"ดร.สามารถ" แนะ "บินไทย"จัดการบริษัทลูกที่ขาดทุนก่อน ตัวเองจะโดน พ.ร.บ.ล้มละลาย เล่นงาน


เพิ่มเพื่อน    

 


8พ.ค.63-ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคา ได้โพสต์บทความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวหัวข้อ "ส่อง “เจ้าจำปี”สแกนหนี้ที่ต้องเฉือน! ความว่า

ใครที่ได้ส่องดูผลประกอบการของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ บกท.ก็จะต้องเป็นห่วงสถานะทางการเงินของ บกท.อย่างยิ่ง เพราะมีหนี้สะสมสูงถึง 244,899 ล้านบาท (ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562) ซึ่งเป็นผลมาจากการดำเนินงานขาดทุนต่อเนื่องมานานหลายปี จนถึงปีที่แล้ว (2562) บกท.ขาดทุน 12,017 ล้านบาท ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องหาทางลดการขาดทุนลงให้ได้

ผลการดำเนินงานขาดทุนของ บกท.นั้น เกิดจากการดำเนินงานของ บกท.เอง และบริษัทอื่นหรือบริษัทย่อยที่ บกท.ถือหุ้นอยู่ เฉพาะบริษัทที่ บกท.ถือหุ้นเกิน 10% มีถึง 10 บริษัท เช่น บริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด บริษัท ทัวร์เอื้องหลวง จำกัด บริษัท วิงสแปน เซอร์วิสเซส จำกัด (บริหารจัดการเรื่องบุคลากรให้ บกท.) และบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) เป็นต้น

เมื่อดูผลประกอบการของบริษัทดังกล่าวที่ บกท.ถือหุ้นอยู่ ปรากฏว่าไทยสมายล์ซึ่ง บกท.ถือหุ้นทั้งหมด 100% ขาดทุนมากที่สุด โดยในปี 2561 ไทยสมายล์ขาดทุนถึง 2,602 ล้านบาท และขาดทุนต่อเนื่องมาทุกปีตั้งแต่จัดตั้งมาในปี 2555 ถึงเวลานี้ไทยสมายล์ขาดทุนสะสมรวมกันกว่า 8,000 ล้านบาท ด้วยเหตุนี้ จึงถึงเวลาแล้วที่ บกท.จะต้องทุบโต๊ะหาทางจัดการขั้นเด็ดขาดกับไทยสมายล์ให้ได้

บกท.จัดตั้งไทยสมายล์ขึ้นมาโดยมุ่งหวังที่จะให้บริการกลุ่มลูกค้าที่อยู่ตรงกลางระหว่างสายการบินปกติและสายการบินต้นทุนต่ำ (Low Cost Carriers หรือ LCC) จึงได้จัดวางตำแหน่งตนเองเป็น “พรีเมี่ยมโลว์คอสต์” (Premium Low Cost) หรือสายการบินต้นทุนต่ำที่มีคุณภาพสูง ดังนั้น ไทยสมายล์จึงต้องให้บริการเหนือกว่าสายการบินต้นทุนต่ำ เช่น ให้บริการอาหารว่างและน้ำบนเครื่องฟรี ในขณะที่สายการบินต้นทุนต่ำผู้โดยสารต้องซื้อ และให้บริการโหลดสัมภาระใต้เครื่องฟรีไม่เกิน 20 กิโลกรัม ในขณะที่สายการบินต้นทุนต่ำคิดค่าโหลด เป็นต้น

การให้บริการที่สูงกว่าเหล่านี้ทำให้ต้นทุนการบริหารจัดการของไทยสมายล์สูงตามขึ้นด้วย เพราะ “คุณภาพเป็นตัวกำหนดราคา” ดังนั้น ถ้าต้องการให้ไทยสมายล์สามารถเลี้ยงตัวเองได้ ค่าโดยสารจะต้องสูงกว่าค่าโดยสารของสายการบินต้นทุนต่ำ แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงที่มีสายการบินต้นทุนต่ำให้บริการอยู่จำนวนมาก ทำให้มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด ส่งผลให้ไทยสมายล์จำเป็นต้องกัดฟันสู้ด้วยกลยุทธ์ด้านราคา เพื่อให้สามารถยืนหยัดต่อสู้กับสายการบินต้นทุนต่ำได้ ดังจะเห็นได้ว่า มีหลายโอกาสที่ค่าโดยสารของไทยสมายล์ถูกกว่าค่าโดยสารของสายการบินต้นทุนต่ำ แต่อย่างไรก็ตาม สู้ไปสู้มา สุดท้ายกลับขาดทุนป่นปี้ทุกปี ไม่ว่าจะเพิ่มเส้นทางแล้วก็ตาม

