“ประยุทธ์” ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ กำชับอย่าประมาท ต้องคุมเข้มมาตรการต่อเพื่อจำกัดวงผู้ติดเชื้อควบคู่กับเยียวยา โดยให้มองไปอีก 3 เดือนข้างหน้าจะทำอย่างไร “สมช.” วางไทม์ไลน์หากยังคุมตัวเลขผู้ป่วยได้ 17 พ.ค.ถึงเวลาคลายล็อกกิจกรรมสีเขียว “หมอหนู” ชงยกเลิกบัญชีดำประเทศห้ามเข้าเพื่อหนุนเศรษฐกิจ นายกฯ ไฟเขียว “หมอทวีศิลป์” แจงไทยมีผู้ป่วยเพิ่มอีก 3 ราย
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 พ.ค. ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) หรือ ศบค. โดยมีคณะรัฐมนตรี (ครม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง
โดย พล.อ.ประยุทธ์กล่าวตอนหนึ่งในที่ประชุมว่า เป็นการประชุมเต็มคณะภายหลังการประกาศขยายระยะเวลาการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินออกไป ซึ่งนอกจากการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคแล้ว ต้องคำนึงถึงการปรับตัวเพื่อรับกระแสการเปลี่ยนแปลงในหลายด้านที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน ถือว่าตอนนี้เป็นช่วงของการปรับตัว ได้มีการตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาที่มีคณะกรรมการครอบคลุมทุกด้าน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม สาธารณสุข และความมั่นคง ซึ่งพอใจ การดำเนินการมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดทำให้ผู้ติดเชื้อลดน้อยลง แต่อย่าประมาท ต้องมีมาตรการป้องกันอย่างเคร่งครัดต่อไป ควบคู่ไปกับการทำงานของรัฐบาลที่ยังมีงานและปัญหาต้องแก้ไข
“แม้สถานการณ์อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพึงพอใจ แต่ในการดำเนินการยังต้องเข้มงวด ผ่านการดำเนินการในเชิงรุก รวมทั้งควบคุมดูแลการเดินทางเข้าออกประเทศผ่านช่องทางต่างๆ ผู้เดินทางจะต้องผ่านมาตรการ State Quarantine และมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด”
ทั้งนี้ ในที่ประชุมหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่างรายงานผลความคืบหน้าการดำเนินการ อาทิ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รายงานถึงจำนวนผู้ป่วย ผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว ผู้ป่วยในโรงพยาบาล และการตรวจหาผู้ป่วย วัคซีน รวมถึงผลสำรวจสถานที่ที่เปิดตามมาตรการผ่อนปรน สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) รายงานกิจการ/กิจกรรมที่ได้เริ่มไปแล้วเมื่อ 3 พ.ค. และบางกิจการจะผ่อนคลายมาตรการเพิ่มเติมอย่างไร เช่น สถานดูแลผู้สูงอายุ, ร้านเฟอร์นิเจอร์, วัสดุก่อสร้าง, กิจการที่เกี่ยวข้องกับด้านสินเชื่อประกันภัยในห้างสรรพสินค้า กระทรวงมหาดไทย (มท.) รายงานด้านมาตรการป้องกันและช่วยเหลือประชาชนว่ายังคงมีความเข้มข้น โดยได้สั่งการให้ทุกจังหวัดดำเนินตามข้อกำหนด ให้กำกับติดตามให้สถานประกอบการ พนักงาน และผู้ใช้บริการดำเนินการตามมาตรการที่ ศบค.กำหนด และกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) รายงานถึงการนำคนไทยกลับจากต่างประเทศ ซึ่งมีคนไทยแสดงความประสงค์กลับไทย 45,147 คน แบ่งเป็นทางบก 25,660 คน และทางอากาศ 19,487 คน
