1.7ล้านวืดเยียวยาตั้งโต๊ะถึง15พค.


เพิ่มเพื่อน    

 คลังแจง "เราไม่ทิ้งกัน" จ่ายแล้ว 11 ล้านคน จากผู้ผ่านเกณฑ์ 13.4 ล้านคน พบ 1.7 ล้านที่ลงทะเบียนไม่สำเร็จ ยันหามาตรการดูแล พร้อมเก็บตกเยียวยากลุ่มเปราะบางและกลุ่มอื่นๆ ปชช.ยังแห่ร้องวืดเงิน 5 พันไม่ขาดสาย "อุตตม" ยืดตั้งโต๊ะยาวถึง 15 พ.ค. "เฉลิมชัย" ส่งข้อมูลเกษตรกรถึงมือ รมว.คลังแล้ว ยันไม่ตกหล่นแน่

    ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.  ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงถึงความคืบหน้าการจ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาท 3 เดือน ผ่านโครงการเราไม่ทิ้งกันว่า วันนี้มีผู้ลงทะเบียน 28.8 ล้านคน และมีผู้ผ่านเกณฑ์และได้รับสิทธิ์ 13.4 ล้านคน โดยส่วนนี้ได้มีการโอนเงินอย่างต่อเนื่องและจะครบ 11 ล้านคนในวันที่ 8 พ.ค. ส่วนที่เหลืออีก  2.4 ล้านคนจะดำเนินการโอนเงินให้เสร็จสิ้นภายในสัปดาห์หน้า สำหรับคนที่ผ่านการคัดกรองแต่ยังไม่ได้รับเงินสามารถตรวจสอบสถานะของตัวเองได้ที่ www.เราไม่ทิ้งกัน.com ไม่จำเป็นต้องรอเอสเอ็มเอสตอบกลับทางโทรศัพท์
    ส่วนภาพรวมการเปิดรับเรื่องร้องเรียน พบว่าประชาชนส่วนใหญ่มีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหา 2  เรื่อง คือ 1.ปัญหาเกี่ยวกับบัญชีรับเงิน ซึ่งบางคนแจ้งเลขผิดหรือไม่ตรงกับชื่อผู้ลงทะเบียน โดยในส่วนนี้ขอแนะนำให้สมัครพร้อมเพย์ เพื่อให้การโอนเงินเป็นไปอย่างสะดวกและถูกต้องที่สุด 2.ปัญหาเกี่ยวกับการลงทะเบียนไม่สำเร็จตั้งแต่ต้น และยังไม่เข้าสู่การคัดกรองของคนกลุ่มนี้มีประมาณ 1.7 ล้านคน ถือว่าเป็นกลุ่มที่ยังไม่เข้าสู่การคัดกรองของกระทรวงการคลัง และจะมีการพิจารณาดำเนินการหามาตรการดูแลเยียวยาคนกลุ่มนี้ให้เหมาะสมที่สุด
    สำหรับโครงการเราไม่ทิ้งกัน น่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการคัดกรองภายในวันที่ 17 พ.ค.นี้ โดยกระทรวงการคลังจะรีบส่งเจ้าหน้าที่พิทักษ์สิทธิ์ลงพื้นที่พบประชาชนให้ครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุด อย่างไรก็ตามกลุ่มนี้มีอีกประมาณ 500,000 คนที่ยังไม่ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมในระบบ ขอความร่วมมือให้รีบมาให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่โดยเร็ว ขอเรียนว่ามาตรการเยียวยาถือเป็นหนึ่งในหลายเรื่องที่รัฐบาลเข้าไปดูแลประชาชน โดยตอบโจทย์ผู้ประกอบอาชีพอิสระ แรงงานนอกระบบ และผู้ที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม แต่หลังจากนี้ไปจะมีมาตรการดูแลประชาชนในกลุ่มอื่นๆ อีก เช่น กลุ่มที่มีความเปราะบาง โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กำลังหามาตรการดูแล เพื่อเก็บตกคนที่เข้าไม่ถึงมาตรการทั้งหมดของภาครัฐ เพื่อให้การช่วยเหลือครบถ้วนสมบูรณ์มากที่สุด
    ด้านนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้รับทราบถึงปัญหาการเยียวยาประชาชนซึ่งมีข้อร้องเรียนเป็นจำนวนมาก โดยสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาให้ครอบคลุมทุกมิติ เร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือ รวมทั้งทำความเข้าใจกับประชาชนให้รับทราบข้อเท็จจริงที่ถูกต้องต่อไป
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการรับเรื่องร้องเรียนของกระทรวงการคลังวันที่ 4 ที่เปิดให้มีการร้องเรียน ที่กรมประชาสัมพันธ์ ซอยอารีย์สัมพันธ์ ยังมีประชาชนที่ไม่ได้เงินเยียวยา 5,000 บาทจากการลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com เดินทางมาอย่างต่อเนื่อง โดยคิวแรกมารอตั้งแต่ 04.00 น.  กระทั่งเวลา 07.00 น.หางแถวของผู้มาร้องเรียนยาวไปถึงหน้าประตู 5 กระทรวงการคลัง มีการแจกบัตรคิวมากกว่า 1,000 คิว โดยผู้ที่เดินทางมาร้องเรียนส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มคนที่มาจากหลากหลายอาชีพและเป็นผู้สูงวัย ที่ลงทะเบียนไม่สำเร็จและไม่เข้าใจเอสเอ็มเอสที่ระบบตอบกลับมา จึงไม่รู้ว่าตัวเองจะได้สิทธิ์หรือไม่ เลยต้องการถามจากเจ้าหน้าที่
    ทั้งนี้ กรมประชาสัมพันธ์ได้จัดเจ้าหน้าที่มาให้บริการกว่า 20 โต๊ะ โดยมีการแบ่งแถวเป็น 20 แถว  โดยจัดเก้าอี้บริการไว้ครึ่งหนึ่ง และดูแลผู้ที่มาร้องเรียนให้กรอกเอกสารให้ครบก่อนพบเจ้าหน้าที่ ขณะที่การรักษาความปลอดภัยยังเป็นไปด้วยความเข้มงวด มีการตั้งกล้องตรวจคนเข้าออก พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายสิบนาย รวมทั้งมีการคัดกรองตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19
    ต่อมาเวลา 10.30 น. นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เดินทางมาที่จุดร้องเรียน โดยได้พูดกับผู้ที่ร้องเรียนว่านายกรัฐมนตรีได้กำชับให้กระทรวงการคลังดูแลผู้ที่เดือดร้อนทุกคน และยืนยันว่าประชาชนที่ผ่านเกณฑ์คัดกรองจะได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาทแน่นอน  ซึ่งวันนี้ได้เตรียมเจ้าหน้าที่มาอำนวยความสะดวกกว่า 100 คน ทำให้ช่วยเหลือผู้มาร้องเรียนได้อย่างรวดเร็ว
    นอกจากนี้ นายอุตตม สาวนายน รมว.การคลัง ได้สั่งการให้ขยายเวลารับคำร้องเรียน จากเดิมที่จะให้รับร้องเรียนถึงวันที่ 8 พ.ค.เป็นวันสุดท้าย ขยายไปเป็นวันที่ 15 พ.ค. (เว้นวันหยุดราชการ 9-11  พ.ค.) เพราะเข้าใจว่าประชาชนทุกคนเดือดร้อน จึงต้องการให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ส่วนที่ลงทะเบียนไม่สำเร็จกว่า 1 ล้านราย เช่น ข้อมูลบัตรประชาชนผิด รมว.การคลังสั่งการให้ไปดูแล ซึ่งมีข้อมูลทั้งหมดแล้วไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนใหม่ ส่วนกลุ่มอื่นๆ จะมีมาตรการเก็บตกออกมาอีก
    จากนั้นเวลา 11.00 น. บริเวณประตู 4 กระทรวงการคลัง นายพริษฐ์ ชีวารักษ์ หรือเพนกวิน จากสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) และเครือข่ายนักเรียน นิสิต นักศึกษา จากสถาบันการศึกษาและองค์กรต่างๆ รวม 27 กลุ่ม กว่า 10 คน มายื่นแถลงการณ์ถึงกระทรวงการคลัง เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแจกเงินช่วยเหลือประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปอย่างเท่าเทียมกันทุกคน คนละ  3,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน 
    ขณะที่นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้ผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ว่า ได้ส่งข้อมูลจำนวนเกษตรกรที่พร้อมได้รับการเยียวยากลุ่มแรกถึง รมว.การคลังแล้ว เพื่อดำเนินการจ่ายเงินช่วยเหลือรายละ 5,000 บาทเป็นเวลา  3 เดือน งวดแรกกลางเดือน พ.ค.นี้ ยืนยันจะดำเนินการอย่างทั่วถึง เกษตรกรไม่ต้องกลัวรายชื่อตกหล่นหรือกังวลว่าเข้าใช้ระบบออนไลน์ไม่ได้ 
    ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ จะใช้ระบบประมวลผลด้วยระบบคอมพิวเตอร์สำหรับการคัดกรอง ไม่ให้รายชื่อผู้มีสิทธิ์ซ้ำซ้อนกัน กรณีบางรายลงทะเบียนไว้กับหลายหน่วยงาน โดยใช้เลขบัตรประจำตัวประชาชน  13 หลักสำหรับยืนยันตัวตน จากนั้นจะส่งให้กระทรวงการคลังตรวจคัดกรองไม่ให้ใช้สิทธิ์ซ้ำซ้อนกับโครงการเราไม่ทิ้งกัน 
    เว็บไซต์ www.เยียวยาเกษตรกร.com ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร แจ้งว่าเปิดให้เกษตรกรลงทะเบียนได้ตั้งแต่เวลา 20.00 น. วันที่ 7 พ.ค. 
    ที่พรรคเพื่อไทย น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย แถลงถึงกระบวนการเยียวยาช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบของรัฐบาลว่า การเยียวยายังไม่ทั่วถึง การใช้เงิน 6 แสนล้านบาท จากพระราชกำหนดกู้เงินควรเยียวยาให้ครบทั้ง 4 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มผู้ได้รับความเดือดร้อนตามมาตรการเยียวยา 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน แต่ยังมีผู้มีสิทธิ์ที่ตกหล่นจำนวนมาก จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลชดเชยให้ครบถ้วนตามความเป็นจริงโดยด่วน เชื่อว่ารัฐสามารถขยายความช่วยเหลือตามความเป็นจริงได้ถึง 20 ล้านคน
    2.กลุ่มพี่น้องเกษตรกรที่มี 7 ล้านครอบครัว ขอให้รัฐบาลชดเชย 3.5 หมื่นบาทต่อครอบครัว 3.ผู้ประกันตนในระบบสังคมตามมาตรา 33 มีทั้งสิ้นประมาณ 11 ล้านคน ยังมีผู้ไม่ได้รับการชดเชยอีก 6  ล้านคน 4.กลุ่มเปราะบางทางสังคม อาทิ ผู้พิการ ผู้ไร้ที่พึ่ง ผู้ที่ตกสำรวจ ขอให้ผู้มีอำนาจสั่งการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบสำรวจให้การช่วยเหลือตามระเบียบโดยด่วน ทั้งนี้ รัฐบาลควรใช้มาตรการเชิงรุกค้นหาผู้เดือดร้อนแท้จริง ก่อนจะมีปัญหาไปมากกว่านี้ โดยต้องชดเชยให้ผู้ได้รับผลกระทบตามสิทธิ์โดยด่วนให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 10 พ.ค.
    ที่สำนักงานเกษตรอำเภอหาดใหญ่ จ.สงขลา มีกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ไปรอยื่นเอกสารกันอย่างเนืองแน่นตั้งแต่ก่อนเปิดทำการ โดยบางรายมารอตั้งแต่ 7 โมงเช้า มีทั้งรายใหม่และรายเก่าที่ไปขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร รวมทั้งไปรอรับสมุดทะเบียนเกษตรกรที่ทำเสร็จแล้วและเจ้าหน้าที่นัดให้มารับ เนื่องจากเจ้าหน้าที่จำกัดจำนวนเพียงแค่วันละไม่เกิน 160 คน ซึ่งยิ่งใกล้ถึงวันที่ 15  พ.ค.ที่จะเริ่มโอนเงินงวดแรก ยิ่งทำให้มีเกษตรกรมายื่นเรื่องขอรับเงินเยียวยาเพิ่มขึ้นทุกวัน.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"