มอบ‘น้องบุญส่ง’ เครื่องช่วยยกศพ รพ.ชายแดนใต้


เพิ่มเพื่อน    

  ไอเดีย "ทอ." ประดิษฐ์ "น้องบุญส่ง" เครื่องช่วยยกร่างผู้เสียชีวิต ใช้ระหว่างเคลื่อนย้ายศพไปประกอบพิธี ป้องกันบุคลากรการแพทย์ติดเชื้อโควิด-19 ประเดิมส่งตัวต้นแบบให้ รพ.ชายแดนใต้ทดลอง "ศอ.บต." มอบหน้ากากอนามัย-เจลล้างมือให้บัณฑิตอาสาในพื้นที่ "ปัตตานี" คลายล็อกร้านค้า

    ที่กรมช่างอากาศ (กช.ทอ.) บางซื่อ วันที่ 7 พ.ค. พล.อ.ต.กิจสม พันธุ์โกศล รองเจ้ากรมช่างอากาศ  เป็นผู้แทน พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) ส่งเครื่อง "บุญส่ง สู่สรวงสวรรค์" ซึ่งเป็นเครื่องยกศพ ออกแบบรองรับน้ำหนักได้ 100 กิโลกรัม ทำด้วยสเตนเลส สามารถฆ่าเชื้อง่าย ซึ่งเป็นเครื่องต้นแบบที่จะส่งไปใช้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ก่อน มีต้นทุนประมาณ 1.3 หมื่นบาท โดยอุปกรณ์ดังกล่าวจะช่วยให้บุคลากรด้านการแพทย์ เจ้าหน้าที่ขนย้ายศพมีความปลอดภัย ไม่ต้องสัมผัสร่างของผู้ที่เสียชีวิตระหว่างการเคลื่อนย้ายไปประกอบพิธีทางศาสนา โดยกองทัพอากาศจะจัดส่งเครื่องต้นแบบให้โรงพยาบาลใน จ.ปัตตานีนำร่องก่อน 1 เครื่อง
    นอกจากนี้ ผบ.ทอ.ยังได้มอบหมายให้กรมช่างอากาศ พร้อม 3 หน่วยงาน ร่วมกันออกแบบหมวกคลุมเป็นฮูดคล้ายๆ ชุดพีพีอี เพื่อแจกให้นักบิน เจ้าหน้าที่ประจำเครื่อง ผู้โดยสารสวมใส่ระหว่างการเดินทาง โดยจะมีท่อหายใจติดที่ฮูด ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างออกแบบ มีต้นทุนหลักร้อย โดยในเบื้องต้นเมื่อผลิตแล้วจะแจกจ่ายให้ผู้โดยสารของเครื่องบินกองทัพอากาศทุกคน
    ต่อมา พล.อ.ท.ธนศักดิ์ เมตะนันท์ รองเสนาธิการทหารอากาศ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ติดตามและสั่งการเพื่อแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ในส่วนกองทัพอากาศและคณะ ได้เดินทางด้วยเครื่องบิน  C-130 มาถึงสนามบินบ่อทอง จ.ปัตตานี เพื่อมอบเครื่องมือทางการแพทย์ และสาธิตนวัตกรรมอุปกรณ์ทางการแพทย์ "น้องบุญส่ง" หรือเครื่องยกร่างผู้เสียชีวิต ให้แก่โรงพยาบาลและมูลนิธิในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ช่วยเก็บศพผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ลดการสัมผัสของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง  โดยมี น.อ.พานิช โพธิ์นอก ผู้บังคับการกองกำลังทางอากาศเฉพาะกิจที่ 4 ผู้แทนจากสาธารณสุข จ.ปัตตานี บุคลากรทางการแพทย์และมูลนิธิให้การต้อนรับ
    สำหรับเครื่องยกร่างผู้เสียชีวิต เป็นอุปกรณ์ต้นแบบที่กองทัพอากาศผุดไอเดียสร้างขึ้นเพื่อลดการสัมผัสกับศพที่ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งในการนำอุปกรณ์มาครั้งนี้เพื่อสาธิตให้บุคลากรทางการแพทย์ จ.ปัตตานีได้ทดลองใช้ เพื่อแสดงความคิดเห็นว่ามีข้อบกพร่องตรงไหนในการใช้งาน เพื่อที่กองทัพอากาศจะนำไปแก้ไขและพัฒนาต่อไป และส่งมอบให้แก่โรงพยาบาลที่มีความจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ดังกล่าวต่อไป
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กองทัพอากาศยังได้รับซื้อสินค้าประมงพื้นบ้านในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้  เพื่อนำกลับไปตามโครงการ "จากใต้สู่ทุ่งกุลาเพิ่มไอโอดีนให้พี่น้องชาวอีสาน" นำไปแจกจ่ายให้พี่น้องประชาชนใน จ.ร้อยเอ็ด และในบางส่วนนำไปจำหน่ายที่ร้านค้าสวัสดิการทหารอากาศ เพื่อต่อยอดในการกระจายสินค้าชาวประมงพื้นบ้านในจังหวัดชายแดนใต้ 
    ทั้งนี้ รายการสินค้าประมงพื้นบ้าน ได้แก่ ปลาเกล็ดขาวตากแห้ง กะปิเทพา จ.สงขลา หมึกไข่ตากแห้ง หมึกกล้วยตากแห้งเบอร์ 3 หมึกกะตอย และหมึกแกะตา รวมสินค้าประมงพื้นบ้านน้ำหนักรวม 1  ตัน เพื่อช่วยเหลือชาวประมงพื้นบ้านในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากภาวะวิกฤติเชื้อไวรัสโควิด-19  ตามนโยบายของ ผบ.ทอ.
    ส่วนที่ศูนย์ประสานงานการบริหารจัดการและแก้ปัญหาผลกระทบโรคโควิด-19 ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)  พร้อมด้วยนายอิสระ ละอองสกุล ผู้อำนวยการกองประสานเร่งรัดการพัฒนาพื้นที่พิเศษ ศอ.บต., น.อ.จักรพงษ์ อภิมหาธรรม ผู้อำนวยการกองบริหารยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศอ.บต. ร่วมกันมอบวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นเร่งด่วนแก่บัณฑิตอาสาแต่ละอำเภอ เพื่อใช้ในการปฏิบัติงานยับยั้งเชื้อไวรัสโควิด-19 และนำไปแจกจ่ายให้บัณฑิตอาสาในพื้นที่
    พล.ร.ต.สมเกียรติกล่าวให้กำลังใจบัณฑิตอาสา โดยย้ำว่าให้ใช้อุปกรณ์ทุกครั้งขณะลงพื้นที่ปฏิบัติงาน ซึ่งถือเป็นการป้องกันตนเองในขั้นแรก พร้อมกันนี้ได้กล่าวขอบคุณที่เจ้าหน้าที่บัณฑิตอาสาช่วยการปฏิบัติหน้าที่ของ ศอ.บต.มาโดยตลอด ซึ่งข้อมูลที่ได้มาจากบัณฑิตอาสาเป็นข้อมูลที่มีความจำเป็น และถือว่าเป็นการดำเนินงานเชิงรุกในช่วงที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 ขึ้นในพื้นที่
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วัสดุอุปกรณ์ที่มอบให้แก่บัณฑิตอาสาในครั้งนี้ประกอบด้วย หน้ากากอนามัย และเจลแอลกอฮอล์ ขนาด 0.5 ลิตร โดยกระจายให้บัณฑิตอาสาทุกคนในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวม 2,224 คน 
    วันเดียวกัน นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ได้มีคำสั่งกำหนดมาตรการผ่อนคลายให้ดำเนินการหรือทำกิจกรรมบางอย่างได้ ซึ่งในระยะแรกนี้จังหวัดได้ผ่อนปรน คือ การจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มในโรงแรม ท่าอากาศยาน สถานีรถไฟ สถานีขนส่ง โรงพยาบาล ร้านอาหารหรือเครื่องดื่ม ร้านสะดวกซื้อต่างๆ รถเข็น หาบเร่ แผงลอย ให้เปิดดำเนินการได้ตามความสมัครใจและความพร้อม โดยต้องจัดระเบียบการเข้าใช้บริการให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคและคำแนะนำของทางราชการ
    ทั้งนี้ ร้านค้าปลีก หรือร้านค้าตามชุมชน ตลาดนัด ให้เปิดได้แต่ต้องมีการควบคุมการเข้าออก จัดให้มีการวัดอุณหภูมิร่างกาย และต้องมีการเว้นระยะห่างกัน สำหรับร้านตัดผม ร้านเสริมสวย เปิดได้เฉพาะกิจกรรม สระ ตัด ซอย แต่งผม และต้องไม่มีผู้นั่งรอภายในร้าน ส่วนร้านอาหารให้เปิดได้เฉพาะการนำกลับไปบริโภคที่อื่น 
    อย่างไรก็ตาม ร้านเครื่องดื่มต่างๆ ที่มีการจัดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังไม่อนุญาตให้มีการจัดจำหน่ายแต่อย่างใด และยังคงต้องมีการปิดร้านจัดจำหน่ายตามที่ จ.ปัตตานีได้ออกประกาศไว้แล้ว
    ที่ จ.ภูเก็ต คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดภูเก็ตรายงานสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จ.ภูเก็ต ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 5 ม.ค. - 6 พ.ค.63 มีผู้ติดเชื้อยืนยันแล้วจำนวน 220 ราย (ไม่พบรายใหม่ ซึ่งถือเป็นวันที่ 5) โดยผู้ติดเชื้อได้รับอนุญาตให้กลับบ้าน 183 ราย (กลับบ้านเพิ่ม 2 ราย) เสียชีวิต 3 ราย  จำหน่าย 1 ราย (จำหน่ายเนื่องด้วยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์) กำลังรักษาพยาบาลอยู่ 64  ราย ที่เหลืออาการอยู่ในเกณฑ์ที่ดี
    สำหรับผู้มีอาการเข้าเกณฑ์เฝ้าระวังสะสมทั้งหมด 5,385 ราย เป็นผู้ติดเชื้อยืนยัน 34 ราย อยู่ระหว่างรอผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ 30 ราย จำนวนผู้ได้รับการตรวจหาเชื้อทางห้องปฏิบัติการทั้งหมด 9,420 ราย (พบเชื้อ 220 ราย) เป็นผู้มีอาการเข้าเกณฑ์เฝ้าระวังสะสม 5,385ราย และเป็นผู้ได้รับการตรวจหาเชื้อจากการคัดกรองเชิงรุก 4,035 ราย (พบเชื้อ 38 ราย)
    คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดภูเก็ตยังเน้นย้ำเรื่องมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม และงดรวมกลุ่มทำกิจกรรมที่ไม่จำเป็น ไม่เข้าไปที่ชุมชน ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา หมั่นล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์บ่อยๆ. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"