คุมเชื้อพร้อมเยียวยา
ในตอนท้ายนายกฯ ได้กล่าวสรุปการสั่งการให้ทุกภาคส่วนคำนึงถึงความสมดุล และสร้างความเชื่อมั่น โดยเฉพาะการช่วยเหลือเยียวยาต้องดำเนินการควบคู่กับมาตรการทางสาธารณสุข ไม่ใช่เพียงตัวเลขผู้ป่วยที่ลดลง แต่ต้องร่วมช่วยเหลือผู้คนที่ได้รับผลกระทบ มีความยากลำบากในการดำรงชีวิต ต้องดูแลรอบด้านไม่ให้เกิดปัญหาท่ามกลางภาวะโควิด โดยขอให้ร่วมกันพิจารณาว่าในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะดำเนินมาตรการอย่างไร ต้องช่วยเหลือเยียวยาและย้ำให้ทุกภาคส่วนทำความเข้าใจให้ตรงกัน ผ่านชุดข้อมูลเดียวกัน เพื่อป้องกันการบิดเบือนและไม่ให้เกิดความสับสนในสังคม
นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกฯ ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ชมเชยประชาชนรวมถึงร้านค้า ผู้ประกอบการต่างๆ หลังจากที่ ศบค.ผ่อนปรนกิจการและกิจกรรม โดยภาพรวมส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ทำให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีจำนวนน้อยลงเป็นที่น่าพอใจ แต่ยังมีกิจการและประชาชนบางกลุ่มที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรการ ขอให้กลุ่มคนเหล่านี้ให้ความร่วมมือ เพราะถ้าไม่ร่วมมือจะทำให้เกิดการระบาดจนไม่สามารถควบคุมโรคได้ ทุกคนอย่าชะล่าใจต้องมีวินัย โดยนายกฯ ฝากไปยังคนในครอบครัว ชุมชนเดียวกัน ช่วยกันเป็นหูเป็นตา ว่ากล่าวตักเตือนให้ตระหนักถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญ รวมทั้งเน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจออกตรวจตราช่วยดูแลทรัพย์สินของประชาชน โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์แบบนี้อาจมีขโมยและเกิดการจี้ปล้นขึ้น ขอให้ตำรวจตรวจตราดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนให้ถี่ขึ้น
นางนฤมลกล่าวอีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ยังมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ จัดระเบียบเรือโดยสารในคลองแสนแสบ เพราะหลังคลายล็อกดาวน์จำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 5-6 พันคนต่อวันเป็นกว่า 10,000 ต่อวัน ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้เพิ่มมาตรการทั้งเพิ่มเที่ยวเรือ ทำเครื่องหมายจุดยืนบนเรือและบนท่า รวมทั้งมีเจ้าหน้าที่แก้ไขสถานการณ์ทันที
ด้าน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.แถลงสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทยว่า มีผู้ป่วยรายใหม่ 3 ราย โดย 1 ราย เป็นหญิงไทย อายุ 59 ปี อาชีพแม่บ้าน มาจากการค้นหาเชิงรุกใน จ.ยะลา โดยสัมผัสผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ที่กลับมาจากมาเลเซีย ส่วนอีก 2 ราย เป็นชายไทย อายุ 46 ปี และ 51 ปี อาชีพรับจ้าง เดินทางกลับมาจากคาซัคสถานเมื่อวันที่ 2 พ.ค. และอยู่ในสถานกักตัวของรัฐ โดยมีผู้โดยสารในเครื่องบินลำเดียวกัน 55 คน ขณะนี้อยู่ในการดูแลทั้งหมด ทำให้มียอดผู้ป่วยสะสม 2,992 ราย หายป่วยสะสม 2,772 ราย อยู่ระหว่างรักษา 165 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม
นพ.ทวีศิลป์ยังกล่าวว่า ในที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ที่มี พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธาน ได้มอบแนวทางการทำงานว่า ขอให้ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญในช่วงเปลี่ยนผ่านในเฟสต่างๆ ลดผลกระทบจากโควิด-19 พร้อมขอบคุณทุกกำลังใจที่มีทำให้เกิดความสำเร็จ สถานการณ์อยู่ในเกณฑ์น่าพอใจ แต่ยังต้องดำเนินการเชิงรุก เข้มงวดการเข้าออกประเทศตามช่องทางต่างๆ ไม่ให้นำเชื้อจากต่างประเทศเข้ามา และยังให้ความสำคัญกับสถานที่กักตัวของรัฐ ขอให้ดำเนินการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัดไป อีกทั้งยังกำชับให้หน่วยงานต่างๆ ห้ามละเลย ต้องไปตรวจสถานที่ที่ได้รับการผ่อนปรนให้เป็นไปตามข้อกำหนด นอกจากนี้ยังสั่งให้ ศบค.ติดตามผลกระทบจากมาตรการผ่อนคลาย แนวทางช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ และรับฟังข้อเสนอจากผู้ประกอบการ โดยขอให้ศูนย์ช่วยเหลือต่างๆ เก็บตกผู้ตกหล่นทั้งหลายให้เข้าถึงการเยียวยา รวมถึงดูแลเจ้าหน้าที่ที่ต้องทำงานหนักให้ได้รับเบี้ยเลี้ยงตามสิทธิ์
17 พ.ค.ลุ้นเปิดธุรกิจสีเขียว
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ปลัด สธ.ได้นำเสนอให้คงมาตรการในประเทศให้เข้มข้น และตรึงการนำเข้าเชื้อจากต่างประเทศให้ได้ เพราะจะทำให้มีตัวเลขผู้ติดเชื้ออยู่ที่เลขตัวเดียวและดีขึ้นกว่านี้ไปเรื่อยๆ ซึ่ง ผอ.ศบค.ได้มีข้อชี้แนะให้หามาตรการและแนวทางเฉพาะของกิจการและกิจกรรม เช่น รถไฟฟ้าบีทีเอส ที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมากจนเกิดความแออัด ต้องแก้ไขหากรถเสีย ขายตั๋วให้เหมาะกับสถานการณ์ พร้อมยังสั่งให้ 20 กระทรวงประชาสัมพันธ์ภารกิจของตัวเองที่เชื่อมโยงกับ ศบค.ด้วย และที่ประชุมเห็นตรงกันในเรื่องการเหลื่อมเวลาทำงานของหน่วยราชการ ให้เหลื่อมเวลาหลายช่วง โดยให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ไปดูว่าจะทำให้เหลื่อมเวลามากขึ้นได้หรือไม่ ส่วนการทำงานที่บ้านซึ่งเป็นนโยบายของ ครม.ต้องให้เกิดขึ้นได้มากที่สุด 50% หรือมากกว่านั้น เพื่อช่วยลดการเคลื่อนย้ายคน รวมถึงสั่งการให้หน่วยงานราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจรายงานผลทำงานเหลื่อมเวลาและการทำงานที่บ้านเข้ามา ขณะที่สถานศึกษามีการเตรียมขยายช่วงเวลาเปิดเรียนออกไป จะนำเทคโนโลยีมาช่วยในการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน
นพ.ทวีศิลป์กล่าวอีกว่า ในที่ประชุมเลขาธิการ สมช.ได้พูดไทม์ไลน์ในการผ่อนปรนระยะที่ 2 โดยตั้งตารางเวลาคร่าวๆ นั้น ในช่วงวันที่ 8-12 พ.ค.จะเป็นช่วงรับฟังความคิดเห็น ดูชุดข้อมูล สถิติ สถานการณ์ และความเห็นต่างๆ จากนั้นวันที่ 13 พ.ค.จะซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการ วันที่ 14 พ.ค.ยกร่างมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 2 เสนอนายกฯ ถ้าไม่มีเหตุการณ์อะไร ตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ไม่ทะลุขึ้นแบบผิดปกติในช่วงนั้น ในวันที่ 17 พ.ค.จะเริ่มออกมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 2 แต่กว่าจะวันที่ 17 พ.ค.เราต้องช่วยกัน เพื่อให้อีกสิบวันข้างหน้าเราจะได้เข้าสู่มาตรการระยะที่ 2 จะเป็นการผ่อนปรนกิจการขนาดใหญ่ และกิจการที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิต ดังนั้นเมื่อผ่อนปรนระยะที่ 1 แล้วไม่ทำให้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ระยะที่ 2 ต้องเกิดขึ้นแน่นอน จึงต้องทำวันนี้ให้ดีซึ่งก็ขึ้นอยู่กับทุกคน
โฆษก ศบค.กล่าวว่า อธิบดีกรมควบคุมโรคเสนอเป้าหมายการค้นหาผู้ติดเชื้อในประชากรกลุ่มเสี่ยง โดยตั้งเป้าหมายตรวจให้ได้ 6,000 รายต่อ 1 ล้านประชากร หรือประมาณ 400,000 ราย ขณะนี้ตรวจไปแล้วประมาณ 230,000 ราย เหลืออีก 170,000 ราย โดยจะตรวจในกลุ่มที่มีการขยายเกณฑ์ เช่น มีอาการไข้ มีอาการคล้ายหวัด จมูกไม่ได้กลิ่น 85,000 ราย และอีก 85,000 รายจะไปหาในประชากรกลุ่มเสี่ยงคือ บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ต้องขังแรกรับ แรงงานผิดกฎหมายที่อยู่ในสถานที่กัก คนขับรถสาธารณะ พนักงานไปรษณีย์ พนักงานขนส่งสินค้า แรงงานต่างด้าว และอาชีพเสี่ยงต่างๆ โดยจะไปสุ่มตัวอย่างกระจายในทั่วประเทศ ซึ่งทฤษฎีนี้ได้ผลกว่าการตรวจแบบหว่านแห
นอกจากนี้ ในที่ประชุม รมว.กต.ได้รายงานหลักเกณฑ์การนำคนไทยกลับจากต่างประเทศ กลุ่มแรกคือกลุ่มด่วนที่สุด จะเป็นกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ คนป่วย คนที่ตกค้างจากสนามบินต่างๆ วีซ่าหมดอายุ นักท่องเที่ยวตกค้าง กลุ่มนี้จะได้กลับมาก่อน กลุ่มที่สอง กลุ่มด่วนมาก คือ พระสงฆ์ที่ไปธุดงค์ นักเรียน นักศึกษา และคนที่ตกงาน
พร้อมเลิก ปท.บัญชีดำ
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สธ.เสนอที่ประชุมว่า สถานการณ์การติดเชื้อในหลายประเทศดีขึ้น ควรปรับรายชื่อประเทศที่ถูกประกาศเป็นเขตโรคติดต่ออันตราย เพื่อให้ความสัมพันธ์เชิงเศรษฐกิจสังคมใกล้ชิดขึ้น โดยนายกฯ และที่ประชุมเห็นชอบ แต่ต้องดำเนินการต่างๆ ให้เป็นไปตามขั้นตอน การเดินทางเข้าประเทศต้องดำเนินตามมาตรการที่ยังเข้มข้นอยู่ นอกจากนี้นายกฯ ยังเพิ่มเติมเรื่องการลงทุนเพื่อศึกษาวัคซีนร่วมกันในกลุ่มอาเซียน เพื่อให้ได้ประโยชน์ร่วมกัน ส่วนเรื่องการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะนักธุรกิจ การกู้ซอฟต์โลนที่ยังมีปัญหา ได้มอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไข ขณะที่เรื่องการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ขณะนี้นายกฯ ได้รับแผนจาก 20 ผู้นำทางเศรษฐกิจของประเทศไทยมาแล้ว เห็นว่ามีโครงการละเอียดในหลายเรื่องที่สามารถลงไปในระดับพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศได้ นายกฯ ระบุว่าอาจต้องใช้แนวทางต่างๆ เหล่านี้ประกอบกันเพื่อให้เกิดขับเคลื่อนและฟื้นฟูกันได้
“ในการทำงานของ ศบค.เป็นการทำงานแบบวงกว้าง นำทุกภาคส่วนทั้งฝ่ายประจำ ฝ่ายการเมือง ภาคธุรกิจที่มี 20 นักธุรกิจระดับประเทศและโลกมาช่วยกันด้วย รวมถึงคณะที่ปรึกษาด้านนักวิชาการ ซึ่งมีความสำคัญมากมาประกอบกัน เราผ่านตรงนี้มาได้ด้วยทีมไทยแลนด์ ต้องภาคภูมิใจในความเป็นไทยของเรา เรามีคนที่มีความเก่งกล้าสามารถหลากหลาย ทุกคนยังต้องพึ่งพาอาศัยกัน นายกฯ ยังขอบคุณประชาชนที่ให้ความร่วมมือ เพราะแม้เราจะมีคนเก่งมากมายเพียงใด แต่ความร่วมมือของทุกคนเท่านั้นที่จะเป็นปัจจัยสู่ความสำเร็จสูงสุด” นพ.ทวีศิลป์กล่าว
นายวิษณุกล่าวถึงการคงมาตรการเคอร์ฟิวว่า ขณะนี้ขยายถึงวันที่ 30 พ.ค.ซึ่งอาจขยายออกไปหรือลดลงก็ได้ อยู่ที่ที่ประชุมจะมีการประเมินโดยฟังจากคณะแพทย์เป็นหลัก เพราะเคอร์ฟิวยังจำเป็นอยู่
สธ.ลุยเร่งตรวจเชื้อ
ส่วนที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ตั้งแต่เดือน ม.ค.ถึง 4 พ.ค. มีการตรวจเชื้อในห้องปฏิบัติการ 230,000 ตัวอย่าง เมื่อเทียบประชากร 1 ล้านคน พบว่าตรวจไปมากกว่า 3,400 ตัวอย่างต่อประชากร 1 ล้านคน มากกว่าประเทศที่ควบคุมโรคได้ดีไม่ว่าจะเป็นไต้หวัน เวียดนาม และญี่ปุ่น โดยไทยจัดอยู่ในประเทศที่มีการตรวจทางห้องปฏิบัติการระดับปานกลาง โดยมีผลลัพธ์ในการป้องกันควบคุมโรคที่อยู่ในเกณฑ์ดี
นพ.สุวรรณชัยกล่าวอีกว่า ได้มีข้อสั่งการให้เร่งการตรวจในห้องปฏิบัติการ โดยได้ตั้งเป้าว่าภายใน 1-2 เดือนนี้จะเร่งรัดให้มีการตรวจ 6,000 ราย ต่อประชากร 1 ล้านคน โดยจะคำนวณการตรวจตั้งแต่เดือน ม.ค.-มิ.ย.สะสมต้องมากกว่า 400,000 ราย ภายใต้การตรวจในสถานพยาบาลที่ตรวจผู้ป่วยหรือผู้สงสัยว่าเข้าเกณฑ์ เราสามารถตรวจภายใน 1 เดือนได้ถึง 75,000-80,000 ราย โดยอีกส่วนจำนวน 85,000 ราย จะเป็นในส่วนของการเฝ้าระวังเชิงรุก ซึ่งจะกระจายการตรวจไปยัง 77 จังหวัด ทั้งนี้ ทุกจังหวัดแม้จะมีประชากรน้อยหรือไม่มีความเสี่ยง ก็จะต้องตรวจไม่น้อยกว่า 400 ราย จังหวัดที่มีประชากรมากและมีความเสี่ยง เช่น กทม.ไม่น้อยกว่า 15,000 ราย
นายอนุทินให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุม ศบค.ถึงความคืบหน้าการศึกษาและพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ว่า เราได้ดำเนินการให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติไปหารือมหาวิทยาลัยต่างๆ และได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) กับมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในจีนแล้ว ซึ่งได้เน้นย้ำว่าการทำเอ็มโอยูดังกล่าวเราต้องไม่เสียเปรียบ ทั้ง 2 ฝ่ายต้องเข้าถึงพร้อมกันและได้รับความความยุติธรรมเท่ากัน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |