดว่าจะขายหมดก่อนวันที่ 14 พ.ค. และกระทรวงการคลังพร้อมที่จะเปิดขายพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษ “เราไม่ทิ้งกัน” รุ่น 2 ในช่วงที่เวลาที่เหมาะสม
นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า พันธบัตรออมทรัพย์พิเศษรุ่น “เราไม่ทิ้งกัน” จะจำหน่ายขั้นต่ำหน่วยละ 1 พันบาท แบ่งออกเป็น 3 ช่วง โดยสัปดาห์ที่ 1 จำหน่ายให้ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป แบบจำกัดวงเงิน 2 ล้านบาทต่อคนต่อธนาคาร สัปดาห์ที่ 2 จำหน่ายให้ประชาชนรายย่อย และสัปดาห์ที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 28 พ.ค.เป็นต้นไป เปิดให้ประชาชนทั่วไปและนิติบุคคลที่ไม่แสวงหาผลกำไรเข้าซื้อได้แบบไม่จำกัดวงเงิน
นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีเกษตรกรที่ไม่มีบัญชีของ ธ.ก.ส. ได้แจ้งบัญชีเงินฝากที่มีอยู่กับธนาคารอื่นๆ ผ่านเว็บไซต์ w ww.เยียวยาเกษตรกร.com ที่เปิดให้แจ้งเมื่อวันที่ 7 พ.ค. ตั้งแต่เวลา 20.00 น. แล้วจำนวน 2 แสนราย ยังเหลือเกษตรกรในระบบที่ใช้บัญชีธนาคารอื่นแต่ยังไม่ได้แจ้งอีกกว่า 2 แสนราย โดย ธ.ก.ส.ขอให้มาแจ้งบัญชีภายในวันที่ 13 พ.ค.นี้ เพื่อให้ ธ.ก.ส.นำข้อมูลไปตรวจสอบในระบบธนาคาร และสามารถโอนเงินได้ทันตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค.เป็นต้นไป.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |