รพ.สุไหงโก-ลกป่วน!กักตัว62บุคลากรแพทย์


เพิ่มเพื่อน    

  โรงพยาบาลสุไหงโก-ลกป่วน กักตัว 14 วันบุคลากรทางการแพทย์ถึง 62 คน หลังผู้ป่วยโควิด-19 ปิดบังประวัติตนเอง ขณะที่ ผอ.โรงพยาบาลเชื่อเจ้าหน้าที่น่าจะปลอดภัย เพราะสวมใส่ชุดป้องกันตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขระหว่างการรักษาผู้ป่วยทุกรายทุกครั้ง
    เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีพบชายอายุ 45 ปี ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ อ.แว้ง จ.นราธิวาส เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลสุไหงโก-ลก เมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา โดยเข้าพักรักษาตัวที่ชั้น 8 ซึ่งเป็นห้องพิเศษเดี่ยว ของอาคารเฉลิมพระเกียรติ 51 พรรษา สยามบรมราชกุมารี 
    ต่อมาได้ขอย้ายไปนอนพักรักษาตัวที่ชั้น 6 ซึ่งเป็นห้องพิเศษเดี่ยวเช่นกัน ของอาคารเดียวกัน เนื่องจากมีราคาถูกกว่า จนกระทั่งมีอาการปอดเริ่มอักเสบ เจ้าหน้าที่จึงได้ย้ายไปรักษาตัวที่ห้องไอซียู เพื่อเฝ้าดูแลอาการอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งได้นำสารคัดหลั่งของผู้ป่วยไปตรวจที่ห้องปฏิบัติการ 
    ซึ่งผลออกมายืนยันว่ามีอาการปอดอักเสบเนื่องจากติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยที่ผู้ป่วยขณะเดินทางเข้าทำการรักษาตัวที่โรงพยาบาลสุไหงโก-ลกมีปัจจัยเสี่ยงหลายประการ ทั้งการเดินทางไปร่วมศาสนพิธีในต่างประเทศ และไปยังสถานที่ชุมชนที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่ อ.แว้ง โดยล่าสุดผู้ป่วยรายดังกล่าวถูกส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ อ.เมืองนราธิวาสแล้ว
    นพ.อินทร์ จันแดง ผอ.โรงพยาบาลสุไหงโก-ลก ให้สัมภาษณ์ว่า แม้ว่าเราจะพบผู้ป่วยโควิด-19 มานอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล แต่เมื่อเราทราบผลยืนยันจากการส่งสารคัดหลั่งไปตรวจที่ห้องปฏิบัติการ ก็ได้ส่งผู้ป่วยไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลสนาม และได้ทำความสะอาดห้องพักที่ผู้ป่วยเคยไปนอนรักษาตัว ด้วยการฉีดยาฆ่าเชื้อทุกซอกทุกมุม ตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับบุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งประชาชนที่เดินทางมาใช้บริการ
    ผอ.โรงพยาบาลสุไหงโก-ลกยังกล่าวว่า ในส่วนของแพทย์ พยาบาล และบุคลากรต่างๆ ที่สัมผัสผู้ป่วยมีจำนวน 62 คน แยกออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มสัมผัสผู้ป่วยโดยตรงมีประมาณ 20 คน และ 2. กลุ่มสัมผัสผู้ป่วยทางอ้อม ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงน้อย เราได้มีการกักตัวเพื่อดูอาการ 14 วัน  ซึ่งเชื่อว่าบุคลากรทั้ง 62 คนที่สวมใส่ชุดป้องกันตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขในระหว่างการรักษาผู้ป่วยทุกรายทุกครั้ง คงปลอดจากอาการติดเชื้อของผู้ป่วยไววัสโควิด-19 รายนี้ เนื่องจากเรามีมาตรฐานในการรักษาผู้ป่วยทุกกระบวนการ โรงพยาบาลจึงยังคงเปิดให้บริการตามปกติ ทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก จึงขอให้พี่น้องประชาชนอย่างหวาดวิตกเรื่องที่เกิดขึ้นดังกล่าว