ทั้งนี้ ตอนแรกไทยสมายล์ให้บริการเฉพาะเส้นทางภายในประเทศ ตอนหลังได้เพิ่มเส้นทางไปสู่หลายประเทศในภูมิภาคนี้ แต่ก็ยังสู้ไม่ได้ สวนทางกับการเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก่อนมีโควิด-19 ครั้นจะหันหน้าไปพึ่งบริษัทแม่หรือ บกท.ซึ่งถือหุ้น 100% ให้หาเงินมาโปะ ก็ไม่มีทางเพราะ บกท.ก็ขาดทุนบักโกรกอยู่แล้ว อุ้มลูกไม่ไหวแน่

ด้วยเหตุนี้ ผมจึงขอเสนอให้ บกท.พิจารณาดำเนินการต่อไทยสมายล์ ดังนี้

1. ยุบไทยสมายล์

หาก บกท.เห็นว่า ไม่มีทางพลิกฟื้นให้ไทยสมายล์กลับมามีกำไรได้ และหากเห็นว่าไม่จำเป็นจะต้องอาศัยไทยสมายล์ช่วยขนผู้โดยสารมาป้อนให้สายการบินไทย หรือรองรับผู้โดยสารจากสายการบินไทยในลักษณะ Feeder เพื่อขนผู้โดยสารไปสู่จุดหมายปลายทางต่อไป บกท.ก็ควรพิจารณายุบไทยสมายล์ทิ้งไป จะทำให้ช่วย บกท.ลดการขาดทุนได้ถึงปีละประมาณ 20% สัดส่วนที่ลดลงมากขนาดนี้ จะทำให้ บกท.ตัวเบาได้เป็นอย่างดีทีเดียว

2. ควบรวมไทยสมายล์กับ บกท.

ในกรณีที่ บกท.เห็นว่ายังมีความจำเป็นที่จะต้องรักษาเส้นทางของไทยสมายล์ไว้ เพื่อให้ขนผู้โดยสารมาป้อนให้สายการบินไทย และรองรับผู้โดยสารจากสายการบินไทย ก็ควรพิจารณาควบรวมกิจการของไทยสมายล์เข้ากับ บกท. เป็นบริษัทเดียว ซึ่งจะทำให้ค่าบริหารจัดการถูกกว่าแยกเป็น 2 บริษัท ทั้งนี้ ในอดีตเมื่อปี 2531 เคยมีการควบรวมกิจการของบริษัท เดินอากาศไทย จำกัด (บดท.) เข้ากับการบินไทย เนื่องจาก บดท.ที่ให้บริการเฉพาะเส้นทางภายในประเทศเท่านั้นมีผลประกอบการขาดทุน ในขณะที่การบินไทยให้บริการเฉพาะเส้นทางระหว่างประเทศเท่านั้นมีผลประกอบการได้กำไร หลังจากควบรวมกิจการแล้ว ปรากฏว่าการบินไทยสามารถทำให้มีกำไรได้ทั้งเส้นทางภายในประเทศและเส้นทางระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ บกท.ควรพิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหาการขาดทุนในบริษัทย่อยอื่นที่ บกท.ถือหุ้นอยู่ด้วย เช่น บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) เป็นต้น ซึ่งปัจจุบัน บกท.ถือหุ้นอยู่ 13.28% สัดส่วนน้อยขนาดนี้ทำให้ บกท.ไม่มีอำนาจควบคุม ทั้งนี้ สัดส่วนนี้ลดลงจากเดิม 39% เนื่องจาก บกท.ไม่ยอมเพิ่มทุนตามที่มีการเพิ่มทุนเป็นระยะๆ นกแอร์มีผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่องหลายปีเช่นเดียวกัน ในปีที่แล้ว (2562) ขาดทุน 2,051 ล้านบาท หาก บกท.เห็นว่านกแอร์ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อ บกท. ก็ควรขายหุ้นที่ถืออยู่ทิ้งไปทั้งหมด

ถ้า บกท.ไม่จัดการขั้นเด็ดขาดกับไทยสมายล์ และนกแอร์ รวมทั้งบริษัทย่อยอื่น เห็นทีจะหนีไม่พ้นที่ บกท.จะต้องถูกจัดการขั้นเด็ดขาดเสียเอง นั่นก็คือ บกท.จะต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้ พ.ร.บ.ล้มละลาย ที่มีเสียงแอบกระซิบมาว่าได้ถูกบรรจุไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการของ บกท.ซึ่งกำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ในเร็วๆ นี้ เป็นแนวทางที่ 10 หรือแนวทางสุดท้าย จากทั้งหมด 10 แนวทาง หาก บกท.ไม่สามารถปฏิบัติตามแนวทางในแผนฟื้นฟูได้ประสบผลสำเร็จ

ทั้งหมดนี้ ด้วยความหวังดี และ “รัก บกท.เท่าฟ้า” ครับ


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"