8 พ.ค.63 - นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว) ประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก มีเนื้อหาดังนี้
กมธ.สิทธิมนุษยชนฯ วุฒิสภา เสนอ 9 ข้อ กรณีการแพร่ระบาดของโควิด COVID-19
คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ที่มี นายสมชาย แสวงการ เป็นประธานคณะกรรมาธิการ ได้จัดทำข้อเสนอแนวทาง มาตรการ และข้อคิดเห็นต่อกรณีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) พร้อมทั้งหามาตรการรองรับหากมีการกลับมาแพร่ระบาดอีกครั้ง เสนอต่อรัฐบาลและศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ดังนี้
1.รัฐควรให้มีการตั้งคณะทำงานเพื่อจัดเก็บ รวบรวม และจัดทำเป็นระบบฐานข้อมูล (Big Data Platform) ของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในทุกกลุ่มสาขาอาชีพ ผู้ถูกกระทบควรมีการประเมินเป้าหมาย รวมถึงผู้ที่ตกสำรวจการเยียวยา ควรตรวจสอบว่ามีปัญหาอะไร เช่น การใช้ข้อมูลการลงทะเบียนอาจไม่ใช่ผู้ถูกกระทบโดยตรง ระบบข้อมูลของรัฐที่กระจายในหลายหน่วยงานอาจไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ยังไม่มีการบูรณาการกัน ทางแก้ปัญหาส่วนหนึ่งคือการจัดทำ Big data
2.นโยบายการดูแลผู้ถูกกระทบ ประกอบด้วย การเยียวยาซึ่งควรมีการติดตามตรวจสอบปัญหาที่ไม่สามารถดำเนินการได้ครอบคลุมทั่วถึง และการดูแลผลผลิตของผู้ประกอบการที่ถูกผลกระทบ รัฐควรสนับสนุนให้มี Digital market เพื่อช่วยระบายสินค้าโดยไม่เน้นการจ่ายเงิน
3.เนื่องจากระบบ AI ที่รัฐบาลใช้ในการสำรวจผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อาจทำให้เกิดการตกหล่นของประชาชนที่เดือดร้อนจริง ๆ กลุ่มเปราะบาง และเกษตรกร ไม่ได้รับความช่วยเหลือ ดังนั้น ควรมีกลไกการสำรวจผู้ที่ตกหล่นจากมาตรการเยียวยา โดยอาจให้ศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย และกรุงเทพมหานคร เข้ามามีส่วนช่วยรับผิดชอบร่วมและส่งคนลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบ เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดกับประชาชนในระดับฐานรากทั่วประเทศ
4.สำหรับการเดินทางเข้า-ออกระหว่างประเทศและในประเทศ รัฐควรกำหนดให้ชัดเจนว่าจะเริ่มให้ประชาชนมีการเดินทางเข้า-ออกระหว่างประเทศและในประเทศได้เมื่อใด และมีมาตรการอย่างไร
5.ควรมีมาตรการสนับสนุนให้กับอาชีพ อาทิ ร้านตัดผม ซึ่งรัฐอาจมีมาตรการเยียวยาช่วยเหลือผู้ประกอบการด้วยการใช้วิธีให้ประชาชนเข้ามารับบริการฟรีและรัฐชดเชยให้กับผู้ประกอบการ ทั้งนี้ จะต้องมีมาตรการป้องกันความปลอดภัยด้านสาธารณสุขด้วย อีกทั้ง สมาคมผู้ประกอบการในสาขาอาชีพต่าง ๆ เช่น ช่างตัดผม ช่างเสริมสวยสวย ช่างทำผม ผู้ช่วยช่างทำผม หมอนวดแผนไทย ผู้ฝึกสอนออกกำลังกายที่สถานที่ออกกำลังกาย (ฟิตเนส) สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ (ร้านสปา) เป็นต้น ควรรวมกลุ่มกันและจัดทำข้อเสนอแนะหรือแนวปฏิบัติให้กับรัฐบาลเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหา เยียวยาตรงจุด และเป็นรูปธรรม ซึ่งหน่วยงานสามารถหยิบยกนำไปใช้ดำเนินการทันที
6.สำนักงานประกันสังคมควรปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานให้เป็นการทำงานในเชิงรุกมากขึ้น สิทธิผู้ประกันตน เจ้าของเงินกองทุน กำลังถูกลิดรอนโดยกลไกในรูปแบบของหน่วยงานรัฐ ขั้นตอนดำเนินงานทุกขั้นตอนยังล่าช้า การแถลงข่าวยังไม่ชัดเจนในหลายประเด็น คือ
(1) เงินกองทุนที่นำไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่าง ๆ มีสัดส่วนอย่างไร สภาพคล่องเป็นอย่างไร
(2) ยังมีลูกหนี้ส่วนของรัฐ (หนึ่งในสามตามกฎหมาย) หรือไม่ เท่าไร
(3) สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เตรียมเงินสดสำหรับเยียวยาผู้ถูกเลิกจ้าง ผู้ตกงาน รวมถึงผู้ประกันตนที่กิจการยังประคองตัวอย่างไรบ้าง และมีผู้ถูกรอนสิทธิ์หรือด้อยสิทธิ์อย่างไร
(4) ผู้ประกันตนเมื่อเกษียณเคยได้รับเงินบำเหน็จเป็นเงินก้อนใหญ่ครั้งเดียว ปัจจุบันถูกเปลี่ยนเป็นบำนาญทั้งหมดหรือไม่ และจะมีนโยบายปรับเปลี่ยนอย่างไรบ้าง
(5) โฆษกของสำนักงานประกันสังคม เคยแถลงว่าการประสานงานเพื่อการแก้ไขปัญหาในส่วนงานอื่น ๆ ของกระทรวงแรงงาน ผู้ประกอบการจะต้องไปประสานเอง ซึ่งไม่สอดคล้องกับแนวปฏิบัติที่รัฐกำหนดจุดบริการร่วม (One Stop Service) แก่ผู้ประกอบการ ดังนั้น กระทรวงแรงงานจึงต้องทบทวนงานบริการด้านต่าง ๆ ให้สามารถอำนวยความสะดวกมากยิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ผู้ประกอบการมากขึ้น ซึ่งสร้างแรงกดดันแก่ผู้ประกอบการและไม่สอดคล้องกับการบูรณาการเพื่อการปฏิรูปประเทศ
7.รัฐควรมีศูนย์กลางบริหารการช่วยเหลือโดยมีฐานข้อมูลจริงของผู้เดือดร้อนและต้องการความช่วยเหลือ ต้องมีการจัดระบบการกระจายความช่วยเหลือให้ทั่วถึงแทนการระดมการบริจาค บางหน่วยงานเข้าไม่ถึงการรับการสนับสนุน รวมทั้งประชาชนที่เดือดร้อน บางแห่งไม่เคยได้รับการดูแลทั้งการแจกอาหารและการรับถุงยังชีพ การบริจาคของในปัจจุบันยังเกิดความซ้ำซ้อน กระจุกตัวอยู่แหล่งเดียว ดังนั้น จึงควรมีศูนย์ประสานเพื่อรวบรวมข้อมูลจากส่วนกลาง และตรวจสอบความต้องการของผู้ได้รับผลกระทบในแต่ละพื้นที่ให้ทั่วถึง เพื่อให้ของบริจาคเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง
8.เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เป็นเหตุการณ์รุนแรง ต่อเนื่อง ยาวนาน ซึ่งมีผลกระทบกับมนุษยชาติทั้งโลกในทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และความมั่นคง ทำให้ปัจจัยที่จะต้องนำมาพิจารณาในกระบวนการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ จึงทำให้ยุทธศาสตร์ชาติเดิมที่ได้จัดทำไว้ก่อนที่จะมีเหตุการณ์ดังกล่าวไม่สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบันและต่อเนื่องไปในอนาคต ดังนั้น เห็นควรให้มีการทบทวนและประเมินยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยเฉพาะในเรื่องของทรัพยากร (Resource) และวิธีการ (Ways)
9.สำหรับประเด็นพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ที่กำหนดแผนงานไว้ 3 ส่วน โดยส่วนที่ 3 เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จำนวน 400,000 ล้านบาท จะต้องให้มั่นใจว่าเป็นโครงการที่สามารถต่อยอดได้ ไม่เป็นการใช้จ่ายเงินอย่างไม่เป็นประโยชน์ และสามารถตรวจสอบการใช้จ่ายได้ โดยอาจปรับปรุงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีให้รัดกุมยิ่งขึ้น รวมทั้งส่วนที่ 1 และ 2 ก็ควรมีการกำหนดให้ชัดเจนว่าจะนำไปใช้จ่ายในโครงการอะไรบ้าง
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |