ศบค.พบผู้ป่วยรายใหม่ 1 คน ชายออสเตรเลียเสียชีวิต 1 ราย เผยผ่อนปรนมา 3 วัน ผู้ไม่ปฏิบัติตามมาตรการลดลงอย่างต่อเนื่อง อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ฯ ยันผลตรวจ 40 รายที่ยะลาเป็นลบ แจงแล็บตรวจเชื้อ "เออเรอร์" เหตุ "เนกาทีฟคอนโทรล" ปนเปื้อน "สารพันธุกรรม-อาร์เอ็นเอ" ไม่ฟันธงสาเหตุ ชี้จุดหลักไม่บกพร่อง ผิดพลาดเล็กน้อยแก้ไขได้ เร่งปรับปรุงก่อนเปิดให้บริการอีกครั้ง เผยข่าวดี "หนูทดลอง" รับวัคซีนจากจุฬาฯ ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันโควิด-19 ได้ดี เดินหน้าทดสอบซ้ำหลายแบบ ก่อนทดสอบในสัตว์ใหญ่ต่อไป สธ.แนะออกกำลังกายใช้วิธีเดินใส่หน้ากากแทนการวิ่ง นายกฯ สั่ง กต. เร่งช่วยเหลืออำนวยความสะดวกนำคนไทยในต่างแดนกลับไทย
ที่ทำเนียบรัฐบาล เวลา 11.30 น. วันที่ 6 พฤษภาคม นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.แถลงว่า สถานการณ์ในประเทศไทยเป็นอีกวันที่มีผู้ป่วยรายใหม่ 1 ราย เป็นหญิงไทยอายุ 27 ปี ชาวจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นพนักงานนวดที่เดินทางกลับมาจากรัสเซียเมื่อวันที่ 3 พ.ค.พร้อมกับคนอื่นๆ ในเที่ยวบินอีก 70 คน โดยพักอยู่ในสถานที่กักตัวของรัฐที่ จ.สมุทรปราการ ผู้ป่วยรายนี้มีไข้ จึงส่งเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลใน จ.สมุทรปราการ และยืนยันผลตรวจเป็นโควิด-19 เมื่อวันที่ 4 พ.ค. ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 2,989 ราย หายป่วยสะสม 2,761 ราย เสียชีวิตเพิ่มเติม 1 ราย ยอดเสียชีวิตสะสม 55 ราย
สำหรับผู้เสียชีวิตรายที่ 55 เป็นชายออสเตรเลีย อายุ 69 ปี อาชีพผู้จัดการโรงแรมที่ จ.พังงา ป่วยเมื่อวันที่ 25 มี.ค. มีอาการไอ อ่อนเพลีย มีไข้สูง เข้ารักษาตัวที่คลินิกเมื่อวันที่ 28 มี.ค. ความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือดลดลง อาการไม่ดีขึ้นจึงไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน จ.ภูเก็ต เอกซเรย์พบปอดติดเชื้อรุนแรง และผลตรวจเป็นโควิด-19 จากนั้นมีอาการเหนื่อยมากขึ้น ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ มีภาวะแทรกซ้อนทางไต และเสียชีวิตวันที่ 5 พ.ค. ส่วนกรณี 40 คนที่ จ.ยะลา ได้รับรายงานจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ว่าไม่พบผู้ป่วยยืนยัน ผลเป็นลบ
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า จำนวนการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย ขณะนี้มีเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่มีการขยายเกณฑ์ แต่ล่าสุดปลายเดือน เม.ย.ยอดผู้เข้าตรวจจำนวนลดลง สธ.จึงขยายเกณฑ์การตรวจ โดยหากใครมีอาการคล้ายไข้หวัด หรือรับรู้กลิ่นได้น้อยลง สามารถเข้ามาตรวจได้เลยเพื่อขยายให้ได้มากขึ้น ยิ่งตรวจเจอเยอะยิ่งดี หากไม่เจอก็ไม่เป็นไร ซึ่งกองระบาดวิทยาจะปรับเกณฑ์เรื่อยๆ เพื่อดึงเคสให้ได้มากที่สุด
ส่วนสถานการณ์ผู้ติดเชื้อทั่วโลกมี 3,727,295 ราย เสียชีวิต 258,326 ราย ส่วนในวันที่ 6 พ.ค.จะมีคนไทยกลับจากเมียนมา 59 ราย เยอรมนี 110 ราย ปากีสถาน 122 ราย และวันที่ 7 พ.ค. เกาหลีใต้ 150 ราย แอฟริกาใต้ 150 ราย โดยตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย.-5 พ.ค.เดินทางเข้ามาแล้ว 4,637 ราย จาก 27 ประเทศ ส่วนยอดสะสมผู้ที่อยู่ในสถานที่กักตัวของรัฐ ตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย.-5 พ.ค.มี 12,847 ราย กลับบ้านแล้ว 3,921 ราย อยู่ระหว่างกักตัว 8,026 ราย พบเชื้อ 85 ราย ส่วนการให้ความช่วยเหลือคนไทยในต่างประเทศ อย่างที่มาเลเซีย สถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลใหญ่ในมาเลเซียได้เข้าไปดูแลคนไทยตามรัฐต่างๆ แล้วจำนวน 29,491 ราย เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ที่สถานทูตก็ให้การดูแลอย่างใกล้ชิด
โฆษก ศบค.กล่าวอีกว่า สำหรับผลการปฏิบัติงานด้านความมั่นคงช่วงเคอร์ฟิวคืนวันที่ 5 พ.ค.ต่อเนื่องเช้าวันที่ 6 พ.ค. มีผู้ฝ่าฝืนชุมนุม มั่วสุม 104 ราย เพิ่มขึ้นจากคืนก่อน 6 ราย อันดับหนึ่งคือ ดื่มสุรา รองมาคือ เล่นการพนัน ออกนอกเคหสถาน 699 ราย เพิ่มขึ้นจากคืนก่อน 32 ราย อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าการดื่มสุรายังเป็นปัญหาอยู่ ยิ่งตอนนี้มีการผ่อนปรนให้กลับมาจำหน่ายได้ จึงใช้โอกาสนี้ในการชุมนุมมั่วสุมกัน ส่วนผลตรวจกิจการ กิจกรรมที่ได้รับการผ่อนปรนประจำวันที่ 5 พ.ค. มีการตรวจทั้งสิ้น 12,996 แห่ง ปฏิบัติตามมาตรการ 12,547 แห่ง ไม่ปฏิบัติตาม 449 แห่ง และตั้งแต่มีการผ่อนปรนมา 3 วัน พบว่าผู้ไม่ปฏิบัติตามมาตรการลดลงอย่างต่อเนื่อง และไม่อยากให้ไปจับตาคนที่ไม่ปฏิบัติตาม เพราะส่วนใหญ่ปฏิบัติตามมาตรการ อย่างเช่นร้านอาหารเครื่องดื่มก็ปฏิบัติตามมาตรการมากขึ้น จึงอยากให้ร่วมมือกันร้อยเปอร์เซ็นต์ถึงจะควบคุมโรคได้
แนะเดินออกกำลังกายสวมหน้ากาก
"ส่วนบทลงโทษของผู้ไม่ปฏิบัติตามนั้น แม้ในกฎหมายจะกำหนดบทลงโทษไว้ แต่เจตนาเราไม่ได้ต้องการให้ท่านถูกลงโทษ แต่กำหนดโทษเพื่อให้ร่วมมือ ถ้าร่วมมือแล้วเกิดผล ป้องกันโรคได้ ก็ไม่มีเหตุที่ต้องมาเปิดกฎหมายดูกัน และอยากให้ดูตัวอย่างดีๆ เช่นที่ จ.ตรัง ผู้ใหญ่บ้านลงโทษผู้ไม่สวมหน้ากากด้วยการให้วิดพื้นหรือกระโดดตบ ซึ่งได้ผลเพราะไม่มีผู้กระทำผิดซ้ำ นอกจากนี้หากประชาชนพบว่าแม่ค้าไม่สวมหน้ากากอนามัย อย่ารอเจ้าหน้าที่ ขอให้ตักเตือนกันเองเลย"
เมื่อถามถึงกรณีเกิดความสับสนเกี่ยวกับการออกกำลังกายในสวนสาธารณะว่า กรมอนามัยเตือนว่าการสวมใส่หน้ากากวิ่งเป็นอันตราย แต่ กทม.ระบุว่าหากจะวิ่งต้องสวมหน้ากาก นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ตอนนี้การออกกำลังกายที่ดีที่สุดคือ การเดินโดยสวมหน้ากากอนามัย เพราะการสวมหน้ากากวิ่งอาจทำให้อากาศเข้าสู่ร่างกายไม่เพียงพอ จึงไม่แนะนำให้ใส่หน้ากากวิ่ง หรือถ้าจะต้องวิ่งต้องดูว่าด้านหลังในระยะ 10 เมตรไม่มีคนอยู่ข้างหลัง เพราะหากอยู่ใกล้เกิน 10 เมตร อาจทำให้ได้รับละอองฝอยจากผู้ที่วิ่งอยู่ข้างหน้า ย้ำว่าอย่าใช้วิธีการวิ่งเลย เพราะการเดินครึ่งชั่วโมงก็ทำให้หัวใจเต้นเร็วได้
ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงถึงผลการตรวจยืนยันเชื้อในกลุ่มเสี่ยง 40 รายจากจังหวัดยะลาว่า ขณะนี้ผลตรวจแล็บของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยืนยันออกมาว่า ทั้ง 40 รายให้ผลเป็นลบเช่นเดียวกับศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ จ.สงขลา โดยจะรายงานผลไปยังทีมระบาดวิทยาและนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ยะลา ในฐานะผู้ให้ทำการตรวจเพื่อนำไปประมวลผลและดำเนินมาตรการต่อไป อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดเหตุการณ์ผิดปกติ ตัวควบคุมลบให้ผลเป็นบวกก็ต้องหาสาเหตุ ซึ่งเมื่อวันที่ 5 พ.ค.มีทีมผู้เชี่ยวชาญจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ลงไปตรวจสอบดูว่าเกิดจากอะไร
"ทีมที่ลงไปตรวจสอบรายงานว่าห้องแล็บ รพ.ยะลา ไม่มีอะไรที่บกพร่องแบบรุนแรง (Major Error) แต่มีเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่อาจต้องปรับปรุง เช่นมีการตรวจตัวอย่างจำนวนมาก โดยแล็บยะลาตรวจมากถึง 4,000 ตัวอย่างใน 1 เดือน ซึ่งถือว่ามากที่สุดในระดับ รพ.จังหวัด เจ้าหน้าที่จึงทำงานหนัก โดยปกติห้องปฏิบัติการเล็กๆ ตรวจเต็มที่ก็ประมาณ 100 ตัวอย่าง แต่พบว่าบางวันตรวจ 700-800 ตัวอย่าง เท่ากับว่าวันหนึ่งตรวจ 7-8 รอบ เรียกว่าตรวจเกือบ 24 ชั่วโมง จากการดำเนินการค้นหาเชิงรุกหรือ Active Case Finding ซึ่งหากจะหาเคสเยอะๆ ก็แนะนำว่าอาจต้องให้แล็บอื่นช่วยดำเนินการตรวจด้วย มิเช่นนั้นคนทำงานอาจจะล้าได้"
นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า เรื่องของเครื่องมือไม่มีอะไรบกพร่อง ห้องตรวจทำได้ตามมาตรฐาน ซึ่งมี 3 ส่วน คือ สกัดอาร์เอ็นเอ ตัวผสมน้ำยาและขยายดีเอ็นเอ และตัวอ่าน PCR ซึ่งก็แบ่งได้อย่างถูกต้อง แต่ รพ.ไม่ได้มีห้องแล็บไว้ก่อน ถ้าตรวจเคสเยอะๆ ห้องจะค่อนข้างแน่น อาจต้องขยายห้องให้รองรับได้มากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นจุดเล็กๆ น้อยๆ ไม่ได้เป็นจุดใหญ่ พอห้องแคบบางทีการระบายอากาศอาจไม่ดี ก็เป็นจุดเล็กน้อยที่เอาไปปรับปรุงต่อได้ จุดใหญ่ๆ นั้นไม่มี จริงๆ แล้วปัญหาเรื่องเนกาทีฟคอนโทรลเป็นบวก จริงๆ ต้องหยุดและไม่อ่านผล แต่เนื่องจากข่าวหลุดออกไปทางโซเชียลก่อน จะบอกว่าเขาผิดพลาดก็ไม่ยุติธรรม โดยภาพรวมก็ทำได้ตามมาตรฐาน ส่วนจุดบกพร่องเราลงไปดูก็ช่วยแก้ไขและสนับสนุน
"ระหว่างที่แล็บยะลาปิดนั้น การตรวจเชื้อก็มีการส่งไปตรวจที่ จ.สงขลา ซึ่งมีแล็บ 4 แห่ง คือ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์สงขลา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) รพ.หาดใหญ่ และแล็บเอกชน สำหรับการเปิดตรวจอีกครั้ง ผอ.รพ.ยะลาจะพิจารณาว่าเปิดตรวจเมื่อไร แต่เมื่อเปิดแล้วเราจะส่งทีมไปเอาตัวอย่างมาตรวจยืนยันว่าตรงกันหรือไม่เพื่อเพิ่มความมั่นใจ ส่วนอนาคตจะมีการเปิดแล็บที่ปัตตานีและนราธิวาส ซึ่งกรมฯ ได้ส่งเครื่องตรวจไปแล้ว รอความพร้อมของบุคลากรเจ้าหน้าที่ ก็คาดว่ากลาง พ.ค.จะสามารถเปิดได้ ซึ่ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้การเดินทางอาจไม่สะดวก จึงควรจะต้องมีจังหวัดละเครื่องที่จะสามารถตรวจได้" อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ฯ กล่าว
แล็บปนเปื้อนสารพันธุกรรม
ส่วนปัจจัยที่ทำให้เนกาทีฟคอนโทรลเป็นผลบวกเกิดจากอะไรนั้น นพ.โอภาสกล่าวว่า มีหลายสาเหตุ แต่ฟันธงชัดๆ ตอนนี้ไม่ได้ แต่เราก็เจอจุดปรับปรุงได้เล็กๆ น้อยๆ หลายอย่างรวมกัน วิธีการตอนนี้จะทำความสะอาด เพราะตัวปนเปื้อนเป็นชิ้นส่วนสารพันธุกรรมเรียกว่าอาร์เอ็นเอ ไม่ใช่เชื้อโรคปนเปื้อน แต่เป็นอาร์เอ็นเอที่ไม่มีชีวิต ไม่ติดใคร ซึ่งเล็กมาก วิธีการคือทำความสะอาดให้หมดในห้องและเริ่มดำเนินการตรวจใหม่ คาดว่าใช้เวลาไม่นานก็จะกลับมาเปิดตรวจใหม่ได้ และจะตรวจคู่กันระหว่างแล็บยะลาและศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์สงขลาว่าตรงกันหรือไม่
เมื่อถามว่าปัจจัยเล็กๆ น้อยๆ ที่ต้องปรับปรุงเป็นสาเหตุทำให้ตัวควบคุม Negative Control ปนเปื้อนได้ใช่หรือไม่ นพ.โอภาสกล่าวว่า อะไรเป็นสาเหตุยังตอบไม่ได้ แต่ที่ระบุไปเป็นปัจจัยที่เราเห็นว่าปรับปรุงได้ ทำให้ดีกว่านี้ได้ แต่ไม่ใช่ปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาดังกล่าว ทั้งนี้การตรวจคลาดเคลื่อนเกิดขึ้นได้เสมอ วิธีการมาตรฐานคือหาสาเหตุให้พบและป้องกัน
ถามว่าเคสที่ตรวจไปก่อนหน้านั้น รวม 311 เคสต้องตรวจใหม่หรือไม่ นพ.โอภาสกล่าวว่า ตอนนี้ผ่านมา 4 วันแล้ว นักระบาดวิทยาอาจต้องไปดูในพื้นที่ใหม่ เช่นสบายดีอาจไม่ต้องตรวจ หรือคนนี้มีอาการอาจต้องตรวจซ้ำ ต้องดูเป็นรายๆ ไป แล็บเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่ง บอกว่าใครเป็นอะไรไม่ได้ ต้องดูประวัติคนไข้ ลักษณะการระบาดวิทยา และผ่านมา 4 วันแล้วก็เปลี่ยนไปหมด ถ้าติดเชื้อจริงก็อาจมีอาการแล้วก็ต้องไปทวนดู
เมื่อถามถึงโอกาสเกิดความผิดพลาดมีมากน้อยเท่าใดในการตรวจแล็บ นพ.โอภาสกล่าวว่าค่อนข้างน้อยมาก เราตรวจไป 2.2 แสนครั้ง นี่ถือว่าเพิ่งเจอ แต่ย้ำว่านี่ไม่ใช่ความผิดพลาด มันเกิดการเออเรอร์ได้ ปกติทางแล็บทั่วไปแม่นยำ 95-98% ก็เก่งแล้ว ถ้าดูจากการที่เราตรวจไปกว่า 2 แสนตัวอย่างก็ถือว่าแม่นยำกว่า 99.9% ด้วยซ้ำ ในระบบไม่มีอะไรถูกร้อยครั้งหมื่นครั้งแสนครั้ง ต้องมีเออเรอร์ ถึงต้องมีคิวซี หรือควอลิตีคอนโทรล (Quality Control) การมี Positive Control และ Negative Control ก็ถือว่าเป็นคิวซีที่ทำให้เราตรวจจับได้ ทั้งนี้ยืนยันทุกแห่งได้มาตรฐาน แต่ดำเนินการไปสักระยะก็ต้องลงไปตรวจดูว่ายังได้มาตรฐานหรือไม่