    ผู้สื่อข่าวปัตตานีรายงานว่า ตามที่มีข่าวออกทางสื่อเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งกล่าวตำหนิการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่จังหวัดปัตตานี ที่ไม่สนใจประชาชนปล่อยให้นอนกลางถนน โดยที่มาของข่าวระบุว่า แม่ลูกคู่นี้เดินทางออกจากภูเก็ตเพื่อกลับบ้าน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เกิดตกค้างไร้ญาติขาดมิตร แถมโดนรังเกียจหาที่พักไม่ได้ ต้องนอนหลบน้ำค้างตากยุงริมถนนอย่างที่เห็น  และมีรูปเด็กนอนในภาพอีกด้วย
    และมีข้อความตำหนิอีกว่า เจาะเลือดเสร็จไม่มีรถกลับสายบุรี มีตำรวจเฝ้าแต่ไม่มีคนประสานงานรถ อ.สายบุรีมารับ ทำให้ต้องนอนในเต็นท์ดังกล่าว
    หลังจากที่ภาพแพร่ออกไป ทำให้คนที่อ่านข้อความและเห็นภาพต่างเห็นใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ที่เจ้าหน้าที่ปล่อยปละละเลย ทำให้เกิดการกล่าวตำหนิต่างๆ นานาเพราะความเข้าใจผิด
    เรื่องนี้ผู้สื่อข่าวได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกระทั่งทราบว่า ซารีนาเป็นลูกสาวที่ทำงานและมีสามีอยู่ภูเก็ต แต่แม่ซารีนาเดินทางจากสายบุรีมาเยี่ยมซารีนาลูกสาวที่ภูเก็ต เมื่อมีปัญหาเรื่องโรคโควิด-19 ที่ระบาด ซารีนาจึงให้แม่นำลูกหลานกลับปัตตานีรวม 7 คน โดยเหมารถตู้จากภูเก็ต แต่มาถึงที่ปัตตานีช่วงค่ำบริเวณศูนย์คัดกรองสนามกีฬากลางปัตตานี เมื่อคัดกรองเสร็จก็เป็นเวลาประมาณหลังเที่ยงคืน  ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถอนุญาตให้เดินทางกลับได้เนื่องเป็นเวลาเคอร์ฟิว และมีความอันตรายจากสถานการณ์ที่ไม่ปกติ จึงจัดให้นอนในเต็นท์เพื่อรอวันรุ่งขึ้นจะได้ไปส่ง ซึ่งทุกคนเข้าใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
    แต่ซารีนาซึ่งอยู่ภูเก็ตได้พูดคุยประสานตลอด และได้เห็นภาพแม่กับลูกๆ หลานๆ นอนในสภาพนั้น จึงออกมาตำหนิการทำงานดังกล่าวโดยไม่ได้สอบถามใดๆ ก่อน ทำให้เกิดความเข้าใจผิดกันทั้งสองฝ่าย
    อย่างไรก็ตาม เช้าวันที่ 5 พ.ค. เจ้าหน้าที่ปัตตานีได้นำรถไปส่งทั้ง 7 คนที่ อ.สายบุรี จากนั้นศูนย์กักกันตัวได้นำรถมารับไปกักตัวที่ รร.บ้านบางเก่า อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ทั้งหมดนอนในห้องละหมาดของโรงเรียน โดยมีเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายดูแลความปลอดภัย รวมทั้งจัดหาอาหารการกินให้อย่างเต็มที่