ผู้สื่อข่าวถามว่า ยะลาต้องเพิ่มเครื่องมือในการตรวจด้วยหรือไม่ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ยะลาเครื่องมือมีเพียงพอ เพราะมี 2 เครื่องตรวจ คือ เครื่องหนึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ส่งไปให้ และอีกเครื่องน่าจะเป็นท้องถิ่นจัดซื้อให้ เครื่องมือซื้อได้ แต่บางที รพ.ไม่ได้ดีไซน์ห้องไว้เพื่อตรวจ จะให้ทุบห้องทำห้องใหม่ก็ยาก ส่วนใหญ่จึงเป็นห้องเก่าที่มาพัฒนา แต่ก็ต้องไปดูหน้างานว่าทำอย่างไรจึงจะเหมาะสม สำหรับเครื่องตรวจได้มากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับรุ่นซึ่งแตกต่างกันไป บางแล็บก็ตรวจครั้งละ 24 ตัวอย่าง หรือ 100 ตัวอย่างแล้วแต่รุ่นของเครื่อง แต่ทีมแนะนำว่าไม่ควรตรวจเกิน 200 ตัวอย่าง ซึ่งเครื่องตรวจได้แต่คนทำงานอาจหนักเกินไป
ทดลองวัคซีนคืบหน้า
นพ.โอภาสกล่าวถึงความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่พัฒนาโดยคนไทยว่า ขณะนี้นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยทั่วโลกกำลังเร่งค้นคว้าวิจัยและพัฒนาวัคซีนเพื่อนำไปสู่การใช้ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 เช่นเดียวกับประเทศไทย ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ไทยก็ได้มีความร่วมมือกันในหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน สำหรับความคืบหน้าล่าสุดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้พัฒนาวัคซีนต้นแบบ ซึ่งได้ฉีดให้กับหนูทดลองไปแล้ว และส่งตัวอย่างเลือดมาตรวจหาภูมิคุ้มกันที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผลออกมาแล้วพบว่ามีหนูมีภูมิคุ้มกันค่อนข้างดีในระดับที่น่าพอใจ ซึ่งจากนี้จุฬาฯ จะมีการทดลองให้วัคซีนในหลายๆ รูปแบบกับหนูทดลอง เช่น ให้ 1 เข็ม 2 เข็ม เปรียบเทียบกันเพื่อหาระดับภูมิคุ้มกันอีกครั้ง หากได้ผลดีก็จะให้วัคซีนในสัตว์ทดลองที่มีขนาดใหญ่ เช่น ลิง และถ้าได้ผลดีถึงจะมีการทดลองในมนุษย์ เพื่อหาว่าสามารถป้องกันโรคโควิด-19 ได้จริงหรือไม่
"แม้ว่าการพัฒนาของเราอาจจะยังไม่ทันกับหลายประเทศ แต่ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่เราต้องพยายามพัฒนา ซึ่งหวังว่าจะประสบความสำเร็จต่อไป ตอนนี้ก็น่าจะเป็นข่าวดีเป็นก้อนเล็กๆ และเชื่อว่าเราจะสามารถพัฒนาวัคซีนให้สำเร็จได้ เป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้ไทยมีศักยภาพในการต่อสู้กับโรคโควิด-19ได้" นพ.โอภาสระบุ
นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล แพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีผู้ติดเชื้อที่รักษาหายแล้ว สามารถกลับมาติดเชื้อได้อีกหรือไม่ว่า หลังจากรักษาหายดีแล้วการสร้างภูมิคุ้มกันในโรคโควิด-19 จะยังสร้างช้า ดังนั้นผู้ติดเชื้อที่หายแล้วจะต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูร่างกายอย่างน้อย 30 วัน
นพ.จุมภฏ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตได้จัดทำโปรแกรมเน้นสร้างความรู้ความเข้าใจ และฝึกทักษะช่วยเสริมความเข้มแข็งทางจิตใจในการดูแลตนเอง ด้วยการฝึกสมาธิและสติให้กลุ่มเป้าหมาย 4 กลุ่ม คือ กลุ่มที่สงสัยว่าติดเชื้อ ต้องกักตัวอยู่บ้าน 14 วัน กลุ่มผู้ติดเชื้อโควิด-19 อาการไม่รุนแรง กลุ่มผู้ติดเชื้อโควิด-19 อาการรุนแรง แต่ยังทำกิจกรรมต่างๆ ได้ และกลุ่มผู้ติดเชื้อโควิด-19 อาการรุนแรงมากที่ต้องรักษาตัวอยู่ในไอซียู ซึ่งโปรแกรมดังกล่าวจะเป็นการอธิบายและแนะนำวิธีการฝึกปฏิบัติซึ่งสามารถฝึกตามได้ มีทั้งหมด 8 ครั้ง (8 วัน) วันละ 20-30 นาที หลังจากนั้นควรฝึกทุกวันเพื่อให้เป็นฐานชีวิตใหม่ ร่วมไปกับการดำเนินชีวิตประจำวันอย่างมีสติและเป็นการจัดการความเครียดของตนเอง เพราะการที่มีร่างกายแข็งแรงได้นั้นต้องมีจิตใจที่เข้มแข็งด้วย ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดและเริ่มฝึกได้ตั้งแต่วันนี้ ผ่านช่องทาง Facebook และ YouTube ของกรมสุขภาพจิต
นพ.จุมภฏกล่าวถึงปัญหาการฆ่าตัวตายของประชาชนในสถานการณ์การแพร่ระบาดว่า กรมสุขภาพจิตได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหามาตรการทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ดูแลสภาพจิตใจและหาแนวทางที่เหมาะสมให้กลุ่มดังกล่าว เช่นในระยะสั้นจะค้นหากลุ่มเสี่ยงให้มากขึ้น โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบที่อยู่ในเขตเมือง โดยจะมีการส่งต่อข้อมูลไปยังพื้นที่ที่รับผิดชอบ เพื่อให้เกิดการเฝ้าระวัง ส่วนระยะยาวมองว่าปัญหาการฆ่าตัวตายมีหลายปัจจัย จึงจำเป็นต้องได้รับการร่วมมือกันในหลายภาคส่วน นอกจากนี้ยังจะมีการป้องกันและติดตามกรณีผู้ที่คิดฆ่าตัวตายที่ไม่สำเร็จ โดยจะให้หน่วยงานที่รับผิดชอบในแต่ละพื้นที่ไปติดตามอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งดูแลสภาพจิตใจและให้คำแนะนำต่างๆ ว่าจะสามารถรองรับการสนับสนุนทางด้านสังคมจากหน่วยงานใดได้บ้าง
พล.ร.ท.ประชาชาติ ศิริสวัสดิ์ รองเสนาธิการทหารเรือและโฆษกกองทัพเรือ กล่าวถึงกรณีที่พลทหารสังกัดสโมสรวังนันทอุทยาน ถนนอิสรภาพ กทม. ติดเชื้อโควิดว่า ตอนนี้ยังไม่สามารถสรุปผลได้ ต้องรอผลตรวจจากห้องแล็บโรงพยาบาลจุฬาฯ ในวันที่ 7 พ.ค.ก่อน เนื่องจากผลตรวจครั้งแรกที่ รพ.ปิ่นเกล้าพบว่าติดเชื้อ แต่พอตรวจซ้ำกลับไม่พบว่าติดเชื้อ จึงส่งให้ รพ.จุฬาฯ ตรวจ พลทหารรายนี้เล่นกีฬา แต่เกิดอุบัติเหตุขาหักจึงถูกส่งตัวเข้าโรงพยาบาล และเมื่อแพทย์ตรวจในเบื้องต้นสงสัยว่าติดเชื้อโควิด แต่พอตรวจซ้ำกลับพบว่าไม่ได้ติดเชื้อ แต่เพื่อให้เป็นไปตามหลักการทางสาธารณสุข กองทัพเรือจึงได้ส่งทหารเรือที่เป็นเพื่อนร่วมงานทำงานใกล้ชิดราว 20 คนไปกักตัวที่อาคารรับรองกองทัพเรือสัตหีบ เพื่อดูอาการก่อนในระหว่างที่รอผลตรวจอย่างเป็นทางการ ยืนยันว่ากองทัพเรือจะไม่มีการปกปิดผลการตรวจใดๆ และพร้อมปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข
นายกฯ สั่งช่วยคนไทยจาก ตปท.
นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม สั่งการให้กระทรวงการต่างประเทศเร่งช่วยเหลือคนไทยในต่างแดน และอำนวยความสะดวกให้คนไทยที่ต้องการเดินทางกลับประเทศ โดยสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฮ่องกง จัดเที่ยวบินพิเศษนำคนไทยที่ตกค้างในฮ่องกงและมาเก๊ากลับประเทศไทย จำนวน 161 คน โดยสายการบิน Thai Smile เที่ยวบินที่ WE631 เส้นทางฮ่องกง-กรุงเทพฯ ออกเดินทางจากเขตบริหารพิเศษฮ่องกงตั้งแต่วันที่ 4 พ.ค.63 เวลา 14.10 น. ถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเวลา 16.05 น. ขณะที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา ร่วมกับสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ประจำสาธารณรัฐมัลดีฟส์ ได้จัดเที่ยวบินพิเศษของสายการบิน Maldivian Airlines นำคนไทยที่ตกค้างในมัลดีฟส์ 131 คนเดินทางกลับประเทศไทยแล้ว ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวที่ติดค้าง ผู้ไม่มีถิ่นพำนักถาวรในมัลดีฟส์ พนักงานรีสอร์ตและบริษัท ทั้งนี้ เที่ยวบินดังกล่าวจำเป็นต้องจำกัดจำนวนที่นั่งเนื่องจากเงื่อนไขด้านสาธารณสุขในขณะนี้
สำหรับผู้ที่ยังเหลือติดค้างอยู่ในมัลดีฟส์และศรีลังกา สถานเอกอัครราชทูตฯ จะจัดหาเที่ยวบินกลับไทยให้โดยเร็ว โดยคำนึงถึงระบบการกักตัวภายในประเทศไทยที่สามารถรองรับผู้เดินทางกลับประเทศในแต่ละวัน หากต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนโปรดติดต่อ +94 3070747, +94 3070748 และในกรณีของมัลดีฟส์สามารถติดต่อกงสุลกิตติมศักดิ์ประจำสาธารณรัฐมัลดีฟส์ได้อีกทางหนึ่ง ที่ +960 7398765
ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคลัมโบ ยังได้แจกจ่ายถุงยังชีพให้คนไทยในศรีลังกาที่ลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ขอกลับไทยแต่ยังไม่สามารถเดินทางกลับได้ ในส่วนของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียวได้ดำเนินการช่วยเหลือคนไทยในญี่ปุ่นระหว่างการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยได้แจกจ่ายเจลแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อโรค หน้ากากอนามัย อาหารแห้ง และสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นให้แก่ชุมชนคนไทยที่ได้รับความเดือดร้อนด้วยแล้ว
พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า เมื่อเวลา 09.00 น. พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม และ พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัด กห.ได้ประชุมร่วมกับ กอ.รมน. นขต.กห.และเหล่าทัพ เพื่อติดตามการบริหารจัดการมาตรการกักตัวควบคุมโรคของรัฐ (State Quarantine ) ที่ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย ในศาลาว่าการกลาโหม โดยรับทราบสถานภาพคนไทยที่เดินทางผ่านสายการบินกลับจากต่างประเทศตั้งแต่ 4 ก.พ.63 ซึ่งยังพักกักตัวตามมาตรการควบคุมโรคของรัฐ จำนวน 3,290 คน ส่งกลับภูมิลำเนาแล้ว 2,175 คน ระหว่าง 6-10 พ.ค.63 จะมีคนไทยที่ตกค้างในประเทศต่างๆ ทั้งจากสหรัฐอเมริกา ยุโรป แอฟริกาใต้ ตะวันออกกลางและเอเชีย ทยอยเดินทางกลับเข้ามาอีก จำนวน 1,481 คน ซึ่งทั้งหมดจะต้องผ่านกระบวนการคัดกรองและกระจายเข้าพักในพื้นที่กักควบคุมโรคที่กำหนด