    นางแวสะลาเมาะ สะนิ ผอ.ศูนย์คัดกรองจังหวัดปัตตานี เปิดเผยว่า การดูแลประชาชนที่มาคัดกรอง เจ้าหน้าที่จะดูแลเป็นอย่างดีเพราะถือว่าประชาชนคือคนสำคัญ และเหนื่อยจากการเดินทางควรจะได้พักผ่อน สำหรับที่พักนั้นเป็นเตียงสนามที่ได้รับความอนุเคราะห์จากทหาร 45 ใบและพัดลม โดยจะมีการแยกโซนผู้ชายและผู้หญิง ซึ่งเจ้าหน้าที่ทำงานอย่างเต็มที่ มีสิ่งใดที่ทำให้ประชาชนไม่สะดวก เจ้าหน้าที่ก็ทำการปรับปรุงให้ได้รับความสะดวกมากยิ่งขึ้น
    "อยากจะบอกกับประชาชนที่เดินทางมาคัดกรองว่า เจ้าหน้าที่ทุกคนทำงานอย่างเต็มที่ ยินดีที่จะให้บริการแก่ประชาชนทุกคน เพราะเจ้าหน้าที่คาดหวังมากว่าประชาชนทุกคนต้องปลอดภัยจากโควิด-19" นางแวสะลาเมาะกล่าว 
    ที่ภูเก็ต คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดภูเก็ต แจ้งสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  (COVID-19) จังหวัดภูเก็ต ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม - 5 พฤษภาคม 2563 จังหวัดภูเก็ตมีผู้ติดเชื้อยืนยันโรคโควิด-19 แล้วจำนวน 220 ราย (ไม่พบรายใหม่)
    โดยผู้ติดเชื้อได้รับอนุญาตให้กลับบ้าน 180 ราย (กลับบ้านเพิ่ม 1 ราย) เสียชีวิต 3 ราย จำหน่าย 1  ราย (จำหน่ายเนื่องด้วยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์) กำลังรักษาพยาบาลอยู่ 36 ราย ที่เหลืออาการอยู่ในเกณฑ์ที่ดี
    ผู้มีอาการเข้าเกณฑ์เฝ้าระวังสะสมทั้งหมด 5,319 ราย (รายใหม่ 136 ราย) โดยยังคงรักษาพยาบาล 93 ราย (เป็นผู้ติดเชื้อยืนยัน 36 ราย อยู่ระหว่างรอผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ 57 ราย) กลับบ้านแล้ว 5,226 ราย 
ตาย 1 รายชาวออสเตรเลีย
    จำนวนผู้ได้รับการตรวจหาเชื้อทางห้องปฏิบัติการทั้งหมด  9,354 ราย (พบเชื้อ 220 ราย) เป็นผู้มีอาการเข้าเกณฑ์เฝ้าระวังสะสม 5,913 ราย (พบเชื้อ 182 ราย) และเป็นผู้ได้รับการตรวจหาเชื้อจากการคัดกรองเชิงรุก 4,035 ราย (พบเชื้อ 38 ราย)
    สำหรับผู้ป่วยยืนยันโรคโควิด-19 เสียชีวิต 1 ราย เป็นผู้ติดเชื้อลำดับที่ 63 ชายชาวออสเตรเลีย  อายุ 69 ปี อาชีพผู้จัดการโรงแรมแถวเขาหลัก จ.พังงา อาศัยอยู่ที่เขาหลักเป็นส่วนใหญ่ ไม่มีประวัติเดินทางไปต่างประเทศในช่วง 14 วันก่อนป่วย โดยก่อนที่จะป่วยได้กลับมา จ.ภูเก็ตวันที่ 19-21 มีนาคม ผู้ป่วยรายนี้มีโรคประจำตัวคือโรคปอดเรื้อรัง รักษาต่อเนื่องที่คลินิก โดยเริ่มมีอาการป่วยวันที่ 24 มีนาคม 
    จากกรณีที่จังหวัดตรังได้ออกคำสั่งปิดเส้นทางเข้าออกในพื้นที่ จ.ตรัง เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยเฉพาะถนนสายรองที่เชื่อมต่อระหว่างตำบลต่างๆ ใน 3 อำเภอ คือ อ.วังวิเศษ อ.ห้วยยอด และ อ.รัษฎา กับ อ.บางขัน จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นพื้นที่ระบาดพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 โดยให้นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่รับผิดชอบปิดตายเส้นทางสายรองดังกล่าวทั้งหมด ไม่ให้คนไปมาหาสู่กัน เพื่อป้องกันและควบคุมโรคไม่ให้คนนอกนำเชื้อเข้ามาในพื้นที่ มีการนำท่อระบายน้ำคอนกรีตมาวางขวางถนนที่เชื่อมรอยต่อ จ.นครศรีธรรมราช ทำให้ยานพาหนะทุกชนิดไม่สามารถสัญจรไปมาได้ สร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนที่ต้องไปกรีดยาง ทำสวนปาล์ม ไปทำงานที่อยู่ในพื้นที่รอยต่อดังกล่าว โดยเฉพาะพื้นที่ ต.ห้วยนาง อ.ห้วยยอด จ.ตรัง กับ ต.บ้านนิคม อ.บางขัน จ.นครศรีธรรมราช 
    ล่าสุด นายศิริพัฒ พัฒกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมด้วยนายโชคชัย คำแหง รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช, นายประภาส ขุนพิทักษ์ นายอำเภอบางขัน ได้ลงพื้นที่ที่มีการใช้ท่อระบายน้ำปิดกั้นถนนบริเวณสะพานข้ามคลองกะปางบ้านสมสรร ซึ่งเป็นรอยต่อ จ.ตรัง กับ จ.นครศรีธรรมราช ที่ ต.บ้านนิคม อ.บางขัน เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน ให้ประชาชนสามารถสัญจรไปมาและขนผลผลิตทางการเกษตรได้ตามความจำเป็นเพื่อนำรายได้มาเลี้ยงครอบครัว โดยจังหวัดตรังมีนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตรัง เขต 2 พรรคประชาธิปัตย์ ร่วมพบปะพูดคุย ท่ามกลางความสนใจของประชาชนทั้งสองจังหวัดเข้าร่วมสังเกตการณ์นับร้อยคน
     ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชได้อธิบายสร้างความเข้าใจในการแก้ไขปัญหาโควิด-19  ของจังหวัด โดยใช้ความร่วมมือจากประชาชนเป็นหลัก ไม่มีการปิดกั้นหรือห้ามอะไรที่เด็ดขาด แม้รู้ว่าเรื่องโควิดต้องใช้ความเด็ดขาดก็ตาม ซึ่งจังหวัดนครศรีธรรมราชใช้ความร่วมมือเป็นสำคัญ ใช้คำว่าไม่ประมาท ไม่ตื่นตระหนก และทุกคนช่วยกันแก้ปัญหา
    วันเดียวกันนี้ พระบุรเขตธรรมคณี เจ้าคณะจังหวัดตราด (มหานิกาย) พร้อมด้วยคณะสงฆ์ สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดตราด ร่วมกันจัดตั้งโรงทานตามพระดำริของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ  สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ด้วยการแจกข้าวกล่องปรุงสำเร็จ พร้อมด้วยข้าวสารบรรจุถุงขนาด 2 กิโลกรัม และเงาะ รวมทั้งสิ้น 1,000 ชุด แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาโรคติดชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) บริเวณศาล 100 ปี ตราดรำลึก หน้าศาลากลางจังหวัดตราด ในขณะที่สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดตราดมอบแอลกอฮอล์เจลให้ประชาชนที่มารับข้าวกล่องในครั้งนี้ 
    นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจากสถานีอนามัยในเขตอำเภอเมืองตราด ร่วมกับจิตอาสาพระราชทาน เจ้าหน้าที่อาสาสมัครกู้ภัยหลักเกาะ และเจ้าหน้าที่อาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.) ยังได้ตั้งจุดคัดกรองประชาชนรวมทั้งจัดระเบียบแถว เพื่อเว้นระยะห่างตามมาตรการป้องกันปัญหาโรคติดชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อีกด้วย.
    


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"