โควิดกระทบ 4 หมื่นวัด
ที่วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า ปีนี้ได้ประกาศงดกิจกรรมวันวิสาขบูชาทั่วประเทศ เหลือเพียงการทำวัตรสวดมนต์เช้า-เย็น ซึ่งวัดต้องจัดที่นั่งเว้นระยะห่างกันทางสังคม 1-2 เมตร จึงอยากให้ประชาชนหันไปเวียนเทียนผ่านทางเฟซบุ๊กไลฟ์ เพราะวัดเกือบทั้งหมดงดกิจกรรมเวียนเทียนในปีนี้ตามมติเถรสมาคมและนโยบายรัฐบาล ซึ่งก็ถือเป็น New Normal จากปัญหาของการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 แม้ตัวเลขจะลดลงแต่ยังประมาทไม่ได้หลังมีการผ่อนปรนบางมาตรการลง ยังขอให้ประชาชนอยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติและพกหน้ากากอนามัยติดตัวอยู่ตลอดเวลา ในส่วนภาพรวมการจัดระเบียบโรงทานแต่ละวัดเป็นไปอย่างถูกต้องตามหลักกระทรวงสาธารณสุข โดยประชาชนไม่ได้เบียดเสียดเพื่อรอรับสิ่งของบริจาค แต่ปฏิบัติตามด้วยการนั่งรอตามเก้าอี้ที่จัดไว้เว้นระยะห่างทางสังคม เช่น วัดธาตุทอง
"มีพระสงฆ์จำนวนมากได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 จนไม่สามารถออกบิณฑบาตได้ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ผ่านมาจะมีเงินช่วยเหลือพระออกบิณฑบาตไม่ได้ประมาณ 2,000 บาท ทั้งจากปัญหาความไม่สงบและโรคโควิด-19 สำนักงานพระพุทธศาสนาฯ กำลังสำรวจรวบรวมตัวเลขพระสงฆ์ที่ได้รับผลกระทบและเกิดความเสียหายทั่วประเทศกว่า 40,000 วัด โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ซึ่งต้องมีการคัดกรองให้ดี คาดว่าสัปดาห์หน้าได้ความชัดเจน" นายเทวัญกล่าว
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุขเป็นประธาน ได้บรรจุให้การรักษาพยาบาลและดูแลประชาชนกรณีโรคติดเชื้อโควิด-19 เป็นสิทธิประโยชน์ภายใต้ "กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ" หรือกองทุนบัตรทองที่ครอบคลุมทั้งการคัดกรองสำหรับผู้ป่วยทุกสิทธิ์ และการดูแลผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกสำหรับประชาชนใช้สิทธิบัตรทอง โดยได้จัดสรรงบประมาณการดูแลที่แยกออกจากงบกองทุนบัตรทองในระบบปกติจำนวน 4,280 ล้านบาท ที่ได้จากเงินรายได้สูง (ต่ำ) กว่าค่าใช้จ่ายสะสม กองทุนบัตรทองจำนวน 1,020 ล้านบาท และงบกลางโดยรัฐบาล จำนวน 3,260 ล้านบาท เมื่อวันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา หน่วยบริการทั่วประเทศได้เริ่มทยอยส่งเรื่องเบิกค่าใช้จ่ายแล้ว รวมเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 143.9 ล้านบาท.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |